Pages

Thursday, March 22, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (5)


ความตอนนี้ ฟังหูไว้หู นะครับ

เรื่อง ปราบมาร ไม่ใช่จะมาพูดกันเล่นๆ เพราะมารขัดขวางเต็มกำลัง ยากแก่การเผยแพร่สู่โลกภายนอก แต่ปัจจุบัน งานปราบมารของคุณลุงซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในทางธรรมของพวกเรา มาถึงจุดสำคัญจริงๆ แล้ว

ในภาค 3 ผมได้เขียนถึงตำราวิชาธรรมกายในยุคของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในตอน วิชาปราบมาร ว่าไม่มีตำราเขียนไว้ชัดเจน ความรู้ที่สืบทอดมาจึงเป็นเพียงการบอกเล่าต่อๆ กันในหมู่ผู้เป็นวิชาธรรมกายชั้นสูงที่เข้าเวรอยู่ในโรงงานทำวิชา มีผู้เคยถามหลวงพ่อว่าทำไมไม่ทำตำราปราบมารไว้บ้างเลย ท่านตอบว่ามารเขาห้ามไว้

แต่ยุคปัจจุบัน มีตำราปราบมารออกสู่สาธารณะแล้ว 6 ภาค บรรยายทั้งภาควิชาการ และเหตุการณ์ ที่ต่อเนื่องลุ่มลึกไปตามลำดับ ผมไม่อาจบรรยายซ้ำโดยละเอียดได้ เพราะเนื้อหาซับซ้อนมาก ท่านควรหาอ่านให้ครบ หลายแห่งอาจทำตำราในชื่อเดียวกัน ซึ่งผมติดตามหาอ่านและศึกษามาโดยตลอดแทบทุกแห่ง พบว่าส่วนใหญ่ แม้แต่คำจำกัดความของคำว่า มาร ก็ไม่มีอยู่ในหนังสือ ส่วนเนื้อหา ก็เป็นหัวข้อธรรมะทั้งหลายซึ่งเป็นลักษณะคำสอนทั่วไป ให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ก็คือภาคโปรดนั่นเอง ไม่ใช่ภาคปราบ

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ตอนที่ 1 ซึ่งกล่าวถึงอดีต แต่ตอนนี้ กล่าวถึงอนาคต มันอาจไม่เป็นอย่างที่กล่าวก็ได้ แต่มันคือแนวโน้มที่อาจจะเป็นไปได้ โดยอ้างอิงจากหนังสือ ปราบมาร เล่มที่ 1 ถึง 6 ซึ่งท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผม ขอให้ยึดหลักกาลามสูตร เข้าไว้

โดยสรุป มารคือผู้ขัดขวางคุณงามความดี และยังมีความหมายอีกหลายนัยยะ แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้หลายรูปแบบ ในพระไตรปิฎกแบ่งไว้ถึง 9 รูปแบบ (ปราบมาร 1 หน้า 1) แต่การปฏิบัติทางญาณทัสสนะ ไม่ว่าอะไร ถ้าไม่ขาวและไม่ใส ถือว่าเป็นมารทั้งนั้น การปราบมาร ก็คือการกระทำใดใด ให้ความไม่ขาวไม่ใสดับไป และทำให้เกิดความขาวใสขึ้นมาแทน

วิธีปกครองของมาร มี 2 อย่าง คือ ปกครองใหญ่ ได้แก่ ปกครองธาตุธรรม ปกครองนิพพาน กับ ปกครองย่อย ได้แก่ ปกครองภพ 3 นั่นคือเขาปกครองหมด ไม่ว่าใคร ตามที่เขียนไว้ในประวัติศาสตร์ภาค 1 นั่นเอง

ในตำรายังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ขอกล่าวต่ออย่างรวบรัด

