Pages

Wednesday, January 18, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (2)


ผมขอเล่าต่อเรื่องประวัติศาสตร์สืบเนื่องจากตอนที่ 1 ที่เป็นเรื่องตั้งแต่การกำเนิดธาตุธรรม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก จนไม่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรได้ ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องรู้ญาณและการคาดเดาโดยเหตุผลทางวิชา ไม่สามารถพิสูจน์ถูกผิดได้อย่างชัดเจน

แต่ประวัติศาสตร์ตอนต่อๆ มา จะมีที่มาที่ไปมากขึ้น ผมเพียงแต่เรียบเรียงให้อยู่ในเนื้อหาของวิชาธรรมกายเท่านั้น

เมื่อธรรมภาคขาวถูกปกครอง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธรรมภาคมาร ต้องยกให้เขาเป็น เจ้าโลก เจ้าต้นธาตุธรรม เจ้ากรรม (มรรคผลพิสดาร 2) แต่เวลาคุยกันก็บอกว่า สัตว์โลกใดทำดี พระปกครอง ตายไปก็ได้ไปเสวยสุขในสรวงสวรรค์ แต่ผู้ใดทำไม่ดี มารก็ปกครอง ตายไปก็ไปอบายภูมิ อันมี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น

ดูเหมือนจะถูกต้องตามกฏแห่งกรรมที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

แต่การณ์กลับปรากฏว่า มารมีวิชาปิฎก อันมี อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ เป็นต้น ที่มาบังคับใจสัตว์โลก สัตว์โลกสร้างกรรมเพราะถูกบังคับโดยปิฎกของมาร เท่านั้นยังไม่พอ เราพบว่าคนที่ทำความดีมาตลอดชีวิต เมื่อตายไป เราไปงานศพ ตรวจดูพบว่าผู้ตายส่วนใหญ่ไปอบาย จนพูดกันว่าคนขึ้นสวรรค์เท่าจำนวนเขาโค ส่วนคนลงนรกเท่าจำนวนขนโค มันเป็นไปได้ยังไงที่มนุษย์ทั้งปวงจะทำแต่ความดีจนไม่เพลี่ยงพล้ำทำความไม่ดีบ้าง (ปราบมาร 1) หรือการทำไม่ดีนั้น เข้าเกณฑ์อาสัณณกรรม คือกรรมใกล้ตายซึ่งให้ผลก่อน ผู้ตายจึงถูกชิงไปทุคติก่อน

สัตว์โลกทำกรรมไม่ดีกันมากเข้า จนมีคนบอกว่าสวรรค์ร้างไปเลย ธรรมภาคพระจำต้องส่ง ผู้ชี้ทางสว่างให้ มาเป็นรุ่นๆ มาช่วยแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก ก็คือสัพพัญญูพุทธเจ้า นั่นเอง ท่านก็ต้องมาบำเพ็ญบารมีไปกับสัตว์โลกทั้งปวงนั่นแหละ แต่แรกมีโอกาสสร้างบารมีได้ยาวนานมาก เป็น 8 16 ... 100 อสงไขยกัปป์ เป็นต้น แล้วมาโปรดสัตว์ สั่งสอนวิธีการสร้างบารมีเพื่อพ้นทุกข์ เข้านิพพาน (ปัจจุบันคือ นิพพานกายธรรม)

ระยะเวลาในการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ค่อยๆ ลดเวลาลงเรื่อยๆ เพราะภาคมารเข้าขัดขวางเต็มกำลัง ทำให้หนทางในการสร้างบารมีเหนื่อยยากแสนสาหัสยิ่งนัก หากสร้างบารมีมาก เขาปกครองยาก ยุคท้ายๆ พระพุทธเจ้าสร้างบารมีได้ 4 อสงไขยมหากัปป์ ส่วนอีกแสนมหากัปป์เป็นกำไรของพระองค์

ประวัติศาสตร์ตอนต่อไป จะเป็นเรื่องสังเขปของพุทธประวัติ กับตอนหลังจากพุทธปรินิพพาน จนมาถึงการค้นคืนกลับมาของวิชาธรรมกาย ซึ่งจะค่อยๆ ทะยอยนำลงในบล็อกต่อไปครับ

