ผมคงเขียนเนื้อหาเรื่องอาหารใจไม่เหมือนในบันทึกปราบมารของคุณลุง ซึ่งบันทึกไว้เมื่อปี 2533 ที่กล่าวถึงอาหารใจฝ่ายดี คือการได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งเป็นมงคล และการบำรุงร่างกายด้วยอาหารก็เป็นการบำรุงใจด้วย เพราะกายกับใจเกี่ยวเนื่องกัน สุดท้ายพูดถึงอาหารใจระดับสูง คือการเดินฌาน 8 นี่คือสรุปที่คุณลุงได้บันทึกไว้
ส่วนผม มาเข้าใจเรื่องอาหารใจในอีกมุมมองหนึ่ง จากการที่ต้องขับรถเข้ามาในเมืองเพื่อทำคลินิก ช่วงนี้เจอะเจอสิ่งที่ไม่เจริญหูเจริญตา ครบทุกอายตนะ ดังนี้
ตา เจอแสงแดดจัดในหน้าร้อน จนต้องหาแว่นกันแดด หาฉากมาบังสู้แสงแดดเวลามองออกไปนอกร้าน
หู มีเสียงดังอึกทึกแทบทุกชนิดที่จะสรรหามาได้ ทั้งเสียงเพลง เสียงรถมอเตอร์ไซด์ แม้เสียงจี๊ดๆ เวลาเขาเบรครถ เสียงเคาะเหล็ก จิปาถะ
จมูก มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ลอยมาให้รำคาญ แสบจมูก แสบหน้าอก ไอ มาจากร้านปิ้งขนมข้างๆ ร้านอาหารตามสั่ง สเปร์ฉีดฆ่ายุงซึ่งมันจะฆ่าเราด้วย
ลิ้น สั่งอาหารมาก็ไม่ถูกปากเผ็ดร้อน หวานเจี๊ยบ เค็มปี๋ อาหารหมักฟอร์มาลีน ทั้งปวง
กาย อุณหภูมิหน้าร้อนของเมืองไทยเป็นอย่างไร คนไทยทุกคนรู้ดี
ใจ พบปะเจอะเจอสิ่งที่ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ โดยเฉพาะความชุลมุนวุ่นวายในเมืองเล็กๆ อย่างแม่กลอง ความไร้ระเบียบของการจราจร โดยที่เราเป็นคนที่ต้องขับรถอยู่เป็นประจำ ส่วนใหญ่เจอรถขับช้า เงอะงะ ไม่มีทักษะในการขับขี่ น่าหงุดหงิดมากเวลาขับตามหลังพวกท่านเหล่านั้น
ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่า เราสื่อสารกับโลกภายนอกผ่านอายตนะทั้ง 6 ของเรา แล้วมีความละเอียดในการส่งผ่านสื่อเหล่านี้ไปในระดับธาตุ 18 (ธาตุรับ 6 ธาตุกระทบ 6 ธาตุรับรู้ 6) จึงได้รู้ว่าก่อนทำสมาธิ ท่านให้อาราธนาพระพุทธเจ้า และจักรพรรดิภาคขาว ให้มาบังเกิดในทวารทั้ง 6 นี้ เพื่อให้ท่านคุมประตูแห่งอายตนะทั้งปวงไว้ก่อน ที่สื่อเหล่านี้จะเข้าไปสู่ประตูใจภายในนั่นเอง
สื่อเดียวกัน แต่ละคนตีความชอบไม่ชอบไม่เหมือนกันเพราะเรามีอินทรีย์ 22 ที่ อ่อนแก่หยาบละเอียด ต่างกัน เมื่อสื่อส่งข้อมูลเข้าไปถึงใจชั้นในคือ มโนวิญญาณธาตุ เกิดการตีความ ตรงนี้ใจได้เสพอาหารแล้ว ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม (อ่านความรู้เรื่อง ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ในหนังสือมรรคผลพิสดาร ของหลวงพ่อวัดปากน้ำประกอบด้วย)
ผมมานั่งนึกว่า หากเราไม่เปิดร้าน เราคงไม่ต้องมาเจอกับ "สิ่ง" ที่ทำให้ใจวุ่นวายแบบนี้ นึกต่อ เราก็คงนอนอยู่กับบ้าน ไม่ต้องเสพสื่อใดใด พอนึกไปๆ เราก็คงเบื่อ คงเหงา อ้าว นั่นแปลว่า ใจไม่ได้รับอาหารก็อยู่ไม่ได้อีกเช่นกัน มันจะเหี่ยว มันจะเฉา
แม้การพัฒนาใจในช่วงแรกๆ อาจต้องตัดสิ่งรบกวนใจที่จะผ่านอายตนะทั้งปวงออกไปก่อน เช่นการปลีกวิเวกแบบพระป่า หรือหลีกเร้นไปทำความเพียรจนใจเรามีกำลังเสียก่อน จากนั้นเมื่อกลับมาเจอะเจอสิ่งแวดล้อมเดิม เราคงมีใจที่แข็งแรงขึ้น ต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคทั้งปวงได้ดีขึ้น แต่หากบางท่านปลีกวิเวกแบบไม่ยอมกลับ คือให้ใจอดอาหารไปเรื่อยๆ จนผอม ชินกับสภาพแบบสันโดษทางอายตนะ อาจไม่ได้แปลว่าใจเราแข็งแรงขึ้นก็ได้ นั่นเป็นการเก็บกดกีดกันอายตนะภายนอกที่จะทำให้เกิดอารมณ์ไว้ เราดูเหมือนไม่หวั่นไหวต่อสิ่งกระตุ้นที่จำกัด เท่านั้นเอง เราต้องบำเพ็ญเพียรทางใจด้วย จึงจะสมบูรณ์
เราจะแก้ไขอย่างไร ให้เราได้พบปะเจอะเจอแต่อาหารใจที่ดีๆ ที่ประณีต ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะเราคงต้องอยู่ในเมืองสวรรค์เมืองนิพพาน ไม่ใช่เมืองมนุษย์อย่างที่เราอยู่ตอนนี้เป็นแน่แท้