การวางแผนปราบมารของคุณลุง ก็พุ่งเป้าไปที่ ปกครองใหญ่ ก่อน โดยเริ่มรบมาตั้งแต่วันเข้าพรรษาปี พ.ศ.2527 ท่ามกลางความลำบากทั้งปวงที่จะพึงมี แพ้บ้างชนะบ้าง ถึงกับจะประกาศเอกราช (การรบชนะ) มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้สักที บางคราวความชนะปรากฏอยู่นานมาก จนเข้าใจว่ามารหมดแล้ว สักพักก็พบมารอีก ในบันทึกมีเหตุการณ์ขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้มาตลอด ตั้งแต่เริ่มปราบมารปีแรกๆ ประกาศเอกราชและวันสำคัญไปบ้างหลายครั้ง จนกระทั่งถึงยุคตำราปราบมาร 6 ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2547-2548 เป็นช่วงที่มีบันทึกว่ามารห่างหายไปจากนิพพานเป็นเวลานาน แม้ยังพบอยู่ประปราย จนธาตุธรรมส่วนใหญ่มีความตั้งใจจะประกาศว่าหมดมารอยู่หลายครั้ง และเป็นช่วงที่การปราบมารเริ่มรุกคืบมายังปกครองย่อย (ภพ 3) แต่เรายังไม่เห็นเหตุการณ์ชัดๆ ในภาคภพ 3 ตามที่จดบันทึกไว้

มาถึงปัจจุบัน ย่างเข้าสู่ปี พ.ศ.2554-2555 ห่างจากยุคในตำราปราบมารภาค 6  มาประมาณ 7-8 ปี มาถึงเวลานี้ หากจะมีประกาศว่า หมดมาร ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนในโลกมนุษย์ที่เรายังอาศัยอยู่ เราจะพิจารณาอย่างไร

เราจะวินิจฉัยอะไร เราต้องตั้งตัวชี้วัดขึ้น แต่ก็ต้องรอบคอบว่า เป็นตัวชี้วัดที่ถูกต้องจริงๆ กับเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย

เราเปิดตำรารุ่นแรกคือ ปราบมารภาค 1 หน้า 157 เรื่องข้อพิสูจน์ว่าหมดมาร คือเหตุการณ์ทางโลก จะดีขึ้น และเหตุการณ์ทางธรรม จะดีขึ้น

นั่นเป็นผลลัพธ์ที่คาดหวัง แต่ความเป็นไปเหล่านี้จะช้าเร็วทันใจเราขนาดไหน

เมื่อดูความเป็นมาว่า เราถูกปกครอง จนไม่เป็นตัวของตัวเองมานานแสนนาน เปรียบเสมือนประเทศที่เพิ่งโค่นล้มผู้นำเผด็จการ   (แถมต่างถิ่นด้วย) ได้สำเร็จ คงเหลือแต่ประเทศที่บอบช้ำ ที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างหนัก

จากประสบการณ์ปราบมารของครู พบว่าท่านเริ่มต้นจาก ปกครองใหญ่ มาก่อน แล้วทะยอยประกาศเอกราชมาเป็นระยะๆ หลายช่วงเวลา ความชนะทั้งปวงที่เราอ่านเจอจากตำรา ล้วนเป็นความชนะที่เกิดจากการไม่พบเห็นมารในปกครองใหญ่แล้ว เป็นส่วนใหญ่

เมื่อเป็นดังนี้ ตัวชี้วัดว่ามารหมดก็น่าจะเริ่มจากตัวชี้วัดในระดับนิพพาน ซึ่งยากแก่การรู้เห็น เพราะต้องอาศัยรู้ญาณของผู้ได้ธรรมกายอย่างแก่กล้ามากๆ เท่านั้น  แม้เรารู้เห็นบ้าง ก็ยังไม่อาจเชื่อรู้ญาณนั้นได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เราลองพิจารณาตัวชี้วัดเหล่านี้ดู หากนิพพานเป็นบรมสุขขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อเดินวิชชาเข้านิพพาน ก็น่าจะรู้สึกได้ถึงความสว่างไสวอันมากกว่าที่เคยเป็นมา อาจจะเห็นพระพุทธองค์ทรงบันเทิง และช่วงเวลานี้ ก็มีผู้เห็นโดยรู้ญาณเช่นนั้นจริงๆ เวลาเดินวิชชาอาราธนาให้พระพุทธองค์มาชูช่วยเรา ก็เห็นพระองค์และจักรพรรดิ์มากมายก่ายกองมาช่วยเราได้อย่างเต็มกำลัง เกิดผลสำเร็จอัศจรรย์จากการเดินวิชามากขึ้น และง่ายขึ้น

