Pages

Tuesday, September 12, 2023

Time Inflation

Time Inflation
อังคาร 12 ก.ย. 2566
มีหลักทางฟิสิกส์เกี่ยวกับเวลาที่น่าสนใจ คือเรื่อง Time Inflation การยืดของเวลาเมื่อมีการเคลื่อนที่ของวัตถุ หากมีคนเดินทางออกไปจากโลกด้วยความเร็วสูงๆ (ความเร็วยิ่งสูงยิ่งชัด) ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเขากลับมายังโลก จะพบว่าเวลาที่เขาใช้ไป จะสั้นกว่าเวลาที่ผ่านไปบนโลก คือตัวเองยังไม่แก่ แต่เพื่อนๆ บนโลกแก่ตัวลงมากกว่า นั่นคือเวลาของเขาผู้เคลื่อนที่ไป ถูกยืดออก ทำให้ไม่ตรงสเกลกับเวลาบนโลกที่เดินไปตามแบบฉบับเดิม

คงไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดเพราะไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเองได้ แต่อยากมาเทียบเคียงว่า การเดินทางผ่านกาลเวลาจาก เวลาหนึ่งสมมุติเป็นจุด A ไปยังอีกเวลาหนึ่งสมมุติเป็นจุด B ของแต่ละคนใช้เวลาไม่เหมือนกัน แม้แต่หลักควอนตั้มฟิสิกส์ในทางโลก ยังพบว่ามันเป็นเวลาเฉพาะของแต่ละคน ถึงแม้สุดท้ายเราทั้งหลายจะไปพบกันที่จุด B เดียวกันก็ตาม เช่นนางฟ้าที่พากันไปเก็บดอกไม้ในสวน แล้วนางฟ้าองค์หนึ่งจุติลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ใช้ชีวิตจนแก่เฒ่าและตาย กลับไปเกิดในสวรรค์อีกครั้ง ปรากฏว่าบรรดานางฟ้าเพื่อนๆ ยังเก็บดอกไม้กันไม่เสร็จ ก็เป็นเรื่องความต่างของเวลาเช่นกัน

เมื่ออนาคตได้ถูกชี้เป้าไว้แล้ว เราต่างคนต่างเดินทางจากเวลา A ไปยังเวลา B ด้วยความสั้นยาวสุขทุกข์ไม่เหมือนกัน บางท่านอาจต้องเพาะบ่มหรือชดใช้ชาติอีกพักใหญ่ เขาก็ไปทำกันในมิติของเขา เมื่อเพาะบ่มอุปนิสัยจนเข้าที่ จึงไปเจอกันที่เวลา B ทุกอย่างจึงมีความยุติธรรมในตัวของมัน นั่นเอง

Thursday, January 7, 2021

ไม้เลื้อยในบ้าน

เมื่อผมจำเป็นต้องจัดการกับไม้เลื้อยในบ้าน

ผมปลูกต้นโนรีต้นหนึ่งมาประมาณ 5-6 ปี แรกๆ ไม่รู้ว่ามันเป็นไม้เลื้อยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กิ่งก้านสาขาของมันเลื้อยพันไปรอบทิศ ไปเกาะตามต้นไม้รอบข้าง โดยเฉพาะต้นลีลาวดีที่อยู่ใกล้ๆ โดนกิ่งก้านของมันรัดไปประมาณครึ่งต้น กิ่งที่รัดก็ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ พันเป็นเกลียวแน่นหนา จนต้นลีลาวดีเหี่ยวเฉาแทบจะไม่ออกใบ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมตัดสินใจตัดต้นโนรีนี้ทิ้งเสีย โดยมีผู้ช่วย 1 คน เราวางแผนว่าจะรื้อมันอย่างไรดี ระหว่าง 1. ริดกิ่งย่อยๆ มาก่อน จนถึงต้นใหญ่ และค่อยตัดตอทิ้ง กับ 2. เลื่อยหรือฟันโคนต้นทิ้งเสียก่อน แล้วค่อยๆ ริดกิ่งเล็กกิ่งน้อยที่แตกออกไปทีหลัง

เราเลือกวิธีที่ 2 เพราะการตามริดจากกิ่งปลายๆ ก่อน มันมากมายมหาศาลจนเริ่มต้นไม่ถูก บางกิ่งไปโผล่บนยอดไม้ต้นอื่นสูงมาก หากเราเลื่อยหรือฟันต้นตอใหญ่เสียก่อน แล้วตามลากกิ่งเล็กๆ ตัดตอนไปเรื่อยๆ ดูจะง่ายกว่ามาก

เราใช้เวลาจัดการกับต้นโนรีประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ตัดโคนต้น ตัดตอใหญ่ของมันก่อน และสาวกิ่งที่ลามไปพันตามที่ต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเอากิ่งเล็กกิ่งน้อยออกได้ทั้งหมดในวันแรกๆ เพราะมันมากมายเหลือเกิน แต่เรารู้ว่าไม่มีต้นตอให้ต้นโนรีต้นนี้เติบโต หรือส่งน้ำเลี้ยงให้กิ่งย่อยๆ ได้อีกแล้ว

กิ่งย่อยที่แตกออกไปพันตามยอดไม้ที่เรายังไปไม่ถึง แม้ยังเอาออกไม่หมด มันก็ต้องเหี่ยวแห้งไปอย่างแน่นอน จะว่าไป การจะเก็บให้หมดก็ไม่ง่ายเลย เพราะเราปล่อยไว้ไม่ได้ดูแลมานาน มันโตมากจนรัดเป็นเกลียวแน่นหนา การจะเอาออก เราต้องยอมตัดกิ่งลีลาวดีออกไปบางกิ่งด้วยซ้ำ บางทีเป็นกิ่งใหญ่ๆ ด้วย หากยังรื้อไม่ไหวในวันนี้ ก็รอไปก่อน ค่อยๆ มาทำวันหลัง หรือยังไม่ต้องยุ่งกับมันเสียเลยก็ได้

