ผมพยายามหาที่มา และความหมายของคำๆ นี้
หลายแห่งพยายามอธิบายอย่างยืดยาว ใช้ศัพท์ที่ดูยุ่งยาก ว่ามันมีความหมายลึกซึ้งมากๆ
แต่เมื่อผมรวบยอดคำแปลมาจากหลายแห่ง สรุปได้เพียงว่า สุญญตา แปลว่า สูญ หรือศูนย์
หรือไม่มี นั่นเอง ตำราหลายแห่งบอกที่มาที่ไปว่า คำนี้เป็นศัพท์เฉพาะของพุทธศาสนา
ซึ่งหมายถึง การว่างจากความมีตัวตน หรือมีอีกความหมายหนึ่งคือ ว่างจากกิเลส แต่ผู้รู้บางท่านก็ตีความต่อเนื่องเอาจากตัวหนังสือ
หรือจินตนาการที่ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นจากการปฏิบัติจริง (ปฏิเวธ)
สุญญตา ที่ผมอยากจะกล่าวถึงตามหลักวิชชาธรรมกาย คือ
หากเปรียบว่า สุญญตาคือ ความไม่มีตัวตน เมื่อมองจากกายมนุษย์เป็นหลัก
กายมนุษย์ก็ไม่ใช่กายถาวร ที่ควรยึดมั่นถือมั่น
เพราะมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงเป็นอนัตตา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ มีบทเรียนชัดเจนที่จะพิสูจน์ว่ากายนี้ตกอยู่ในไตรลักษณ์
ว่าเกิดจากเหตุอะไร ท่านต้องไปเรียน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งที่เที่ยงแท้กว่า
เหตุที่เชื่อกันว่าไม่มีเพราะยังไม่มีความรู้ที่จะแสวงหาสิ่งเหล่านั้น เท่านั้นเอง
หากเปรียบว่า สุญญตา คือความว่างจากกิเลส อันนี้น่าฟัง
หลายท่านก็บอกว่า จะว่างจากกิเลส ก็ต้องเข้านิพพาน
แต่เมื่อมาเชื่อในเรื่องความไม่มีตัวตนจนเกินขอบเขต
เลยนึกว่านิพพานพลอยไม่มีตัวตนไปด้วย แต่ไม่นึกว่า
นิพพานอาจจะเป็นสถานที่ที่ว่างจากกิเลส ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตัวนิพพานคือความว่าง
แก้วใบนี้ว่าง คือแก้วไม่ได้ใส่น้ำไว้ แก้วว่างจากน้ำ ไม่ใช่ไม่มีแก้ว
ถ้าเทียบสุญญตา เท่ากับศูนย์ หรือ เลข 0 ก็น่าคิด
สุญญตาเป็น “เป้าหมาย” ของการปฏิบัติธรรมในยุคทุกข์สมุทัย
เพราะเป็นยุคแห่งการติดลบไปเสียทุกอย่าง เราจึงตั้งเป้าให้พ้นจากความติดลบนั้น ให้กลับมาเป็นศูนย์เสียก่อน
เราติดลบจากทุกข์สมุทัย และปิฎกมาร (กิเลส) นั่นเอง จึงตั้งเป้าการสร้างบารมี
เพื่อความพ้นทุกข์ และเพื่อความดับกิเลส
แต่เมื่อภาคกิเลสถูกกำจัดไปแล้ว การสร้างบารมีจะทำเพื่ออะไร
เพราะก่อนยุคทุกข์สมุทัย คือยุคทานศีลภาวนา เขาก็สร้างบารมี และทำเพื่ออะไร