Pages

Sunday, August 29, 2010

เมื่อมีทุกข์ภัยโรค

มนุษย์เราย่อมมีช่วงเวลาที่หนีไม่พ้นทุกข์ภัยโรค แม้วิทยากรสอนธรรมก็ประสบกับมัน เราควรทำอย่างไร

  • หยุดความพุ่งพล่านด้วยการตั้งสติ อย่าคิดตามแก้ปัญหาร้อยแปดด้วยการไล่ล่าหาทางแก้ทุกๆ เรื่องที่เราเห็น นั่นเป็นวิธีการที่คนทั่วไปเขาทำกัน มันได้ผลน้อยมาก หรืออาจไม่ช่วยอะไรเลย
  • เรามักพบเสมอว่า ขณะที่เรามีปัญหา อะไรๆ มันจะถาโถมจู่โจมเรา จนดูเหมือนว่าเราทำอะไรก็ผิดไปหมด หันไปทางไหนใครๆ ก็พากันหนี และบอกปฏิเสธ สถานการณ์ทุกอย่างไม่เข้าข้างเรา เราแทบไม่มีที่ยืน มันเป็นอย่างนั้นแหละ
  • ให้เราเริ่มเดินวิชชา นั่นคือวิชชา 18 กาย มันมียุคสมัยของการเดินวิชชา คือ ในอดีต อาจารย์ให้เราเดินวิชชาอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมา ตำราท่านว่า 7 เที่ยว แต่อาจารย์ท่านว่าให้มากเที่ยวเข้าไว้ โดยใช้ตัวชี้วัดคือ ใจบันเทิง เป็นหลัก อาจมากกว่า 7 เที่ยว ก็ได้
  • ผมพบด้วยตัวเองว่า การเดินวิชชาเที่ยวแรก เป็นเที่ยวที่ยากที่สุด เพราะเราจะร้อนใจจนแทบนั่งเดินวิชชาไม่ติด เราต้องอาศัยการท่องวิชชาเข้าไว้ บางทีไม่เห็นวิชชาเอาเลย ก็ต้องอดทนทำไป ท่องวิชชาอนุโลมไปให้ถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด แล้วเดินปฏิโลมกลับ นับเป็นเที่ยวที่ 2 เที่ยวนี้ โดยประสบการณ์ ก็ยังไม่ดีนัก แต่ให้ทนทำไปจนกลับมาที่กายมนุษย์หยาบ
  • อนุโลมเที่ยวที่ 3 ท่านอาจเริ่มท่องวิชชาได้คล่องขึ้น แต่ความเห็นยังเลือนลาง ช่างมัน ท่านทนทำไป จนถึงปฏิโลมเที่ยวที่ 4 ผมมักพบว่า ผมเริ่มเห็นกายชัดขึ้นในเที่ยวนี้ ใจเริ่มมีกำลัง และเริ่มสัมผัสความบันเทิงได้ ทั้งนี้ บางท่านอาจต้องทำต่อไปก่อนจึงจะเริ่มบันเทิง
  • ให้ท่านทำไปจนครบ 7 เที่ยวเป็นอย่างน้อยตามตำรา ถึงตอนนี้ใจท่านจะสบายขึ้น ท่านจะเดินวิชชาต่ออีกกี่เที่ยว หรือทำอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน ส่วนตัวผมมักพบว่าปัญหาจะถูกแก้ไขไปด้วย หรืออย่างน้อยมันจะดูเล็กลงจนมีหนทางแก้ไขต่อไป
  • เราอาจไปเดินวิชชาบนนิพพาน แต่บางท่านเกรงว่าหากเรายังไม่แก้ไขตัวเราให้สะอาดก่อน เราจะเอาความไม่สะอาดขึ้นไปเป็นภาระแก่ธาตุธรรม ทั้งนี้สุดแต่เราจะพิจารณา
  • ในยุคหลัง ครูอาจารย์ให้ใช้วิธีหยุดแช่กลางดวงธรรมแต่ละดวง แต่ละกายไป หากดวงธรรมนั้นๆ ยังไม่ใส ก็ให้ หยุดในหยุดๆๆ จี้ใจ หมุนขวา ฯลฯ จนกว่าดวงธรรมนั้นจะใส จึงเดินวิชชาต่อไปยังดวงธรรมถัดไป ทั้งนี้ให้เราเรียนรู้ไว้หลายๆ วิธี
  • เราได้ช่วยตัวเราเองแล้ว หากมาถึงขั้นนี้ ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เราต้องให้ครูอาจารย์ช่วยเราแล้ว ซึ่งท่านก็เปิดตัวช่วยเราอยู่เสมอ หากเรายังไม่ได้ช่วยตัวเราเองเลย ผมพบอยู่บ่อยๆ ว่า แม้เราจะพยายามติดต่อไปยังครูอาจารย์ เรามักเกิดความไม่สะดวกที่จะไปถึงท่าน มันจะเฉียดไปเฉียดมา ไปไม่ถึงครู หรือไปถึงก็เป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสม
  • ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เสียก่อน เป็นดีที่สุด