Sunday, January 15, 2012

วิชชาอาราธนาพระพุทธเจ้าคุมธรรม


ห่างวิชาการเชิงลึกมาพักหนึ่ง วันนี้จะคุยเรื่องสำคัญที่มีอยู่ในตำราคู่มือวิปัสสนาจารย์ คือวิชชาอาราธนาพระพุทธเจ้าคุมธรรมนั่นเอง เนื่องจากปัจจุบันมีการปรับปรุงจากตำราไปมาก ผมยังไม่พบที่ใดกล่าวอ้างอิงไว้ จึงขอมาลงไว้ในบล็อกนี้

ตำราวิชชาธรรมกายทั้งปวง คุณลุงได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ออกสู่สาธารณะ โดยนำเข้าตีพิมพ์ในโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง และจัดจำหน่าย ผมจึงถือว่าเนื้อหาทั้งปวงตามตำราต้องออกสู่สาธารณะ แต่ผมพยายามทำให้รู้สึกง่าย และกระตุ้นให้อยากกลับไปอ่านตำรามากขึ้น

การสอนธรรมของพวกเรา ก็คล้ายๆ กับการที่ผู้พิพากษาออกนั่งบรรลังก์เป็นตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดิน แต่เราไปเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า เพราะการเกิดธรรมทำโดยพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันพระพุทธเจ้าท่านไม่มีกายมนุษย์ให้เรา จึงต้องอาศัยกายมนุษย์ของพวกเราที่ออกไปทำหน้าที่สอนธรรมนั่นเอง

การทำตัวให้เป็นภาชนะรองรับพระพุทธองค์และจักรพรรดิก่อนไปสอน จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง อย่างน้อยผู้ที่ไปสอน รวมถึงผู้ไปร่วมสอนในคณะ ต้องเดินวิชชา 18 กาย ไปก่อนสอนเสมอ ส่วนผู้สังเกตการณ์อาจยังเดินวิชชาไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ให้สังเกตการณ์แต่ไม่ให้สอน

หากไปสอนธรรมตามสถานที่ทั่วไป คือทำให้เกิดดวงธรรมและกายธรรมเบื้องต้น การเดินวิชชา 18 กายของวิทยากรทุกระดับ ถือว่าเพียงพอ มีคำตอบคำถามอยู่ในหนังสือปุจฉาวิสัชชนาฯ อยู่แล้ว แต่หากจะเดินวิชชาคุมธรรมด้วย ก็เป็นการตอกย้ำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น

จริงๆ แล้ว วิชชาอาราธนาพระพุทธเจ้าคุมธรรม ตามหนังสือคู่มือวิปัสสนาจารย์เป็นวิชชาที่ทำตอนที่เราจะต่อวิชชา 18 กายให้ผู้เรียน ซึ่งมีพิธีรีตรองพอสมควร นั่นคือเราให้ความเคารพต่อการสอนและการเกิดธรรมค่อนข้างมาก

การทำวิชชาในตำรา

ขอให้ท่านทบทวนตำราด้วยนะครับ ผมจะไม่พูดรายละเอียดของตำรา แต่จะกล่าวหลักการคร่าวๆ ที่เคยคุยกับคุณลุงไว้

เริ่มจากการเดินวิชชา 18 กาย ในตำราบอกว่าให้สมาบัติเร็วๆ เข้าหาต้นธาตุ อาราธนาพระองค์ช่วยคุมการสอนธรรม อย่าให้มีปัญหาและอุปสรรคใดใด แล้วเข้านิพพานไปให้ลึกๆ อาราธนาพระพุทธองค์ทุกนิพพานให้เปิดดวงปฐมมรรคให้แก่ผู้มาฝึกในกาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด เข้านิพพานให้ลึกที่สุดเท่าที่จะเข้าไปได้ หากในปัจจุบัน ท่านเดินวิชชาสุดนิพพานทั้ง 2 ส่วนได้ ก็ให้เดินให้สุด แต่ในตำรากล่าวไว้เพียงการเดินวิชชาไปให้ลึกที่สุดโดยท่องคำว่า “กลางของกลาง ดับหยาบไปหาละเอียดๆๆๆจนพอใจ

