Pages

Wednesday, September 8, 2010

ท่องจำเอา

หลายท่านคงสงสัยว่าวิทยากรสอนธรรมปฏิบัติ เห็นธรรมะที่ตนสอนหรือไม่ ?

ผมตอบได้ทันทีเลยว่า เห็นสิ !!

เพราะความเห็น หรือทุกสิ่งในโลก ล้วนมี ต้นกลางปลาย อ่อนแก่ หยาบละเอียด เล็กโต อดีตปัจจุบันอนาคต ฯลฯ ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเรามองมุมไหน

ใจของเราประกอบด้วย เห็น จำ คิด รู้ ตัวรู้อยู่ลึกสุด ละเอียดสุด เรารู้ก่อนแล้วค่อยๆ คิดนึก จำได้ จนเห็นด้วยใจ ตัวความเห็นเองก็ยังมีอ่อนแก่ หยาบละเอียดอีกเช่นกัน จากเลือนลางจนเป็นความนึกคิดในมโนภาพ จนกระทั่งเห็นแจ่มชัดเหมือนลืมตาเห็น คือนึกได้จาก 20% เป็น 50% เป็น 80% เป็นนึกได้ 100% ก็คือเห็นนั่นเอง

การเห็นด้วยตาเรา มันเห็นเลย ส่วนการเห็นด้วยใจ บางท่านเห็นเลย (แต่อย่าลืมว่าต้องตรวจสอบความถูกผิดด้วยเสมอ ไม่ว่าการเห็นนั้นจะชัดเจนปานใดก็ตาม) แต่คนส่วนใหญ่ต้องนึกนำ

ก็ใจเรานึกอะไรก็ได้ เราจะนึกนำยังไง

เราก็นึกสิ่งที่มีแก่นสารสิ นั่นคือนึกไปตามรอยใจที่ถูกต้อง ถูกหลักวิชชาที่ธาตุธรรมระดับครูบาอาจารย์อุตส่าห์ค้นคว้ามาได้ เป็นแผนที่และพิมพ์เขียวอันเป็นที่ยอมรับแล้ว สร้างรอยใจที่ถูกไว้ ความเห็นที่ถูกมันจะตามมา

บางท่านไม่ให้นึกอะไรเลย แล้วใจเราจะไปยังจุดหมายที่ถูกต้องได้อย่างไร เหมือนถนนหน้าบ้านเราสามารถนำเราไปสู่ จ.เชียงใหม่ ได้ แต่เราทำแค่เอาตัวเราไปจ่ออยู่บนถนนหน้าบ้านเท่านั้น ไม่มีการกระทำของการเคลื่อนที่ไป เราก็ยังไปไม่ถึงซักที

นึกเอา ท่องเอา จะมีอานิสงค์จากการทำวิชชาหรือ

มันเป็นการทำงานทางใจ ใจทำงาน ก็ต้องได้งาน กล้ามเนื้อทำงานออกแรง กล้ามเนื้อก็ค่อยๆ มีแรงขึ้นมาทีละนิด และเกิดงานด้วย

แม้ความรู้ในทางโลก ก็อาศัยผู้ที่ค้นคว้าได้ก่อนมาบอกเรา หรือเขียนตำราทิ้งไว้ให้เรา เราทำตาม ไม่ต้องเสียเวลาค้นเอง ก็เกิดอานิสงค์ แพทย์รุ่นหลังรักษาคนไข้จากตำรา(Textbook)ที่แพทย์รุ่นก่อนเขียนไว้ให้ ยังไม่จำเป็นต้องทดลองความรู้เองจากความไม่มีอะไร ไม่ต้องลองผิดลองถูกแบบคนยุคเก่าๆ ท่องจำความรู้นั้นได้ โดยอาศัยการต่อยอดมาจากวิชชาแพทย์ดั้งเดิมอันเป็นที่ยอมรับมาเรื่อยๆ คนไข้หายป่วย ก็เป็นอานิสงค์ของความรู้อันถูกต้องที่แพทย์นำมาใช้

การท่องวิชชาให้ติดปาก เหมือนเราเคยท่องอาขยานสมัยเด็กๆ ก็คือการทำให้เราจำได้ แล้วตอกย้ำการทำงานของใจเราไว้ให้สม่ำเสมอ เพียงแต่เราต้องเลือกสิ่งที่เราจะท่องว่ามีคุณค่าจริง