Pages

Wednesday, October 5, 2011

พรหมวิหาร 4


มาถึงตอนนี้ เคยบอกไว้ว่าจะเขียนเรื่องพรหมวิหาร 4 เท่าที่มีประสบการณ์ทางวิชชานะครับ ทั้งนี้ ผมคอยระมัดระวังอยู่เสมอไม่ให้เรื่องที่เขียนเกินเลยจากพื้นฐานมากไป เพราะวิชชาธรรมกายมีให้เรียนตั้งแต่ระดับต้นไปจนระดับสูง ที่ผ่านมาถือว่าเราเอาสิ่งที่รู้ๆ กันแล้วในวิชชาธรรมกายมาจัดหมวดหมู่ให้ง่ายขึ้นเท่านั้น ส่วนวิชชาที่กล่าวถึงก็เป็นวิชชาพื้นฐาน ที่ผู้เรียนวิชชาธรรมกายทั่วไปต้องทำได้ เช่นวิชชา 18 กาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินวิชชาให้ตัวเอง เข้าไปเดินให้คนอื่น หรือเดินวิชชาให้จักรพรรดิ์ จริงๆ แล้ววิชชาที่ต่อยอดออกไป ก็มาจากวิชชาพื้นฐานนั่นเอง แต่เราอาจละเลยกันมานานจนเห็นว่าเป็นวิชชายาก ไม่หมั่นปฏิบัติกัน

สำหรับ blog แห่งนี้ ผมระมัดระวังเสมอว่าอะไรควรอะไรยังไม่ควรนำออกเผยแพร่ เพราะผู้เข้ามาอ่านมีหลายระดับ การอวดอุตริเอาวิชชาสำคัญมาเปิดเผย ย่อมไม่บังควร

พรหมวิหาร เป็นวิชชาสำคัญในระดับพรหม แต่ในส่วนของคุณลุงไม่พูดอย่างนั้น ท่านว่าเป็นวิชชาสำคัญที่ทุกคนควรหมั่นเจริญให้มาก  เป็นวิชชาที่ทำให้คนรักกัน(แบบพระนะครับ) โดยยกตัวอย่างคำถามท้ายบทเรียนที่ว่า เห็นคนๆ หนึ่งออกทีวี เรากลับรู้สึกไม่ชอบหน้าคนๆ นั้น เป็นเพราะเหตุใด คำตอบคือ เพราะคนๆ นั้นไม่ได้เจริญพรหมวิหาร 4 ข้ามภพข้ามชาติไว้นั่นเอง ส่วนจะเจริญในระดับไหน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

พรหมวิหารมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คำแปลเป็นอย่างไร เราไปพูดในภาคปฏิบัติเลย

การปฏิบัติในระดับมนุษย์ การมีเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขาต่อกัน เราคงพอเข้าใจ เพราะมนุษย์แสดงออกต่อกันด้วยกายวาจาใจ ย่อมสื่อถึงสิ่งเหล่านี้ให้เห็นได้ไม่ยาก แต่การเอามาทำวิชชามีตั้งแต่ง่าย ไปหายาก ดังนี้

กรณีที่ 1 วิทยากรถูกรังแก


กรณีนี้ผมพูดไปแล้วในเรื่อง จับผิดครู วิทยากรของเราท่านหนึ่งถูกเพื่อนในที่ทำงานที่อยู่ในระดับสูงกว่ารังแกอย่างไม่มีเหตุผล เป็นประจำทุกวัน และเป็นทุกครั้งที่เจอหน้ากัน

คุณลุงได้แนะนำมาทางจดหมาย ผมค้นเจอจดหมายเก่าเห็นว่าน่าสนใจ และเป็นมงคลยิ่งหากจะนำจดหมายลายมือท่านมาลงให้ดูไว้ ณ ที่นี้ โดยผมได้เบลอชื่อบุคคลที่กล่าวถึงในจดหมายไว้แล้ว จดหมายนี้เขียนมาถึงผมเมื่อ 20 ก.พ. 2543 เป็นเวลา 11 ปีกว่า มาแล้ว ดังรูปข้างล่าง



เนื้อความไม่ยาก และสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว แต่ผมอยากเพิ่มเติมคือ คุณลุงบังคับให้เดินวิชา 18 กายทุกวัน เดินวิชาให้หนักมือ มีตัวชี้วัดคือ เดินจนอารมณ์บันเทิง พิสดารกายธรรมเราไปนั่งในท้องเขาโดยลำดับไปทุกกาย คือ 18 กายเขานั่นเอง ทำวิชชาพรหมวิหารโดยท่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราไม่ได้ไปแช่งผู้ที่มารังแกเรา แต่เราขอให้เขาเป็นสุข พ้นทุกข์ มีความจำเริญรุ่งเรือง และอย่ามาก้ำเกินเราด้วยกายวาจาใจเลย เวลาเจอเขาก็ท่องแบบนี้ไปด้วย และที่สำคัญ อย่าไปเกลียดเขา ทำใจเราให้เฉยไว้

ผลก็คือ วิชชานี้ใช้เวลาแค่ 2-3 วัน ความก้าวร้าวต่อเราลดลงทันที และค่อยๆ จางลงจนหมดไป ผู้รุกรานเริ่มเจ็บป่วยจนต้องไปรักษาตัวในโรงเรียนแพทย์ระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ เขากลับมาเป็นมิตรกับเราในระยะที่เริ่มป่วยนั่นเอง เขามาดีกับเราถึงขนาดจองตัวให้ไปทำงานด้วยกันในแผนกใหม่ที่กำลังจะเปิดขึ้นในช่วงนั้น แต่เราไม่ได้ไป แม้กระนั้นก็ยังดีกับเราเสมอมา ผ่านมาทางเราก็มีข้าวของติดไม้ติดมือมาให้อยู่เสมอ จวบจนทุกวันนี้

