Pages

Saturday, December 17, 2011

การแก้โรค กับ การหายของโรค


เรามีความคาดหวังต่อการหายของโรคอย่างไร?

บทความในบล็อกนี้เป็นบทความเกี่ยวกับวิชชาธรรมกาย จึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าการแก้โรคที่เราพูดถึงเป็นการแก้ไขด้วยวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นการแก้ไขจากส่วนละเอียดออกมา แล้วมีผลทำให้กายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหยาบหายเจ็บป่วย

ในบทความเรื่องวิชชาธรรมกายกับประวัติศาสตร์เราพบว่าธรรมภาคขาวถูกปกครองมานาน การฟื้นฟูจากภาวะที่ถูกปกครองจึงต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป จริงๆ แล้วเราคาดหวังว่าเมื่อเราแก้โรค โรคก็ควรจะถูกหยิบทิ้งออกไป โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการทางแพทย์หรือวิธีการอื่นที่เป็นส่วนหยาบอีกแล้ว ผมและทุกคนที่เรียนวิชชาก็หวังให้เป็นเช่นนั้น คือเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทองคำภายในพริบตา หรือเปลี่ยนจากมะเร็งร้ายให้กลายเป็นเนื้อดีโดยฉับพลัน เราก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่ผลลัพธ์ที่ผมเห็นในขณะนี้กลับมีความแตกต่างกันไป บ้างก็หายในข้ามคืน บ้างก็ต้องผสมผสานกับวิธีการรักษาทางโลก จึงจะหาย

หากเราตั้งใจที่จะรักษาหลักวิชาที่ถูกต้อง ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้า เราก็ต้องอดทน ผมจะยกตัวอย่างเท่าที่ผมมีประสบการณ์จริงที่ผ่านมาดังนี้

กรณีลูกของวิทยากรทานยาฆ่าหญ้า (Paraquat) จนเริ่มมีอาการไหม้ของปาก และเยื่อบุทางเดินอาหารตั้งแต่ลำคอลงไป รวมถึงมีอาการเหนื่อยหอบจากการเริ่มมีการทำลายของเนื้อปอด โดยปกติ หากมีอาการถึงขั้นนี้คนไข้มักเสียชีวิตทุกราย การรักษาเป็นเพียงแค่ประคับประคอง คนไข้ทานอะไรไม่ได้แล้ว คืนนั้นให้คนไข้คุยกับคุณลุงเพื่อต่อรองกับธาตุธรรม รุ่งเช้าคนไข้หายหอบ กลับมาอยากอาหารและรับประทานได้ตามปกติ สุดท้ายหายจากโรคภายในคืนเดียว ท่านจะเชื่อหรือไม่ ยังไงมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

Case ดังกล่าวเป็นที่น่าแปลกใจแก่วงการแพทย์ เพราะแพทย์ที่ศิริราชได้นัดคนไข้ไปฟื้นฟูต่อที่แผนกจิตเวช และต่างก็แปลกใจต่อการหายของโรคในรายนี้

มีรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับการหายจากการรับสาร Paraquat อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เป็นรายที่ได้รับปริมาณน้อย และไม่ทันมีอาการไหม้ของเยื่อบุทั้งหลาย หรือยังไม่ทันมีการทำลายของปอดให้เห็น กรณีข้างต้นผมถือว่า เป็นปาฏิหาริย์ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์

เราไม่ค่อยได้พบกรณีดังกล่าวบ่อยครั้งนัก เรื่องที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับน้องสาวที่ป่วยเป็นไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto’s thyroiditis) ในตอน มนุษย์เป็นหุ่น” ก็ไม่ได้หายแบบฉับพลันทันที เพียงแต่การช่วยทางวิชชาทำให้เปิดโอกาสให้มีการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาในที่สุด

กรณีที่วิทยากรร่วมคณะของผมท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก้อนมะเร็งใหญ่โตพอสมควร แต่ยังพอผ่าตัดได้ แพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนัดผ่าตัด แต่บอกแก่คนไข้ว่าไม่สามารถผ่าตัดให้ขับถ่ายทางทวารหนักด้านล่างได้เพราะก้อนมะเร็งใหญ่เกินไป จำเป็นต้องเปิดรูขับถ่ายทางหน้าท้องตลอดชีวิต คนไข้เกิดความลังเล และหันมารักษาด้วยวิชชาธรรมกาย ร่วมกับแพทย์ทางเลือกอีกหลายอย่างที่ไม่ให้ทานเนื้อสัตว์ จึงขาดการติดต่อกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมไปถึง 6 เดือน ซึ่งแพทย์เขาไม่ทำผ่าตัดให้แล้วเพราะมะเร็งน่าจะลุกลามไปมาก ระหว่างนี้เราก็เดินวิชชาแก้โรคโดยความควบคุมของครูอาจารย์กันอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายแพทย์ทางเลือกที่ไปหาก็บอกคนไข้ว่าไม่สามารถรักษาโดยลำพังได้ คนไข้ต้องไปทำการผ่าตัดจึงจะเหมาะสม คนไข้จำต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลไปอีกแห่งหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยอีกครั้ง พบว่าก้อนมะเร็งไม่ได้โตขึ้น และไม่ได้แพร่กระจายไปไหน ทั้งๆ ที่ทิ้งเวลามาถึง 6 เดือน ยังสามารถผ่าตัดได้ และสามารถทำให้ขับถ่ายทางรูทวารหนักข้างล่างได้ด้วย คนไข้ยังแข็งแรงมาถึงทุกวันนี้ ท่านจะว่าเป็นการรักษาผสมผสานอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผลสุดท้ายคนไข้ก็หายโดยไม่ต้องมีถุงขับถ่ายที่หน้าท้องด้วยซ้ำ

เราจะเห็นความสำคัญอีกอย่างคือ เรื่องของจังหวะ (Timing) เพราะวิธีการรักษาทั้งปวงมันมีอยู่แล้ว แต่เราจะพบกับจังหวะและวิธีการที่เหมาะสมที่สุดหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะแสวงหาด้วยวิธีใด แต่ผมเชื่อว่าการแก้โรคด้วยวิชชา จะช่วยเรื่องจังหวะเหล่านี้


ผมได้บอกไว้ก่อนแล้วว่า การแก้ไขแบบของเรา ต้องต่อสู้ ต้องเหนื่อยหน่อย แต่ไม่ต้องต่อตีนโจร ผมเชื่อว่ามีหลายแห่งทำอัศจรรย์ได้มากกว่านี้ แต่ทำอย่างนี้เราสบายใจกว่า ขอท่านผู้อ่านได้โปรดใช้ดุลย์พินิจ

ครูบาอาจารย์ของเราก็ป่วย และได้รับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วยมาตลอด มีอะไรก็แก้ไขกันไปตามหน้าตัก แต่อย่าทำตัวเป็นเจ้าประเทศราชแบบที่ผมเขียนไว้ในเรื่องมุมมองของการปกครอง

สักวันหนึ่งเราคงเนรมิตทุกอย่างได้ดังใจนึก นั่นคือ แม้แก้โรคก็ไม่ต้องพึ่งพาการรักษาส่วนหยาบจากแพทย์ เมื่อเกิดทุกข์ภัยโรคก็หยิบหรือระเบิดทุกข์ภัยโรคออกไปในฉับพลัน หากทำได้อย่างนั้นก็สุดยอด