Pages

Friday, November 13, 2020

ผู้ชนะ

ความตอนนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ภาคที่ 7 ที่สืบเนื่องมาจากตอนที่แล้ว วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (6) โดยเราจะพยายามทำความเข้าใจกับความชนะของธรรมภาคขาว ในอีกมุมมองหนึ่ง

กายมนุษย์ของพวกเรายังหลงเหลืออยู่ในโลกยุคทุกข์สมุทัย แต่เดิม ครูบาอาจารย์ของเรามากอบกู้เอกราชของธรรมภาคขาวในโลกใบนี้ ซึ่งเสมือนเป็นดินแดนของศัตรู เราเป็นศิษย์สืบเนื่องมาถึงยุคสุดท้าย เมื่อธรรมภาคขาวชนะในธาตุในธรรม สิ่งที่เหลืออยู่บนโลกก็คือหุ่น และเครื่องมือใช้สอย โลกทั้งปวงก็แสดงลีลาของตนต่อไป ตามแบบที่เคยถูกสร้างสรรค์กันมา ใครเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่กันอย่างนั้นต่อไปก่อน ผู้ใหญ่ในธาตุในธรรมจะบริหารจัดการโลกใบนี้ขนาดไหน เราได้คุยกันมาแล้วในภาคที่ 6

ทำไมพวกเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธาตุธรรมที่เป็นฝ่ายชนะ จึงไม่ได้เป็นอยู่อย่างผู้ชนะ? เคยลำบากลำบนอย่างไร ก็ลำบากลำบนเหมือนเดิม เป็นคำถามที่ติดอยู่ในใจของศิษย์รุ่นหลังหลายท่าน

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราคิดว่าผู้ชนะ ควรเป็นอย่างไร? เราเคยเห็นความชนะที่แท้จริงของธรรมภาคพระ หรือธรรมภาคขาวหรือไม่? คำตอบคือ เรา หรือไม่ว่ายุคไหนๆ ไม่เคยเห็นความชนะของธรรมภาคขาวมาก่อนเลย ภาคขาวเพิ่งชนะในครั้งนี้เป็นครั้งแรก และจากประสบการณ์อันเจ็บปวด จึงต้องเป็นความชนะตลอดไปด้วย

ตัวชี้วัดของความชนะในระดับชาวบ้าน อาจคิดได้แต่เพียง การมีความเป็นอยู่คือ ที่ได้ติดอยู่กับโลกธรรมฝ่ายดี ซึ่งยังคงเป็นโลกแห่งทุกข์สมุทัย อันมีไตรลักษณ์เป็นเบื้องหน้า ผู้ยิ่งใหญ่ก็จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และห่างจาก ความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ซึ่งยังแฝงไปด้วยการชิงดีชิงเด่น กำจัดศัตรูที่จะมาช่วงชิงโค่นล้ม และพยายามรักษาสภาพที่ตนอยู่ไว้ไม่ให้เสื่อมสลาย

แต่การเป็นคนของภาคขาว อาจไม่ใช่อย่างที่กล่าวมา เพราะมีปิฎกที่ต่างกัน

จากประสบการณ์ "ส่วนตัว" ที่อยู่ดูโลกมาจนกลายเป็น "ผู้สูงอายุ" แล้ว พบว่า

1. การมีความคิดนอกกรอบ

เพื่อนๆ สมัยเรียน ที่ประสบความสำเร็จ เป็นเจ้าคนนายคน ส่วนหนึ่ง หรือบางทีก็เป็นส่วนใหญ่ เป็นคนฉลาดในการวางแผนชีวิตที่ต่างจากผู้เรียนธรรมดา เขาอาจมาสายเป็นประจำ อาจไม่เข้าเรียนบางวิชา แต่เมื่อมาเจอกัน ก็สามารถกลบเกลื่อนแก้ไขจนไม่มีใครตำหนิได้ สอบกันพอผ่าน และเมื่อจบมาทำงาน ก็มีความเจริญก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโตได้ เด็กใฝ่เรียนที่เรียนคู่กันมา สอบได้ดีกว่า แต่ต้องมาเป็นลูกน้องเขาก็มี โลกมันดูกลับตาลปัตรหรืออย่างไร

หลายท่านคงบอกว่า เป็นเพราะเขาฉลาด คิดนอกกรอบ ไม่โง่งมอยู่กับความคิดเดิมๆ จึงมีตำราจิตวิทยาให้คนหัดคิดนอกกรอบออกมามากมาย ทำให้ผู้คนไม่คิดจะอยู่ในกรอบ ไม่ชอบการมาทำงานแบบเป็นเวลา แต่อยากทำเป็นเรื่องๆ เสร็จแล้วก็เลิกได้ เมื่อมีงานใหม่ค่อยว่ากัน แต่หากเธอไม่เคยอยู่ในเวลาที่คนอื่นอยู่ เวลามีงานใหม่ไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเข้ามา เขาจะต้องคอยตามเธอตลอดหรือ

