Pages

Wednesday, November 30, 2011

โยนิโสมนสิการ


การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี

ก่อนเราจะไปถึงวิชาในทางลึก ผมเห็นว่าเราต้องทำความเข้าใจกับรากฐานให้แน่นหนา วันนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของ ความตั้งใจไว้ในที่ที่ถูกทางเสียก่อน หากไม่เป็นเช่นนั้น เราได้ยินได้ฟังอะไรมา เราก็ฟังผ่านโดยไม่ไตร่ตรอง เพราะเรามีจุดยืนที่แน่นหนาอยู่ก่อนแล้ว เราไม่ใส่ใจเนื้อหาใหม่ๆ ที่อาจสำคัญกว่าสิ่งที่เราเคย เป็นอยู่คือมาก่อน

อยากให้ทบทวนเรื่อง ผู้มาใหม่ แม้ผู้อยู่เก่าก็ควรตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของ ความเพี้ยน เฝือ เรื้อรัง ฮึกเหิม เพราะเมื่อเวลาเนิ่นนานไป เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น โอกาสที่ใครๆ จะเตือนเราได้ ก็มีน้อยลงทุกวัน เราหลงผิดไปทางไหน ไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาเตือนเรา หากความผิดพลาดเป็นเรื่องสำคัญ เราอาจรู้ตัวเมื่อสาย คุณลุงเคยสอนอยู่ตอนหนึ่งว่าเมื่อครั้งคุณลุงเป็นครู แม้ภารโรงก็ยังตรวจสอบคำบาลีที่ลุงเขียนบนกระดานดำได้

ทุกอย่างมันออกไปจากความคิด การทำธุรกิจใหญ่โตทุกอย่างที่ประสบผล ล้วนมาจากความคิดที่ถูกต้องทั้งสิ้น เพื่อนนักธุรกิจคนสำคัญของน้องสาวผมได้บอกไว้ว่า เขาก่อร่างสร้างธุรกิจมานาน มีเงินเป็นร้อยๆ ล้านก็จริง แต่เธอรู้ไหมว่าฉันสามารถหมดตัวได้ภายในวันเดียว เพียงเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพียงเพราะยกหูโทรศัพท์สั่งการผิดพลาดแม้ครั้งเดียวเท่านั้น

การระมัดระวังความคิดหรือใจของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดยอดเหนืออื่นใด

แม้การเข้ามาเรียนรู้วิชาธรรมกายก็ตาม ผมเคยเขียนในบทความเรื่อง ศรัทธากับปัญญา รู้ญาณกับเหตุผล มาก่อนแล้ว ความเชื่อทุกอย่างมี 2 ด้านนี้เสมอ วิชาธรรมกายมีทั้งเนื้อหาวิชาการที่เป็นเหตุเป็นผล และปาฏิหาริย์ ที่เกิดจากการ รู้เห็นเป็นซึ่งเป็นภาคปฏิบัติปฏิเวธในตัววิชชาเอง เกิดเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาขึ้น

แต่ความศักดิ์สิทธิ์โดยทั่วไปก็มีได้แม้ไม่ได้มาเรียนวิชาธรรมกาย หากเรามัวหลงในความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ทั้งปวง เราก็ยังไม่ก้าวล่วงความเป็นปุถุชน ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาก็เป็นกันมาก่อน เมื่อเราเรียนวิชาธรรมกาย เราจึงต้องเป็น (หรือหากยังไม่เป็นก็พยายามแสวงหา) สิ่งที่มากกว่าอภินิหารเหล่านั้น คือทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงเกิดขึ้นจาก การเรียนรู้วิชา จึงจะสมภูมิที่อุตส่าห์มาเจอหลักวิชา

ยุคต้นๆ ของการมาเป็นวิปัสสนาจารย์ของผม คุณลุงและหมู่คณะจะเน้นย้ำถึงการออกไปสร้างบารมีสอน จะมีการทบทวนเทคนิคการสอน การใช้อุปกรณ์การสอน ว่าต้องมีดวงใส กับผ้า 7 ฐาน มีการแก้ปัญหาผู้เรียน เวลาเห็นธรรมยาก เวลาปวดเมื่อย มีการตรวจสอบการเห็นธรรมที่ชัดเจน คือการสอบถามผู้เรียนตรงๆ ไม่ได้ใช้รู้ญาณตรวจแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้สามารถทบทวนได้ในหนังสือ คู่มือวิปัสสนาจารย์ และที่ต่อยอดขึ้นมาก็คือหนังสือ ปุจฉาวิสัชชนา นั่นเอง