เปรียบเทียบกับการปราบมารของคุณลุง หากเรามะงุมมะงาหรา แก้ทุกข์ภัยโรคเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ สาวไปหาผู้ต้นคิดวิชชาไปทีละเรื่อง เมื่อไหร่จะหมด โดยเฉพาะต้นใหญ่ๆ ของเขายังส่งกำลังบำรุงมาได้ตลอดเวลา

แต่คุณลุงของเราใช้วิธี เจาะให้ทะลุเหตุสุดธาตุสุดธรรม ไปยังเหตุเลยรู้เลยญาณ ซึ่งเป็นที่อาศัยของมารระดับต้นใหญ่ของเขาก่อน รบตรงนั้นก่อน จัดการที่ต้นตอก่อน เมื่อดับที่ต้นตอได้ เหตุทั้งปวงที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้ดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่มันก็จบลงแล้ว มันจะเปลี่ยนไปในกาลข้างหน้าอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับ เศษซากกิ่งไม้ที่แม้ยังหลงเหลืออยู่ ยังสร้างความเดือดร้อนอยู่ แต่หมดโอกาสเติบโตต่อ มีแต่จะเหี่ยวเฉาไปทุกวัน ความเดือดร้อนที่ยังมี เราก็แก้กัน เก็บกันไปเป็นกิ่งๆ เป็นคราวๆ ด้วยความอดทน

เปรียบเทียบให้เห็น เป็นปกิณกะครับ

นพ. นิพนธ์ หลงประดิษฐ์

7 ม.ค. 2564

Friday, November 13, 2020

ผู้ชนะ

ความตอนนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ภาคที่ 7 ที่สืบเนื่องมาจากตอนที่แล้ว วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (6) โดยเราจะพยายามทำความเข้าใจกับความชนะของธรรมภาคขาว ในอีกมุมมองหนึ่ง

กายมนุษย์ของพวกเรายังหลงเหลืออยู่ในโลกยุคทุกข์สมุทัย แต่เดิม ครูบาอาจารย์ของเรามากอบกู้เอกราชของธรรมภาคขาวในโลกใบนี้ ซึ่งเสมือนเป็นดินแดนของศัตรู เราเป็นศิษย์สืบเนื่องมาถึงยุคสุดท้าย เมื่อธรรมภาคขาวชนะในธาตุในธรรม สิ่งที่เหลืออยู่บนโลกก็คือหุ่น และเครื่องมือใช้สอย โลกทั้งปวงก็แสดงลีลาของตนต่อไป ตามแบบที่เคยถูกสร้างสรรค์กันมา ใครเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่กันอย่างนั้นต่อไปก่อน ผู้ใหญ่ในธาตุในธรรมจะบริหารจัดการโลกใบนี้ขนาดไหน เราได้คุยกันมาแล้วในภาคที่ 6

ทำไมพวกเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธาตุธรรมที่เป็นฝ่ายชนะ จึงไม่ได้เป็นอยู่อย่างผู้ชนะ? เคยลำบากลำบนอย่างไร ก็ลำบากลำบนเหมือนเดิม เป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจของศิษย์รุ่นหลังหลายท่าน

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราคิดว่าผู้ชนะ ควรเป็นอย่างไร? เราเคยเห็นความชนะที่แท้จริงของธรรมภาคพระ หรือธรรมภาคขาวหรือไม่? คำตอบคือ เรา หรือไม่ว่ายุคไหนๆ ไม่เคยเห็นความชนะของธรรมภาคขาวมาก่อนเลย ภาคขาวเพิ่งชนะในครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจากประสบการณ์อันเจ็บปวด จึงต้องเป็นความชนะตลอดไปด้วย

ตัวชี้วัดของความชนะในระดับชาวบ้าน อาจคิดได้แต่เพียง การมีความเป็นอยู่คือ ที่ได้ติดอยู่กับโลกธรรมฝ่ายดี ซึ่งยังคงเป็นโลกแห่งทุกข์สมุทัย อันมีไตรลักษณ์เป็นเบื้องหน้า ผู้ยิ่งใหญ่ก็จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และห่างจาก ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ซึ่งยังแฝงไปด้วยการชิงดีชิงเด่น กำจัดศัตรูที่จะมาช่วงชิงโค่นล้ม และพยายามรักษาสภาพที่ตนอยู่ไว้ไม่ให้เสื่อมสลาย

แต่การเป็นคนของภาคขาว อาจไม่ใช่อย่างที่กล่าวมา เพราะมีปิฎกที่ต่างกัน

จากประสบการณ์ "ส่วนตัว" ที่อยู่ดูโลกมาจนกลายเป็น "ผู้สูงอายุ" แล้ว พบว่า

1. การมีความคิดนอกกรอบ

เพื่อนๆ สมัยเรียน ที่ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าคนนายคน ส่วนหนึ่ง หรือบางทีก็เป็นส่วนใหญ่ เป็นคนฉลาดในการวางแผนชีวิตที่ต่างจากผู้เรียนธรรมดา เขาอาจมาสายเป็นประจำ อาจไม่เข้าเรียนบางวิชา แต่เมื่อมาเจอกัน ก็สามารถกลบเกลื่อนแก้ไขจนไม่มีใครตำหนิได้ สอบกันพอผ่าน และเมื่อจบมาทำงาน ก็มีความเจริญก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโตได้ เด็กใฝ่เรียนที่เรียนคู่กันมา สอบได้ดีกว่า แต่ต้องมาเป็นลูกน้องเขาก็มี โลกมันดูกลับตาลปัตรหรืออย่างไร