เรื่องนี้ สำหรับผมถือว่า เป็นความไม่สมเหตุสมผลอย่างหนึ่ง เพราะสังคมอยู่มาได้จากคนที่ยอมมาเป็นตัวจักรฟันเฟืองขององค์กร ยอมมาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัท สังคมจึงมีหน่วยงาน ร้านรวง ไว้บริการผู้คน หากทุกคนจะไม่อยู่ในกรอบ แต่รอเก็บเกี่ยวผลงานของสังคม ที่ดำรงค์อยู่ได้เพราะยังมีคนทำงาน จะไม่เป็นการเอาเปรียบสังคมหรือ และหากทุกคนถูกปั่นหัวให้คิดเช่นนี้ สังคมข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

2. อาชีพที่ทำให้ร่ำรวย

มีอาชีพที่ต้องห้ามในพุทธศาสนา เช่น ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ที่นำไปฆ่า ค้าน้ำเมา ค้ายาพิษ

แต่เราต้องยอมรับว่า ผู้ที่ทำอาชีพเหล่านี้ ร่ำรวยกันทั้งนั้น รวยกันระดับปกครองโลก เลยทีเดียว

การทำอะไรที่ต่างไปจากครูบาอาจารย์สอนไว้ แต่สุดท้ายก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยลาภยศสรรเสริญสุข เราจะตีความอย่างไร โลกใบนี้กลับตาลปัตรหรือไม่

3. การเลี้ยงดูเด็ก

หากเลี้ยงแบบพระ ทะนุถนอม ให้ทุกอย่าง เราจะได้เด็กอ่อนแอ หากเลี้ยงด้วยลำแข้ง ด่าทอ เรามักได้เด็กแข็งแกร่ง

ทำไมเด็กน่ารัก ต้องชมว่าน่าเกลียด

4. เบ็ดเตล็ด

อันนี้คิดแบบคนคิดเล็กคิดน้อย ทำไมเราทำตัวใจดี จึงไม่รีบให้บริการ แต่พอทำตัวแข็งกระด้าง ผู้คนเกรงใจ และเกรงกลัว รีบให้บริการก่อน

ที่ยกตัวอย่างมา ไม่ใช่มองโลกในแง่ร้าย แต่เราเอาความจริงมาคุยกัน เราเก่งกาจ เราฉลาด แต่ถ้าเราเถรตรง เราจะอยู่ในโลกใบนี้ไม่ได้

หากธรรมภาคขาวชนะ คุณสมบัติ หรือความเป็นอยู่คือของภาคขาวต้องโดดเด่นขึ้นในอนาคต แต่มันอาจไม่ใช่อนาคตของโลกใบนี้ กล่าวคือ เราจะมี ทานศีลภาวนาเป็นเป้าหมาย คือปกติของเรา จะเป็นผู้ให้ (ทาน) เป็นผู้ไม่เบียดเบียน (ศีล) เป็นผู้มีใจบริสุทธิ์ผ่องใส (ภาวนา) จะเป็นไปได้ ก็โดยการสร้างสมบารมี 10 อย่างไว้ให้เป็นนิสัย ให้เป็นปกติของเรา ตั้งแต่หัดให้มี ความคิดที่เป็นผู้ให้ (ทาน) ความคิดที่จะไม่เบียดเบียน (ศีล) ความสันโดษ (เนกขัมมะ) ความฉลาดรอบรู้ (ปัญญา) ความขยันหมั่นเพียร (วิริยะ) ความอดทน (ขันติ) ความเป็นคนตรง (สัจจะ) การตั้งเป้าหมาย (อธิษฐาน) ความมีเมตตา (เมตตา) และ ความปล่อยวาง (อุเบกขา)

และที่สำคัญ การปฏิบัติทางวิชชาทั้งปวงที่เราทำอยู่ ได้ส่งเสริมคุณสมบัติที่กล่าวมา เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจาก "ใจ" ที่ได้รับการฝึกฝน

เมื่อรวมคุณสมบัติทั้งหมดเหล่านี้เข้ามาแล้ว ความเป็นภาคขาว หรือภาคพระ ที่เป็นฝ่ายชนะ จะทำให้เราอยู่อย่างผู้ที่ "อิ่ม" แล้ว ไม่ต้องแสวงหาแบบผู้ชนะที่เราเคยเห็นมา แบบนั้นจะไม่ใช่ความชนะที่ยั่งยืนอีกต่อไป (จริงๆ มันก็ไม่ยั่งยืนมาตลอดนั่นแหละ) แต่ความชนะแบบใหม่ที่เราจะได้สัมผัส ไม่ใช่ความชนะที่จะเป็นคนโดดเด่น เราจะอยู่ได้แบบผู้ชนะในทุกสถานการณ์ แม้เรากำลังทำงานหนัก แม้เรากำลังเจ็บป่วยด้วยทุกข์ภัยโรคที่ยังหลงเหลือจากยุคเก่าที่ถูกรังแกมาก่อน เราก็ยังอิ่มใจได้ทุกเมื่อ

โดยเฉพาะเมื่อเรารู้ว่า งานของเรา จบแล้ว การดิ้นรนฟันฝ่าอันยาวนาน ได้จบลงทั้งหมดแล้ว ที่เหลืออยู่คือ การรอคอยอย่างมีสติ และอดทน ให้สมกับความเป็นธรรมภาคขาว นั่นเอง