แม้ปัจจุบัน เป็นยุคของเทคโนโลยี เราอาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยเราได้มาก แต่ก็ต้องไม่ลืมพื้นฐานดั้งเดิมด้วย คุณลุงมีวิธีพลิกแพลงให้เราได้ยินได้ฟังเสมอ สมัยหนึ่งเคยไปร่วมสอนกับคุณลุง ตอนนั้นใช้แผ่นใส ฉายผ่าน Overhead Projector เราเคยลองเอาดวงใสวางแล้วฉายขึ้นจอ ภาพดวงออกสีคล้ำๆ คุณลุงเห็นเข้า บอกเราให้รีบเอาออก ลุงไม่ให้ใช้ เพราะมันติดตาผู้เรียนที่มาใหม่ ทั้งที่ดวงใสนั้นก็เป็นดวงแก้วของพวกเราวิปัสสนาจารย์นั่นแหละ

หากใช้นิมิตแบบโบราณก็ให้ใช้ดวงจันทร์ จะสอนใครที่ไม่เคยเห็นดวงใสมาก่อนก็ให้เขานึกถึงดวงจันทร์ เวลาไปช่วยคนตาย ให้ใช้วิธีสอนให้เขาเป็นธรรมโดยบอกนิมิตเป็นดวงจันทร์ เพราะเป็นสากล ใครๆ ก็รู้จัก มีคำถามในปุจฉาฯ ว่าใช้นิมิตเป็นดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ คุณลุงตอบว่าดวงอาทิตย์มีสีออกส้มๆ กระเดียดไปทางดำ ไม่ให้ใช้

แสดงว่า คุณลุงให้ความสำคัญกับนิมิตที่เอามาใช้สอนธรรมมาก

นานมาแล้ว ผมเคยถามคุณลุงว่ารัตนชาติที่มีสีดำ แต่จักรพรรดิ์กายสิทธิ์ข้างในเป็นภาคขาวได้ไหมครับ คุณลุงตอบผมว่า ได้ แต่น้อย ผมมีอยู่องค์หนึ่ง เป็นสีดำ แต่กายในใส เอาไว้หมอไปดูสิ ผมเก็บไว้ในตู้ ลุงไม่ได้เอาออกมาไว้ข้างนอก

ปัจจุบัน ดูเหมือนเราคุยถึง เคล็ดลับงานสอน เคล็ดลับการทำใจให้ใส เคล็ดลับการอ่านตำราให้มากเที่ยว ทบทวนตำราให้แตกฉาน น้อยลงไปหน่อย บางครั้งอาจติดอภินิหารรู้ญาณจักรพรรดิ์กายสิทธิ์เป็นหลัก เพราะไม่ว่าใครที่เข้ามาสร้างบารมี ก็อยากเด่นอยากดังอยู่ในตัวกันทั้งนั้น ยุคแรกๆ ผมก็เป็น แต่เมื่ออยู่ไปนานวัน จึงพบว่าสิ่งที่จะช่วยตัวเรา ช่วยศาสนา ช่วยจรรโลงวิชาได้จริงๆ คือหลักเหตุผลและความรู้ทางวิชชา มากกว่ารู้ญาณ ซึ่งบางทีเกิดขึ้นกลางอากาศ ผิดบ้างถูกบ้าง ได้แต่เอามาคุยเสียมากกว่า

บันทึกปราบมารของคุณลุงระบุไว้ชัดเจน ให้เชื่อเหตุผลมากกว่ารู้ญาณ

อยากให้ผู้สนใจใฝ่เรียนรู้ที่มีโอกาสเข้ามาเจอแหล่งวิชาแล้ว ได้กอบโกยความรู้ และสร้างบารมีสอนให้เต็มที่ อภินิหารจะเกิดตามมาเองอย่างแน่นอน แต่อย่าเอามาเป็นบทนำ

และ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน อย่าฮึกเหิม โดยเด็ดขาด
นั่นคือมี โยนิโสมนสิการ ไว้แต่เริ่มแรก นั่นเอง