Pages

Monday, June 18, 2012

อภัยทาน 1


ทาน จัดเป็น 1 ใน 3 ของปิฎกของภาคขาวของ(กาย)มนุษย์ ซึ่งเป็นภาคสุตตันตปิฎก

มีวิทยากรถามถึงองค์ประกอบของทาน ว่ามีหลักการอย่างไรทานจึงจะสำเร็จผล ผมขอตอบตามความเห็นส่วนตัว และที่ค้นคว้ามาได้ ดังนี้

ทาน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ อามิสทาน ธรรมทาน (หรือ วิทยาทาน) และอภัยทาน

การจำแนกอานิสงค์ของทานว่าอะไรจะสูงกว่ากัน ก็ต้องดูเนื้อหาอ้างอิง เราพบว่ามีพุทธพจน์บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน เลิศกว่าการให้ทั้งปวง” ก็ควรอ้างอิงตามนี้

ผมพยายามหากฎเกณฑ์ของทานจากตำรับตำราต่างๆ พบว่า มีการขยายความไว้แต่ อามิสทาน ธรรมทานและวิทยาทาน ก็พอจะเอากฎเกณฑ์มาใช้ได้ คือมี ผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทาน อานิสงค์จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความประณีตขององค์ประกอบทั้ง 3 นั่นเอง เช่นผู้ให้มีจิตเป็นกุศล ผู้รับเป็นเนื้อนาบุญที่ดี วัตถุทานมีความประณีต หรือเป็นเนื้อหา(ธรรมะ)ระดับไหน ซึ่งเราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ผมไม่ลงลึกรายละเอียดตรงนี้

สิ่งที่ผมอยากพิจารณาต่อก็คือ “อภัยทาน” เรามีกฎเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร ถ้าเราล้อกับกฎเกณฑ์ของอามิสทาน และธรรมทาน อภัยทานก็ต้องมีผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทานเหมือนกัน แต่อภัยทานเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เป็นนามธรรม ที่อาจเป็นแค่อารมณ์ความรู้สึก จึงมีกลไกที่ซับซ้อนกว่า ซึ่งผมจะยกตัวอย่างต่อไป

สมมุติว่า นาย A ถูกนาย B ล่วงเกินด้วยเหตุๆ หนึ่ง (เหตุ X)

(1) กรณีตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นแบบฉบับ ง่ายๆ ให้เกิดความเข้าใจ คือเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง อภัยทานน่าจะสมบูรณ์เมื่อ นาย B ไปขอให้ นาย A ยกโทษ X ให้แก่ตน นาย A ยกโทษ X ให้นาย B โทษ X เป็นอันหมดไปจากความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เหมือนเราไม่ติดใจเอาความ โทษทางแพ่งก็เป็นอันหมดไป แต่หากโทษ X นั้นหนักหนามาก ยังมีโทษทางอาญาที่ยกฟ้องไม่ได้อยู่ ก็เป็นเรื่องของนาย B กับกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎเกณฑ์ของธาตุธรรม คืออัยการยังต้องสั่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

(2) กรณีไม่ตรงไปตรงมา เช่น นาย A เข้าใจผิดว่านาย B ล่วงเกินตนด้วยเหตุ X แต่ความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ถือว่าโทษของเหตุ X ย่อมไม่มีแก่นาย B มาแต่เดิม กรณีนี้มีแต่ผู้ให้(A) ไม่มีผู้รับ ส่วนวัตถุทานเปลี่ยนเป็น “อารมณ์โกรธ” ของนาย A นาย A อาจนึกขึ้นมาลอยๆ ว่าขออโหสิกรรมให้นาย B ก็เป็นการสละอารมณ์โกรธนั้นออกไป องค์ประกอบของทานอาจไม่สมบูรณ์นัก เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มีเหตุ X เลย แต่ทำให้นาย A ไม่ต้องแบกอารมณ์โกรธนั้นอีกต่อไป

แต่หากนาย A ไม่สละอารมณ์นั้นทิ้งเสีย และจองเวรนาย B ต่อ สำหรับความรู้ระดับชาวบ้าน เหตุการณ์นี้ยังไม่จบเพราะสามารถจองเวรกันข้ามภพข้ามชาติได้ แม้นาย B จะไม่ตอบโต้เลยก็ตาม เช่นกรณีพระพุทธเจ้า กับเทวทัต เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนั้นน่ากลัว เราว่าเราดีปานใดอยู่เฉยๆ ก็มีเรื่องได้

(3) บางที นาย B คิดว่าตนคงเคยไปล่วงเกินนาย A โดยที่นาย A ก็ไม่เคยติดใจอะไร เช่นนาย B ไปขอขมานาย A ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช นาย A อโหสิกรรมให้ทุกอย่าง อันนี้ก็คงเข้าได้กับกรณีตรงไปตรงมาอันแรก น่าจะถือว่าครบองค์ทั้ง 3 แห่งทาน

(4) กรณีไม่ตรงไปตรงมาอีกกรณีหนึ่ง คือ นาย B ล่วงเกินนาย A ด้วยเหตุ X จริง แต่นาย B ไม่ยอมรับว่าตนล่วงเกินนาย A แม้นาย A ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีคุณธรรมมากกว่าจะกล่าวลอยๆ ว่าขอโทษ X จงอย่ามีแก่นาย B เลย กรณีนี้นาย B ย่อมยังไม่พ้นโทษ เพราะเขาไม่คิดแม้จะหยิบมันออก เรียกว่าเป็นโจรใจแข็ง แต่นาย A ก็ได้สละอารมณ์ไม่ดีออกไป แม้ไม่มีโอกาสได้ให้อภัยทานแก่นาย B อย่างครบองค์ก็ตาม

จะเห็นได้ว่า อภัยทานมีความยากในการพิจารณา เพราะเป็นนามธรรม เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของมนุษย์ที่มักเข้าข้างตัวเอง และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผมเพียงนำเสนอให้ช่วยกันวิเคราะห์เท่านั้น

กรณีของวิทยากร ให้ไปอ่านปราบมาร 6 บทที่ว่า ทำอย่างไรเมื่อถูกสาปแช่ง มีกล่าวไว้หลายแห่ง แล้วเอามาคุยกัน