หลายท่านคงบอกว่า เป็นเพราะเขาฉลาด คิดนอกกรอบ ไม่โง่งมอยู่กับความคิดเดิมๆ จึงมีตำราจิตวิทยาให้คนหัดคิดนอกกรอบออกมามากมาย ทำให้ผู้คนไม่คิดจะอยู่ในกรอบ ไม่ชอบการมาทำงานแบบเป็นเวลา แต่อยากทำเป็นเรื่องๆ เสร็จแล้วก็เลิกได้ เมื่อมีงานใหม่ค่อยว่ากัน แต่หากเธอไม่เคยอยู่ในเวลาที่คนอื่นอยู่ เวลามีงานใหม่ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเข้ามา เขาจะต้องคอยตามเธอตลอดหรือ

เรื่องนี้ สำหรับผมถือว่า เป็นความไม่สมเหตุสมผลอย่างหนึ่ง เพราะสังคมอยู่มาได้จากคนที่ยอมมาเป็นตัวจักรฟันเฟืองขององค์กร ยอมมาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัท สังคมจึงมีหน่วยงาน ร้านรวง ไว้บริการผู้คน หากทุกคนจะไม่อยู่ในกรอบ แต่รอเก็บเกี่ยวผลงานของสังคม ที่ดำรงค์อยู่ได้เพราะยังมีคนทำงาน จะไม่เป็นการเอาเปรียบสังคมหรือ และหากทุกคนถูกปั่นหัวให้คิดเช่นนี้ สังคมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

2. อาชีพที่ทำให้ร่ำรวย

มีอาชีพที่ต้องห้ามในพุทธศาสนา เช่น ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ที่นำไปฆ่า ค้าน้ำเมา ค้ายาพิษ

แต่เราต้องยอมรับว่า ผู้ที่ทำอาชีพเหล่านี้ ร่ำรวยกันทั้งนั้น รวยกันระดับปกครองโลก เลยทีเดียว

การทำอะไรที่ต่างไปจากครูบาอาจารย์สอนไว้ แต่สุดท้ายก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยลาภยศสรรเสริญสุข เราจะตีความอย่างไร โลกใบนี้กลับตาลปัตรหรือไม่

3. การเลี้ยงดูเด็ก

หากเลี้ยงแบบพระ ทะนุถนอม ให้ทุกอย่าง เราจะได้เด็กอ่อนแอ หากเลี้ยงด้วยลำแข้ง ด่าทอ เรามักได้เด็กแข็งแกร่ง

ทำไมเด็กน่ารัก ต้องชมว่าน่าเกลียด

4. เบ็ดเตล็ด

อันนี้คิดแบบคนคิดเล็กคิดน้อย ทำไมเราทำตัวใจดี จึงไม่รีบให้บริการ แต่พอทำตัวแข็งกระด้าง ผู้คนเกรงใจ และเกรงกลัว รีบให้บริการก่อน

ที่ยกตัวอย่างมา ไม่ใช่มองโลกในแง่ร้าย แต่เราเอาความจริงมาคุยกัน เราเก่งกาจ เราฉลาด แต่ถ้าเราเถรตรง เราจะอยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้

หากธรรมภาคขาวชนะ คุณสมบัติ หรือความเป็นอยู่คือของภาคขาวต้องโดดเด่นขึ้นในอนาคต แต่มันอาจไม่ใช่อนาคตของโลกใบนี้ กล่าวคือ เราจะมี ทานศีลภาวนาเป็นเป้าหมาย คือปกติของเรา จะเป็นผู้ให้ (ทาน) เป็นผู้ไม่เบียดเบียน (ศีล) เป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ผ่องใส (ภาวนา) จะเป็นไปได้ ก็โดยการสร้างสมบารมี 10 อย่างไว้ให้เป็นนิสัย ให้เป็นปกติของเรา ตั้งแต่หัดให้มี ความคิดที่เป็นผู้ให้ (ทาน) ความคิดที่จะไม่เบียดเบียน (ศีล) ความสันโดษ (เนกขัมมะ) ความฉลาดรอบรู้ (ปัญญา) ความขยันหมั่นเพียร (วิริยะ) ความอดทน (ขันติ) ความเป็นคนตรง (สัจจะ) การตั้งเป้าหมาย (อธิษฐาน) ความมีเมตตา (เมตตา) และ ความปล่อยวาง (อุเบกขา)

และที่สำคัญ การปฏิบัติทางวิชชาทั้งปวงที่เราทำอยู่ ได้ส่งเสริมคุณสมบัติที่กล่าวมา เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจาก "ใจ" ที่ได้รับการฝึกฝน

เมื่อรวมคุณสมบัติทั้งหมดเหล่านี้เข้ามาแล้ว ความเป็นภาคขาว หรือภาคพระ ที่เป็นฝ่ายชนะ จะทำให้เราอยู่อย่างผู้ที่ "อิ่ม" แล้ว ไม่ต้องแสวงหาแบบผู้ชนะที่เราเคยเห็นมา แบบนั้นจะไม่ใช่ความชนะที่ยั่งยืนอีกต่อไป (จริงๆ มันก็ไม่ยั่งยืนมาตลอดนั่นแหละ) แต่ความชนะแบบใหม่ที่เราจะได้สัมผัส ไม่ใช่ความชนะที่จะเป็นคนโดดเด่น เราจะอยู่ได้แบบผู้ชนะในทุกสถานการณ์ แม้เรากำลังทำงานหนัก แม้เรากำลังเจ็บป่วยด้วยทุกข์ภัยโรคที่ยังหลงเหลือจากยุคเก่าที่ถูกรังแกมาก่อน เราก็ยังอิ่มใจได้ทุกเมื่อ

