Pages

Monday, November 15, 2010

สามัญสำนึกในการท่องสอบวิปัสสนาจารย์

การสอบวิปัสสนาจารย์ หรือการสอบอุปัชฌาย์ เป็นกิจกรรมสำคัญของกลุ่มผู้ศึกษาวิชชาธรรมกายในสายของคุณลุง หลักง่ายๆ ก็คือการท่องบทบอกวิชชาธรรมกายเพื่อให้จำได้คล่องปากและนำไปสอนผู้เรียนในโอกาสต่างๆ ผมได้เห็นการสอบมาหลายครั้ง เพราะอยู่มานาน จึงเห็นข้อโต้แย้ง ที่อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ อยากนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ให้ท่านทั้งหลาย ทบทวนเรื่องการกู้ยืมบารมีประกอบด้วยนะครับ ผมจะไม่กล่าวรายละเอียดซ้ำ

การท่องวิชชา ขอให้ทำใจเสมือนว่าเรากำลังบอกวิชชาแก่คนที่ยังไม่รู้จักวิชชาเลย ให้เขาสามารถทำใจตามบทที่เราบอกได้แม้กำลังหลับตาก็ทำตามได้โดยตลอดรอดฝั่ง ตั้งแต่การเดินฐาน 7 ฐาน การเดินวิชชาอนุโลม 18 กาย การเข้าหาต้นธาตุ การเข้าหาพระนิพพาน การปฏิโลมกาย 18 กายกลับจากนิพพาน จนรวมธาตุรวมธรรมขึ้นและจบ อย่าไปคิดว่าเป็นการท่องจำเหมือนท่องอาขยาน แบบนกแก้วนกขุนทอง

การหาบทท่องสอบ ผมเห็นว่ามีบทท่องสอบออกมาหลายรุ่น มีทั้งเป็นชีตกระดาษ A4 จนกระทั่งเป็นหนังสือ หนังสือที่สำคัญและน่าจะถือเป็นบรรทัดฐานคือ ทางรอดของมนุษย์ เพราะความเป็นหนังสือย่อมเอาไว้ใช้อ้างอิงได้ แต่การท่องด้วยชีตก็มีความสะดวกพกพาไปท่องได้ง่าย แต่ชีต บางทีก็มีรายละเอียดที่ต่างกันไปในแต่ละรุ่น ซึ่งไม่ได้ผิดเพี้ยนอะไร แต่อาจต่างกันที่ถ้อยคำบ้างตามยุคสมัย

ผมเคยเห็นชีตมาหลายรุ่น เมื่ออ่านดูแล้ว ด้วยสายตาของผู้ที่เคยสอบมาก่อน หรือผู้ที่สอนคนมาบ้างแล้ว ก็ไม่พบความผิดพลาดอะไร ดูแล้วก็ใช้ได้หมด

แต่มาระยะหลัง กลับพบความสับสนของผู้ท่องสอบบ่อยครั้ง จึงอยากแบ่งปันไว้ ณ ที่นี้ เช่น

การบอก 7 ฐาน การบอกวิชชาอนุโลม 18 กาย การเข้าหากายธรรมต้นธาตุ การเข้าพระนิพพาน ดูจะไม่มีปัญหาอะไร

แต่พอถึงตอนปฏิโลมกายกลับจากนิพพาน ชีตบางรุ่นก็ไล่กายมาตั้งแต่ กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด(เริ่มนับเป็นกายที่ 1) กายธรรมพระอรหัตต์หยาบ กายธรรมพระอนาคามีละเอียด ไล่เรื่อยมาจนถึงกายที่ 17 คือ กายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน จากนั้นในชีตเขียนต่อเป็น ดวงธรรมของกายมนุษย์(หยาบ) คือไม่ได้เขียนว่า กายมนุษย์(หยาบ)

ผมอ่านตอนนี้ ผมก็ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะคิดว่าการมาถึงดวงธรรมของกายมนุษย์(หยาบ)ย่อมต้องเห็นกายมนุษย์(หยาบ)ก่อน เป็นปกติวิสัยที่เป็นสามัญสำนึก แล้วจึงเดินใจ 7 ฐานมาที่ดวงธรรมของกายมนุษย์(หยาบ)นั่นเอง

แต่ผู้ท่องสอบใหม่บางท่านเข้าใจว่า จบกายฝัน เดินดวงธรรมของกายฝัน 6 5 4 3 2 1 แล้วนึกให้เกิด ดวงธรรมของกายมนุษย์(หยาบ)เลย โดยไม่ผ่านการเห็นกายมนุษย์(หยาบ) อันเป็นกายที่ 18 ในขาปฏิโลม ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด จึงอยากติงไว้ ณ ที่นี้ ว่าเราก็ต้องใช้สามัญสำนึกในการเดินวิชชาอยู่เหมือนกัน การเดินวิชชา 18 กาย มันจะเดินแค่ 17 กายได้อย่างไร หรือหากไล่ดวงธรรมของกายฝันกลับมา 6 5 4 3 2 1 แล้วเกิดอีกดวง(ของกายมนุษย์) ก็กลายเป็นดวงที่ 7 ขึ้นมา มันไม่กระดักกระเดิดหรือ

