ศรัทธา กับ ปัญญา, รู้ญาณ กับ เหตุผล, งมงาย กับ ความสงสัย, ความเชื่อ กับ ความเป็นจริง
การเข้าถึงความรู้หรือความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในทางศาสนา ล้วนมีตาชั่งระหว่าง ศรัทธากับปัญญา รู้ญาณกับเหตุผล งมงายกับความสงสัย ความเชื่อกับความเป็นจริง ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งสิ้น สิ่งใดก็ตามที่เรายังเข้าไม่ถึงหรือยังไม่สามารถรับรู้เรื่องราวของมันได้ทั้งหมด เรามักต้องมีศรัทธาในสิ่งนั้นๆ นำหน้าไปก่อน เมื่อความจริงในสิ่งเหล่านั้นเริ่มเห็นประจักษ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จากกาลเวลาที่ผ่านไป หรือจากการพิสูจน์ได้จนเป็นที่ยอมรับ ศรัทธาก็จะเปลี่ยนไปเป็นปัญญารู้แจ้งในสิ่งนั้นๆ ขึ้นมา
เราจึงเห็นได้ว่า ปัญญาหรือเหตุผล มักเป็นสิ่งสุดท้ายอันเป็นผลลัพธ์ ครูบาอาจารย์จึงให้ยึดเหตุผลเป็นหลักไว้ก่อน และยึดเรื่องรู้ญาณหรือศรัทธาหรือสังหรณ์ เป็นเรื่องรอง จริงๆ แล้ว มนุษย์เราก็ย่อมต้องมีทั้ง 2 สิ่ง เพียงแต่ควรนำหน้าไว้ด้วยปัญญา ไม่ใช่เชื่อตามเขาไปหมดจนกลายเป็นความงมงาย หรือไม่ยอมเชื่ออะไรเลย หาว่าพิสูจน์ให้เห็นจริงยังไม่ได้ก็จะไม่เชื่อ มันก็จะกลายเป็นดื้อด้าน ขี้สงสัย จนไม่ยอมรับรู้อะไร แล้วพลาดในสิ่งที่ตัวเองควรศึกษา ควรรับรู้ เพราะมันอาจจะเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างยิ่งเลยก็ได้ เพียงแต่ตนเองยังไม่อาจพิสูจน์ได้ในตอนนั้นเท่านั้น
ในวิชชาธรรมกาย เราเลื่อมใสหลวงพ่อวัดปากน้ำ เพราะเหตุทั้ง 2 อย่างที่ผมยกมา แต่ส่วนใหญ่จะศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ของวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อ ก็มาขอพึ่งใบบุญ พึ่งบารมีท่าน แต่หากเราจะดูให้ลึกซึ้ง เราต้องถามว่าวิชชาธรรมกายศักดิ์สิทธิ์เพราะอะไร ถ้าเราเรียนรู้ต่อ เราจะทราบว่าวิชชานี้ศักดิ์สิทธิ์เพราะมีความรู้ถึงที่มาของการแก้ทุกข์ภัยโรคทั้งปวง ว่าต้นตอของทุกข์ภัยโรคนั้นอยู่ที่ไหน เราก็เข้าไปแก้ไขตามความรู้ที่เราเข้าไปถึง ทุกข์ภัยโรคก็หาย เกิดความศักดิ์สิทธิ์จากความรู้นี้เอง รู้ว่าสมบัติคุณสมบัติทั้งปวงเกิดขึ้นได้เพราะอะไร เราก็สร้างเหตุจากความรู้เหล่านั้น ผลย่อมเกิดตามมาเป็นธรรมดา หากเราได้เรียนรู้เนื้อหาจริงๆ เราก็กลายเป็นคนศักดิ์สิทธิ์อย่างหลวงพ่อได้ ชื่อว่าบูชาหลวงพ่อด้วยปฏิบัติบูชาด้วยซ้ำ
สรุปคือ เหตุผลต้องอยู่เหนือรู้ญาณ ปัญญาต้องมีให้เหนือศรัทธา แต่อย่ากลายเป็นดื้อด้าน และเมื่อความจริงปรากฏ ความเชื่อของเราจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบของความจริงอันนั้นนั่นเอง