Pages

Thursday, March 7, 2019

การฝึกใจ หลักการเบื้องต้น

การฝึกใจ

เราคุยกันมาแล้ว เรื่อง เราสอนธรรมเพื่ออะไร? คำตอบคือเพื่อพัฒนา “ใจ” เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ที่กำหนดความเป็นตัวตนของเรา ไม่ว่าเราจะ เป็นอยู่คือ อย่างไร ล้วนมาจากใจกำหนดให้เราทั้งสิ้น

เราจะพัฒนาใจอย่างไร?
เรามี “กาย” กับ “ใจ” โดยกายเป็นเครื่องมือให้ใจใช้สอย

การฝึกกาย กับใจ เป็นสิ่งควรทำคู่กัน โดยเราสามารถอธิบายวิธีการและผลของการฝึกไปในทางเดียวกันได้

ฝึก กาย ให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย กายนั้นก็ควรแก่งาน เอามาใช้สอยได้
ฝึก ใจ ให้แข็งแรง ด้วยการทำสมาธิ ใจนั้นก็ควรแก่งาน เอามาใช้สอยได้เช่นกัน

แต่การฝึก ต้องมีการวัดผล เราจึงจะรู้ว่า เราแข็งแรงจริงหรือยัง เราออกกำลังกาย เรายังต้องวัดผล ไม่ว่าจะเล่นกีฬาแบบใด เราก็ต้องวัดผลให้เรารู้ว่า เราพัฒนาขึ้นหรือไม่

การวัดผลทางกาย ไม่ยาก เพราะมีตัวตนให้เราเห็น เรายกน้ำหนักได้มากขึ้น เราวิ่งได้เร็วขึ้น เราออกกำลังแล้วเราเหนื่อยน้อยลง เหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดทางกายให้เรารับรู้ว่าเราเก่งขึ้นกว่าเดิมทั้งสิ้น

การวัดผลทางใจ ยากกว่า เพราะใจไม่มีรูปร่างไม่มีตัวตน แต่เมื่อเราเทียบกับการวัดผลทางกาย มันก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ เราวัดผลทางกาย โดยรู้ว่าการทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น คือทำหน้าที่ “ออกแรง” ได้ดีขึ้น

ใจ ก็ทำนองเดียวกัน เราวัดผลโดยดูว่าใจทำหน้าที่ได้ดีขึ้น นั่นเอง

หลวงพ่อวัดปากน้ำ สอนไว้ว่า ใจมีหน้าที่อยู่ 4 อย่างคือ “เห็น จำ คิด รู้” การฝึกใจจึงต้องเอา เห็นจำคิดรู้ มาฝึก มาพัฒนา

วิธีการของหลวงพ่อ คือให้เอาใจของเราที่ยืดไปยืดมา แว่บไปแว่บมา เอามารวมให้เป็นหนึ่ง นั่นคือ เอา ความเห็นความจำความคิดความรู้ ทางใจทั้งปวง มาบังคับให้หยุดนิ่งเป็นหนึ่งเดียว แต่การจะเอาใจซึ่งยังไม่เคยฝึก ยังไม่เคยถูกบังคับ ให้มาหยุดนิ่ง โดยไม่มีอะไรเกาะเกี่ยวไว้ก่อนนั้น ยากมาก จึงต้องนึกอะไรให้เป็นรูปร่าง เป็นอารมณ์ ให้ใจเกาะไว้ก่อน เขาเรียกว่า “นิมิต” ตามหลักสมถะ 40 ในพุทธศาสนา ซึ่งเลือกฝึกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามจริตอัธยาศัย หรือเอาสมถะที่เป็นของกลางเข้าได้กับทุกจริต เอามาเป็นอารมณ์ให้ใจเกาะไว้ก่อน

หลวงพ่อใช้ ดวง​แก้วขาวใส มาเป็นนิมิต หรือเครื่องหมายให้ใจยึด ซึ่งเป็นวิชชา “กสิณ” ในพุทธศาสนา เพราะเข้าใจง่าย เป็นกสิณแสงสว่าง โดยให้ดูดวงใสด้วยตา จนพอจำได้ เมื่อหลับตา เราไม่เห็นด้วยตาแล้ว ก็เอาใจนึกนิมิตที่พอจำได้นั้น ขึ้นมาเป็นมโนภาพ พยายามนึกให้ชัดมากๆ โดยอาศัยความเห็นด้วยตาเป็นตัวชี้วัด หากเมื่อไหร่ สามารถเห็นด้วยใจคล้ายตาเห็น คือนึกได้ชัดเหมือนลืมตาเห็น ทั้งๆ ที่เราหลับตา ถือว่า “จิตเป็นขึ้น” นั่นคือใจเราเก่ง ใจเราเกิดกำลังแล้ว