ที่สำคัญ คือ งานใดใดที่เป็นความสำคัญของธาตุธรรม โดยเฉพาะการสอน(ให้เกิด)ธรรม จะมีความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์กว่าแต่ก่อน รวมถึงงานสอนจะทยอยเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยพบปัญหาและอุปสรรคน้อยลงกว่ายุคก่อน ซึ่งผมสังเกตมาตลอด 10 กว่าปี ว่างานสอนธรรมไม่เคยลดปริมาณ และคุณภาพลงเลย ไม่ว่าผู้สอนจะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเช่นไร ผู้สอนหรือผู้เคยสอนจะไปหกคะเมนตีลังกาอย่างไร งานสอนธรรมซึ่งถือเป็นงานของธาตุธรรม ไม่เคยลดลง และผมมีความเชื่อมั่นเสมอมาว่า ไม่มีใครขวางงานสอนได้

ส่วนภาคของภพ 3 เราคงต้องดูกันอีกหน่อย ซึ่งไม่น่ายากแล้ว แม้มารระดับปกครองใหญ่ส่วนหนึ่งจะหนีลงมายังภพ 3 ก็ตาม เกิดความเข้มข้นของผลงานของเขาไปทั่ว ทำให้ตัวชี้วัดในระดับภพ 3 หรือโลกมนุษย์ ยังบอกอะไรเราได้ไม่ดีนัก

ถึงกระนั้น เราต้องทำความเข้าใจว่า หากใครก็ตามสามารถเดินวิชาเข้านิพพานได้อย่างสม่ำเสมอ หรือหากสามารถเดินวิชาอาราธนาธาตุธรรมในนิพพานให้มาชูช่วยเราได้ (ทำวิชชา) ท่านน่าจะปลอดภัยกว่าใคร เพราะโดยหลักการ ธาตุธรรมย่อมมาชูช่วยพวกเราได้สะดวกกว่ายุคก่อนๆ เปรียบเสมือน มีงบประมาณอยู่แล้ว หากผู้ใดผันงบประมาณมาใช้ได้ ผู้นั้นก็เจริญ

เป็นยังไงบ้างครับ มันจะเป็นจริงหรือเปล่าหนอ เราก็ต้องดูกันต่อไป

Monday, March 19, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (4)


เมื่อเราติดตามประวัติศาสตร์มา 3 ตอน เราคงเห็นปัญหาทั้งปวงของธาตุธรรมได้พอสมควร เราลองมาสำรวจกันในตอนนี้

โลกมนุษย์ ก็คือสนามรบ สนามสร้างบารมีของพวกเรา มันไม่ใช่ที่อยู่ถาวรที่เราจะมาอยู่อาศัยกันตลอดไป แม้ในยุคนิพพานเป็น ก็มีการสร้างบารมีมาก่อน ก่อนที่ธรรมภาคมารจะมาก้าวก่ายอำนาจปกครอง การสร้างบารมีก็เพื่อพัฒนาธาตุธรรมของตนให้สูงขึ้น แล้วเปลี่ยนแปรตัวเองให้เข้าสู่ความเป็นธาตุเป็นธรรมที่ถูกยกระดับเข้าไปในนิพพาน (เป็น) หากเข้าใจเช่นนี้ จึงไม่ควรยึดติดกับความเป็นอยู่ในโลกจนเกินไป และมองหนทาง มองอนาคต ให้ไกลเกินกว่าความเป็นมนุษย์ที่เป็นกันอยู่ ในเมื่อชีวิตต้องมีการวางแผน แต่การวางแผนของคนทั่วไปอย่างดีก็วางแผนไว้แค่ตาย แต่ควรมองไกลไปกว่านั้น โดยวางแผนไว้เผื่อประโยชน์ในภายภาคหน้า และประโยชน์สูงสุดด้วย