โดยเฉพาะเมื่อเรารู้ว่า งานของเรา จบแล้ว การดิ้นรนฟันฝ่าอันยาวนาน ได้จบลงทั้งหมดแล้ว ที่เหลืออยู่คือ การรอคอยอย่างมีสติ และอดทน ให้สมกับความเป็นธรรมภาคขาว นั่นเอง


Thursday, March 7, 2019

การฝึกใจ หลักการเบื้องต้น

การฝึกใจ

เราคุยกันมาแล้ว เรื่อง เราสอนธรรมเพื่ออะไร? คำตอบคือเพื่อพัฒนา “ใจ” เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ที่กำหนดความเป็นตัวตนของเรา ไม่ว่าเราจะ เป็นอยู่คือ อย่างไร ล้วนมาจากใจกำหนดให้เราทั้งสิ้น

เราจะพัฒนาใจอย่างไร?
เรามี “กาย” กับ “ใจ” โดยกายเป็นเครื่องมือให้ใจใช้สอย

การฝึกกาย กับใจ เป็นสิ่งควรทำคู่กัน โดยเราสามารถอธิบายวิธีการและผลของการฝึกไปในทางเดียวกันได้

ฝึก กาย ให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย กายนั้นก็ควรแก่งาน เอามาใช้สอยได้
ฝึก ใจ ให้แข็งแรง ด้วยการทำสมาธิ ใจนั้นก็ควรแก่งาน เอามาใช้สอยได้เช่นกัน

แต่การฝึก ต้องมีการวัดผล เราจึงจะรู้ว่า เราแข็งแรงจริงหรือยัง เราออกกำลังกาย เรายังต้องวัดผล ไม่ว่าจะเล่นกีฬาแบบใด เราก็ต้องวัดผลให้เรารู้ว่า เราพัฒนาขึ้นหรือไม่

การวัดผลทางกาย ไม่ยาก เพราะมีตัวตนให้เราเห็น เรายกน้ำหนักได้มากขึ้น เราวิ่งได้เร็วขึ้น เราออกกำลังแล้วเราเหนื่อยน้อยลง เหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดทางกายให้เรารับรู้ว่าเราเก่งขึ้นกว่าเดิมทั้งสิ้น

การวัดผลทางใจ ยากกว่า เพราะใจไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตน แต่เมื่อเราเทียบกับการวัดผลทางกาย มันก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ เราวัดผลทางกาย โดยรู้ว่าการทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น คือทำหน้าที่ “ออกแรง” ได้ดีขึ้น

ใจ ก็ทำนองเดียวกัน เราวัดผลโดยดูว่าใจทำหน้าที่ได้ดีขึ้น นั่นเอง

หลวงพ่อวัดปากน้ำ สอนไว้ว่า ใจมีหน้าที่อยู่ 4 อย่างคือ “เห็น จำ คิด รู้” การฝึกใจจึงต้องเอา เห็นจำคิดรู้ มาฝึก มาพัฒนา

วิธีการของหลวงพ่อ คือให้เอาใจของเราที่ยืดไปยืดมา แว่บไปแว่บมา เอามารวมให้เป็นหนึ่ง นั่นคือ เอา ความเห็นความจำความคิดความรู้ ทางใจทั้งปวง มาบังคับให้หยุดนิ่งเป็นหนึ่งเดียว แต่การจะเอาใจซึ่งยังไม่เคยฝึก ยังไม่เคยถูกบังคับ ให้มาหยุดนิ่ง โดยไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวไว้ก่อนนั้น ยากมาก จึงต้องนึกอะไรให้เป็นรูปร่าง เป็นอารมณ์ ให้ใจเกาะไว้ก่อน เขาเรียกว่า “นิมิต” ตามหลักสมถะ 40 ในพุทธศาสนา ซึ่งเลือกฝึกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามจริตอัธยาศัย หรือเอาสมถะที่เป็นของกลางเข้าได้กับทุกจริต เอามาเป็นอารมณ์ให้ใจเกาะไว้ก่อน

หลวงพ่อใช้ ดวง​แก้วขาวใส มาเป็นนิมิต หรือเครื่องหมายให้ใจยึด ซึ่งเป็นวิชชา “กสิณ” ในพุทธศาสนา เพราะเข้าใจง่าย เป็นกสิณแสงสว่าง โดยให้ดูดวงใสด้วยตา จนพอจำได้ เมื่อหลับตา เราไม่เห็นด้วยตาแล้ว ก็เอาใจนึกนิมิตที่พอจำได้นั้น ขึ้นมาเป็นมโนภาพ พยายามนึกให้ชัดมากๆ โดยอาศัยความเห็นด้วยตาเป็นตัวชี้วัด หากเมื่อไหร่ สามารถเห็นด้วยใจคล้ายตาเห็น คือนึกได้ชัดเหมือนลืมตาเห็น ทั้งๆ ที่เราหลับตา ถือว่า “จิตเป็นขึ้น” นั่นคือใจเราเก่ง ใจเราเกิดกำลังแล้ว