แต่แรกนึกเฉยๆ ยังไม่ชัดเท่าไหร่ เทียบกับตาเห็นได้ลางๆ ซัก 20% เหมือนเรากำลังหัดยกน้ำหนักได้ 2 กก ต่อมานึกได้ชัดขึ้น 50% เหมือนยกน้ำหนักได้ 5 กก นึกไป ๆ ชัดมากแล้ว ซัก 80% ยกน้ำหนักได้ 8 กก แล้ว นึกไปเรื่อยๆ ไม่นึกเรื่องอื่น เอ๊ะ ดวงใสชัดใสสว่างเหมือนลืมตาเห็น ทั้งๆ ที่เราหลับตา เหมือนยกน้ำหนักได้เต็มที่

ถึงตอนนี้ ใจสบายมาก รู้สึกถึงกำลังใจที่เกิดขึ้น อิ่มใจ หากมีใครมาด่ามาว่า อารมณ์ตอนนี้ไม่โกรธ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะ “จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส แต่มันเศร้าหมองไปเพราะกิเลสที่จรมา”

เราฝึกใจจนมีกำลัง วัดผลจากเห็นจำคิดรู้ ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ก็คือจิตเดิมแท้ของเรามีกำลัง จากการฝึกใจ นั่นเอง เหมือนร่างกายที่ผ่านการฝึกยกน้ำหนักจนเกิดกำลังทางกาย ผู้ฝึกเท่านั้นที่จะสัมผัสได้ นักกีฬาสามารถรับรู้ได้ถึงความมีกำลังของตน ผู้ฝึกใจก็สามารถรับรู้ได้ถึงกำลังใจของตนที่เกิดจากการฝึกนั้น ด้วยตัวเอง ไม่มีใครมาทำให้เราได้

กิเลสทั้งปวงสงบลงชั่วคราว ใจแข็งแรงมีอำนาจ เกิดหิริโอตตัปปะ ความผ่องใสซึ่งเป็นธรรมชาติดั้งเดิม จึงปรากฏให้เรารับรู้

มาถึงตอนนี้ จิตเป็นขึ้นแล้ว ก็ควรแก่งานทางใจที่จะทำต่อไป โดยเฉพาะในภาควิปัสสนา เพื่อยังกิเลสให้หมดไปอย่างถาวร และเรียนรู้งานทางใจชั้นสูงต่อไป

ขั้นตอนการฝึกจริง ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินใจไปตามฐานที่ตั้งในกาย 7 ฐาน การท่องคำภาวนา สัมมาอะระหัง เพื่อไม่ให้ใจฟุ้งซ่านขณะฝึก อันนี้ต้องคุยในภาคปฏิบัติ แต่เมื่อเข้าใจหลักการ การฝึกจริงไม่ยากแล้ว

การเอาดวงใสมาใช้ ไม่ใช่ให้ยึดติด แต่เป็นขั้นตอนของการฝึกดังที่กล่าวมา เหมือนเราเอาลูกน้ำหนักมาใช้ในการฝึกร่างกาย เช่นกัน

หวังว่า คงทำให้เราเข้าใจพื้นฐาน หรือหลักการของการฝึกใจกัน พอสมควร

Thursday, January 10, 2019

ขันธ์ 5


ขันธ์​ เป็นส่วนประกอบ​สำคัญ​ของ ขันธโลก (จากบทความ เราคือใคร)

ขันธ์​ 5 มีอธิบาย​ในหลักสูตร​วิชชา​ธรรมกาย​ชั้นสูง​ ในเล่ม มรรคผลพิสดาร​ภาค 1 ของหลวงพ่อ​วัด​ปากน้ำ​ คุณ​ลุง​ได้ทำคำอธิบาย​วิธี​เดินวิชชา​ไว้อย่าง​ละเอียด​แล้ว และ​ผมได้เอามาทำ​เป็น​แผนภูมิ​เพื่อให้ทบทวนได้ง่ายๆ​ ไปแล้ว​