การพัฒนาธาตุธรรม ทำได้ด้วยการสร้างบารมี ซึ่งมีหลักสูตรหลักคือ การสร้างบารมี 10 ทัศศ์ ตามเส้นทางที่เราเรียกว่า มรรค ในส่วนหยาบของมนุษย์ก็คือ มรรคมีองค์ 8 อันมี สัมมาทิฐิ เป็นต้น ที่เราเคยมีโอกาสเรียนพุทธศาสนาในโรงเรียนกันในสมัยโบราณ ส่วนละเอียด มรรคคือทางเดินของใจ ก่อนจะเดินไป ก็ต้องมีการละลายไปตามเส้นทาง ซึ่งอาศัยอำนาจของมรรคทั้งสิ้น

คนยุคก่อนมีปกติอยู่ในปิฎก 3 คือสุตตันตปิฎก อันมีทาน เป็นต้น วินัยปิฎก อันมีศีล เป็นต้น และอภิธรรมปิฎก อันมีภาวนา เป็นต้น เป็นหลักปฏิบัติ หรือคุณสมบัติพื้นฐานของธรรมภาคขาว

แต่การสร้างบารมี มีปัญหาที่ไม่ตรงไปตรงมา จากการก้าวก่ายอำนาจปกครองของธรรมภาคมาร ความลำบากง่ายๆ ที่เห็นก็เช่น เราเคยประพฤติปิฎกทานศีลภาวนาแก่คนของเราด้วยกัน แต่กลับต้องเจอะเจอกับคนที่มีการปนเป็น และต้องกลายเป็นการประพฤติทานศีลภาวนาให้แก่คนที่ถมไม่เต็ม คนที่พร้อมจะทำร้ายเราแม้เรามีทานศีลภาวนาให้แก่เขา แต่เราก็ยังต้องอยู่ต่อไป และพยายามสร้างบารมีตามหลักสูตรเดิม โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การแก้ไขที่ธรรมภาคขาวพอจะกระทำได้ คือการส่งคน (ภาคโปรด) มาสั่งสอนสัตว์โลกถึงวิธีการปฏิบัติดังกล่าว ให้พ้นจากทุกข์ภัยโรคทั้งปวง แก้เขาไม่ได้ก็ต้องหนี และหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่โดนทุกข์ภัยโรคเล่นงาน เพียงสถานเดียว ที่ผ่านมา ทำยังไงกายมนุษย์ก็ไม่อาจหนีพ้นจากทุกข์ภัยโรคไปได้ การสร้างบารมีต้องเปลี่ยนหลักการจากการยกระดับธาตุธรรมของตน ไปเป็นการหนีไปให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง แล้วเข้านิพพาน (กายธรรม) ที่เชื่อว่าเป็นอมตสุข แต่ต้องถอดกายมนุษย์ออก เพราะกายมนุษย์เป็นศูนย์รวมของทุกข์สมุทัยมาแต่ไหนแต่ไร และเขาก็ไม่ยอมให้นิพพานยุคใหม่เข้าได้ด้วยกายมนุษย์

เห็นปัญหาดังนี้แล้ว เราบอกได้คำเดียวว่า การแก้ปัญหาไม่มีทางอื่นนอกจากการทำให้ธาตุธรรมของเราเป็นอิสระ พ้นจากการปกครองของธรรมภาคมาร และกลับไปใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขได้อย่างเดิม แต่เราจะเป็นคนลักษณะเดิมเสียทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะกลับมาแพ้เขาได้อีก

ธาตุธรรมจึงต้องส่งคน (ภาคปราบ) มาเพื่อ ปราบมาร เป็นระยะๆ จนเหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบันนี้

Wednesday, March 14, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (3)


เดิมว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ในแบบเดิมต่อ แต่คิดว่าเนื้อหาของพุทธศาสนา ทั้งพุทธประวัติ ตลอดถึงการเกิดขึ้นของพระไตรปิฎกหลังพุทธกาลจนมีการสังคายนาไปแล้วประมาณ 8 รุ่น (เมื่อนับที่เข้ามาในประเทศไทย เฉพาะฝ่ายหินยาน) ซึ่งชาวพุทธสามารถศึกษาได้ไม่ยาก จึงขอไม่กล่าวถึงรายละเอียด ผมเพียงกระชับเหตุการณ์เข้ามาสู่ยุคของวิชชาธรรมกายเท่านั้น

