การหาข้อสรุปทางความรู้ใดใด
หรือการให้ได้มาซึ่งคำวินิจฉัยซึ่งเป็นข้อสรุปสุดท้าย
จำเป็นจะต้องหาข้อมูลประกอบเพื่อการพิจารณาให้มากส่วน
เพื่อไม่ให้การวินิจฉัยของเราผิดพลาด ข้อมูลแต่ละส่วนก็อาจมีข้อมูลย่อยอีกหลายๆ
ส่วนแตกแขนงออกไปอีก กระบวนการเหล่านี้มีอยู่ในทุกวิชาชีพ ดังรูป เช่น การให้ได้วินิจฉัย
(Dx) จำเป็นต้องหาข้อมูล A B C มาก่อนจึงจะพอสรุปเป็น Dx ได้
ข้อมูลแต่ละอันก็เหมือนภาพตัวต่อ (Jigsaw) แต่ละชิ้นที่ประกอบกันเป็นภาพใหญ่ ยิ่งเราได้ jigsaw มากชิ้น เราก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น Jigsaw บางตัวอาจมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าบางตัว ทั้งนี้แล้วแต่กรณี
เช่นการวินิจฉัยโรค โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้ความสำคัญกับการซักประวัติการป่วยของคนไข้มากที่สุด
แล้วจึงเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด จนถึงการ X-ray เป็นลำดับถัดไป ดังรูปข้างล่าง
ความสำคัญในตอนนี้ คือ บางครั้งคนเราด่วนตัดสินอะไรก่อน
แม้มีข้อมูลมาด้านเดียว หากเราเข้าใจเนื้อหาตอนนี้เราก็ต้องหยุดคิด
รวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสิน เช่น มีคนบอกว่าอาจารย์ท่านหนึ่งไม่ดี
ถามว่าไม่ดีเพราะอะไร เขาตอบว่าเพราะ “ด่าพระ” พอเราได้ยินคำว่าด่าพระ คนไทยรับไม่ได้
เพราะพื้นฐานของคนไทยนับถือพระมาแต่ไหนแต่ไร ข้อมูลนี้สำหรับบางคน เข้มข้นพอที่จะเชื่อว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ดีจริงๆ
แต่หากเรายังไม่ด่วนตัดสิน เราควรถามคำถามที่ 2 เช่น ทำไมเขาถึงด่าพระ
หรือเขาด่าพระว่าอย่างไร คำตอบของคำถามที่ 2 อาจเป็นข้อมูลสำคัญอีกอันก็ได้ เช่น
เพราะพระไปมีเมีย ผิดศีลเป็นปราชิกน่ะซี ถึงถูกท่านด่าเอา เป็นต้น
มาถึงการวินิจฉัยตลอดจนข้อสรุปในทางธรรม
ก็ต้องอาศัยส่วนประกอบย่อยหลายๆ ส่วนเช่นเดียวกัน ความรู้ที่เราสามารถหาได้ในทางธรรมก็มาจาก 3 ภาคใหญ่ๆ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
นั่นเอง
ปริยัติ เป็นความรู้ที่ได้มาจากการอ่านตำรับตำรา
การฟังธรรม คือได้จากสัมผัสมนุษย์ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจโดยตรง นั่นเอง
หากเรากลั่นกรองความรู้นี้ได้ดี ยึดหลักกาลามสูตร คือยังไม่เชื่อง่ายๆ
ความรู้ทางปริยัติหลายอย่างสามารถกลับมาต่อยอดความรู้ทางปฏิบัติ
และปฏิเวธได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนหนึ่งเป็นความรู้จากครูบาอาจารย์นักปราชญ์ในอดีตที่ท่านค้นคว้าไว้ให้แล้ว
อาจเป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติของท่าน แล้วท่านถ่ายทอดไว้ให้
แต่ความรู้ทางปริยัติต้องมีการกลั่นกรองให้มาก
ต้องเลือกที่มาของแหล่งความรู้ ดูประวัติศาสตร์และความทันสมัย หากเป็นความรู้ที่บอกวิธีในทางปฏิบัติ
เราก็ต้องปฏิบัติต่อ ซึ่งแสดงว่าเราไม่อาจเข้าใจความรู้ต่อได้ด้วยการอ่านการฟังโดยลำพังแล้ว
จะมาอ่านเอาบันเทิงต่อก็ไม่เข้าไปในใจอีกแล้ว
ปฏิบัติ เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา มีสมถะ
และวิปัสสนา นั่นเอง พูดไว้ค่อนข้างมากในบล็อกแห่งนี้ อยากเน้นย้ำอีกครั้ง
และหลายๆ ครั้งว่า ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนถึงความสำเร็จทั้งปวงในทางธรรม
ต้องมาจากการปฏิบัติทั้งนั้น จะมาจากการอ่านเพียงอย่างเดียวไม่ได้
แต่ไม่ใช่ไม่อ่านตำรา ท่านต้องอ่านตำราคู่ไปกับการปฏิบัติให้เกิดผลเสมอ
ปฏิเวธ เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง
ท่านเกิดความรู้ใหม่จากภายใน ก็คือความรู้ปฏิเวธ หากไม่ใช่ระดับครูบาอาจารย์จริงๆ
ความรู้ระดับนี้ต้องระวังมาก ต้องตรวจสอบมาก อย่างน้อยผมก็เขียนไว้แล้วเรื่องรู้ญาณต้องมีการตรวจสอบ
วันนี้ ไม่ได้ลงลึกในเรื่องใดเป็นพิเศษ
เป็นการคุยเฉยๆ แต่อยากเน้นว่า การศึกษาธรรมะโดยเฉพาะวิชชาธรรมกาย
ท่านต้องเอาไปปฏิบัติ จากเบื้องต้นคือการท่องวิชชาให้ผ่าน จนทำได้คล่อง จนเป็นวสี ความรู้และข้อสรุปจึงเกิดขึ้นได้
จงเดินวิชชาเข้าไว้ หากท่านไม่หมั่นทำก็แปลว่า ท่านไม่รอด