การฝึกใจ
เราคุยกันมาแล้ว เรื่อง เราสอนธรรมเพื่ออะไร? คำตอบคือเพื่อพัฒนา “ใจ” เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ที่กำหนดความเป็นตัวตนของเรา ไม่ว่าเราจะ เป็นอยู่คือ อย่างไร ล้วนมาจากใจกำหนดให้เราทั้งสิ้น
เราจะพัฒนาใจอย่างไร?
เรามี “กาย” กับ “ใจ” โดยกายเป็นเครื่องมือให้ใจใช้สอย
การฝึกกาย กับใจ เป็นสิ่งควรทำคู่กัน โดยเราสามารถอธิบายวิธีการและผลของการฝึกไปในทางเดียวกันได้
ฝึก กาย ให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย กายนั้นก็ควรแก่งาน เอามาใช้สอยได้
ฝึก ใจ ให้แข็งแรง ด้วยการทำสมาธิ ใจนั้นก็ควรแก่งาน เอามาใช้สอยได้เช่นกัน
แต่การฝึก ต้องมีการวัดผล เราจึงจะรู้ว่า เราแข็งแรงจริงหรือยัง เราออกกำลังกาย เรายังต้องวัดผล ไม่ว่าจะเล่นกีฬาแบบใด เราก็ต้องวัดผลให้เรารู้ว่า เราพัฒนาขึ้นหรือไม่
การวัดผลทางกาย ไม่ยาก เพราะมีตัวตนให้เราเห็น เรายกน้ำหนักได้มากขึ้น เราวิ่งได้เร็วขึ้น เราออกกำลังแล้วเราเหนื่อยน้อยลง เหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดทางกายให้เรารับรู้ว่าเราเก่งขึ้นกว่าเดิมทั้งสิ้น
การวัดผลทางใจ ยากกว่า เพราะใจไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตน แต่เมื่อเราเทียบกับการวัดผลทางกาย มันก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ เราวัดผลทางกาย โดยรู้ว่าการทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น คือทำหน้าที่ “ออกแรง” ได้ดีขึ้น
ใจ ก็ทำนองเดียวกัน เราวัดผลโดยดูว่าใจทำหน้าที่ได้ดีขึ้น นั่นเอง
หลวงพ่อวัดปากน้ำ สอนไว้ว่า ใจมีหน้าที่อยู่ 4 อย่างคือ “เห็น จำ คิด รู้” การฝึกใจจึงต้องเอา เห็นจำคิดรู้ มาฝึก มาพัฒนา
วิธีการของหลวงพ่อ คือให้เอาใจของเราที่ยืดไปยืดมา แว่บไปแว่บมา เอามารวมให้เป็นหนึ่ง นั่นคือ เอา ความเห็นความจำความคิดความรู้ ทางใจทั้งปวง มาบังคับให้หยุดนิ่งเป็นหนึ่งเดียว แต่การจะเอาใจซึ่งยังไม่เคยฝึก ยังไม่เคยถูกบังคับ ให้มาหยุดนิ่ง โดยไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวไว้ก่อนนั้น ยากมาก จึงต้องนึกอะไรให้เป็นรูปร่าง เป็นอารมณ์ ให้ใจเกาะไว้ก่อน เขาเรียกว่า “นิมิต” ตามหลักสมถะ 40 ในพุทธศาสนา ซึ่งเลือกฝึกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามจริตอัธยาศัย หรือเอาสมถะที่เป็นของกลางเข้าได้กับทุกจริต เอามาเป็นอารมณ์ให้ใจเกาะไว้ก่อน
หลวงพ่อใช้ ดวงแก้วขาวใส มาเป็นนิมิต หรือเครื่องหมายให้ใจยึด ซึ่งเป็นวิชชา “กสิณ” ในพุทธศาสนา เพราะเข้าใจง่าย เป็นกสิณแสงสว่าง โดยให้ดูดวงใสด้วยตา จนพอจำได้ เมื่อหลับตา เราไม่เห็นด้วยตาแล้ว ก็เอาใจนึกนิมิตที่พอจำได้นั้น ขึ้นมาเป็นมโนภาพ พยายามนึกให้ชัดมากๆ โดยอาศัยความเห็นด้วยตาเป็นตัวชี้วัด หากเมื่อไหร่ สามารถเห็นด้วยใจคล้ายตาเห็น คือนึกได้ชัดเหมือนลืมตาเห็น ทั้งๆ ที่เราหลับตา ถือว่า “จิตเป็นขึ้น” นั่นคือใจเราเก่ง ใจเราเกิดกำลังแล้ว
แต่แรกนึกเฉยๆ ยังไม่ชัดเท่าไหร่ เทียบกับตาเห็นได้ลางๆ ซัก 20% เหมือนเรากำลังหัดยกน้ำหนักได้ 2 กก ต่อมานึกได้ชัดขึ้น 50% เหมือนยกน้ำหนักได้ 5 กก นึกไป ๆ ชัดมากแล้ว ซัก 80% ยกน้ำหนักได้ 8 กก แล้ว นึกไปเรื่อยๆ ไม่นึกเรื่องอื่น เอ๊ะ ดวงใสชัดใสสว่างเหมือนลืมตาเห็น ทั้งๆ ที่เราหลับตา เหมือนยกน้ำหนักได้เต็มที่
ถึงตอนนี้ ใจสบายมาก รู้สึกถึงกำลังใจที่เกิดขึ้น อิ่มใจ หากมีใครมาด่ามาว่า อารมณ์ตอนนี้ไม่โกรธ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะ “จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส แต่มันเศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา”
เราฝึกใจจนมีกำลัง วัดผลจากเห็นจำคิดรู้ ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ก็คือจิตเดิมแท้ของเรามีกำลัง จากการฝึกใจ นั่นเอง เหมือนร่างกายที่ผ่านการฝึกยกน้ำหนักจนเกิดกำลังทางกาย ผู้ฝึกเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ นักกีฬาสามารถรับรู้ได้ถึงความมีกำลังของตน ผู้ฝึกใจก็สามารถรับรู้ได้ถึงกำลังใจของตนที่เกิดจากการฝึกนั้น ด้วยตัวเอง ไม่มีใครมาทำให้เราได้
กิเลสทั้งปวงสงบลงชั่วคราว ใจแข็งแรงมีอำนาจ เกิดหิริโอตตัปปะ ความผ่องใสซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิม จึงปรากฏให้เรารับรู้
มาถึงตอนนี้ จิตเป็นขึ้นแล้ว ก็ควรแก่งานทางใจที่จะทำต่อไป โดยเฉพาะในภาควิปัสสนา เพื่อยังกิเลสให้หมดไปอย่างถาวร และเรียนรู้งานทางใจชั้นสูงต่อไป
ขั้นตอนการฝึกจริง ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินใจไปตามฐานที่ตั้งในกาย 7 ฐาน การท่องคำภาวนา สัมมาอะระหัง เพื่อไม่ให้ใจฟุ้งซ่านขณะฝึก อันนี้ต้องคุยในภาคปฏิบัติ แต่เมื่อเข้าใจหลักการ การฝึกจริงไม่ยากแล้ว
การเอาดวงใสมาใช้ ไม่ใช่ให้ยึดติด แต่เป็นขั้นตอนของการฝึกดังที่กล่าวมา เหมือนเราเอาลูกน้ำหนักมาใช้ในการฝึกร่างกาย เช่นกัน
หวังว่า คงทำให้เราเข้าใจพื้นฐาน หรือหลักการของการฝึกใจกัน พอสมควร