Pages

Saturday, June 25, 2011

การฝึกจิต (Mind Practice Concept)

นานมาแล้ว ผู้รู้ได้จัดหมวดหมู่วิธีการใดใดที่กระทำต่อจิตมนุษย์ไว้ 4 อย่างคือ Concentration, Relaxation, Hypnosis, และ Meditation เป็นการเรียบเรียงโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการฝึกจิตอย่างจริงจัง ผมจำที่มาไม่ได้เพราะนานเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงไม่อาจอ้างอิงไว้ตรงนี้ แต่ผมขอพูดถึงหลักการแต่ละอย่าง ดังนี้

Concentration คือการรวมใจ การจดจ่อใจ ของเราในสิ่งที่เรากระทำในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป เช่นจดจำสิ่งของที่เราจะไปซื้อ คำนวณค่าอาหารที่เราจะต้องจ่าย นึกเค้นคำตอบในเวลาทำข้อสอบ เป็นต้น การรวมใจในระดับนี้ยังไม่เข้มข้นพอที่จะเป็นการทำสมาธิ (Meditation) ซึ่งเป็นระดับการออกกำลังทางใจที่จะกล่าวต่อไป ถ้าเปรียบเทียบกับงานทางกาย ก็คือการออกแรงทำงานทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เราเคยได้ยินคนบางคนพูดว่าเขาทำงานหนัก ออกแรงทั้งวัน ถือเป็นการออกกำลังกายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายใดใดอีก ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการออกแรงทำงาน ไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างเป็นระบบเหมือนการออกกำลังกาย ผมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย

Relaxation การผ่อนคลายทางจิต อันนี้เป็นการปล่อยใจไปตามสบายโดยไม่ให้ใจทำหน้าที่อะไรสักระยะหนึ่ง เหมือนการนอนหลับพักผ่อนของร่างกาย ถือเป็นวิธีคลายเครียดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้จิตมีกำลังขึ้น วงการแพทย์มักใช้วิธีนี้ในคลินิกคลายเครียด โดยจัดให้คนไข้นั่งในเก้าอี้โซฟาสบายๆ เปิดเพลงคลาสสิค หรือเปิดเสียงประเภท White noise ที่ปัจจุบันเราพบว่าช่วยปรับคลื่นสมองให้ผ่อนคลายอย่างมีนัยสำคัญ แล้วให้คนไข้จินตนาการถึงสิ่งที่ผ่อนคลายเช่น การไปท่องเที่ยวตากอากาศ บางทีอาจมีการกระตุ้นด้วยแสงสีต่างๆ สลับไปมาด้วย

Hypnosis การสะกดจิต การเหนี่ยวนำทางจิต การครอบงำทางจิต วิธีการนี้ต้องแยกแยะให้ดีระหว่างการสะกดจิตกับการทำสมาธิที่ถูกต้อง หลักการในตอนนี้คือ จิตมนุษย์แบ่งเป็น จิตสำนึก กับจิตใต้สำนึก จิตสำนึกคือจิตเราขณะมีสติตื่นตัวอยู่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีปริมาณแค่ 10 % เท่านั้น ที่เหลืออีก 90 % เป็นจิตใต้สำนึกที่นอนเนื่องอยู่ภายใน หลักการของการสะกดจิตส่วนใหญ่คือการเข้าไปควบคุมจิตใต้สำนึกของผู้ถูกสะกด ซึ่งมีปริมาณมหาศาล และสั่งคำสั่งใดใดไว้ ในวงการแพทย์อาจสั่งให้คนไข้ เลิกบุหรี่ เลิกเหล้า เลิกยาเสพติด ซึ่งเป็นไปในทางสร้างสรรค์ แต่ผลลัพธ์อยู่ได้ไม่นาน ต้องกลับมาสะกดกันบ่อยๆ ทำให้ต้องปลุกจิตใต้สำนึกขึ้นมา และกดจิตสำนึกลงไป

ต่อมาเริ่มมีความคาบเกี่ยวเรื่องการเหนี่ยวนำทางจิตไปสู่การทำสมาธิ (Meditation) โดยใช้หลักการคล้ายการสะกดจิตมาก แต่เป็นการเหนี่ยวนำจิตสำนึก (สติ) ของเราให้ทำตามรอยใจที่เป็นแบบฉบับที่พิสูจน์มาดีแล้ว นั่นคือ การบอกวิชชา ให้ผู้ฝึกทำตามนั่นเอง ไม่ได้เหนี่ยวนำให้ผู้ฝึกเกิดความง่วงซืม (จิตสำนึกอ่อนกำลัง) แล้วเข้าครอบงำจิตใต้สำนึกแบบการสะกดจิตดั้งเดิม จึงนำเข้าสู่การฝึกสมาธิในยุคใหม่ ที่มีทั้งการสั่งวิชชาไม่ว่าจะโดยครูอาจารย์ หรือการสั่งวิชชาด้วยใจของตัวผู้ฝึกเอง และอีกใจหนึ่งทำตามการสั่งวิชชานั้น

