วันนี้เราคุยกันในเรื่องสำคัญ แบบง่ายๆ ซึ่งอยู่ในหลักสูตรวิชชาธรรมกาย
ในหนังสือคู่มือมรรคผลพิสดารทั้ง 2 ภาค ท่านผู้อ่านควรอ่านตำราประกอบให้จบ
จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น
ธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนามีวิชชาสำคัญ 2 วิชชาคือ สมถะ และวิปัสสนา ขอให้ดูในหนังสือคู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 12 ประกอบด้วยอีกเล่มหนึ่ง
สมถะ(ความสงบระงับ) คือการฝึกให้จิตเป็นขึ้น
คือให้มีกำลังทางใจเกิดขึ้นนั่นเอง
ส่วนวิปัสสนา(ความเห็นแจ้ง) คือการเอาจิตที่เป็นขึ้นแล้ว
เก่งแล้ว แข็งแรงแล้ว มาศึกษาเรื่องของตัวเองในภาคละเอียด คล้ายการศึกษากายวิภาค (Anatomy) ของร่างกายของเราในวิชาแพทย์
การฝึกสมถะและวิปัสสนาจึงเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน
จะแยกกันฝึกโดยไม่เกี่ยวข้องกันไม่ได้
ตรงนี้มีการถกเถียงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติมากมาย บางสำนักกลัวการฝึกสมถะเหลือเกิน
ทั้งๆ ที่เหตุผลง่ายๆ ก็คือพระพุทธเจ้าท่านสอนทั้งสมถะและวิปัสสนา
สมถะ
ความสงบระงับ
คือการฝึกจิตให้เป็นขึ้น
ภาษาอังกฤษใช้คำรวมๆ ว่า Meditation แต่ Meditation ครอบคลุมเนื้อหารวม ทั้งในพุทธศาสนา และนอกพุทธศาสนา
คือการฝึกจิตให้เป็นขึ้น
ภาษาอังกฤษใช้คำรวมๆ ว่า Meditation แต่ Meditation ครอบคลุมเนื้อหารวม ทั้งในพุทธศาสนา และนอกพุทธศาสนา
หลักการของสมถะเป็นการฝึกจิตให้แข็งแรง อุปมาเหมือนการฝึกร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย
ซึ่งเราจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล
ผมเคยฝึกนักกีฬาแบดมินตัน โดยดูความแข็งแรงของนักกืฬาตอนกระโดดตบลูก
เพราะลูกตบเป็นลูกที่ใช้แรงมาก และเป็นลูกฆ่าที่สำคัญ แต่เดิมใช้วิธีฝึกโดยการโยนลูกให้กระโดดตบวันหนึ่งเป็นร้อยครั้ง
แต่โค้ชหลายท่านจะไม่ให้นักกีฬาจับไม้แบดมินตันเลยจนกว่าจะผ่านการฝึกยกน้ำหนักเสียก่อน
โดยเริ่มจากน้ำหนักน้อยๆ เช่น 2 กิโลกรัม โดยให้ยกไป 1 สัปดาห์
แล้วเปลี่ยนน้ำหนักเป็น 5 8 10 กิโลกรัมตามลำดับ ลำดับละ 1 สัปดาห์ ครบ 1 เดือน
จึงให้ทดลองจับไม้แบดมินตัน แล้วลองตบลูกดู
ผลปรากฏว่านักกีฬาสามารถตบลูกได้รุนแรงทั้งๆ ที่ไม่ได้จับไม้มาเป็นเดือน
ทำให้เราทราบว่าการฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแล้วเอามาใช้งาน
เราเพียงเอาหน้าที่ของกล้ามเนื้อ(คือการออกแรง) มาพัฒนาโดยค่อยๆ
เพิ่มแรงให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่นี้เราใช้ลูกน้ำหนักในการฝึก
โดยไม่ได้มุ่งหวังให้นักกีฬาไปเป็นนักยกน้ำหนักแต่อย่างใด ผลคือกล้ามเนื้อแข็งแรง
เอามาใช้เล่นกีฬาแบดมินตันให้เรา โดยให้มาพัฒนาทักษะอีกนิดหน่อยเท่านั้น
การวัดผลว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
ก็เพียงดูง่ายๆ ว่าตอนนี้เขายกน้ำหนักได้กี่กิโลกรัมแล้ว นั่นเอง
การฝึกนักกีฬาจริงๆ
มีความซับซ้อนกว่านี้มาก ผมพยายามยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายนะครับ
เมื่อมาถึงการฝึกใจให้แข็งแรง ก็ไม่ต่างจากการฝึกกายเลย
เพียงแต่ใจ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน แต่มีหน้าที่ของใจให้เรารู้ได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนว่าใจมีหน้าที่
