Pages

Monday, July 18, 2011

สามัญสำนึกในการท่องสอบวิปัสสนาจารย์ (2)

ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการท่องสอบวิปัสสนาจารย์ไว้แล้วในตอนที่ 1 สามัญสำนึกในการท่องสอบวิปัสสนาจารย์ ท่านสามารถอ่านทบทวนได้ แม้ระยะนี้ ก็ยังมีวิทยากรใหม่ๆ สับสนในการท่องสอบอยู่เสมอ อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีที่แสดงว่ามีผู้ให้ความสนใจจะมาเป็นวิทยากรสอนธรรมปฏิบัติกันมากขึ้น

จุดที่ดูสับสนมากที่สุดมักจะเป็นตอนสรุปจบ ที่ปิดท้ายด้วยการเห็นดวงธรรมของกายมนุษย์ แล้วนึกให้เกิดกายธรรมพระอรหัตต์ในท้องกายมนุษย์ ซึ่งผมได้อธิบายไว้มากพอสมควรในบทความเก่า แต่บางครั้งวิทยากรใหม่ก็ยังงงอยู่ บางท่านปฏิโลมกายกลับมาเรื่อยๆ จากนิพพาน มาจนถึงกายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน ลำดับดวงธรรมของกายฝัน 6 ดวง 6 5 4 3 2 1 เห็นกายมนุษย์(หยาบ) เมื่อเห็นกาย เราก็ส่งใจมองปากช่องจมูก (หยุดในหยุด .. ละคำท่องบางส่วนไว้ในฐานที่เข้าใจนะครับ) มองเพลาตา มองจอมประสาท มองผ่านปากช่องลำคอ ลัดฐานลงไปในท้องกายมนุษย์หยาบนั้น เห็นดวงธรรม ตรงนี้เราเห็นดวงธรรมชองกายมนุษย์หยาบแล้ว วิปัสสนาจารย์ที่สอบกันมาแต่ดั้งเดิมก็ให้ส่งใจนิ่งไปกลางดวงธรรม เห็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ส่งใจนิ่งไปกลางจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม ท่องใจดับอธิษฐานถอนปาฏิหาริย์ ถอนปาฏิหาริย์ดับอธิษฐาน นึกให้จุดเล็กใสเท่าปลายเข็มว่างออกไป นึกให้เกิดกายธรรมพระอรหัตต์ ขึ้นมาได้เลย

แต่บางท่าน เมื่อเห็นดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบแล้ว กลับไล่ดวงธรรมในท้องกายมนุษย์หยาบอีก 6 ดวง 6 5 4 3 2 1 แล้วจึงให้มาเห็น ดวงธรรมของกายมนุษย์อีกครั้ง (ดวงที่ 7) ซึ่งดูซ้ำซ้อน และกายมนุษย์หยาบก็เป็นกายที่หยาบที่สุดในแกน 18 กาย การไล่ดวงธรรมปฏิโลมไปอีก จึงไม่มีเหตุผลว่าจะไปยังกายใดได้อีก กรณีนี้หากเราเผลอเรอ ก็คงพอกล้อมแกล้มทำไปด้วยความเผลอเรอนั้นและแก้กลับมาให้เห็นดวงธรรมได้ แต่ไม่ควรใช้เป็นบรรทัดฐานในการสอบทุกครั้ง

หากมีอะไรเพิ่มเติม จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ
Dr. Niphon Longpradit  M.D.