กรณีที่ 2 การเดินวิชาพรหมวิหาร ในหนังสือคู่มือมรรคผลพิสดาร 2


เรื่องนี้ไม่มีประสบการณ์เล่า แต่เป็นวิธีการในตำราวิชาธรรมกายชั้นสูง คือคู่มือมรรคผลพิสดาร 2 นั่นเอง

ผมขอ ไม่กล่าวถึงวิธีการโดยละเอียด เพราะจะยาวความไป ขอฝากเป็นการบ้านให้ท่านผู้อ่าน ไปอ่านตำรา อย่าอ้างว่าอ่านไม่รู้เรื่อง หรืออ้างว่าท่านยังไม่เป็นวิชชาแล้วจะอ่านได้อย่างไร ผมขอยืนยันว่าท่านต้องอ่านตำรา เพราะตำรามีไว้ให้ผู้ไม่รู้ ได้อ่านจนเป็นผู้รู้ หากท่านรอให้รู้เห็นเองเสียก่อน เมื่อไหร่จะได้รู้เห็นจนคิดว่าอ่านตำราได้ มีตำราแล้วไม่อ่านก็คือแพ้ทางมาร ผมเคยบอกชื่อยาแก้เจ็บคอให้แก่ญาติที่อยู่ไกลทางโทรศัพท์ โดยจดชื่อ แล้วไปหาซื้อยาตามร้านขายยา เพื่อแก้โรคให้ตัวเองและญาติที่นั่น เขาไม่ได้รู้เรื่องยามาก่อน แต่เขาทำตามวิธีการที่เราบอก เขาก็แก้โรคได้ เพราะความรู้มันค่อยๆ เกิดมีขึ้นได้หลายระดับ จากเริ่มรู้เฉยๆ จนกระทั่งเห็น เป็น และชำนาญ

การทำพรหมวิหารในตอนนี้ อยู่ในภาคการทำสมถะ ว่าด้วยเรื่องพรหมวิหาร 4 โดยทำฌาน 4 ให้แก่กายทิพย์ ท่านต้องเข้าใจก่อนว่ากายทิพย์ไม่มีฌานโดยธรรมชาติ เราจึงต้องสร้างฌานให้กายทิพย์ด้วย "วิชชา" จากนั้นเอารู้ญาณของกายทิพย์นั้นรวมคนทั้งแสนโกฏิจักรวาลเข้ามาทั้งหมด ตำราบอกว่าต้องรวมได้ นี่ขนาดใช้กายทิพย์ที่เป็นวิชชาแล้วเท่านั้นนะ เอากายทิพย์ไปนั่งในท้องคนที่เรารวมมาได้นั้น เดินวิชชาพรหมวิหาร 4 โดยค่อยๆ ท่อง เมตตา ขอท่านทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด แล้วแผ่แผ่นฌานที่ 1 ที่เราประสมคุณธรรมเมตตาให้สัมผัสเข้าไปที่ดวงธรรมของคนทั้งปวงนั้น ทำใจน้อมไปในอารมณ์ของเมตตา จากนั้นท่องต่อ กรุณา ขอท่านทั้งหลายจงพ้นทุกข์ภัยโรคทั้งปวงเถิด ทำแบบเดียวกับที่กล่าวมา แต่ใช้แผ่นฌานที่ 2 ทำงาน ต่อไปก็ มุทิตา ขอท่านทั้งหลายจงมีความจำเริญรุ่งเรืองร่ำรวยเถิด และปิดท้ายด้วย อุเบกขา ให้แปลว่า อย่าได้ก้ำเกินกันด้วยกายวาจาใจเลย เดิมแปลว่าให้วางเฉย ฟังดูไม่ค่อยเป็นความหมายที่เราต้องการ ให้เอาอย่างที่แปลนี้ตามคุณลุงนะครับ

นี้คือบทบัญญัติในตำรา ทำให้เรารู้ว่าแม้กายทิพย์ก็เอามาทำวิชาพรหมวิหารได้ ในตำรายังสรุปว่า ให้ลองทำด้วยกายอื่นๆ ของเราทุกกาย แต่เวลาเราเดินวิชาจริง เรามักใช้กายธรรมเพราะเหมือนกับจะแน่นอนกว่า (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวครับ)

กรณีที่ 3 ทำ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้เป็นเครื่องสัมผัสเข้าไปในใจเขา


วิธีนี้ สูงเกินไปที่จะกล่าวใน blog แต่เกริ่นหัวข้อไว้ เพื่อให้รู้ว่า วิชชาทุกอย่างในโลก มี อ่อนแก่ หยาบละเอียด ต้นกลางปลาย อดีตปัจจุบันอนาคต เล็กโต ตามภาษาวิชชา

แต่การแก้ปัญหาของเรา ไม่จำเป็นต้องใช้วิชชาสูงสุดที่เรารู้ เพราะหากแก้ไม่สำเร็จ ก็ซวย เหมือนเราเจ็บป่วยทีไรใช้ยาอย่างแรงสูงสุดทุกที พอดีเชื้อดื้อยากันหมด ตอนหลังหายาใช้ไม่ได้ ทำอะไรให้คำนึงถึงหลักเหตุผลให้มาก

แม้การเดินวิชชา ครูบาอาจารย์ยังบอกว่าวิชชาไม่ควรซ้ำกัน ถ้าซ้ำก็แพ้มาร อันนี้ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งกังวลไป ให้ท่านเดินวิชชาพื้นฐาน 18 กายให้ได้ทุกวัน อย่างอื่นค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติมเอา

อย่าทิ้งวิชา 18 กาย ท่านต้องเดินทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ขาดไม่ได้