4 อย่าง คือ เห็น จำ คิด รู้ การฝึกใจจึงให้เอาเห็นจำคิดรู้มาพัฒนานั่นเอง
เหมือนกล้ามเนื้อที่เราเอาการออกแรงมาพัฒนา
หลักสูตรภาคสมถะ มี 40 วิธี ล้วนเป็นวิธีการพัฒนาหน้าที่ของใจให้แข็งแรงทั้งสิ้น โดยเลือกเอาวิธีที่ถูกจริตอัธยาศัย หรือวิธีที่ใช้ได้กับทุกจริตอัธยาศัย นั่นเอง
หลักสูตรภาคสมถะ มี 40 วิธี ล้วนเป็นวิธีการพัฒนาหน้าที่ของใจให้แข็งแรงทั้งสิ้น โดยเลือกเอาวิธีที่ถูกจริตอัธยาศัย หรือวิธีที่ใช้ได้กับทุกจริตอัธยาศัย นั่นเอง
ท่านจะเลือกใช้วิธีไหน กสิณ 10 อสุภะ 10
อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปฌาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 รวมเป็น
40 ล้วนเป็นการปั้นใจดวงนี้ขึ้นมา แล้วพัฒนาจนเกิดความแข็งแรงของใจ เช่นอาโลกกสิณ
การเพ่งกสิณแสงสว่างโดยใช้ดวงใสเป็นแบบ ด้วยการเริ่มให้ใจทำงาน จดจำ จินตนาการ นึก
ดวงใสที่เราเห็นด้วยตาขึ้นมาก่อน เริ่มนึกได้ลางๆ ซัก 20% ก็เปรียบเสมือนเราเพิ่งหัดยกน้ำหนักได้ 2 กิโลกรัม พอนึกไปๆ
นึกได้ชัดขึ้นเป็น 50% ก็เปรียบเหมือนเรายกน้ำหนักได้ 5
กิโลกรัม นึกได้ 80% ก็เหมือนยกน้ำหนักได้ 8 กิโลกรัม นึกไปๆ
นึกได้เท่าตาเห็นคือ 100% ยกน้ำหนักได้ 10
กิโลกรัม เราวัดผลตรงนี้ ถือว่าจิตเป็นขึ้น พร้อมจะเอามาทำงานทางใจได้ในระดับหนึ่ง
ในวิชชาธรรมกาย เราให้เอามาเดินวิชชา 18 กายเสียก่อน จากนั้นจะเอาไปเรียนรู้ในภาควิปัสสนาคือการศึกษาเรื่องของตัวเราแบบแยกส่วน
เหมือนหมอศึกษาร่างกายมนุษย์ด้วยการผ่าศพ เพื่อให้รู้เรื่องของตัวเราอย่างแจ่มแจ้ง
รักษาโรค และแก้ปัญหาของชีวิตของเราได้ต่อไป
ความสำคัญของภาคสมถะ คือการวัดผล
ให้รู้ว่าจิตเราเป็นขึ้นหรือยัง ก่อนจะเอามาทำงานทางใจในระดับต่อไป เช่นเดียวกับการวัดผลความแข็งแรงของนักกีฬาให้ได้ระดับเสียก่อน
จึงเอามาฝึกทักษะทางกีฬาที่จะเล่นได้ ซึ่งไม่ยากแล้ว
หากจิตยังไม่เป็นขึ้น แล้วรีบเข้าสู่การเรียนรู้ในภาควิปัสสนา การเรียนรู้นั้นก็ทำได้ไม่ถนัด
หรือไม่ได้เลย เหมือนนักกีฬาที่ยังไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถเล่นกีฬาให้ดีได้
ภาคสมถะทั้ง 40 วิธี
มีอธิบายไว้จนครบในหลักสูตรมรรคผลพิสดาร 2 โปรดหาอ่านดู
วิปัสสนา
ความเห็นแจ้ง เป็นการเรียนรู้ส่วนประกอบภาคละเอียดของตัวเรา
โดยใช้จิตที่เป็นขึ้นแล้ว เก่งแล้วจากภาคสมถะ มาดู ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18
อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 นั่นเอง ซึ่งบทเรียนในคู่มือมรรคผลพิสดารภาค 1
มีบทบัญญัติให้ฝึกหัดไปในแต่ละบท
ระหว่างที่เราดูส่วนประกอบเหล่านี้ไปแต่ละอย่าง
เราจะเห็นปัญหาของความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ เช่น ในภาคของขันธ์ 5
จะพบว่ากายมนุษย์ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีการแตกทำลายของขันธ์ ให้เราไปหัดดูกายละเอียดของคนที่กำลังจะตาย ว่าเดินทางไปตามฐานที่ตั้งใจอย่างไร
อะไรทำให้ขันธ์ต้องแตกดับ มีทุกข์สมุทัยหุ้มอยู่อย่างไร ระดับไหนบ้าง
เมื่อดูถึง อายตนะ ธาตุ อินทรีย์
เราจึงพอทราบได้ว่า มนุษย์ติดต่อกับโลกรอบตัวอย่างไร ทำไมมนุษย์เมื่อเห็น ฟัง
ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ในสิ่งเดียวกัน จึงตอบสนองไม่เหมือนกัน ชอบ ไม่ชอบ ไม่เหมือนกัน
