Pages

Thursday, February 17, 2011

เมื่ออัศจรรย์บังเกิด

ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด เรามักได้ยินข่าวคราวของอัศจรรย์ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ บางอย่างก็เป็นข่าวโคมลอย บางอย่างก็เป็นเรื่องจริง ตัวอย่างเช่น หากเกิดมีแท่งภูเขาทองคำโผล่ขึ้นมาในสถานที่แห่งหนึ่ง เราจะมองเหตุการณ์เหล่านี้อย่างไร

ขอให้เราพิจารณาดังนี้

อย่าเพิ่งเชื่อ
ตามหลักกาลามสูตร หากพิสูจน์ว่าเชื่อถือได้แล้ว จึงพิจารณาต่อ

อย่าให้ศรัทธาอยู่เหนือเหตุผล
ขอให้มองที่มาที่ไป เช่นการเกิดเหตุแบบนี้สามารถอธิบายด้วยหลักวิชชา(ธรรมกาย)ของเราได้อย่างไร? ผู้ที่ทำให้เกิดซึ่งมักเป็นจักรพรรดิ์กายสิทธิ์หวังผลเช่นไร ผู้ปกครองหรือผู้คนในสถานที่แห่งนั้นมี Vision และ Mission หลักปฏิบัติในชีวิตของตนอย่างไร เทียบความรู้ที่มี สามารถทำให้เกิดอัศจรรย์เหล่านั้นได้แค่ไหน


หากไม่มีเหตุผลเพียงพออันคู่ควรกับการเกิดอัศจรรย์เหล่านั้น ก็เป็นเรื่องน่าคิด อาจเป็นการหลอกลวงให้เราไปหลงติดกับความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่พบความจริงแท้ในที่แห่งอื่นก็เป็นได้ เพราะการเกิดอัศจรรย์ก็มีได้ทั้งฝ่ายพระและฝ่ายมาร

แม้การมี Vision ว่าจะไปนิพพาน (ซึ่งสูงสุดในศาสนา) เราก็ต้องดูทางปฏิบัติ (Mission) ด้วยว่า ท่านสอนหนทางไปนิพพานได้ตรงแค่ไหน หรือว่าแวะเวียนระหว่างทางมากไปหน่อย มัวแต่จะไปเป็นเทพบุตร นางฟ้าในสรวงสวรรค์ หรือแม้ให้เกิดแค่ความร่ำรวยในโลกมนุษย์ซึ่งไม่จิรังยั่งยืน เป็นการเสียเวลาไป ก็ต้องดูด้วย

จักรพรรดิ์กายสิทธิ์(ภาคขาว) ท่านก็อยากมาสร้างบารมี โดยมาช่วยมนุษย์หรือหมู่คณะที่ทำความดี ท่านอาจมาทำอัศจรรย์เพื่อเรียกผู้คนให้มาทำบุญในสถานที่แห่งนั้น ซึ่งการจะมาช่วยใครได้หรือไม่ ย่อมมีตัวแปรอีกมากมาย เช่น การได้รับอาราธนา ความสะดวก ความปลอดภัย หรือแม้การที่ท่านจะรับรู้ได้ บางแห่งอาจเป็นคุณงามความดีสุดยอด แต่มาช่วยแล้วยังลำบากแก่ท่าน เกิดอันตรายแก่ท่าน หรือเกิดการกำบังจนท่านไม่อาจมาช่วยหมู่คณะนั้นได้ ก็เป็นเหตุผลที่น่าใส่ใจ

ครูในวิชชาธรรมกายของผม เคยปรารภมานาน ถึงอัศจรรย์ต่างๆ ซึ่งมีประปรายมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ทำนองว่า ท่านมีฤทธิเดชานุภาพถึงขนาดนี้ ทำไมท่านไม่มาช่วยปราบมาร

ในบางครั้ง คุณงามความดีเป็นไปคนละแบบ อาจเป็นทางเลือกของจักรพรรดิ์ท่านก็ได้ เช่นภาคโปรด กับภาคปราบ เป็นต้น

สุดท้าย ผมเป็นแพทย์ ก็อยากยกตัวอย่างของแพทย์คือ ผมเห็นอาจารย์แพทย์ในโรงเรียนแพทย์ ท่านมีความรู้ความชำนาญมากกว่าแพทย์ที่ออกไปทำงานในชนบทมากมายหลายเท่านัก ส่วนหนึ่งอาจไม่ร่ำรวยเหมือนแพทย์ในชนบทซึ่งมีความรู้น้อยกว่า แต่พบปะผู้คนมากกว่า เราคิดว่าการเป็นอาจารย์แพทย์ กับการเป็นแพทย์ปฏิบัติงานในชนบท อย่างไหนดีกว่ากัน

ผมว่าตอบไม่ได้ ขึ้นกับมุมมองความต้องการของแต่ละคน


แต่ถ้ามองระยะยาว ผมว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าขาดความรู้ทางการแพทย์ ความเป็นแพทย์ก็ไม่เกิดขึ้น หากขาดอาจารย์โรงเรียนแพทย์ให้การอบรมสั่งสอน แม้แพทย์ชนบทก็จะไม่มีอีกต่อไป

ท่านที่ติดตามคงเปรียบเทียบเอาเองต่อนะครับ