ความยากของการเรียนรู้ความจริงในสิ่งต่างๆ คือการแยกแยะว่า อะไรสำคัญ
อะไรไม่สำคัญ แม้สิ่งทั้งปวงนั้นจะเป็นความจริง ไม่ใช่ความหลอกลวงก็ตาม
ผมเคยสัมผัสกับผู้มีรู้มีญาณมามาก รู้เห็นทุกอย่างรอบตัวจนเป็นปกติ
แถมรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่ส่วนใหญ่มักมาบอกเราเมื่อเหตุการณ์เกิดไปแล้ว
มีคราวหนึ่งเราไปเที่ยว แล้วเด็กทำรองเท้าตกน้ำ
เขาก็ไปซุบซิบกับคนมีรู้ญาณด้วยกันเองว่า เขาเห็นเหตุการณ์นี้มาก่อนตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในบริเวณนั้นก็รู้สึกได้ทันที
เธอเห็นหรือไม่ แล้วเขาเหล่านั้นก็คุยกันด้วยความบันเทิงใจว่าเขาสามารถเห็นเหตุการณ์ได้ก่อนที่มันจะเกิด
แต่ผมกลับหงุดหงิดว่าหากเธอรู้ว่าสิ่งไม่ดีจะเกิด ทำไมไม่แก้ให้มันไม่เกิด
หรือกลัวว่าหากทำให้มันไม่เกิด ตัวเองจะมาคุยเขื่องไม่ได้
ที่สำคัญคือหากเป็นเหตุการณ์การตัดสินใจสำคัญๆ เขามักเข้าข้างกลุ่มคนที่เราเห็นว่าเป็นภัยด้วยซ้ำ
แสดงว่ารู้ญาณนั้นเปิดในเรื่องไร้สาระเพื่อให้เขาหลงติดในความสามารถของเขา
แต่การตัดสินถูกผิดในเรื่องสำคัญจริงๆ กลับเอาเหตุเอาผลไม่ได้
แน่นอน ความรู้บางอย่างที่ระลึกรู้ขึ้นมาได้ อาจเป็นชนวนให้เกิดความรู้สำคัญขึ้นในอนาคต
แต่อะไรจะเป็นตัวตัดสิน และมันคุ้มที่จะซื้อหรือไม่
วงการแพทย์ มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน
แต่วงการแพทย์มีกลไกควบคุมความรู้เหล่านั้น เริ่มต้นให้ทดลองกันในหมู่เล็กๆ
หากจะเผยแพร่ ก็นำลงในวารสารท้องถิ่นระดับโรงพยาบาลก่อน ถ้าได้รับการยอมรับ
ก็เผยแพร่ออกสู่โลกที่กว้างขึ้น โดยลงบทความในวารสารระดับจังหวัด ระดับประเทศ
ระดับโลก หากเกิดการยอมรับจึงมีสิทธิ์นำลงในตำรามาตรฐานให้แพทย์และนักเรียนแพทย์ได้ศึกษากัน
แม้ตำรามาตรฐานก็ต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ ทุกๆ 5 ปี 10 ปีก็ว่ากันไป การอ้างอิงความรู้ทั้งปวง
ต้องกล่าวอ้างได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตำราของท่านทันสมัยหรือโบราณขนาดไหน
หากวงการธรรมะทำได้อย่างวงการแพทย์ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก ก็คงดีไม่น้อย
แต่จะมีความละเอียดอ่อนกว่าเพราะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่อาจรู้เห็นกันตรงหน้าได้ง่ายนัก
ปัญหาทั้งปวงในโลกใบนี้ เกิดจากความเชื่อ เกิดจากรู้ญาณ(ความรู้ภายใน)ที่หลากหลายทั้งสิ้น
เกิดเป็นแขนงแห่งความเชื่อแตกออกไปไม่รู้จบ ความเชื่อทำให้คนเราทำได้ทุกอย่าง
พลีชีพตัวเองได้ ฆ่าคนอื่นได้ มีพฤติกรรมแปลกๆ ที่มนุษย์ทั่วไปเขาไม่ทำกันก็ได้
แล้วอะไรคือความถูกผิด หากเราไม่มีหลักยึดประจำใจกันไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ
หลักยึดเหล่านั้นเป็นพื้นฐานที่อาจต้องเพาะบ่มมาจากครอบครัว หรือโรงเรียน
หรือองค์กรอะไรก็ตาม หรือแม้เป็นบารมีเก่าที่ติดตัวมา นั่นเอง
เช่น เรายึดปิฎกของธรรมภาคขาวสำหรับมนุษย์ คือ ทาน ศีล ภาวนา หากปลูกสำนึกนี้มาแต่เด็ก
เราเชื่อโดยหลักเหตุผลว่า หากทุกคนมีทานศีลภาวนาประจำใจ โลกย่อมร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นแก่น คุณความดีอื่นๆ ที่จะแตกแขนงออกไป ก็ให้ยึดหลักปิฎกนี้
เหมือนรัฐธรรมนูญเป็นแก่น กฎหมายลูกต่อๆ มาก็ต้องเป็นไปตามแนวรัฐธรรมนูญ
เมื่อเราค้นพบวิชาใหม่ๆ เราต้องเชื่อมโยงความรู้ว่ามันต่อยอดจากหลักการเดิมตรงไหน
หากเราอ้างว่าเราพบวิธีปราบมารแบบใหม่ เราก็ต้องอ้างได้ว่าของเก่าเป็นอย่างไร
เราต่อยอดจากของเก่าตรงไหน หรือแม้ไม่ได้ต่อยอดแต่ต้องรู้ว่ามันต่างมาจากเดิมอย่างไร ภาพรวมขณะนี้เป็นอย่างไร หากจะปราบมารในภพ 3
เรามองภาพรวมอย่างไร เรามีกำลังพอจะสู้เขาไหม กำลังที่จะสู้สรรหามาจากไหน
ไปหามารได้ที่ใด ไม่ใช่เอากันแค่เฉพาะที่โผล่มาให้เห็น ใช้ความรู้อะไรในการปราบ
ปราบแล้วทำอย่างไรไม่ให้เขากลับมาปกครองธาตุธรรมตรงนั้นได้อีก ต้องคุยกันยาว
สรุปคือ ความเป็นจริงทั้งปวงในโลกใบนี้มีมากมายมหาศาล ทั้งที่เกิดมาก่อนแล้ว
กำลังเกิดอยู่ และจะเกิดต่อไป อะไรคือแก่นสาร อะไรคือกระพี้ที่เป็นเรื่องสัพเพเหระเสียเวลาใส่ใจ
ต้องแยกแยะให้ดีเพราะเรามีเวลาจำกัด เสียเวลาไปก็ต้องให้คุ้มค่า อย่าให้กระพี้มีความสำคัญเหนือแก่น
เช่นให้สัญญากันไว้ แต่ผิดสัญญา แล้วอ้างเหตุผลที่ดูดีในการผิดสัญญา
เราจะวินิจฉัยอย่างไร มันก็ต้องผิดมาตั้งแต่เกิดการผิดสัญญาซึ่งเป็นแก่นของเรื่อง
ส่วนเหตุผลอื่นที่ตามมาเป็นเพียงกระพี้เท่านั้น