หลายท่านเกิดความคิดเรื่องทานต่อยอดมาจากบทความที่แล้ว คราวนี้จะสรุปรวมเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ให้ต่อยอดออกไปอีก
ทาน มีองค์ประกอบ 3 คือ ผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทาน
อามิสทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบชัดเจน จับต้องได้
ธรรมทาน และวิทยาทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบค่อนข้างชัด
แต่วัตถุทานคือความรู้ อาจจับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ได้ไม่ยาก
พระพุทธองค์ยกย่องธรรมทานว่าเป็นเลิศกว่าการให้ทั้งปวง
ส่วนอภัยทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบซึ่งจับต้องได้ยาก
ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ให้ ผู้รับ
และที่สำคัญที่สุดคือวัตถุทานที่จับต้องได้ยากมาก เพราะเป็นเพียงนามธรรม แม้เหตุการณ์ล่วงเกินกันไม่ว่าด้วยกายวาจาใจได้จบลงไปแล้ว
แต่บาดแผลทางใจยังไม่สิ้นสุด บาดแผลอันเป็นนามธรรมนี้เองที่เป็นวัตถุทานของภาคอภัยทาน
ดูแผนภูมิข้างบนประกอบนะครับ
กำหนดให้ A ถูก B ล่วงเกินด้วยกายวาจาใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจคือ X และ A เป็นผู้ให้ ที่จะให้อภัยต่อ
B
X คือวัตถุทานที่เป็นนามธรรม เป็นรอยแผลฝากไว้ในฝั่งของ A ผมแยกออกเป็น
การล่วงเกินที่เกิดขึ้นจริง (T) กับอารมณ์ขุ่นมัวที่ A ปรุงแต่งเสริมขึ้นมา
(F) นั่นคือ X=T+F เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ซะเลย
จากแผนภูมิอันนี้ เราสามารถอธิบายเรื่องราวต่อยอดได้อีกมากมาย เช่น
(1) ถ้าเป็นเหตุการณ์ตรงไปตรงมา B ขอโทษ A A ยกโทษ X ให้ B โทษ X
เป็นอันหมดไปจากความสัมพันธ์ของทั้งสอง แต่โทษ X
หนักเบาแค่ไหน ถ้าหนักมากเหมือนเป็นคดีอาญาในทางโลก B ยังต้องสะสางกับกฎเกณฑ์ของธาตุธรรมต่อไป
(2) ถ้าเอามือปิดตรงตัว T คือ B ไม่ได้ล่วงเกิน แต่ A คิดไปเอง
คือมีอารมณ์ขุ่นมัว (F) ไปเอง ถ้าเออเองคือคิดยกโทษ ก็เป็นการสละอารมณ์ขุ่นมัวนั้นออกไป
คืออโหสิกรรมให้ B (ทั้งๆ ที่ B ก็ไม่ได้ล่วงเกินจริงๆ แต่ถูกกล่าวหา) ก็ถือว่าจบ
กรณีนี้ หาก A ไม่ยอมเออเอง ยังถือโทษขุ่นมัวต่อเนื่อง
ในระดับชาวบ้านย่อมเป็นการผูกเวรข้ามชาติโดยที่ B
ก็ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไร นี่คือความซวยอย่างหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิด แล้วมาเจอคนอย่าง A เข้า
(3) หากเหตุการณ์ครบองค์ มีทั้ง T และ F แต่ B ดื้อรั้น ไม่ยอมรับว่าตนล่วงเกิน A A
ไม่อยากก่อเวร ก็นึกอโหสิกรรมยก F คือความขุ่นมัวออกไปจากใจ แม้ T จะยังอยู่
ไม่ครบองค์แห่งอภัยทาน แต่ A ก็ไม่ต้องขุ่นมัวกับอารมณ์ในเหตุการณ์นี้อีก
ส่วน B จะไปรับโทษจาก T หรือไม่ A ก็วางใจปล่อยวางเสีย
(4) ถ้าเอามือปิดตรง F (กลายเป็น X=T) คือมีเหตุการณ์ล่วงเกิน
(T) แต่ A ไม่ถือสา ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวเลย
มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ที่ให้อภัยต่อลูกได้เสมอ B
อาจมาขอขมาลาโทษในยามพิเศษบางอย่าง เช่นขอบวช A
ย่อมยกโทษทั้งปวงให้ อภัยทานก็สมบูรณ์
การล่วงเกินด้วยกายวาจาใจ ก็เป็นสิ่งที่ตัดสินยาก
เพราะเป็นปฏิสัมพันธ์ของสัตว์โลกที่มีต่อกัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขันธ์อายตนะธาตุอินทรีย์ของแต่ละคน
การกระทำอันหนึ่งอาจไม่ล่วงเกินคนทั่วไป แต่อาจล่วงเกินคนบางคน
เช่นเราขับรถตัดหน้าเขาในระยะ 50 เมตร บางท่านก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
แต่บางท่านก็หาว่าเป็นการขับรถตัดหน้า และผูกโกรธเราก็ได้
เรื่องอภัยทานจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างแท้จริง
ยังมีได้อีกหลายกรณีจากแผนภูมินี้ ผมไม่ขอกล่าวต่อ ให้ผู้อ่านคิดต่อยอดเอาเอง
แต่ที่อยากจะกล่าวต่อไปคือ ท่านจะเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร
ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากบ่วงเวรเหล่านี้ได้
สิ่งที่ผมกล่าวมา คือเหตุการณ์ที่เกิดแก่ A กับ B
ซึ่งเป็นบุคคลระดับชาวบ้าน มีบุญบารมีพอๆ กัน จึงเวียนว่ายตายเกิด และมาเจอะเจอกัน
หากเราจะหนีให้พ้นวัฏฐจักรเหล่านี้ มีทางเดียวคือ ต้องหนีให้พ้นจากวัฏฏะสงสาร
บำเพ็ญบารมีของเราให้แก่กล้า ยกระดับธาตุธรรมของเราให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
จนเหตุการณ์ระดับชาวบ้านไม่อาจตามเราทัน
การสร้างบารมีสอนธรรม ทำให้ธาตุธรรมของเราเป็นถึงระดับอนุพุทธเจ้า ย่อมอยู่ในสถานะที่ก้าวล่วงได้ยาก
เหมือนชาวบ้านธรรมดาไม่อาจกล่าวตู่ขุนนางผู้ใหญ่ได้ง่ายๆ
ดังนั้น จงสร้างบารมีให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะการสร้างบารมีสอนธรรม
คือคำตอบของทุกสิ่ง