จริงๆ แล้ววิชชาธรรมกายเป็นทั้งหมดของวิชชาทั้งปวง ผมเคยคุยกับวิทยากรว่า วิชชาธรรมกายเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา หากเราไม่คิดเช่นนั้นแสดงว่าเรายังมีความรู้น้อยไป วันนี้ผมจะยกตัวอย่างความเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ไว้พอสังเขป
วิชชาธรรมกายเป็นคณิตศาสตร์
เราคงเคยได้ยินเรื่อง “การคำนวณ” ในวิชชาธรรมกาย แต่ผมจะให้ข้อมูลบางส่วน ดังนี้
1. แกนตั้ง กับแกนนอน ( แกน X กับ แกน Y)
ผมคิดว่าแกนอย่างน้อย 2 แกนนี้มีความสำคัญมากในความเข้าใจวิชชาธรรมกาย ขอให้ดูรูปประกอบ
เราต้องจับแกนหลัก X กับ Y ให้ได้ก่อน
จุด O (Origin) คือจุด หรือธาตุธรรมใดใดที่เราพิจารณา
หากเราให้จุด O เป็น “กายมนุษย์หยาบ” แกนตั้ง หรือแกน Y ก็คือแกน 18 กาย โดยเดินวิชชาอนุโลม จากจุด O คือกายมนุษย์หยาบ ไปยัง Y+ คือกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด ถ้าเดินปฏิโลมก็เดินกลับจาก Y+ มาที่จุด O นั่นเอง
ส่วนแกนนอน คือแกน X ก็คือ แกนกายพิสดารของกายมนุษย์ (หยาบ) ซึ่งมีสุดหยาบ ไปทาง X- และสุดละเอียด ไปทาง X+ นั่นเอง
แกนนอนมีได้หลายแกนสุดแต่เราจะพิจารณาอะไร ผมจึงเขียนภาพให้มี X1-, X1+ ซึ่งจะมี X2 X3 ไปได้เรื่อยๆ ตัวอย่างสำหรับกายมนุษย์หยาบก็คือ เราอาจพิจารณา กำเนิดต้นกลางปลาย พิจารณาจักรพรรดิ์ในกาย และอื่นๆ ได้อีกมาก สุดแต่ความรู้ในเรื่องสมบัติ คุณสมบัติ ของกายที่เราค้นคว้าได้
ที่สำคัญคือ เมื่อเราเลื่อนจุด O ไปวางยังตำแหน่งใด ไม่ว่าจะเป็นจุดใดใดบนแกนทั้งปวงนั้น จะเกิดจุด Origin ใหม่ ซึ่งมีแกนตั้งแกนนอนแบบเดียวกันได้อีกมากมายนับไม่ถ้วน นั่นคือเป็น set ซ้ำแล้วซ้ำอีกในเชิงคณิตศาสตร์ จึงเป็นความมากที่เราพอจะมองเห็นได้ โดยการพิจารณาแกนตั้งแกนนอนนั่นเอง
ความมากในทางคณิตศาสตร์ อาจเรียกว่าเป็นอนันต์ (Infinity) แต่ความมากในทางวิชชาเรียกได้หลายรูปแบบ แต่มักได้ยินคำว่า นับอสงไขยไม่ถ้วน อยู่บ่อยๆ ส่วนที่เหลือ ให้ไปหาดูในหนังสือทางมรรคผลของหลวงพ่อวัดปากน้ำถือเป็นการบ้านนะครับ
สมมุติ หากจุด O เป็น “กำเนิดเดิม” แกน X ก็เป็นกำเนิดต้น กลาง ปลาย ของชาตินี้ แกน Y ก็น่าจะเป็น กำเนิดเดิมในภพชาติต่างๆ ที่เราเกิดมาแล้ว (ต้น ในทางแกนตั้ง) กำลังเกิดอยู่ (กลาง ในทางแกนตั้ง) และที่จะเกิดต่อไป (ปลาย ในทางแกนตั้ง) นั่นเอง
หากให้จุด O เป็น “จักรพรรดิ์” แกนตั้ง เราอาจให้เป็นแกน 18 กายของท่าน แกนนอนที่ 1 อาจเป็น จุลจักร มหาจักร บรมจักร อุดมบรมจักร แกนนอนที่ 2 อาจเป็น ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี สุดแต่เราจะพิจารณา
ยังเอามาใช้ได้อีกมากมาย และช่วยในการคำนวณทางวิชชาให้ครอบคลุม