หยุดอยู่ที่นิพพานที่ละเอียดสุดๆ ที่เข้าไปถึงได้นั้น หรือสุดทุกนิพพานถ้าทำได้ จากนี้เราก็ให้พระองค์มา จองถนน พิสดาร ปาฏิหาริย์ ทับทวี อยู่ในกายของเราทั้ง 18 กายก่อน โดยยิงพระองค์(เชื่อมกาย) มาที่กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของเราก่อน แล้วท่องว่า พระพุทธเจ้าเป็นเรา เราเป็นพระพุทธเจ้า ๆๆ แล้วปฏิโลมมาที่กายธรรมพระอรหัตต์หยาบ ดึงกายธรรมพระอรหัตต์หยาบขึ้นมาในท้องพระพุทธองค์ ท่องแบบเดียวกัน  แล้วมาที่กายธรรมพระอนาคามีละเอียด อนาคามีหยาบ ทำแบบเดียวกัน ท่องแบบเดียวกัน ไล่ปฏิโลมมาถึงกายมนุษย์ของเราเอง นึกดึงกายทั้ง 18 กายของเราขึ้นมาบนนิพพานให้หมด คือทำวิชชากันบนนิพพาน

มาถึงตอนนี้ มีประวัติศาสตร์ของเรา เมื่อวิทยากรรุ่นก่อนพยายามให้คุณลุงเพิ่มเติมคำว่า ภาคขาว ให้เป็น พระพุทธเจ้าภาคขาวเป็นเรา เราเป็นพระพุทธเจ้าภาคขาว เพราะได้อ่านบันทึกวิชชาปราบมาร ได้กล่าวถึงมารว่ามักจะยุ่งกับพิธีกรรมของภาคขาวไปทุกเรื่อง คำตอบแรกของคุณลุงคือ ไม่จำเป็น เพราะเราทำวิชชาของเราต่อเนื่องอยู่ ยังไงก็เป็นเรื่องภาคขาวอยู่แล้ว แต่วิทยากรไม่ลดละ จนคุณลุงต้องยอมบอกว่าจะใช้ก็ได้ แต่ผมเห็นควรว่าหากเราต้องเติมคำว่าภาคขาว ก็ต้องเพิ่มคำต่อท้ายนี้ไปในทุกเรื่อง ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่น่าจะต้องจำกัดตัวเองถึงขนาดนั้น ต่อไปหากไม่เติม ก็จะกลายเป็นของเขาหมดหรือ เราลำบากเพราะกฏเกณฑ์ของเราเองมามากแล้ว อย่าให้ต้องลำบากเพิ่มเติมอีกเลย

จากนั้น พิสดารกายทั้ง 18 กายของเรา จากกายมนุษย์ ท่อง "กายมนุษย์ในกายมนุษย์ ๆๆ" อนุโลมไปถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด ซึ่งทำวิชชาอยู่บนนิพพาน แล้วจึงอาราธนาพระพุทธองค์(และจักรพรรดิ์) รวบยอดอีกครั้ง ให้เปิดดวงปฐมมรรคให้แก่ผู้ฝึกในกาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด (หน้า 58 ในคู่มือวิปัสสนาจารย์) และให้จักรพรรดิ์ดูแลพระพุทธองค์ด้วย สุดท้ายเรามาหยุดที่กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของเรา


จากนั้น ให้กลับมาพิสดารพระพุทธองค์ ในกาย 18 กายของเราอีกครั้ง โดยท่อง "พระอรหัตต์ละเอียดในพระอรหัตต์ละเอียดๆๆ" ไล่ปฏิโลมกลับมาที่กายมนุษย์ของเราอีกครั้ง จนแน่ใจว่าเกิดกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของพระพุทธองค์ จำนวนมากจนเป็นที่พอใจในศูนย์ของเรา