ผมไม่โทษผู้มาใหม่ แต่ผู้ที่ผ่านการสอบมาก่อนต้องเป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นน้องๆ นะครับ เราต้องแม่นยำ ความเพี้ยนมันเกิดได้แม้เรื่องเล็กน้อยโดยไม่รู้ตัว

เท่าที่อธิบายก็น่าจะพอเข้าใจได้ แต่หากจะอ้างอิงตำราก็อ่านดูในหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ หน้า 147 ซึ่งมีการบรรยายลักษณะกายมนุษย์(หยาบ)ไว้ด้วยซ้ำ

อาจมีข้อโต้แย้งอีกจุดหนึ่งตอนรวมธาตุรวมธรรมในหน้า 147 นี้ และในหน้า 155 ตอนที่นึกให้จุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบว่างออกไป เห็น กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด ... ซึ่งแต่เดิมเรานึกให้เห็น กายธรรมพระอรหัตต์ เฉยๆ ไม่มีหยาบไม่มีละเอียด อันนี้มีวิปัสสนาจารย์ไปถามคุณลุงแล้ว ได้รับคำตอบว่าใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง ผมก็ขอนำมากล่าวไว้ตรงนี้ด้วยเพื่อไม่ให้สับสน คือครูอาจารย์ได้รับทราบตรงนี้แล้ว แต่ท่านอย่าสับสนกับกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดในตอนเดิน 18 กายนะครับ มันคนละส่วนกัน

Friday, November 12, 2010

การสร้างบารมี กับความสับสนเรื่องตัวชี้วัด

เมื่อเราพูดถึงการสร้างบารมี เราคงไม่ต้องท้าวความถึงการทำคุณงามความดีทั่วๆ ไป เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขแล้วนะครับ นักสร้างบารมีจะมุ่งหวังไกลขึ้นไปอีก คิดไปถึงขั้นของมรรคผลนิพพาน ซึ่งอาจไปถึงการเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าทีเดียว ตรงกับหลักสมัยใหม่คือ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก นั่นเอง

เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าการทำบารมีส่วนตนของเรา เป็นการทำเพื่อตัวเราเองทั้งสิ้น แต่การทำเพื่อตัวเราเองนั้นมันเกิดประโยชน์ต่อสังคมไปโดยปริยาย นับเป็นความลงตัวอย่างยิ่ง

ความรู้เดิมเราสร้างบารมี 10 ทัศศ์ ต่อมาเราได้รับความรู้เพิ่มเติมให้สอนธรรมปฏิบัติจนผู้เรียนเกิดดวงตาเห็นธรรม เป็นการสร้างบารมีต่อยอดในยุคของเรา โดยมีหลักการว่าเมื่อบารมีเต็มส่วนย่อมพร้อมที่จะเห็นธรรมอยู่แล้ว เราไปจับจุดให้เกิดธรรมเลย คล้ายกับการโปรดสัตว์ของพระบรมศาสดา แต่พระองค์กระทำการโปรดสัตว์หลังจากพระองค์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศศ์จนเต็มบริบูรณ์ แล้วบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง จึงมารื้อสัตว์ขนสัตว์ในภายหลัง แต่เราเอาหน้าที่สอนธรรมนี้ มาทำในขณะที่เรายังเป็นโพธิสัตว์ที่กำลังสร้างบารมีอยู่ เรายังไม่ใช่สัพพัญญู ขอให้ดูเรื่องการกู้ยืมบารมีประกอบ

การสอนธรรมของสัพพัญญู กับการสอนธรรมของเราซึ่งยังเป็นโพธิสัตว์ จึงไม่เหมือนกัน

การสอนธรรมของสัพพัญญูเป็นการรื้อสัตว์ขนสัตว์ ย่อมต้องมีตัวชี้วัดคือขนสัตว์เข้านิพพานไปให้ได้มากที่สุด ตัวชี้วัดทั้งปวงจึงพุ่งเป้ามาที่สัตว์โลก การสอนธรรมของท่านเป็นการสอนให้เห็นธรรมอย่างถาวร คือบรรลุธรรมเป็นลำดับไปโดยไม่ถอยหลังกลับนั่นเอง

แต่การสอนธรรมของพวกเราที่ยังเป็นเพียงโพธิสัตว์สร้างบารมีส่วนตนนั้น พุ่งเป้ามาที่ตัวเราเองมากกว่า คือ เราสอนเสร็จ เราก็กลับ ผลพลอยได้คือผู้เรียนได้โอกาสมีดวงตาเห็นธรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อเราจากมา ธรรมะของผู้เรียนก็ค่อยๆ เลือนไป เหลือแต่ความทรงจำ และรอยใจให้เขาเหล่านั้นได้หวนกลับมาในเส้นทางสายธรรมะต่อไปในอนาคต