2. มองวิชชาให้ครอบคลุมด้วยลักษณะของการซ้อนกันเป็นชั้นๆ
ต่อไปนี้ ขอให้ถือเป็นการยกตัวอย่างให้ดูเท่านั้นนะครับ ที่เหลือคือการต่อยอดทางความคิดของท่านต่อไป
สมมุติว่า W คือวิชชาอะไรก็ตามที่ภาคมารเขาจะส่งมายังมนุษย์ เช่น โรค W
ในตัว W จะมีความมากมายไปทางแกน X และแกน Y เหมือนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แกน Y อาจเป็นแกน 18 กายของผู้ต้นคิดวิชชา แกน X หรือแกนนอน ก็อาจมี ผู้สอด ผู้ส่ง ผู้สั่ง ผู้บังคับ ผู้ปกครองย่อย ผู้ปกครองใหญ่ เครื่องรวมย่อย เครื่องรวมใหญ่ หัวใจเครื่องรวมใหญ่ของผู้ปกครองใหญ่ สุดแต่เราจะจับวาง ตัวตนเหล่านี้มีภพอยู่อาศัย กระจายความละเอียดของภพไปเป็น นิพพาน ภพ โลกันตร์ คิดโรคมาแล้วก็ทำเป็น “เครื่อง” คือวงกลม A นั่นเอง
ปรุงเครื่อง (โรค) เสร็จ เขายังไม่ส่งมา เขาหุ้มด้วยวงกลม B คือเหตุ 19 เพื่อให้ยากต่อการรู้เห็น คือหากรู้ญาณของธรรมภาคขาวเข้าไปสัมผัส ก็จะเห็นเป็นเหตุว่างทั้งปวง 19 รูปแบบ สาวไปไม่ถึงตัว W เรามองเห็นรอบตัวเราเป็นว่างไปหมด ไม่รู้เลยว่ามีอะไรถูกส่งมาบ้าง มองไปทางไหนก็มีแต่ว่างๆๆ จึงจัดเหตุว่างเหล่านี้ว่าเป็น “เหตุหลัก” ในตำราเล่ม 1 นั่นเอง ในเหตุว่าง B ก็มีกองกำลังสนับสนุนอีกมากมาย เป็นเหตุจร เหตุสอดแทรก ซึ่งเนื้อหาก็อยู่ในตำรานั่นเอง ส่วนตัว W เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องไปพิชิต คือเหตุที่เราจะไปประจัญข้างหน้า นั่นแหละ
มาถึงขนาดนี้ เขาก็ยังไม่ส่ง W มา เขาหุ้มด้วยวงกลม C อีกชั้นหนึ่ง คือเหตุอธิษฐาน กับเหตุปาฏิหาริย์ คืออธิษฐานไว้อีกชั้นว่า ไม่ให้ธรรมภาคขาวแก้ได้ เขาสลับเหตุในวงกลม C นี้ไปมาอะไรมาก่อนมาหลังไม่แน่นอน เราจึงต้องท่อง ดับอธิษฐาน ถอนปาฏิหาริย์ แล้วปฏิโลมอีกว่า ถอนปาฏิหาริย์ ดับอธิษฐาน บางทีต้องสลับคำด้วย เช่น ดับปาฏิหาริย์ ถอนอธิษฐาน ถอนอธิษฐาน ดับปาฏิหาริย์ หากเราได้ยินใครเขาท่อง ก็อย่าเพิ่งไปว่าเขาผิด
เขาส่งมาหรือยัง ถ้าวิชชาไม่แก่นัก ก็อาจส่ง W มาได้แล้ว ถ้าวิชชาแก่ขึ้นอีก ก็ยังไม่ส่งมา เขากลั่นทั้งหมดให้ละเอียดมากเข้าๆ จนทั้งปวงนี้ เล็กเป็นฝุ่นเป็นผงเหมือนฝุ่นยานัดถุ์ หรือที่เรียกว่าจุดดำ นั่นเอง ถึงตอนนี้เขาจึงจะส่งโรค W มา
เพิ่งได้ 2 เรื่องของคณิตศาสตร์ แต่เนื้อหายังไม่หมด ต้องยกไปคราวหน้า เพราะตอนนี้ยาวมากแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านคงเริ่มสนุกกับการอ่านตำราวิชชาธรรมกายบ้างนะครับ เราต้องจัดหมวดหมู่ให้ดี จึงจะเกิดความเข้าใจ และจดจำได้ง่าย มาถึงตอนนี้ จะเห็นได้ว่า วิชชาไม่ใช่ของยาก แต่ต้องเรียนรู้อย่างถูกหลักและมีเหตุมีผล
เจอกันคราวหน้าครับ