Pages

Wednesday, December 21, 2011

ทำใจไม่ได้


มีคำถามเรื่องการเดินวิชชาจากวิทยากร โดยเนื้อหามีดังนี้

เมื่อเราได้เรียนการเดินวิชชาพรหมวิหาร 4  ซึ่งเป็นวิชชาของภาคพระ หากเป็นสมัยโบราณก็คือการแผ่เมตตาให้แก่ผู้คนนั่นเอง ไม่ว่าเขาจะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เราคำนวณเข้ามา หรือเป็นบุคคลที่มาล่วงเกินเราก็ตาม ขั้นตอนการเดินวิชชาไม่ยาก แต่การทำใจให้เป็นไปตามคุณธรรมของพรหมวิหารคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บางครั้งยากมากๆ โดยเฉพาะการเจริญพรหมวิหารแก่ศัตรูที่มาล่วงเกินเรา เรานั่งวิชชาเข้าไปแล้วบอกว่า ขอท่านจงเป็นสุขเถิด ขอท่านจงพ้นทุกข์เถิด ขอท่านจงมีความจำเริญเถิด ฯลฯ เหล่านี้เรามักทำใจไม่ได้ เพราะเรายังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ ยังโกรธอยู่ เราควรทำอย่างไร?

ผมอยากให้ข้อคิดคือ วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาที่แก้ใขจากส่วนละเอียดออกมา แม้เราจะต้องปรับส่วนหยาบคือใจของกายมนุษย์เข้าไปบ้าง ก็ทำไปเท่าที่ทำได้ การเดินวิชชาในเที่ยวแรกๆ อาจจำเป็นต้องทำในลักษณะ สักแต่ว่า ทำ เพราะเรายังปรับอารมณ์ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ของเราก็สอนให้เรา ท่อง วิชชาเข้าไว้ก่อน แต่จะเข้าถึงแค่ไหน ใจเราจะค่อยๆ ปรับไปเอง

เมื่อเรามีปัญหากับใครที่มาล่วงเกินเรา เราไม่เดินวิชชาไปสาปแช่งเขา เท่ากับว่าเราพยายามเจริญรอยตามวิถีทางของพระอยู่แล้ว แต่การฝึกฝนใจหรือแม้การหัดทำอะไรก็ตาม มันมีขั้นตอนของการเริ่มฝึกใหม่ ซึ่งต้องรอเวลา มากบ้างน้อยบ้าง ผมเคยเขียนเรื่องพรหมวิหารว่าเมื่อเดินวิชชาแก่ศัตรูเราแล้ว เขามีอันเป็นไป เราก็อย่าก้าวขั้นไปคาดหวังว่าเราจะเดินวิชชาให้ศัตรูมีอันเป็นไป เขาจะเกิดอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เพราะสุดท้ายของเหตุการณ์นั้น วิชชามันก็ทำให้เขากลับกลายมาเป็นมิตรในที่สุด

เมื่อเรามีทุกข์ภัยโรค ผมเคยเขียนให้ลองเดินวิชชา 18 กาย อนุโลมปฏิโลมซัก 7 เที่ยว จะเห็นได้ว่าการเดินวิชชาในเที่ยวแรกๆ ขณะที่ใจยังวุ่นวายสับสนนั้น ยากที่สุด แต่ให้เราฝืนท่องวิชชาเข้าไว้ โดยประสบการณ์ของผมจะเริ่มนึกวิชชาและความสว่างออกประมาณเที่ยวที่ 4 (ไม่ตายตัว) แล้ววิชชาจะคล่องตัวขึ้น ใจสบายขึ้น เรายังไม่ต้องกังวลกับความว้าวุ่นในเที่ยวแรกๆ แล้วพยายามปรับสภาพใจทั้งๆ ที่ยังทำไม่ได้ในตอนนั้น แต่เรามีไม้ตายคือการ ท่องวิชชา เข้าไว้ นั่นเอง

วิธีการนี้ เอามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ได้ ตอนที่คุณลุงพยายามตรวจดูอาจารย์ทางวิชชาธรรมกายท่านหนึ่งว่าละสังขารแล้วไปอยู่ที่ใด ท่านเล่าว่าท่านใช้เวลาตรวจไปเรื่อยๆ ทุกวัน วันแรกๆ ไม่เห็นอะไรเลย จน 3-4 เดือน เห็นนิดๆ แล้วมากระจ่างเอาเดือนที่ 8 หมายความว่าท่านไม่จำเป็นต้องเค้นเอาเหตุเอาผลให้ได้ภายในเวลาสั้นๆ

แม้ตอนที่เราหัดนั่งสมาธิใหม่ๆ เราก็ต้องเริ่มจากการ นึก ดวงใสเอาดื้อๆ เช่นกัน นึกออกบ้างไม่ออกบ้าง ก็ทำไป ทำหนักเข้าๆ ใจเราก็ค่อยๆ ปรับเป็นความ เห็น ขึ้นทีละน้อย ทุกอย่างย่อมมีขั้นมีตอน ยังไม่ต้องฝืน

การเดินวิชชาพรหมวิหาร ต้องทำใจให้โน้มน้าวไปตามความหมายของพรหมวิหารก็จริง ครั้งแรกๆ จะทำได้แค่ไหน ก็แค่นั้น วันหลังก็ทำต่อ

ถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ แม้วันร้ายคืนร้ายที่เรารู้สึกว่า เราเดินวิชชาประจำวันไม่ดี เราก็ไม่ต้องไปกังวลใจ ออกมาเปลี่ยนอิริยาบถ พอมีเวลาก็กลับมานั่งใหม่ หากยังไม่ดีอีกก็ท่องวิชชาให้ผ่าน แล้วกลับมาเดินวิชชากันใหม่ในเที่ยวหลัง หรือมาทำใหม่ในอิริยาบถอื่น ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกังวลว่าวันนี้มันจะไม่ดี ไม่ต้องไปสร้างผังให้เขา เราทำดีที่สุดแล้ว มันก็ต้องดีจนได้