Meditation การทำสมาธิ คือการออกกำลังทางใจ นั่นเอง เทียบกับร่างกายก็ละม้ายกับการออกกำลังทางกาย เราออกกำลังทางกายโดยการนำหน้าที่ของกล้ามเนื้อมาทำให้ดีขึ้น โดยการเพิ่มแรงเพิ่มน้ำหนักให้กล้ามเนื้อ ยกให้ได้มากขึ้นทีละน้อย จาก 2 กิโลกรัม ไปเป็น 5 กิโลกรัม ไปเรื่อยๆ จนถึงเป้าที่เราต้องการเช่น 10 กิโลกรัม เราก็วัดผลได้ว่ากล้ามเนื้อเราแข็งแรงขึ้น

การฝึกใจ ก็เอาหลักการเดียวกันนี้มาใช้ แต่ใจไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตน จึงต้องรู้ว่าใจมีหน้าที่อะไรบ้าง แล้วเอาหน้าที่ของใจมาพัฒนา หลวงพ่อวัดปากน้ำบอกเราว่าใจมีหน้าที่ 4 อย่างคือ เห็น จำ คิด รู้ เราจึงเอา เห็นจำคิดรู้ นี่แหละมาพัฒนา เหมือนกล้ามเนื้อมีหน้าที่ออกแรง เราก็เอาการออกแรงมาพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยการยกน้ำหนักเป็น Set

วิธีการพัฒนาเห็นจำคิดรู้ที่เป็นระบบมากที่สุด คือวิธีการทำสมถะในพุทธศาสนา ซึ่งมีให้เลือกถึง 40 วิธีตามจริตอัธยาศัยเป็นการปั้นใจเราขึ้นมา ให้ใจเราเริ่มทำงานง่ายๆ เช่นนึกดวงใส จนพัฒนาแข็งแรงขึ้นเป็นลำดับ ผมจะไม่พูดรายละเอียด เพราะไม่ใช่เนื้อหาของบทความตอนนี้

เมื่อใจแข็งแรงจนถึงจุดที่เหมาะสม (ควรมีการวัดผล) เราจึงเอาใจนั้นไปทำงานทางใจต่อไป เหมือนร่างกายที่ฝึกจนได้ที่แล้ว ก็เอาไปทำงานทางกาย เช่นเล่นกีฬาให้ชนะ เป็นต้น แต่ในพุทธศาสนา ส่งเสริมให้เอาจิตที่เป็นขึ้นดีแล้วนั้น ไปศึกษาให้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งในภาควิปัสสนา นั่นเอง

ขอจบบทความเรื่อง Mind Practice Concept ไว้เพียงนี้ก่อน
Dr. Niphon Longpradit  M.D.

Wednesday, June 8, 2011

การยกระดับธาตุธรรม

ผมห่างการเขียน Blog มานาน โดยตั้งใจจะเขียนแต่เรื่องที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น เพราะเท่าที่ผ่านมา ผมเห็นว่าได้เขียนเนื้อหาที่อยากถ่ายทอดไว้พอสมควรแล้ว ท่านที่เคยติดตามขอได้โปรดทบทวน เพราะเนื้อหาบางอย่างเกี่ยวข้องกัน ซึ่งผมไม่ได้กล่าวซ้ำ และในบางครั้งเราอาจเกิดความคิดใหม่ๆ ต่อยอดขึ้นมา ในขณะทบทวน ทั้งที่เราเคยอ่านมาแล้วแต่อาจเร่งรีบจนไม่ทันได้พิจารณาเนื้อหาในส่วนลึก

วันนี้ เรามาเริ่มกัน เราคงเคยสงสัยว่า การสร้างบุญบารมีแต่ละอย่าง จะเทียบได้อย่างไรว่า บุญบารมีไหนมีอานิสงค์มากกว่ากัน หากเราเอาหลักของ การยกระดับธาตุธรรม มาพิจารณา จะช่วยให้เราตัดสินได้ง่ายขึ้น