Thursday, August 19, 2010

เพี้ยน เฝือ เรื้อรัง ฮึกเหิม ...

ความผิดพลาดของผู้ศึกษาวิชชา

ความผิดพลาดของการเรียนวิชชาใดใด โดยเฉพาะวิชชาธรรมกาย เกิดจาก วิชชาเพี้ยน วิชชาเฝือ และวิชชาเรื้อรัง

มุมมองของผม มีดังนี้

วิชชาเพี้ยน คือวิชชาที่ถูกก็ถูกไม่หมด ผิดก็ผิดไม่หมด อันนี้ร้ายกาจที่สุด ในบรรดาความผิดพลาดทั้งหลาย เพราะยากต่อการแยกแยะว่าใช่หรือไม่ โดยเฉพาะผู้มาใหม่ สุดท้ายก็เกิดความเสียหายในทางวิชชา ส่งผลถึงความเป็นโทษที่รุนแรงต่อตัวผู้ศึกษาเอง

วิชชาเฝือ คือรู้ไม่จริง รู้น้อยแต่ขยายความให้ดูมาก บางทีจับโน่นมาชนนี่ เอาวิชชาที่โน่นที่นี่อย่างละนิดอย่างละหน่อยมาผสมผสานกัน แต่ไม่รู้ว่ามันเข้ากันได้แค่ไหน ก็หยิบยกเอามาตามความเข้าใจของตัว เฝือมากๆ ก็เพี้ยน ถ้าเรารู้จริง ควรจะรวบรัดสรุปให้เข้าใจง่าย (Simplify) คือรู้ 10 เอามาพูดแค่ 5 คือความกระชับ แต่คนเฝือรู้ 1 แต่พยายามพูด 5 สิ่งที่ขยายขึ้นมาคือความเพ้อเจ้อ

วิชชาเรื้อรัง คือการปล่อยปละละเลยวิชชาของตัวไว้โดยไม่มีการทบทวน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎี คือการไม่ทบทวนตำรับตำรา ไม่ทบทวนกับครูบาอาจารย์ ภาคปฏิบัติ คือการละเลยไม่ปฏิบัติ (ไม่เดินวิชชา) อย่างสม่ำเสมอ เช่นครูบาอาจารย์กำหนดให้เดินวิชชาวันละ 2 เที่ยว เช้ากับก่อนนอน เพื่อไม่ให้วิชชาเรื้อรัง เป็นต้น

สามข้อข้างต้น เป็นข้อผิดพลาดหลักที่ครูบาอาจารย์ท่านเน้นมาก ผมมีข้อควรระวังเพิ่มเติมส่วนตัวอีก 2 ข้อ คือ ความฮึกเหิม กับการไม่ปรับปรุงต่อยอด

ความฮึกเหิม คือนึกว่าตัวเองเก่งแล้ว ยิ่งใหญ่แล้ว มีทั้งจริงและไม่จริง ความฮึกเหิมอาจเกิดจากแรงเชียร์ของหมู่คณะและแม้ครูบาอาจารย์เพื่อให้เกิดกำลังใจในการสร้างบารมี แต่การสร้างบารมีสอนธรรม เป็นบารมีที่เราไม่ได้ทำได้ด้วยตัวเราเอง เรามีฉากหลังช่วยเราอยู่ เราเพียงโชคดีที่ท่านเลือกเรา เราจึงได้อานิสงค์ตรงนี้ จึงไม่น่าเป็นเหตุให้ฮึกเหิมและเสียงาน ความฮึกเหิม ทำให้วิชชาเพี้ยน วิชชาเฝือ วิชชาเรื้อรัง ได้ทั้ง 3 ข้อ เพราะตอนนั้นเราพูดอะไรไป ดูเหมือนผู้คนจะยอมเราหมด ทั้งที่มันอาจไม่ถูกต้อง