แต่การสร้างบารมี ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางไม่ตรงไปตรงมา มีมารผจญมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อเราแก้ทุกข์สมุทัย แก้ปิฎกของเขาได้ในระดับหนึ่ง นานไปมักมีการแก้คืนให้เราสับสนได้เสมอ

ผมเคยกล่าวถึงการแก้โรค โดยสมมุติเหตุผลที่ว่า มารส่งโรค เพราะฉะนั้นใครแก้โรคได้ คนนั้นย่อมเป็นพระ ใช่หรือไม่ คำตอบคือแต่ก่อนใช่ แต่ปัจจุบัน มีการเลียนแบบปนเป็นเข้ามาเพื่อดึงศรัทธาของผู้คนให้สับสนเอนเอียงออกไป ก็เกิดมีสำนักแก้โรคขึ้นมากมาย

โดยพื้นฐาน เราทราบว่าผู้ที่เห็นธรรม ย่อมเกิดอานิสงค์ที่ดีต่อตัวเขาเองมากมายมหาศาล มีการสรุปไว้ในตำราเป็นหน้าๆ แต่เมื่อเราสอนมากเข้า และมีโอกาสติดตามผู้เรียนของเรามาโดยตลอด บางทีกลับไม่เป็นไปดังคาด เราเริ่มสับสนว่าการเกิดธรรมไม่ได้เกิดผลต่อผู้เรียนเป็นอัศจรรย์อย่างที่เราคาดหวังไว้เสียแล้ว

คำตอบของผมคือ การสอนธรรมนั้น มีตัวแปรที่มาเกี่ยวข้องมากมาย ตัวแปรบางอย่างเราสามารถควบคุมได้ แม้เด็กที่มาเรียนกับเรา เราก็ควบคุมเขาได้ตอนที่อยู่กับเราเท่านั้น เราเห็นกิริยาอาการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปในทางดีได้ชัดเจนในขณะเกิดธรรมอยู่ต่อหน้าเรา แต่เมื่อเราจากไปแล้วเราไม่สามารถควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่เขาต้องไปสัมผัสเจอะเจอได้เลย โดยเฉพาะตัวแปรอันไม่คาดฝันที่ส่งวิชชามาจากภายใน เขารู้ว่าเราเริ่มสับสนกับสิ่งเหล่านี้ เขาก็ยิ่งทำให้เราสับสนมากยิ่งขึ้น หรือบางทีการเอาธรรมะไปให้ เหมือนเราให้สมบัติอันล้ำค่าแก่ผู้เรียน ผู้เรียนได้สมบัติไป อาจยังรักษาไว้ไม่ได้ดีนัก ก็ถูกโจรตีหัว อย่างนี้เราจะพิจารณาอย่างไร

เปรียบเทียบกับ การที่เรามีเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป เห็นคนบาดเจ็บรถเสียอยู่ข้างทาง ก็จอดรถลงไปช่วย แต่แล้วเขากลับแสดงตัวเป็นโจรปล้นเรา เราจะคิดว่าการมีคุณธรรมเมตตาของเราทำให้เราโดนโจรปล้น ต่อไปเราจะไม่มีเมตตาต่อใครอีกแล้ว ใช่หรือไม่

มาถึงตอนนี้ ผมคงไม่สรุปว่าควรหรือไม่ควรทำอย่างไรนะครับ ถือเป็นการเล่าสู่กันฟัง ผมเชื่อว่าเราก็ยังทำงานสอนต่อไปนั่นแหละ แต่เริ่มเข้าใจตัวชี้วัดงานสอนของเราในมุมมองของการได้บารมีส่วนตน มากกว่าการคาดหวังผลต่อผู้เรียนเพียงอย่างเดียว

ตัวชี้วัดการได้บารมีของตัวเราควรเป็นอย่างไร? ให้ได้แก้วแหวนเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือเปล่า เราย่อมรู้ของเรา แต่ครูบาอาจารย์ท่านให้ตัวชี้วัดเบื้องต้นไว้แก่เราดังนี้

เมื่อเราเป็นธรรมกาย เราต้องสามารถ

1.สอนเบื้องต้นให้เฉียบคม ให้เกิดธรรมได้

2.แก้ทุกข์ภัยโรคทางวิชชาได้ จึงจะฟังขึ้น

สำหรับผม ขอเพิ่มเติม ความแตกฉานเข้าใจในเนื้อหาวิชชา รู้เท่าทันเหลี่ยมคูของภาคกิเลส ได้มากยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ และความยาวนานพอสมควร กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนลาภยศสรรเสริญสุข มันย่อมเป็นผลพลอยได้ที่เกิดตามมา เพราะแท้จริง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสมบัติเดิมๆ ของพวกเราอยู่ก่อนแล้ว