การกระทำใดใดที่ทำให้เกิดการยกระดับธาตุธรรมของเรา หรือของผู้อื่นให้สูงขึ้น ถือเป็นบุญบารมีใหญ่ และการให้ความช่วยเหลือผู้บำเพ็ญบารมีในลักษณะนี้ ย่อมได้บารมีไปด้วย ตามส่วน


ในวิชชาธรรมกาย การยกระดับธาตุธรรมมีรูปแบบที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือการเดิน(วิชชา) 18 กายนั่นเอง (ดูข้อ 1 ประกอบ) ซึ่งเป็นการยกระดับธาตุธรรมจาก ความเป็นมนุษย์ ไปเป็น ทิพย์ พรหม อรูปพรหม และกายธรรมในระดับต่างๆ

หากเราไม่เดินวิชชา แต่อาศัยการบำเพ็ญเพียรเพื่อยกระดับธาตุธรรม ต้องใช้การประพฤติธรรมในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า ยาก และอาศัยเวลาในการบำเพ็ญเพียรมาก เมื่อเทียบกับการมาเรียนวิชชาธรรมกายและเดินวิชชา 18 กาย เสียอีก เช่น จากมนุษย์ปุถุชน จะไปเป็นเทวดา ต้องบำเพ็ญเทวธรรมคือ หิริโอตตัปปะ จากเทวดาจะไปเป็นพรหม ต้องบำเพ็ญ พรหมวิหาร 4 จนเกิดฌานสมาบัติ ทำเช่นนี้ไปในแต่ละระดับ

ผู้ใดสามารถทำให้ใครๆ เกิดการยกระดับธาตุธรรมขึ้น ไม่ว่าในขั้นตอนไหน ย่อมได้บารมีมหาศาล ในบันทึกของครูสมัยโบราณ ยกตัวอย่างเช่น หากเราใช้รู้ญาณกายธรรมของเราตรวจดู จะพบว่า มีผู้ที่ติดอยู่ในขั้นของ กายธรรมโคตรภูหยาบมากมายมหาศาล หากเราทำให้เขาเหล่านั้นก้าวต่อไปถึง กายธรรมโคตรภูละเอียดได้ เราย่อมได้บารมีสูง ในทำนองเดียวกัน ยังมีผู้ที่ติดอยู่ในลักษณะเช่นนี้ในขั้นอื่นๆ อีกมากมายนัก

หากเราให้ความสนใจมาที่กายมนุษย์หยาบ ข้อ 2 และข้อ 3 ในรูป จะพบว่าแค่เราเปลี่ยนให้มนุษย์คนหนึ่งที่ยังไม่มีการศึกษาไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม กลายเป็นมนุษย์ที่มีการศึกษา ด้วยการให้วิทยาทาน เราก็ได้บุญมากกว่าการให้อามิสทานแล้ว ยิ่งหากเราสามารถสอนมนุษย์ที่ยังไม่เห็นธรรม ให้มีดวงตาเห็นธรรมได้ คือให้ธรรมทาน แต่เป็นธรรมะระดับปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ ย่อมเลิศกว่าการให้ทั้งปวง "สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ" นั่นเอง

การทำบุญแก่ผู้บำเพ็ญเพียรในเส้นทาง ของการยกระดับธาตุธรรม ย่อมมีอานิสงค์กว่ากันเป็นชั้นๆ เช่น การให้ทานแก่มนุษย์ย่อมมีอานิสงค์มากกว่าการให้ทานแก่สัตว์เดียรัจฉาน การให้ทานแก่มนุษย์ผู้บำเพ็ญตนเพื่อเป็นพระโสดาบัน ย่อมมีอานิสงค์มากกว่าการให้ทานแก่มนุษย์ทั่วไป ฯลฯ เราคงเคยได้ยินข้อมูลเหล่านี้มาบ้างแล้ว

การสอนธรรมปฏิบัติของเรา เป็นการยกระดับธาตุธรรมของผู้เรียนอย่างชัดเจน ให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ให้เป็นธรรมกาย คุณลุงเคยบอกว่า "ไอ้ตอนที่ธรรมมันกำลังจะเกิดน่ะ บารมีมันมากมายก่ายกองเชียวนะ" แม้เราไม่ได้ไปสอนเองโดยตรง แต่ช่วยเหลือค่ารถ หรือไปช่วยจัดแถวเด็ก ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำบารมีเหล่านี้แล้ว

หวังว่าเราคงเปรียบเทียบความ อ่อน แก่ ของบารมีที่เราทำ ได้พอสมควร