แต่แรกนึกเฉยๆ ยังไม่ชัดเท่าไหร่ เทียบกับตาเห็นได้ลางๆ ซัก 20% เหมือนเรากำลังหัดยกน้ำหนักได้ 2 กก ต่อมานึกได้ชัดขึ้น 50% เหมือนยกน้ำหนักได้ 5 กก นึกไป ๆ ชัดมากแล้ว ซัก 80% ยกน้ำหนักได้ 8 กก แล้ว นึกไปเรื่อยๆ ไม่นึกเรื่องอื่น เอ๊ะ ดวงใสชัดใสสว่างเหมือนลืมตาเห็น ทั้งๆ ที่เราหลับตา เหมือนยกน้ำหนักได้เต็มที่

ถึงตอนนี้ ใจสบายมาก รู้สึกถึงกำลังใจที่เกิดขึ้น อิ่มใจ หากมีใครมาด่ามาว่า อารมณ์ตอนนี้ไม่โกรธ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะ “จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส แต่มันเศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา”

เราฝึกใจจนมีกำลัง วัดผลจากเห็นจำคิดรู้ ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ก็คือจิตเดิมแท้ของเรามีกำลัง จากการฝึกใจ นั่นเอง เหมือนร่างกายที่ผ่านการฝึกยกน้ำหนักจนเกิดกำลังทางกาย ผู้ฝึกเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ นักกีฬาสามารถรับรู้ได้ถึงความมีกำลังของตน ผู้ฝึกใจก็สามารถรับรู้ได้ถึงกำลังใจของตนที่เกิดจากการฝึกนั้น ด้วยตัวเอง ไม่มีใครมาทำให้เราได้

กิเลสทั้งปวงสงบลงชั่วคราว ใจแข็งแรงมีอำนาจ เกิดหิริโอตตัปปะ ความผ่องใสซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิม จึงปรากฏให้เรารับรู้

มาถึงตอนนี้ จิตเป็นขึ้นแล้ว ก็ควรแก่งานทางใจที่จะทำต่อไป โดยเฉพาะในภาควิปัสสนา เพื่อยังกิเลสให้หมดไปอย่างถาวร และเรียนรู้งานทางใจชั้นสูงต่อไป

ขั้นตอนการฝึกจริง ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินใจไปตามฐานที่ตั้งในกาย 7 ฐาน การท่องคำภาวนา สัมมาอะระหัง เพื่อไม่ให้ใจฟุ้งซ่านขณะฝึก อันนี้ต้องคุยในภาคปฏิบัติ แต่เมื่อเข้าใจหลักการ การฝึกจริงไม่ยากแล้ว

การเอาดวงใสมาใช้ ไม่ใช่ให้ยึดติด แต่เป็นขั้นตอนของการฝึกดังที่กล่าวมา เหมือนเราเอาลูกน้ำหนักมาใช้ในการฝึกร่างกาย เช่นกัน

หวังว่า คงทำให้เราเข้าใจพื้นฐาน หรือหลักการของการฝึกใจกัน พอสมควร

Thursday, January 10, 2019

ขันธ์ 5


ขันธ์​ เป็นส่วนประกอบ​สำคัญ​ของ ขันธโลก (จากบทความ เราคือใคร)

ขันธ์​ 5 มีอธิบาย​ในหลักสูตร​วิชชา​ธรรมกาย​ชั้นสูง​ ในเล่ม มรรคผลพิสดาร​ภาค 1 ของหลวงพ่อ​วัด​ปากน้ำ​ คุณ​ลุง​ได้ทำคำอธิบาย​วิธี​เดินวิชชา​ไว้อย่าง​ละเอียด​แล้ว และ​ผมได้เอามาทำ​เป็น​แผนภูมิ​เพื่อให้ทบทวนได้ง่ายๆ​ ไปแล้ว​

แต่​วันนี้​ จะมาคุยจากพื้นฐาน​กัน

ขันธ์​ 5 ประกอบ​ด้วย รูปขันธ์​ เวทนา​ขันธ์​ สัญญา​ขันธ์​ สังขารขันธ์​ วิญญาณ​ขันธ์​
หากศึกษา​โดยวิธีตีความจากถ้อยคำ อาจจะ​มีความลึก​ซึ้งจนเข้าใจยาก เราควรมองจากภาพรวมของตัวเราเข้าไป
มนุษย์​มาเกิด มีสมบัติ​ติดตัวมา 2 อย่าง คือ กาย กับ ใจ
กาย เป็น​สิ่งจับต้องได้ มีตัวตนให้เห็​น​ ส่วน ใจ จับต้องไม่ได้​ ไม่มีรูปร่าง​ ไม่มีตัวตน เรารู้​ว่า​มี​ใจ เพราะเราสัมผัสได้ถึงหน้าที่ของใจ 4 อย่าง คือ เห็น​ จำ ​คิด ​รู้​ นั่นเอง ผู้​ที่​สามารถ​แยกแยะหน้าที่ของใจได้ลึกซึ้ง​ขนาดนี้ มีหลวงพ่อ​วัด​ปากน้ำ​องค์​เดียว​เท่านั้น​

การศึกษา​เรื่อง ​กาย ผู้​ที่​อบรมทางแพทย์​ย่อมรู้ดี โดยเฉพาะตอนเรียนวิชากาย​วิภา​ค (Anatomy)
กาย หากไม่มีใจครอง กายนั้น​ก็​เป็น​เพียง​ซากศพ​ มนุษย์​ที่มีชีวิต​ ต้องมีใจ หรือเรียกให้ละเอียด​คือ มีจิต มีวิญญาณ​ ครอง
การจะดู ใจ กระทั่งแยกแยะ ใจ ออกเป็นส่วนๆ เป็น​เรื่องยาก แต่ไม่พ้นความเพียร​พยายามของผู้รู้ หากเทียบกับกาย ก็เหมือนเรากำลัง​ศึก​ษา anatomy ของใจ นั่นเอง