มาถึงตอนนี้ กายเราทั้ง 18 กายเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า พร้อมจะไปสอนธรรมแล้ว ยังเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือ ให้ตัวเรารวมถึงพระพุทธองค์ไป จองถนน พิสดาร ปาฏิหาริย์ ทับทวี ในตัวผู้เรียนอีกที โดยขยายดวงธรรมกายมนุษย์เราให้ใหญ่ นึกรวมผู้เรียนทั้งหมดเข้ามาในศูนย์กลางกายของเรา เอากายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของเรา (หมายรวมทั้ง 18 กายของเราซึ่งมีพระพุทธองค์และจักรพรรดิ์ มาอยู่กันหนาแน่นแล้ว) เดินวิชชาเข้าไปในกายมนุษย์ของผู้เรียน (ในตำราเขียนว่าเป็นกายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน เพราะถือว่าการรวมกายมนุษย์หยาบเข้ามาเป็นหนึ่ง ทำได้ยากยิ่ง) แล้วไป จองถนน พิสดาร ปาฏิหาริย์ ทับทวี ที่ศูนย์กลางกายของผู้เรียนอนุโลมไปทั้ง 18 กายของผู้เรียนไว้ให้แน่นหนา

เมื่อถึงเวลา เราก็เอากายมนุษย์ของเราไปสอนผู้เรียนตามเวลาที่วางไว้
ท่านจำขั้นตอนได้ไหม... ลองทำดู (คำนี้ลอกมาจากตำรา)

การทำวิชชาในยุคปัจจุบัน

ตั้งแต่ยุคแรกๆ ผมพยายามเดินวิชชาตามตำรามาตลอด จนระยะหลังคุณลุงช่วยปรับแต่งให้ โดยบอกว่าการเดินวิชชาในตำรายากเกินไป เอาอย่างนี้ละกัน เมื่อเราเดินวิชชาไปจนสุดนิพพานแล้ว ให้เราอาราธนาพระพุทธองค์และจักรพรรดิ์ ยิงไปที่กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของผู้เรียนทั้งหมด กายธรรมพระอรหัตต์หยาบ อนาคามีละเอียด อนาคามีหยาบ ไล่ปฏิโลมมาจนถึงกายมนุษย์ของผู้เรียน ให้พระองค์เปิดดวงปฐมมรรคให้ผู้เรียน แค่นี้ก็พอ

ผลของการสอน และการทำวิชชา

งานสอนของพวกเรา มีคนเห็นธรรมมาตลอด มากบ้างน้อยบ้าง แม้จะมีอุปสรรคปานใดก็ตาม ทั้งเรื่องสถานที่ เรื่องเวลา เรื่องความคิดเห็นโต้แย้งใดใด แต่พอเราได้บอกวิชชาแก่ผู้เรียน ผู้เรียนมักเห็นธรรมกันได้โดยง่ายเป็นอัศจรรย์ บางครั้งเราเน้นการเกิดธรรมมากจนลืมเรื่องราวประกอบอย่างอื่นไปเลย

ผมเองเจออุปสรรคการสอนมาหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วงต้นๆ ของการเริ่มสร้างบารมีสอนใหม่ๆ เช่น

กำลังสอนอยู่ ท่อประปาที่เดินผ่านเข้ามากลางห้องเรียนระเบิดน้ำพุ่งกระจายกลางห้อง วิทยากรต้องช่วยกันอุดจนงานสอนผ่านไปได้ด้วยดี
กำลังอธิบาย 7 ฐานอยู่กลางบ่าย ไก่ตัวหนึ่งบินขึ้นมาเกาะราวข้างๆ แล้วโก่งคอขัน
กำลังสอนอยู่ หม้อแปลงไฟฟ้าที่เสาข้างห้องเรียน ระเบิดไฟลุกดังสนั่น แต่ผู้เรียนก็เห็นธรรมกันยกห้อง
กำลังสอนอยู่ ผู้เรียนก็ทำไป รอบข้างก็มีเสียงหมาหอนรับกันไปรอบบริเวณ มันคงเจ็บปวดมากกระมัง
กำลังสอนอยู่ มีครูผู้ใหญ่มาบอกให้หยุดสอนอ้างว่าเดี๋ยวนี้เขาห้ามใช้ลูกแก้วสอนแล้ว มิใช่หรือ
กำลังสอนออกไมค์ อยู่ดีๆ มีเสียงเพลงลูกทุ่งดังแทรกเข้ามาในสายคู่ไปกับการบอกวิชาของเรา
กำลังสอนอยู่ในห้องประชุมใหญ่ รถเครนเกี่ยวสายไฟแรงสูงขาด ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งห้องประชุม และทั้งตำบล