แต่​วันนี้​ จะมาคุยจากพื้นฐาน​กัน

ขันธ์​ 5 ประกอบ​ด้วย รูปขันธ์​ เวทนา​ขันธ์​ สัญญา​ขันธ์​ สังขารขันธ์​ วิญญาณ​ขันธ์​
หากศึกษา​โดยวิธีตีความจากถ้อยคำ อาจจะ​มีความลึก​ซึ้งจนเข้าใจยาก เราควรมองจากภาพรวมของตัวเราเข้าไป
มนุษย์​มาเกิด มีสมบัติ​ติดตัวมา 2 อย่าง คือ กาย กับ ใจ
กาย เป็น​สิ่งจับต้องได้ มีตัวตนให้เห็​น​ ส่วน ใจ จับต้องไม่ได้​ ไม่มีรูปร่าง​ ไม่มีตัวตน เรารู้​ว่า​มี​ใจ เพราะเราสัมผัสได้ถึงหน้าที่ของใจ 4 อย่าง คือ เห็น​ จำ ​คิด ​รู้​ นั่นเอง ผู้​ที่​สามารถ​แยกแยะหน้าที่ของใจได้ลึกซึ้ง​ขนาดนี้ มีหลวงพ่อ​วัด​ปากน้ำ​องค์​เดียว​เท่านั้น​

การศึกษา​เรื่อง ​กาย ผู้​ที่​อบรมทางแพทย์​ย่อมรู้ดี โดยเฉพาะตอนเรียนวิชากาย​วิภา​ค (Anatomy)
กาย หากไม่มีใจครอง กายนั้น​ก็​เป็น​เพียง​ซากศพ​ มนุษย์​ที่มีชีวิต​ ต้องมีใจ หรือเรียกให้ละเอียด​คือ มีจิต มีวิญญาณ​ ครอง
การจะดู ใจ กระทั่งแยกแยะ ใจ ออกเป็นส่วนๆ เป็น​เรื่องยาก แต่ไม่พ้นความเพียร​พยายามของผู้รู้ หากเทียบกับกาย ก็เหมือนเรากำลัง​ศึก​ษา anatomy ของใจ นั่นเอง

ในทางวิชชา​ธรรมกาย​ เราเรียนรู้โดยการ เห็นก่อนจะผ่านมาถึงขันธ์​ เราต้องผ่าน (เห็น)​ ดวงธรรม​ที่ทำให้เป็น​กายเสียก่อน แล้วเห็น​กำเนิดเดิม (ศูนย์​รวมของความเป็​น​ตัวเราในชาตินี้)​ เป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม แล้วจึงเข้าไปถึงขันธ์​
รูปขันธ์​ คือ ส่วนละเอียดของกาย เป็น​ดวงกลมใส ลึกเข้าไป เป็น​ เวทนา​ขันธ์​ คือส่วนละเอียด​ของเห็น เข้าไปอีกเป็น​ สัญญา​ขันธ์​ ส่วนละเอียด​ของจำ สังขารขันธ์​ ส่วนละเอียดของคิด วิญญาณขันธ์ ส่วนละเอียดของรู้ เป็นลำดับไป

เรียบเรียงง่ายๆ คือ
รูป - กาย
เวทนา - เห็น
สัญญา - จำ
สังขาร - คิด
วิญญาณ - รู้
ก็คือ กาย กับ ใจ ที่แยกส่วนให้ละเอียดขึ้น นั่นเอง

เห็นขันธ์ 5 แล้ว มีบทเรียนต่อไปอย่างไร?

