Pages

Monday, August 1, 2011

วิชชา 18 กาย (2) - หลักการเบื้องต้น

ยังมีข้อโต้แย้งในการท่องสอบวิปัสสนาจารย์อยู่ประปราย ผมเองก็สอบผ่านมาจากแบบฉบับที่ผมบอกไว้ในบทความก่อนหน้านี้หลายบทความ เช่น วิชชา 18 กาย (1), สามัญสำนึกในการท่องสอบวิปัสสนาจารย์, สามัญสำนึกในการท่องสอบวิปัสสนาจารย์ (2) โดยใช้บทท่องสอบดั้งเดิม กับหนังสือทางรอดของมนุษย์ เป็นข้อมูลและพื้นฐานหลักในการเดินวิชชาเสมอมา ขอท่านผู้อ่านได้โปรดทบทวนความรู้เดิมด้วยนะครับ วันนี้ผมขอเพิ่มเติมรายละเอียดบางขั้นตอน รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่ผมเคยได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ในช่วงต้นๆ เพื่อไม่ให้ลืมเลือนไป

การเดินดวง เดินกาย

คือการเอาใจกายมนุษย์ของเราเดินวิชชาให้สัมผัสถึงดวงธรรมต่างๆ ของกาย และสัมผัสถึงกายแต่ละกาย ในที่นี้เราเดินดวงธรรม 6 ดวง และกาย 18 กาย

ครูบาอาจารย์พบว่า การเดินวิชชา 18 กายหลังยุคหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น แทบไม่มีใครเดินวิชชานี้ได้ตลอดรอดฝั่งเลย เราจึงต้องใช้รู้ญาณของกายธรรมช่วยในการเดิน 18 กาย เริ่มตั้งแต่ เราเดินวิชชาไล่ฐาน 7 ฐานของกายมนุษย์หยาบของเรา จนสุดท้ายใจเราไปท่อง "สัมมาอะระหัง" ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 จนเกิดดวงธรรมของกายมนุษย์ขึ้น ขั้นตอนนี้แต่ละท่านใช้เวลาช้าเร็วต่างกันไป เมื่อเกิดดวงธรรมแล้ว หากเป็นยุคแรกๆ หรือสำนักทั่วไป ก็จะไล่ดวงธรรมของกายมนุษย์ไปเรื่อยๆ จากดวงปฐมมรรค (ดวงธรรม 1) ไปยัง ดวงศีล (ดวงธรรม 2) ดวงสมาธิ (ดวงธรรม 3) ดวงปัญญา (ดวงธรรม 4) ดวงวิมุตติ (ดวงธรรม 5) ดวงวิมุตติญาณทัศนะ (ดวงธรรม 6) แล้วเกิดกายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน ทำดังนี้ไปเรื่อยๆ  บางทีไปไม่ถึงกายที่ 18 คือกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด อาจารย์บางท่านหยุดการเดินวิชชาไว้แค่กายฝันบ้าง กายทิพย์หยาบบ้าง หรือแม้ แค่ดวงศีล ดวงสมาธิ ของกายมนุษย์ด้วยซ้ำ


ในสายคุณลุง ตอนที่เกิดดวงธรรมของกายมนุษย์ครั้งแรกนี้ ท่านสั่งวิชชาให้เกิดกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัตต์ 4 กายธรรมนี้ขึ้นมาก่อน แล้วใช้รู้ญาณของกายธรรม (กายธรรมใดก็ได้) เดินวิชชา 18 กายต่อไป ก็คือ ให้กายธรรมต่อรู้ต่อญาณให้เห็นดวงธรรมของกายมนุษย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เราค้างไว้แต่เดิม แล้วจึงลำดับดวงธรรม 6 ดวงไปหากายฝัน ต่อไป การเดิน 18 กายในตอนนี้ใช้รู้ญาณของกายธรรมมาชูช่วย ทำให้การเดินวิชชาสามารถทำได้ตลอดรอดฝั่งยิ่งขึ้น

ข้อน่าสังเกตุอีกอันก็คือ ปัจจุบัน เราพบว่า ในบรรดากายทั้ง 18 กาย กายมนุษย์(หยาบ) มีความแข็งแรงที่สุด เพราะเป็นกายที่ระเบิดไม่แตก ส่วนใจของกายมนุษย์(หยาบ)  ก็มีฤทธิ์ทางใจมากที่สุด เพียงแต่เป็นกายที่มีรู้ญาณอ่อนที่สุด จึงต้องพึ่งรู้ญาณของกายที่ละเอียดกว่า  ผมเคยเขียนเรื่อง กายมนุษย์นั้นสำคัญไฉน มาแล้ว

การเดินวิชชาเพื่อให้ใจของกายมนุษย์สัมผัสไปถึงกายต่างๆ จึงทำให้กายเหล่านั้นมีกำลัง ผมเคยถามคุณลุงว่า หากเราตกหล่นกายใดกายหนึ่งไปในระหว่างเดินวิชชา จะเป็นอย่างไรครับ คุณลุงตอบว่า กายนั้นก็ไม่สะอาด สำหรับการเดินวิชชาในวันนั้น