บางครั้ง บรรยากาศไม่น่าเป็นใจต่อการนั่งสมาธิเอาเสียเลย เพราะสถานที่ของโรงเรียนบางแห่งมีจำกัด เด็กๆ ต้องมาเรียนกันตามทางเดิน บางทีก็ติดรั้วติดถนนรถวิ่งผ่านเสียงดังเป็นช่วงๆ บางทีติดคลอง เวลาที่เราสอนก็จะมีเรือที่เสียงดังที่สุดในตำบลวิ่งมาตอนนั้นทุกครั้ง บางทีเจออากาศร้อน โดนแดดไล่เป็นแถบๆ เครื่องเสียงตอนก่อนสอนเราก็ทดสอบมาอย่างดี แต่พอกำลังสอนก็ลักปิดลักเปิดได้แทบทุกครั้ง บางทีต้องเปลี่ยนไมค์ถึง 3 ตัวจึงจะใช้ได้

แต่เด็กๆ หรือผู้เรียนก็เห็นธรรมกันอย่างอัศจรรย์เสมอ
แม้ระยะหลังอุปสรรคทั้งหลายห่างหายไปมาก เราก็ยังคงสอน และจะสอนต่อไป

Thursday, January 12, 2012

วินิจฉัย


การหาข้อสรุปทางความรู้ใดใด หรือการให้ได้มาซึ่งคำวินิจฉัยซึ่งเป็นข้อสรุปสุดท้าย จำเป็นจะต้องหาข้อมูลประกอบเพื่อการพิจารณาให้มากส่วน เพื่อไม่ให้การวินิจฉัยของเราผิดพลาด ข้อมูลแต่ละส่วนก็อาจมีข้อมูลย่อยอีกหลายๆ ส่วนแตกแขนงออกไปอีก กระบวนการเหล่านี้มีอยู่ในทุกวิชาชีพ ดังรูป เช่น การให้ได้วินิจฉัย (Dx) จำเป็นต้องหาข้อมูล A B C มาก่อนจึงจะพอสรุปเป็น Dx ได้



ข้อมูลแต่ละอันก็เหมือนภาพตัวต่อ (Jigsaw) แต่ละชิ้นที่ประกอบกันเป็นภาพใหญ่ ยิ่งเราได้ jigsaw มากชิ้น เราก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น Jigsaw บางตัวอาจมีน้ำหนักความสำคัญมากกว่าบางตัว ทั้งนี้แล้วแต่กรณี เช่นการวินิจฉัยโรค โดยส่วนใหญ่แพทย์จะให้ความสำคัญกับการซักประวัติการป่วยของคนไข้มากที่สุด แล้วจึงเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด จนถึงการ X-ray เป็นลำดับถัดไป ดังรูปข้างล่าง



ความสำคัญในตอนนี้ คือ บางครั้งคนเราด่วนตัดสินอะไรก่อน แม้มีข้อมูลมาด้านเดียว หากเราเข้าใจเนื้อหาตอนนี้เราก็ต้องหยุดคิด รวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะตัดสิน เช่น มีคนบอกว่าอาจารย์ท่านหนึ่งไม่ดี ถามว่าไม่ดีเพราะอะไร เขาตอบว่าเพราะ ด่าพระ พอเราได้ยินคำว่าด่าพระ คนไทยรับไม่ได้ เพราะพื้นฐานของคนไทยนับถือพระมาแต่ไหนแต่ไร ข้อมูลนี้สำหรับบางคน เข้มข้นพอที่จะเชื่อว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ดีจริงๆ แต่หากเรายังไม่ด่วนตัดสิน เราควรถามคำถามที่ 2 เช่น ทำไมเขาถึงด่าพระ หรือเขาด่าพระว่าอย่างไร คำตอบของคำถามที่ 2 อาจเป็นข้อมูลสำคัญอีกอันก็ได้ เช่น เพราะพระไปมีเมีย ผิดศีลเป็นปราชิกน่ะซี ถึงถูกท่านด่าเอา เป็นต้น