ก็ไปดูให้ครบ ขันธ์ติดต่อกับโลกภายนอกด้วย อายตนะ 12” แล้วส่งข้อมูลผ่านไปตาม ธาตุ 18”  มีการตีความ พอใจไม่พอใจ โดยอาศัย อินทรีย์ 22” ของแต่ละบุคคล ทำให้ตีความไม่เหมือนกัน อ่อนแก่หยาบละเอียด ไม่เท่ากัน  แต่ผมจะไม่ลงลึกในรายละเอียดเหล่านี้ในตอนนี้ อยากให้ดูบทเรียนต่อเนื่องเรื่องขันธ์ ซึ่งมีอยู่ในตำราต่อไป คือ

ท่านให้ไปดูว่า ขันธ์ เป็นอยู่อย่างไร พบว่าขันธ์ของกายมนุษย์ ถูกปกครองด้วยทุกข์สมุทัยเต็มรูปแบบ มีแก่เจ็บตาย เป็นเบื้องหน้า ด้วยกันหมดทั้งสิ้น เราเห็นดวงทุกข์สมุทัย (เป็นดวงดำ) หุ้มที่ดวงเห็นจำคิดรู้ของกายมนุษย์อย่างเต็มรูปแบบ ตำรายังให้ไปดูว่า เวลาตายกายละเอียดออกจากร่างมนุษย์อย่างไร โดยไปหาดูจากคนที่กำลังจะตายตามโรงพยาบาล มีการส่งมอบขันธ์​ไปให้กายละเอียดข้างใน มีการเก็บรักษา​รูป​แบบ​ขันธ์​เอาไว้ (โดยใคร?)​ เหล่านี้มีในบทเรียนทั้งสิ้น นี่แหละจึงสรุปได้ว่ากายมนุษย์ ตกอยู่ในไตรลักษณ์ (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) และมีครบถ้วนทั้ง แก่เจ็บตาย

ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ประจำเหล่านี้ไปได้

ตำราก็ให้ไปดูขันธ์ของกายอื่นๆ ตั้งแต่ กายทิพย์ กาย(รูป)พรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรม โดยจะเห็นดวงทุกข์สมุทัย หุ้ม เห็นจำคิดรู้ ของกายนั้นๆ พบว่า กายทิพย์ก็ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ แต่ไม่เต็มรูปแบบเหมือนกายมนุษย์ มี เกิดกับตาย ไม่มีแก่ไม่มีเจ็บ กายพรหมกายอรูปพรหม คล้ายๆ กายทิพย์ แต่อายุยืนยาวมาก จนผู้ปฏิบัติยุคแรกๆ เข้าใจว่าเป็นอมตะ ไม่ตายแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังตายอยู่ดี ครั้นไปถึงกายธรรม ไม่พบทุกข์สมุทัยมาหุ้มแล้ว แต่กายธรรมต้นๆ ยังมีกิเลสระดับบางๆ หุ้มอยู่ ต้องเข้าไปจนถึงกายธรรมที่ตรัสรู้แล้วนั่นแหละ จึงจะพอฟังได้

ที่อยากจะสื่อให้เข้าใจตอนนี้คือ หากเราเข้าไม่ถึง กายต่างๆ ที่กล่าวมา เราก็ รู้เห็นเป็น แค่กายมนุษย์กายนี้เท่านั้น มองไปทางไหนก็เห็นอยู่แค่นี้ ไม่ว่าจะทำอย่างไร กายมนุษย์กายนี้ก็หนีแก่เจ็บตายไปไม่พ้น จึงมีบางความรู้ ให้ "ปล่อยวาง" ซะเลย ยอมรับซะเลยว่าเป็นธรรมดาของสังขาร เราไม่อาจหนีพ้นไปได้ มันก็ถูกต้องสำหรับการรู้เห็นแค่กายมนุษย์กายเดียว แต่ความรู้ท่านยังไปไม่ถึงไหน

อยากเข้าใจชีวิตอย่างละเอียด มาเรียนวิชชาธรรมกายกัน วิชชาธรรมกายมีทั้งรู้ญาณ และเหตุผล หากท่านเป็นน้ำเต็มแก้ว ก็ไม่มีใครเอาอะไรมาเติมได้อีกแล้ว ท่านจะติดโลก ติดกระโหลกกะลา ไปทำไมกัน  ที่ว่า "ติด" เพราะท่านไปไม่พ้นจากกายมนุษย์​ของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านคิดว่าท่าน "ปล่อยวาง" แล้ว​ก็ตาม​

วันเวลาที่ล่วงไปๆ ได้คร่าชีวิตสรรพสัตว์ไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ ตายไปก็อย่าให้หลงตาย ไม่ได้ความรู้อะไรเลย

นิพนธ์ หลงประดิษฐ์
10 ม.ค. 2562