Pages

Friday, November 12, 2010

การสร้างบารมี กับความสับสนเรื่องตัวชี้วัด

เมื่อเราพูดถึงการสร้างบารมี เราคงไม่ต้องท้าวความถึงการทำคุณงามความดีทั่วๆ ไป เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขแล้วนะครับ นักสร้างบารมีจะมุ่งหวังไกลขึ้นไปอีก คิดไปถึงขั้นของมรรคผลนิพพาน ซึ่งอาจไปถึงการเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าทีเดียว ตรงกับหลักสมัยใหม่คือ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก นั่นเอง

เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าการทำบารมีส่วนตนของเรา เป็นการทำเพื่อตัวเราเองทั้งสิ้น แต่การทำเพื่อตัวเราเองนั้นมันเกิดประโยชน์ต่อสังคมไปโดยปริยาย นับเป็นความลงตัวอย่างยิ่ง

ความรู้เดิมเราสร้างบารมี 10 ทัศศ์ ต่อมาเราได้รับความรู้เพิ่มเติมให้สอนธรรมปฏิบัติจนผู้เรียนเกิดดวงตาเห็นธรรม เป็นการสร้างบารมีต่อยอดในยุคของเรา โดยมีหลักการว่าเมื่อบารมีเต็มส่วนย่อมพร้อมที่จะเห็นธรรมอยู่แล้ว เราไปจับจุดให้เกิดธรรมเลย คล้ายกับการโปรดสัตว์ของพระบรมศาสดา แต่พระองค์กระทำการโปรดสัตว์หลังจากพระองค์บำเพ็ญบารมี 10 ทัศศ์จนเต็มบริบูรณ์ แล้วบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง จึงมารื้อสัตว์ขนสัตว์ในภายหลัง แต่เราเอาหน้าที่สอนธรรมนี้ มาทำในขณะที่เรายังเป็นโพธิสัตว์ที่กำลังสร้างบารมีอยู่ เรายังไม่ใช่สัพพัญญู ขอให้ดูเรื่องการกู้ยืมบารมีประกอบ

การสอนธรรมของสัพพัญญู กับการสอนธรรมของเราซึ่งยังเป็นโพธิสัตว์ จึงไม่เหมือนกัน

การสอนธรรมของสัพพัญญูเป็นการรื้อสัตว์ขนสัตว์ ย่อมต้องมีตัวชี้วัดคือขนสัตว์เข้านิพพานไปให้ได้มากที่สุด ตัวชี้วัดทั้งปวงจึงพุ่งเป้ามาที่สัตว์โลก การสอนธรรมของท่านเป็นการสอนให้เห็นธรรมอย่างถาวร คือบรรลุธรรมเป็นลำดับไปโดยไม่ถอยหลังกลับนั่นเอง

แต่การสอนธรรมของพวกเราที่ยังเป็นเพียงโพธิสัตว์สร้างบารมีส่วนตนนั้น พุ่งเป้ามาที่ตัวเราเองมากกว่า คือ เราสอนเสร็จ เราก็กลับ ผลพลอยได้คือผู้เรียนได้โอกาสมีดวงตาเห็นธรรมในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อเราจากมา ธรรมะของผู้เรียนก็ค่อยๆ เลือนไป เหลือแต่ความทรงจำ และรอยใจให้เขาเหล่านั้นได้หวนกลับมาในเส้นทางสายธรรมะต่อไปในอนาคต

แต่การสร้างบารมี ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางไม่ตรงไปตรงมา มีมารผจญมากบ้างน้อยบ้าง เมื่อเราแก้ทุกข์สมุทัย แก้ปิฎกของเขาได้ในระดับหนึ่ง นานไปมักมีการแก้คืนให้เราสับสนได้เสมอ

ผมเคยกล่าวถึงการแก้โรค โดยสมมุติเหตุผลที่ว่า มารส่งโรค เพราะฉะนั้นใครแก้โรคได้ คนนั้นย่อมเป็นพระ ใช่หรือไม่ คำตอบคือแต่ก่อนใช่ แต่ปัจจุบัน มีการเลียนแบบปนเป็นเข้ามาเพื่อดึงศรัทธาของผู้คนให้สับสนเอนเอียงออกไป ก็เกิดมีสำนักแก้โรคขึ้นมากมาย