ในทางวิชชา​ธรรมกาย​ เราเรียนรู้โดยการ เห็นก่อนจะผ่านมาถึงขันธ์​ เราต้องผ่าน (เห็น)​ ดวงธรรม​ที่ทำให้เป็น​กายเสียก่อน แล้วเห็น​กำเนิดเดิม (ศูนย์​รวมของความเป็​น​ตัวเราในชาตินี้)​ เป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม แล้วจึงเข้าไปถึงขันธ์​
รูปขันธ์​ คือ ส่วนละเอียดของกาย เป็น​ดวงกลมใส ลึกเข้าไป เป็น​ เวทนา​ขันธ์​ คือส่วนละเอียด​ของเห็น เข้าไปอีกเป็น​ สัญญา​ขันธ์​ ส่วนละเอียด​ของจำ สังขารขันธ์​ ส่วนละเอียดของคิด วิญญาณขันธ์ ส่วนละเอียดของรู้ เป็นลำดับไป

เรียบเรียงง่ายๆ คือ
รูป - กาย
เวทนา - เห็น
สัญญา - จำ
สังขาร - คิด
วิญญาณ - รู้
ก็คือ กาย กับ ใจ ที่แยกส่วนให้ละเอียดขึ้น นั่นเอง

เห็นขันธ์ 5 แล้ว มีบทเรียนต่อไปอย่างไร?

ก็ไปดูให้ครบ ขันธ์ติดต่อกับโลกภายนอกด้วย อายตนะ 12” แล้วส่งข้อมูลผ่านไปตาม ธาตุ 18”  มีการตีความ พอใจไม่พอใจ โดยอาศัย อินทรีย์ 22” ของแต่ละบุคคล ทำให้ตีความไม่เหมือนกัน อ่อนแก่หยาบละเอียด ไม่เท่ากัน  แต่ผมจะไม่ลงลึกในรายละเอียดเหล่านี้ในตอนนี้ อยากให้ดูบทเรียนต่อเนื่องเรื่องขันธ์ ซึ่งมีอยู่ในตำราต่อไป คือ

ท่านให้ไปดูว่า ขันธ์ เป็นอยู่อย่างไร พบว่าขันธ์ของกายมนุษย์ ถูกปกครองด้วยทุกข์สมุทัยเต็มรูปแบบ มีแก่เจ็บตาย เป็นเบื้องหน้า ด้วยกันหมดทั้งสิ้น เราเห็นดวงทุกข์สมุทัย (เป็นดวงดำ) หุ้มที่ดวงเห็นจำคิดรู้ของกายมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ ตำรายังให้ไปดูว่า เวลาตายกายละเอียดออกจากร่างมนุษย์อย่างไร โดยไปหาดูจากคนที่กำลังจะตายตามโรงพยาบาล มีการส่งมอบขันธ์​ไปให้กายละเอียดข้างใน มีการเก็บรักษา​รูป​แบบ​ขันธ์​เอาไว้ (โดยใคร?)​ เหล่านี้มีในบทเรียนทั้งสิ้น นี่แหละจึงสรุปได้ว่ากายมนุษย์ ตกอยู่ในไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) และมีครบถ้วนทั้ง แก่เจ็บตาย

ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ประจำเหล่านี้ไปได้

ตำราก็ให้ไปดูขันธ์ของกายอื่นๆ ตั้งแต่ กายทิพย์ กาย(รูป)พรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรม โดยจะเห็นดวงทุกข์สมุทัย หุ้ม เห็นจำคิดรู้ ของกายนั้นๆ พบว่า กายทิพย์ก็ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ แต่ไม่เต็มรูปแบบเหมือนกายมนุษย์ มี เกิดกับตาย ไม่มีแก่ไม่มีเจ็บ กายพรหมกายอรูปพรหม คล้ายๆ กายทิพย์ แต่อายุยืนยาวมาก จนผู้ปฏิบัติยุคแรกๆ เข้าใจว่าเป็นอมตะ ไม่ตายแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังตายอยู่ดี ครั้นไปถึงกายธรรม ไม่พบทุกข์สมุทัยมาหุ้มแล้ว แต่กายธรรมต้นๆ ยังมีกิเลสระดับบางๆ หุ้มอยู่ ต้องเข้าไปจนถึงกายธรรมที่ตรัสรู้แล้วนั่นแหละ จึงจะพอฟังได้

ที่อยากจะสื่อให้เข้าใจตอนนี้คือ หากเราเข้าไม่ถึง กายต่างๆ ที่กล่าวมา เราก็ รู้เห็นเป็น แค่กายมนุษย์กายนี้เท่านั้น มองไปทางไหนก็เห็นอยู่แค่นี้ ไม่ว่าจะทำอย่างไร กายมนุษย์กายนี้ก็หนีแก่เจ็บตายไปไม่พ้น จึงมีบางความรู้ ให้ "ปล่อยวาง" ซะเลย ยอมรับซะเลยว่าเป็นธรรมดาของสังขาร เราไม่อาจหนีพ้นไปได้ มันก็ถูกต้องสำหรับการรู้เห็นแค่กายมนุษย์กายเดียว แต่ความรู้ท่านยังไปไม่ถึงไหน