การเดินวิชชาอนุโลมปฏิโลม

คือการเดินวิชชาไปกลับ ขาไปคืออนุโลม ขากลับคือปฏิโลม หากเป็นการเดินวิชา 18 กาย อนุโลมปฏิโลม ก็ต้องเป็นดังนี้
เดินวิชชา 18 กายอนุโลม คือ เดินวิชชาจากกายมนุษย์หยาบ ไปถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด ครบ 18 กาย
เดินวิชชา 18 กายปฏิโลม คือ เดินวิชชาจาก กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด กลับมาที่กายมนุษย์หยาบ ครบ 18 กาย

ส่วนดวงธรรมในแต่ละกายก็เดินอนุโลมปฏิโลมเช่นกัน ขาอนุโลมจาก ดวงปฐมมรรค(ดวงธรรม 1) ไปยังดวงวิมุตติญาณทัศนะ(ดวงธรรม 6) ขาปฏิโลมก็ไล่จากดวงวิมุตติญาณทัศนะ(ดวงธรรม 6) กลับมายังดวงปฐมมรรค(ดวงธรรม 1)

การเดินวิชชาอนุโลมปฏิโลมนั้น ถือว่ายิ่งมากเที่ยวยิ่งดี โบราณอาจถือเคล็ด 7 เที่ยว จะทำถึง หรือทำเกิน 7 เที่ยว ก็แล้วแต่ความสะดวก คุณลุงให้ยึดอารมณ์เราว่า บันเทิงหรือยัง ถ้าบันเทิงก็เป็นอันใช้ได้ ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่า ตอนเราเริ่มนั่ง เราอาจยังไม่ได้กำหนดตายตัวว่าเราจะเดินวิชชากี่เที่ยว แต่เราจะมารู้ตอนเราเดินวิชชาว่าบันเทิงหรือยังในตอนหลัง ดังนั้น เราจึงต้องพร้อมที่จะเดินวิชชาในเที่ยวถัดๆ ไปเสมอ จนกว่าจะเกิดอารมณ์บันเทิงขึ้น

ในความเป็นจริง เราอาจติดเงื่อนไขเรื่องเวลา เช่น เป็นการเดินวิชชาตอนเช้า ต้องรีบให้เสร็จ เพื่อไปทำงานต่อ นั่นก็ต้องทำไปตามเงื่อนไขเวลา จะไปกำหนดอารมณ์บันเทิงตายตัวนัก ยังไม่ได้

การนับจำนวนเที่ยว มักนับว่า ครบ 18 กาย ก็นับเป็น 1 ดังนั้น ขาอนุโลมเข้านิพพาน ก็ได้ 1 เที่ยว ขากลับคือปฏิโลมจากนิพพานมา ก็นับเป็นเที่ยวที่ 2 ถ้านับไป 7 เที่ยว เที่ยวที่ 7 ก็จะเป็นขาอนุโลมอีกครั้ง

หลายท่านที่ท่องสอบวิปัสสนาจารย์ เวลาปฏิโลมกายกลับจากนิพพาน ซึ่งถือว่าเป็นการเดิน 18 กายเที่ยวที่ 2 คือขาปฏิโลม อาจมีปัญหาตอนจบ และขาดกายมนุษย์หยาบกายสุดท้ายไป 1 กาย คือ เมื่อปฏิโลมกายกลับมาถึงกายฝันแล้ว ไล่ดวงธรรม 6 ดวง 6 5 4 3 2 1 บางท่านก็เดินวิชชาต่อว่า จุดเล็กใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรม 1 ว่างออกไป เห็นดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบ ซึ่งผมเคยให้ข้อคิดเห็นไว้แล้วว่า น่าจะให้เห็นกายมนุษย์หยาบก่อน แล้วเดินฐานกายมนุษย์หยาบไปที่ดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบในท้องเสียก่อน เพื่อให้การเดินวิชชาขากลับ เป็นการเดินวิชชาให้ครบ 18 กาย และในที่นี้ ก็เป็นการเตรียมตัวเผื่อเดินวิชชาอนุโลมต่อในเที่ยวที่ 3 ได้ด้วย ซึ่งน่าจะลงตัว ผมไม่ขอฟันธงว่าความเข้าใจของผมถูกต้องที่สุด เพราะหลายท่านก็โต้เถียงกลับด้วยเหตุผลมากมาย

เหตุผลหนึ่งที่ได้ยินมาก็คือ การกลับมาที่กายมนุษย์หยาบทำให้เราเดินวิชชาถอยหยาบออกมา ซึ่งอันนี้ก็สุดแต่เราจะยกมากล่าวอ้าง เพราะหากใช้เหตุผลนี้ การเดินวิชชาในขาปฏิโลม เราก็เริ่มจากกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด มาที่กายธรรมพระอรหัตต์หยาบ มาที่กายธรรมพระอนาคามีละเอียด ซึ่งเป็นกายที่หยาบกว่าเดิมเรื่อยๆ มาอยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่การถอนใจออกจากวิชชาที่เราเดินอยู่ ส่วนการที่เราส่งใจมองปากช่องจมูกกายมนุษย์หยาบในเที่ยวถัดๆ มานั้น ถ้าดูให้ดีๆ เราเดินวิชชาใน "ไส้" ทั้งนั้น มันไม่ใช่การถอยหยาบออกมา

สุดท้าย ผมยังเขียนไปไม่ถึง การเดินวิชชา เลย แค่อารัมภบท ก็ยืดยาวเสียแล้ว ขอจบตอนนี้ไว้ก่อนครับ