โดยพื้นฐาน เราทราบว่าผู้ที่เห็นธรรม ย่อมเกิดอานิสงค์ที่ดีต่อตัวเขาเองมากมายมหาศาล มีการสรุปไว้ในตำราเป็นหน้าๆ แต่เมื่อเราสอนมากเข้า และมีโอกาสติดตามผู้เรียนของเรามาโดยตลอด บางทีกลับไม่เป็นไปดังคาด เราเริ่มสับสนว่าการเกิดธรรมไม่ได้เกิดผลต่อผู้เรียนเป็นอัศจรรย์อย่างที่เราคาดหวังไว้เสียแล้ว

คำตอบของผมคือ การสอนธรรมนั้น มีตัวแปรที่มาเกี่ยวข้องมากมาย ตัวแปรบางอย่างเราสามารถควบคุมได้ แม้เด็กที่มาเรียนกับเรา เราก็ควบคุมเขาได้ตอนที่อยู่กับเราเท่านั้น เราเห็นกิริยาอาการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไปในทางดีได้ชัดเจนในขณะเกิดธรรมอยู่ต่อหน้าเรา แต่เมื่อเราจากไปแล้วเราไม่สามารถควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่เขาต้องไปสัมผัสเจอะเจอได้เลย โดยเฉพาะตัวแปรอันไม่คาดฝันที่ส่งวิชชามาจากภายใน เขารู้ว่าเราเริ่มสับสนกับสิ่งเหล่านี้ เขาก็ยิ่งทำให้เราสับสนมากยิ่งขึ้น หรือบางทีการเอาธรรมะไปให้ เหมือนเราให้สมบัติอันล้ำค่าแก่ผู้เรียน ผู้เรียนได้สมบัติไป อาจยังรักษาไว้ไม่ได้ดีนัก ก็ถูกโจรตีหัว อย่างนี้เราจะพิจารณาอย่างไร

เปรียบเทียบกับ การที่เรามีเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป เห็นคนบาดเจ็บรถเสียอยู่ข้างทาง ก็จอดรถลงไปช่วย แต่แล้วเขากลับแสดงตัวเป็นโจรปล้นเรา เราจะคิดว่าการมีคุณธรรมเมตตาของเราทำให้เราโดนโจรปล้น ต่อไปเราจะไม่มีเมตตาต่อใครอีกแล้ว ใช่หรือไม่

มาถึงตอนนี้ ผมคงไม่สรุปว่าควรหรือไม่ควรทำอย่างไรนะครับ ถือเป็นการเล่าสู่กันฟัง ผมเชื่อว่าเราก็ยังทำงานสอนต่อไปนั่นแหละ แต่เริ่มเข้าใจตัวชี้วัดงานสอนของเราในมุมมองของการได้บารมีส่วนตน มากกว่าการคาดหวังผลต่อผู้เรียนเพียงอย่างเดียว

ตัวชี้วัดการได้บารมีของตัวเราควรเป็นอย่างไร? ให้ได้แก้วแหวนเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือเปล่า เราย่อมรู้ของเรา แต่ครูบาอาจารย์ท่านให้ตัวชี้วัดเบื้องต้นไว้แก่เราดังนี้

เมื่อเราเป็นธรรมกาย เราต้องสามารถ

1.สอนเบื้องต้นให้เฉียบคม ให้เกิดธรรมได้

2.แก้ทุกข์ภัยโรคทางวิชชาได้ จึงจะฟังขึ้น

สำหรับผม ขอเพิ่มเติม ความแตกฉานเข้าใจในเนื้อหาวิชชา รู้เท่าทันเหลี่ยมคูของภาคกิเลส ได้มากยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ และความยาวนานพอสมควร กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนลาภยศสรรเสริญสุข มันย่อมเป็นผลพลอยได้ที่เกิดตามมา เพราะแท้จริง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสมบัติเดิมๆ ของพวกเราอยู่ก่อนแล้ว