อยากเข้าใจชีวิตอย่างละเอียด มาเรียนวิชชาธรรมกายกัน วิชชาธรรมกายมีทั้งรู้ญาณ และเหตุผล หากท่านเป็นน้ำเต็มแก้ว ก็ไม่มีใครเอาอะไรมาเติมได้อีกแล้ว ท่านจะติดโลก ติดกระโหลกกะลา ไปทำไมกัน  ที่ว่า "ติด" เพราะท่านไปไม่พ้นจากกายมนุษย์​ของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านคิดว่าท่าน "ปล่อยวาง" แล้ว​ก็ตาม​

วันเวลาที่ล่วงไปๆ ได้คร่าชีวิตสรรพสัตว์ไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ ตายไปก็อย่าให้หลงตาย ไม่ได้ความรู้อะไรเลย

นิพนธ์ หลงประดิษฐ์
10 ม.ค. 2562



Sunday, November 4, 2018

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (6)

บทความตอนนี้ มาถึงปี พ.ศ. 2561 แล้ว ห่างจากความตอนที่ 5 ถึง 6 ปี
ณ จุดนี้ มีเหตุการณ์อะไรต่อเนื่องมาจากเมื่อ 6 ปี ก่อน

20 ม.ค. 2554 ครูอาจารย์ประกาศวันสำคัญในธาตุในธรรม ว่าเป็นวันแห่ง "มารสิ้นเชื้อ" และอีก 3 วันต่อมา มีการประกาศให้เข้านิพพาน ด้วยกายมนุษย์ หรือนิพพานเป็น หรือสอุปปาทิเสสนิพพาน นั่นเอง
ลูกศิษย์ลุง เชื่อในเหตุการณ์เหล่านี้เพียงไร?

เพราะ เหตุการณ์ทางโลกที่ผ่านมา เราพบว่า บุคคลสำคัญต่างแยกย้ายกลับ และไปทำหน้าที่ใหม่เกือบจะหมดแล้ว ในสายตาของบางท่าน อาจจะเห็นว่า โลกเราดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่ "ดีขึ้น" ซักเท่าไหร่

การมองอะไรให้ออกตามความเป็นจริง หากเราอยู่ "ติด" กับมันจนเกินไป เรามักจะไม่เห็นมัน เพราะเราจะยังใช้ตัวชี้วัดแบบที่ยังติดโลก ที่ว่า มารหมด โลก "น่าจะ" ถูกพลิกเป็นโลกใบใหม่ ทุกข์ภัยโรคเหือดหาย (ผลของ)ปิฏกมารไม่มีอีก บางครั้งคิดไปถึงว่า จะไม่มีคนแก่คนเจ็บหลงเหลืออยู่อีกเลยด้วยซ้ำ คือกลับเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นคนแข็งแรงหมด นี่คือความคิดเฉพาะหน้าแบบมนุษย์ที่ยังติดอยู่ในโลกใบนี้

แต่ หากเรามองแบบถอยห่างจากโลกออกมา โดยสมมุติว่า เราเดินวิชชาเข้านิพพานให้ลึกมากๆ แล้วมองกลับมาที่โลกมนุษย์ใบนี้อีกครั้ง เราจะพบว่า

โลกปัจจุบัน อยู่ในยุคภัทรกัปป์ กำเนิดมาจากยุคทุกข์สมุทัยที่เริ่มต้นมายาวนาน ตอนต้นยุคมีดอกบัวทำนายว่ากัปป์นี้จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขี้น 5 พระองค์ ระยะห่างระหว่างพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ยาวนานยิ่งนักในสายตามนุษย์ ปัจจุบันมีพระพุทธเจ้าอุบัติไปแล้ว 4 พระองค์ องค์ที่ 5 กำลังรอการจัดสรรอยู่

ในสายตาธาตุธรรม โลกเก่าใบนี้ กำลังใช้เวลาในช่วงท้ายๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ตั้งอยู่ แลัวดับไป ตามหลักไตรลักษณ์อันมีมานานแสนนาน เป็นธรรมดาของยุคที่ผ่านมา หากเราเป็นธาตุธรรมซึ่งเป็นเสมือนผู้บริหาร และจะต้องจัดการสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ หลังการพลิกฟื้นจากอำนาจปกครองเดิม เราจะบริหารโลกใบนี้ ที่กำลังใกล้หมดอายุขัยลงอยู่แล้ว อย่างไร? หากเราจะทุ่มเทแก้ไขโลก เราต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างมากมาย สู้รอให้มันหมดอายุลงไปตามกาลเวลา แล้วเริ่มต้นกับโลกใบใหม่ จะดีกว่าไหม

ระหว่างนี้ ก็เป็นการเก็บเกี่ยวของผู้รู้ หากมีอะไรเฉพาะหน้าก็แก้ไขกันไปตามเกม ตามหน้าตัก ผู้ที่ยังสร้างบารมีก็อาศัยกายมนุษย์อันเดิมนี้ ทำบารมีไปก่อน ทุกข์ภัยโรคดั้งเดิมมันยังไม่หมด แต่เราอยู่ด้วยความรู้ ว่าข้างหน้าจะต้องดี อย่างแน่นอน