ไม่ว่าเราจะเรียนรู้เรื่องใด เราควรมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ของเรื่องนั้นๆ ให้ถ่องแท้ หรือไม่ก็ ให้พอรับรู้ ถึงที่มาที่ไปของบัญญัติต่างๆ หรือตำราต่างๆ ได้บ้าง

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน เราต้องเรียนพุทธประวัติ ควบคู่ไปกับคำสอน หากเราอ่านจากพระไตรปิฎกจะพบว่าทุกๆ เรื่องของวินัย และคำสอนทั้งปวง จะอ้างอิงเหตุการณ์สถานที่ ตัวละคร และบทสรุปต่างๆ สุดท้ายลงเอยที่พระพุทธองค์ทรงตัดสินอย่างไร ทรงให้ข้อคิดคำสอนอย่างไร เป็นบัญญัติสุดท้ายเสมอ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ากลับได้รับการรวบรวมเรียบเรียงหลังพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว ไม่ได้เรียบเรียงไว้ก่อนตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หากมีการเรียบเรียงไว้ก่อน ก็อาจมีการไต่ถามกล่อมเกลาจากพระพุทธองค์ได้ เราก็คงไม่ต้องพะวงถึงพระไตรปิฎกที่แตกแขนงออกมาเป็นฝ่ายหินยาน และมหายาน ตั้งแต่ยุคต้นๆ หลังพุทธปรินิพพานใหม่ๆ กระมัง

การสืบทอดพระไตรปิฎกในช่วง 100-200 ปีแรก อาศัยการท่องจำสืบต่อกันมา ที่เรียกว่า มุขปาฐะ มาเริ่มจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างจริงจังในยุคพระเจ้าอโศก แต่เดิมเราเข้าใจว่าการท่องจำเอา อาจมีความคลาดเคลื่อน แต่เมื่อดูจากความรู้คุณลุง ไม่ได้มีความเห็นเช่นนั้น ความคลาดเคลื่อนในยุคนั้นสามารถเกิดได้จากการสืบรู้สืบญาณเข้าไปถามความรู้ได้ไม่กี่นิพพาน และยังได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนมากกว่า ซึ่งเราต้องมาเรียนรู้กันอีกที

พระไตรปิฎกที่สืบทอดมาทางประเทศไทยเป็นฝ่ายหินยาน ผมจำง่ายๆ ว่าเป็นฝ่ายที่รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัตรปฏิบัติ การแต่งกาย ฯลฯ แต่ทางฝ่ายมหายาน จะยืดหยุ่นกว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติบางอย่างให้เข้ากับยุคสมัย เพราะพระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ เพียงแต่ไม่ได้บอกกฏเกณฑ์หรือรายละเอียดว่าจะเปลี่ยนแปลงตอนใดได้บ้างเท่านั้น จึงมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายหลังพุทธปรินิพพาน

การศึกษาพุทธศาสนา หากเรามีโอกาส เราก็น่าจะรับรู้ความรู้ของทั้ง 2 ฝ่ายไว้บ้าง เพราะแตกแขนงมาจากที่เดียวกัน
ผมเกริ่นมาถึงตอนนี้ เพื่อชี้นำเข้าสู่วิชชาธรรมกาย ซึ่งมีการกล่าวถึงไว้ค่อนข้างมากในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน มีการเน้นเรื่องภพภูมิ และเรื่องกายที่สัมพันธ์ต่อกัน โดยเราอาจเห็นสิ่งปลูกสร้างที่สื่อออกมาได้ เช่น บุโรพุทโธ เป็นต้น