การไม่ปรับปรุงต่อยอด (No Update)

ผมว่าอันนี้สำคัญ น่ากลัว และเป็นดาบ 2 คม แต่จะไม่มีการปรับปรุงเลยก็ไม่ได้ หากมีแล้ว ก็มีได้เฉพาะบางคน ซึ่งต้องแยกแยะเป็น ว่ามันเป็นความเพี้ยน หรือความเฝือ หรือไม่

ผมยังไม่อาจหาตัวชี้วัดตายตัวที่จะบอกได้ว่า อันนี้คือการต่อยอด หรือเป็นความเพี้ยนไม่อยู่กับร่องกับรอย ครูบาอาจารย์ของเราน่าจะตัดสินได้ดีที่สุด แต่เราอาจชี้วัดได้คร่าวๆ คือหากเป็นการต่อยอด เราต้องเข้าใจเนื้อหา หรือการปฏิบัติดั้งเดิมให้แจ่มแจ้งเสียก่อน แล้วแจกแจงให้ได้ว่าเราต่อยอดขึ้นมาจากอะไร เพราะอะไรถึงไม่ใช้วิชชาเดิม เพราะอะไรถึงไม่ใช้วิธีการดั้งเดิม ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ ก็น่าจะพอรอดตัว

ศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์เสมอไป โลกจึงจะเจริญ ธรรมจึงจะเจริญ การกตัญญูรู้คุณเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือการต่อยอด ใช่หรือเปล่า?

หากแพทย์สมัยใหม่ไม่เก่งกว่าแพทย์สมัยก่อน วงการแพทย์ก็ไม่เจริญ และไม่สามารถสู้กับโรคภัยไข้เจ็บสมัยใหม่ได้

การเดินวิชชา เดิมค้นพบ ดวงธรรม 1 ดวง กาย 5 กาย ก็มาพบดวงธรรม 6 ดวง กาย 18 กาย เป็นการค้นคว้าที่ไม่หยุดของครูบาอาจารย์ ใช่หรือไม่?

การทำให้ใส เริ่มต้นจากการเดินฌาน การตั้งกสิณเดินสมาบัติในกสิณ การแยกธาตุแยกธรรม ( - ครูอาจารย์ไม่ให้เราทำเอง เพราะหากไม่สะอาดจริง แก้ไขยาก) สลับมาเป็นการเดินวิชชาอนุโลมปฏิโลมของ 18 กาย การซ้อนสับ การแลบลั่นย่อยแยกระเบิดผ่าดับละลายโดยตรง ปรับเปลี่ยนกลยุทธไปตามสถานการณ์ในส่วนละเอียด

การบำเพ็ญบารมี เคยเน้นบารมี 10 ทัศศ์ ต่อยอดมาเป็นการสอนธรรมปฏิบัติ จนเกิดดวงตาเห็นธรรม

หากเราย่ำเท้าอยู่กับที่ มันน่าจะเป็นความเรื้อรังอย่างหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ หากเราไม่แน่ใจ อย่าได้แผลงไปทำอะไรนอกลู่นอกทางจากตำรับตำราหรือวิธีการที่เราเคยเรียนรู้มา ยกเว้นมีความแน่ชัดแล้วว่าความรู้ในตำราที่มีอยู่ ไม่พอแก่การศึกษาเพิ่มเติมของเราเสียแล้ว

แต่ถึงอย่างไร เราก็ยังมีครูบาอาจารย์ให้ได่ถามอยู่

Wednesday, August 11, 2010

ความเชื่อของพุทธศาสนิกชน

ความเชื่อของพุทธศาสนิกชน มีอยู่ 3 แบบใหญ่ๆ คือ


แบบที่ 1 คือความเชื่อมั่นในไตรลักษณ์ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน ในสิ่งทั้งปวง จุดสุดท้ายคือไม่เห็นอะไรเป็นตัวเป็นตนเลย จนถือความว่างจากสิ่งทั้งปวงเป็นสรณะ
ความเห็นของผมคือ ความเชื่อแบบนี้ เป็นความเชื่อที่สุดโต่งไปในทางยอมรับทุกข์สมุทัย เพราะยังแก้ทุกข์สมุทัยไม่ได้ ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความเป็นไตรลักษณ์ จึงยอมรับมันซะเลย จะได้ทุกข์น้อยลง เปรียบเหมือนประเทศราชที่ยอมผู้ปกครองทุกอย่าง