มาถึงการวินิจฉัยตลอดจนข้อสรุปในทางธรรม ก็ต้องอาศัยส่วนประกอบย่อยหลายๆ ส่วนเช่นเดียวกัน ความรู้ที่เราสามารถหาได้ในทางธรรมก็มาจาก 3 ภาคใหญ่ๆ คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นั่นเอง

ปริยัติ เป็นความรู้ที่ได้มาจากการอ่านตำรับตำรา การฟังธรรม คือได้จากสัมผัสมนุษย์ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางใจโดยตรง นั่นเอง หากเรากลั่นกรองความรู้นี้ได้ดี ยึดหลักกาลามสูตร คือยังไม่เชื่อง่ายๆ ความรู้ทางปริยัติหลายอย่างสามารถกลับมาต่อยอดความรู้ทางปฏิบัติ และปฏิเวธได้เป็นอย่างดี เพราะส่วนหนึ่งเป็นความรู้จากครูบาอาจารย์นักปราชญ์ในอดีตที่ท่านค้นคว้าไว้ให้แล้ว อาจเป็นประสบการณ์จากการปฏิบัติของท่าน แล้วท่านถ่ายทอดไว้ให้

แต่ความรู้ทางปริยัติต้องมีการกลั่นกรองให้มาก ต้องเลือกที่มาของแหล่งความรู้ ดูประวัติศาสตร์และความทันสมัย หากเป็นความรู้ที่บอกวิธีในทางปฏิบัติ เราก็ต้องปฏิบัติต่อ ซึ่งแสดงว่าเราไม่อาจเข้าใจความรู้ต่อได้ด้วยการอ่านการฟังโดยลำพังแล้ว จะมาอ่านเอาบันเทิงต่อก็ไม่เข้าไปในใจอีกแล้ว

ปฏิบัติ เป็นหลักสำคัญของพุทธศาสนา มีสมถะ และวิปัสสนา นั่นเอง พูดไว้ค่อนข้างมากในบล็อกแห่งนี้ อยากเน้นย้ำอีกครั้ง และหลายๆ ครั้งว่า ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนถึงความสำเร็จทั้งปวงในทางธรรม ต้องมาจากการปฏิบัติทั้งนั้น จะมาจากการอ่านเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ไม่ใช่ไม่อ่านตำรา ท่านต้องอ่านตำราคู่ไปกับการปฏิบัติให้เกิดผลเสมอ

ปฏิเวธ เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ท่านเกิดความรู้ใหม่จากภายใน ก็คือความรู้ปฏิเวธ หากไม่ใช่ระดับครูบาอาจารย์จริงๆ ความรู้ระดับนี้ต้องระวังมาก ต้องตรวจสอบมาก อย่างน้อยผมก็เขียนไว้แล้วเรื่องรู้ญาณต้องมีการตรวจสอบ

วันนี้ ไม่ได้ลงลึกในเรื่องใดเป็นพิเศษ เป็นการคุยเฉยๆ แต่อยากเน้นว่า การศึกษาธรรมะโดยเฉพาะวิชชาธรรมกาย ท่านต้องเอาไปปฏิบัติ จากเบื้องต้นคือการท่องวิชชาให้ผ่าน จนทำได้คล่อง จนเป็นวสี ความรู้และข้อสรุปจึงเกิดขึ้นได้

การอ่านแต่ปริยัติเพียงอย่างเดียวอาจช่วยให้ท่านบันเทิงเพียงชั่วคราวเท่านั้น ท่านต้องปฏิบัติด้วย แม้การปฏิบัติในช่วงเวลาที่มีปัญหาอาจทำได้ยากยิ่ง แต่ท่านก็ต้องฝืนทำเพราะมันเป็นทางรอดทางเดียวของมนุษย์เรา


จงเดินวิชชาเข้าไว้ หากท่านไม่หมั่นทำก็แปลว่า ท่านไม่รอด