วิชชาธรรมกาย มีการปฎิบัติสืบเนื่องหลังพุทธปรินิพพานได้ 500 ปี จากนั้นไม่มีผู้ปฎิบัติต่อ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี มาค้นพบกลับคืนได้ในยุคของท่านเมื่อปี พ.ศ.2460 และมีผู้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในยุคใหม่ มีการค้นคว้าความรู้ต่อยอดเพิ่มเติมมาตั้งแต่ยุคของหลวงพ่อ ซึ่งแต่เดิมค้นวิชชาได้ 1 ดวงธรรม 5 กาย มาเป็น 3 ดวงธรรม และ 6 ดวงธรรม และค้นกายได้ถึง 18 กาย ในยุคไม่ถึง 10 ปี ก่อนหลวงพ่อมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2502

มีตำราในยุคหลวงพ่อที่เผยแพร่ชัดเจนจริงๆ คือ
1. วิชชา 18 กาย เป็นพื้นฐาน
2. คู่มือสมภาร วิชชาชั้นสูง
3. คู่มือมรรคผลพิสดาร 1 วิชชาชั้นสูง
4. คู่มือมรรคผลพิสดาร 2 วิชชาชั้นสูง
5. ตำราปราบมาร ไม่ได้ทำเป็นตำราไว้อย่างชัดเจน แต่เป็นการบอกเล่ากันในหมู่ผู้เดินวิชชาในโรงงาน และมีการจดบันทึกเป็นหมายเหตุไว้บ้างเท่านั้น

สิ่งที่ผมอยากเน้นในตอนนี้ก็คือ วิชชาทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าในทางโลกหรือในทางธรรม ยังต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ แม้วิชชาในพุทธศาสนาก็ตาม

อันนี้อาจไม่ตรงกับความเข้าใจของหลายๆ ท่าน ที่มีความเชื่อว่าวิชชาในพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของจิตวิญญาณ น่าจะเป็นวิชชาที่เบ็ดเสร็จ เป็น Absolute truth ที่ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดใดอีกแล้ว ผมคงไม่เถียงท่าน แต่ขอให้ท่านพยายามทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะส่วนใหญ่เราเถียงกันมาก่อนแล้ว แม้เรื่องของสภาพนิพพาน ก็เข้าใจไม่ตรงกันเสียแล้ว เพราะหากเชื่อว่าความหลุดพ้นสุดท้าย (นิพพาน) คือความว่างเปล่า เราก็ไม่ต้องต่อยอดในวิชชาอะไรอีก เพราะไม่มีตัวตนให้ต่อยอด แต่หากเชื่อว่าอมตสุขในนิพพานมีภพมีภูมิอยู่จริง การเรียนรู้ในระดับนิพพานก็น่าจะยังมีอยู่ต่อไป การเข้านิพพานจะเป็นเพียงการสอบผ่านเข้าไป เหมือนเราสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และไปเรียนรู้ต่อในอีกระดับหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คำว่าวิชชาชั้นสูงนั้น มันมียุคสมัย หากเราไปเจอตำราที่กล่าวว่าเป็นวิชชาชั้นสูง เราดีใจ เริ่มเปิดอ่านและเริ่มปฏิบัติไปตั้งแต่หน้าแรกจนจบ แต่พบว่าเป็นวิชชาที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492 เราจะมีความคิดเห็นอย่างไร? จริงๆ แล้วเราก็ควรรับรู้ที่มาที่ไปของตำราด้วย เราควรศึกษาให้เข้าใจว่านี่เป็นความรู้ชั้นสูงของปี 2492 ซึ่งขณะนั้นค้นพบดวงธรรมได้ 3 ดวง และพบกายได้ 5 กายเท่านั้น การเดินวิชชาให้ละเอียดอาศัยการทำฌานสมาบัติเป็นหลัก ปัจจุบันเรายังใช้วิธีนี้อยู่หรือเปล่า หากเราจะเอาวิชชาที่เรียนรู้ในยุคนั้นมาใช้ เราควรปรับแต่งอย่างไรหรือไม่? เหมือนหมอจะเอาวิชชาแพทย์ชั้นสูงในยุค 2492 มารักษาเรา เราจะว่าอย่างไร?

ประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญกับทุกแขนงวิชา โดยเหตุที่กล่าวมา นั่นเอง