ทั้งๆ ที่สิ่งกระตุ้นเป็นตัวเดียวกัน ดูอินทรีย์แล้ว น่าสงสัยว่าอินทรีย์มนุษย์ ทำไมมีทุกขินทรีย์
โทมนัสสินทรีย์ แทรกเข้ามาในอินทรีย์ 22 ของเราตั้งแต่อ้อนแต่ออก ได้อย่างไร
ดูถึงอริยสัจ 4 จะเห็นสายปกครองฝ่ายทุกข์สมุทัยที่ส่งวิชชามาให้มนุษย์แก่
เจ็บ ตาย อยู่ลึกถึงเพียงนี้ แถมยังทำวิชชาหุ้มไปทั่วทั้งสุดหยาบสุดละเอียด
มีตำราให้เรียนอย่างเจาะลึกในวิชชาธรรมกาย เห็นแล้ว เราคิดแก้ไขอย่างไร
จะใช้วิชาใด พอมาถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 จึงเห็นสายปกครองอีกสายคือสายปิฎก
อันมี อวิชชา เป็นหัวหน้า อยู่ลึกถึงอย่างนี้นี่เอง เราจะทำอย่างไรต่อไป
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว
วิจารณ์
การฝึกกายด้วยลูกน้ำหนัก (Dumbbell) เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แล้วเอาความแข็งแรงมาเล่นแบดมินตันให้เรา ในวงการแพทย์และวงการกีฬายุคปัจจุบันยอมรับแล้วว่าการฝึกความแข็งแรงด้วยน้ำหนัก ให้ผลดีที่สุด เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจะเอาไปทำอะไรก็ได้ดั่งใจนึก
การยกน้ำหนัก ไม่ได้ทำให้เราติดในการยกน้ำหนัก จนไม่ทำอย่างอื่น ไม่ได้แปลว่าจะให้นักกีฬาไปเล่นยกน้ำหนักแต่เพียงอย่างเดียว
หากเราไม่ยกน้ำหนัก แต่เริ่มเล่นกีฬาไปเลยโดยไม่วางแผนฝึกกล้ามเนื้อมาก่อน ก็อาจทำได้ แต่สู้นักกีฬาที่ถูกฝึกมาอย่างเป็นระบบไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่อเราฝึกฝนกีฬาใดใดมาอย่างผิดวิธี การแก้ไขในครั้งต่อๆ ไปนั้นยากมาก ผู้เคยเป็นนักกีฬามาก่อนย่อมรู้ดี
ผลของการออกกำลังกาย ย่อมสัมผัสได้จากการลงมือออกกำลังกายด้วยตัวเองเท่านั้น เราจึงจะสัมผัสกับความแข็งแรงนั้นได้ (Well being) สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นจากการอ่าน หรือการทำความเข้าใจจากตำราแต่เพียงอย่างเดียว การฝึกใจก็เช่นเดียวกัน
การฝึกใจให้เป็นขึ้นด้วยสมถะ ทำให้จิตแข็งแรง และเป็นขึ้นมาก่อน แล้วเอา 'เห็นจำคิดรู้' ที่แข็งแรงนั้น ไปเรียนรู้ต่อในภาควิปัสสนา ย่อมทำให้การเรียนรู้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ กว่าการพยายามทำวิปัสสนาโดยที่ยังไม่มีการฝึกจิตในภาคสมถะ ซึ่งการเรียนรู้นั้นย่อมทำไปโดยอาศัยความเข้าใจจากตำรับตำราแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้รู้เห็น และเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น เพราะความรู้หลายๆ อย่าง ต้องเป็นขึ้นจากการฝึกฝน จะอ่านตำราอย่างเดียวไม่ได้ คำภีร์อุปนิษัทโบราณก่อนพุทธศาสนา กล่าวไว้ว่า "มีความรู้บางอย่างที่มนุษย์ไม่อาจเรียนรู้ได้ หากปราศจากการฝึกจิต"
การฝึกสมถะด้วยกสิณ ไม่ได้มีความหมายแค่ ติดนิมิต ติดสุข อย่างที่หลายๆ ท่านวิพากษ์วิจารณ์กัน นั่นมันเป็นความรู้เด็กๆ จึงกลัวการฝึกสมถะกันนัก
จริงๆ แล้ว การเรียนรู้เรื่อง ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ฯ ยังเป็นแค่การศึกษาเรื่องราวของกายในแกนนอนเท่านั้น วิชชาธรรมกายเดินวิชชา 18 กาย เข้าถึง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ในแกนตั้งอย่างเป็นปกติ โดยไม่ต้องตีความใดใด จึงเป็นภาควิปัสสนาที่ลึกซึ้งยิ่ง นี่แหละ ทำไมจึงบอกว่า วิชชาธรรมกายเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา
ขอจบไว้เพียงนี้ก่อนครับ