สำหรับผู้สร้างบารมี ท่านลงมาเกิดเพื่อสร้างบารมีตั้งแต่ยังมีมารเต็มอัตราศึก และเขาเป็นผู้ปกครองใหญ่ในยุคนั้น
แน่นอน ท่านมาเกิดในสายตาของผู้ที่รู้ว่าจะมาต่อต้านเขา เขาก็ต้องเตรียมทุกอย่างไว้ขัดขวางท่านมาตั้งแต่แรก เมื่อผ่านมาถึงยุคใหม่ "สิ่ง" ทั้งปวงเหล่านี้ยังอยู่กับท่าน ยังเป็นตัวท่าน เป็นสิ่งแวดล้อมบุตรบริวารของท่าน ยังไม่ได้ไปไหน ท่านต้องอดทน กายมนุษย์ปัจจุบันนี้เป็นเพียง "เครื่องมือ" ใช้สอยมาเก่าแก่ ก็ใช้มันต่อไปก่อน แต่เราอยู่ด้วย "ความรู้" เรามีตัวชี้วัดซึ่งไม่ใช่ตัวชี้วัดตื้นๆ เรายังมีงานสอนที่ยังเกิดธรรมอย่างอัศจรรย์ ซึ่ง​ชี้วัดได้แม้ไม่ต้องใช้รู้ญาณ

ความชนะของธรรมภาคขาว ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เราเคยเห็นแต่ความชนะศึกสงครามของมนุษย์ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและในภาพยนตร์ ผู้ชนะจะทำลายผู้แพ้ไม่ให้กลับมาตั้งตัวเป็นศัตรูได้อีก แต่ความชนะของธาตุธรรมที่เราเห็นอยู่นี้ ซึ่งเราก็เห็นได้แค่โลกของหุ่นมนุษย์เท่านั้น มันไม่เหมือนในประวัติศาสตร์ไหน เพราะเรายังเห็นหุ่นเดิมๆ ที่มารเคยใช้สอยเหมือนยังลอยนวล เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นหุ่น หรือเราจะมองให้ลึกถึงความเป็นจริงในอีกระดับหนึ่ง ให้เราพิจารณา

ขอให้ทุกท่าน โชคดีมีชัย โชคดีมีสุข ครับ

Monday, August 13, 2018

สุญญตา

ผมพยายามหาที่มา และความหมายของคำๆ นี้ หลายแห่งพยายามอธิบายอย่างยืดยาว ใช้ศัพท์ที่ดูยุ่งยาก ว่ามันมีความหมายลึกซึ้งมากๆ แต่เมื่อผมรวบยอดคำแปลมาจากหลายแห่ง สรุปได้เพียงว่า สุญญตา แปลว่า สูญ หรือศูนย์ หรือไม่มี นั่นเอง ตำราหลายแห่งบอกที่มาที่ไปว่า คำนี้เป็นศัพท์เฉพาะของพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึง การว่างจากความมีตัวตน หรือมีอีกความหมายหนึ่งคือ ว่างจากกิเลส แต่ผู้รู้บางท่านก็ตีความต่อเนื่องเอาจากตัวหนังสือ หรือจินตนาการที่ไม่ได้รู้​ไม่ได้เห็นจากการปฏิบัติจริง (ปฏิเวธ)

สุญญตา ที่ผมอยากจะกล่าวถึงตามหลักวิชชาธรรมกาย คือ

หากเปรียบว่า สุญญตาคือ ความไม่มีตัวตน เมื่อมองจากกายมนุษย์เป็นหลัก กายมนุษย์ก็ไม่ใช่กายถาวร ที่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ มีบทเรียนชัดเจนที่จะพิสูจน์ว่ากายนี้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ ว่าเกิดจากเหตุอะไร ท่านต้องไปเรียน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งที่เที่ยงแท้กว่า เหตุที่เชื่อกันว่าไม่มีเพราะยังไม่มีความรู้ที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้น เท่านั้นเอง

หากเปรียบว่า สุญญตา คือความว่างจากกิเลส อันนี้น่าฟัง หลายท่านก็บอกว่า จะว่างจากกิเลส ก็ต้องเข้านิพพาน แต่เมื่อมาเชื่อในเรื่องความไม่มีตัวตนจนเกินขอบเขต เลยนึกว่านิพพานพลอยไม่มีตัวตนไปด้วย แต่ไม่นึกว่า นิพพานอาจจะเป็นสถานที่ที่ว่างจากกิเลส ซึ่งไม่ได้หมายความ​ว่าตัวนิพพานคือความว่าง​

แก้วใบนี้ว่าง คือแก้วไม่ได้ใส่น้ำไว้ แก้วว่างจากน้ำ ไม่ใช่ไม่มีแก้ว

ถ้าเทียบสุญญตา เท่ากับศูนย์ หรือ เลข 0 ก็น่าคิด
สุญญตาเป็น เป้าหมาย ของการปฏิบัติธรรมในยุคทุกข์สมุทัย เพราะเป็นยุคแห่งการติดลบไปเสียทุกอย่าง เราจึงตั้งเป้าให้พ้นจากความติดลบนั้น ให้กลับมาเป็นศูนย์เสียก่อน เราติดลบจากทุกข์สมุทัย และปิฎกมาร (กิเลส) นั่นเอง จึงตั้งเป้าการสร้างบารมี เพื่อความพ้นทุกข์ และเพื่อความดับกิเลส

แต่เมื่อภาคกิเลสถูกกำจัดไปแล้ว การสร้างบารมีจะทำเพื่ออะไร เพราะก่อนยุคทุกข์สมุทัย คือยุคทานศีลภาวนา เขาก็สร้างบารมี​ และทำเพื่ออะไร

แก้วน้ำที่เดิมมีน้ำสกปรก เราเทน้ำสกปรกทิ้ง ล้างแก้วให้สะอาด แก้วนั้นว่างแล้ว เป็นสุญญตาแล้ว ต่อไปเราก็ต้องเติมน้ำสะอาดเข้าไปในแก้ว ถึงตรงนี้ ยังมีงานให้เราทำต่อ ไม่ใช่ไปมีสภาพ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ตลอดกัลปวสาน