แบบที่ 2 คือเชื่อมั่นในกฏแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม บางท่านสุดโต่งเกินไปถึงขนาดแก้ไขอะไรแทบไม่ได้ โดยเฉพาะมีความเชื่อว่าเราเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน สร้างกรรมทั้งดีและไม่ดีมามากมายก่ายกองจนมาเกิดในชาติปัจจุบันนี้ เราจะเป็นอย่างไร มันเป็นเวรเป็นกรรมมาแต่อดีตชาติที่สั่งสมมานานเหลือคณานับ ดิ้นรนไปก็เท่านั้น ปล่อยไปตามบุญตามกรรม
ความเห็นของผมคือ ความเชื่อนี้ ถูกในบางส่วน แต่ไม่กระตุ้นให้คนแก้ไขปรับปรุงตัวเอง หากไม่มีความรู้เพิ่มเติมเพราะเชื่อว่าการกระทำในปัจจุบันชาติมีผลเพียงน้อยนิด หากเราจะเติมความรู้เรื่องกรรมที่ให้ผลรุนแรง 4 ระดับ คือ อนันตริยกรรม ครุกรรม อาสันนกรรม อาจิณกรรม เข้ามาและวางแผนทำครุกรรมในทางดี ก็น่าจะเชื่อว่าเราแก้กรรมเก่าได้ ขอหมายเหตุไว้ว่า การสอนเรื่องกฏแห่งกรรม เป็นการสอนที่พระพุทธองค์ถูกภาคมารบังคับไว้ หลังตรัสรู้ใหม่ๆ

แบบที่ 3 คือ เชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าการกระทำทั้งปวงก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นลำดับไป ไม่ว่าในทางดีหรือทางชั่ว และเมื่อเข้าถึงภาคปฏิบัติ เราสามารถเข้าถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระดับธาตุธรรมที่สูงขึ้นๆ และเกิดความรู้ถึงที่มาที่ไปของโลกภายในตัวและนอกตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นเหตุในเหตุที่ส่งทุกข์สมุทัย และปิฎกที่มาบังคับใจสัตว์โลก และหาทางแก้ไข
นี่เป็นความเชื่อของวิชชาธรรมกาย ที่ดูละม้ายคล้ายกับความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในอดีต หากสุดโต่งก็เป็นความงมงาย ผมไม่ใช้คำว่าต่อยอดเพราะวิชชาธรรมกายเป็นวิชชาในพุทธศาสนา ที่ผมถือว่าสูงส่ง หากใครเรียนวิชชาธรรมกายแล้ว ไม่กล้าพูดว่าวิชชาธรรมกายคือทั้งหมดของพุทธศาสนา แสดงว่าความรู้ยังน้อยไป นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมครับ

Monday, August 9, 2010

การกู้ยืมบารมี

สมัยแรกๆ ของการเป็นวิทยากรสอนธรรมปฏิบัติ เรามี Jigsaws ให้ต่อเป็นภาพดังนี้

· ครูของเราบอกว่า หลักสูตรทั่วไปในการสร้างบารมีของธรรมภาคขาว คือการสร้างบารมี 10 ทัศศ์ หากปรารถนาจะเป็นสัพพัญญูต้องสร้างให้มากขึ้น เช่น ทานบารมีต้องทำถึงขนาด ต้อง ให้ ได้ ทุก อย่าง คือบริจาคลูกเมียเป็นทานได้ ควักลูกนัยตาบริจาคเป็นทานได้ เป็นต้น แม้กระนั้นก็ยังแพ้มาร พระสมณโคดมท่านว่า ได้บารมีแค่เส้นตอก แต่ยุคเราได้บารมีมหาศาล ท่านผายมือให้ดู ท่านอยากมาเกิดสร้างบารมีแบบนี้ด้วย

· การสร้างบารมีแบบใหม่ ให้สอนธรรมปฏิบัติ จนผู้เรียนมีดวงตาเห็นธรรม และเข้าถึงธรรมกายเบื้องต้น เป็นการเอาหน้าที่ของสัพพัญญูพุทธเจ้ามาทำตอนยังเป็นโพธิสัตว์ ดังนั้นการสอนธรรมของเราคือการสร้างบารมีส่วนตน ไม่ใช่การรื้อสัตว์ขนสัตว์

· การสอนธรรมได้บารมีมาก สอนคนให้เห็นดวงปฐมมรรค 1 คน ได้บารมีเท่ากับบวชพระ 1 หมื่นรูป ถ้าสอนให้เขาเดินวิชชา 18 กายได้ ได้บารมีเท่ากับบวชพระ 4 หมื่นรูป แต่ หนูจะได้มีโอกาสมาทำหรือเปล่า?” เพราะการมาทำทางสายธรรมะ น่าจะดูดี แต่ตรงกันข้าม ท่านจะพบกับอุปสรรคนานับปการอย่างไม่น่าเชื่อ และเหตุผลที่ทำได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง มักเป็นเหตุผลที่น่าเห็นใจ และสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

· วิทยากรต้องผ่านการสอบวิปัสสนาจารย์ คือท่องบทบอกวิชชาให้ผู้เรียนเดินใจตามฐาน 7 ฐาน และเดินวิชชา 18 กายได้

· หลังสอบเสร็จคราวหนึ่ง คุณลุงได้ยินหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านว่า นี่น่ะได้บารมี 4 อสงไขย เชียวนะ

· พวกเราตกใจ อะไรกัน แค่ท่องสอบไม่กี่หน้า ได้บารมีตั้ง 4 อสงไขยเชียวหรือ พระพุทธเจ้าท่านทำแทบตาย คุณลุงก็งงๆ บอกกับเราว่าเดี๋ยวเข้าไปถามหลวงพ่อดูใหม่ ได้ความว่า ให้มาเป็นทุนไว้ก่อน เรายังงงๆ แต่ไม่กล้าถามต่อ

· อีกหลายเดือนต่อมา คุณลุงเข้าไปถามท่านอีก ได้คำตอบมาว่า ถ้าบารมีไม่ถึง 4 อสงไขย เปิดดวงปฐมมรรคไม่ได้

· บารมีที่ได้จากการสอน มีมากมายมหาศาล จนธาตุธรรมต้องมีการวางแผน คือ ยังไม่ให้บารมีในทันทีที่ทำงาน แต่ให้รวบรวมผลงานไว้ ไปคำนวณบารมีเป็นคราวๆ และไม่ให้บารมีทั้งหมดมาที่ศูนย์กลางกายของเรา คือส่วนใหญ่เก็บไว้กับธาตุธรรม มีเพียงบางส่วนส่งมาหล่อเลี้ยงที่ศูนย์กลางกายเรา หากให้บารมีมาทั้งหมดเลย เราไม่สามารถเก็บรักษาไว้เองได้ จะถูกระเบิดขโมยไปโดยไม่รู้ตัว แม้ธาตุธรรมผู้รับฝากบารมี ก็รับเฉพาะบางพระองค์เท่านั้น ส่วนใหญ่ๆ เก็บไว้กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ(ต้นธาตุ)นั่นเอง

ภาพที่ผมเห็นจาก Jigsaws ที่กล่าวมาคือ เราไปสอบวิปัสสนาจารย์ เหมือนเป็นการกู้ยืมบารมีจากธาตุธรรมมาก่อน 4 อสงไขย เพื่อมาทำงานสอนในระดับสัพพัญญู เมื่อทำงานแล้ว เราจึงได้บารมีของเราจริงๆ แต่ยังไม่ได้เลย หากได้มาเราก็คงใช้ไม่เป็น เหมือนเด็กเล็กๆ ที่เจอเงินตกอยู่เป็นแสน หากเก็บเงินมาใช้ ก็คงนึกได้แค่เอาไปซื้อของเล่น เราก็เช่นกัน ก็คงเอาบารมีไปสนองกิเลสมนุษย์ เพราะเรานึกได้แค่นั้น

บทความนี้ ค่อนข้างจำเพาะกับวิทยากรสอนธรรม ต้องขออภัยสำหรับบุคคลทั่วไปนะครับ

Sunday, August 8, 2010

มนุษย์เป็นหุ่น

สมัยผมเรียนวิชชาธรรมกายใหม่ๆ ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์หลายท่านพูดว่า มนุษย์เป็นหุ่น สุดแต่ธาตุธรรมไหนจะเข้ามายึดครอง และเชิดหุ่นในตอนไหน ผมฟังก็คิดว่าพอเข้าใจบ้างแต่ก็ไม่ลึกซึ้งเท่าไหร่ มาบัดนี้ เรายิ่งเห็นความเป็นหุ่นของมนุษย์มากยิ่งขึ้น

คำว่า "เป็นหุ่น" หมายความว่า เราไม่ได้เป็นตัวของเราเอง เรา(คิดพูด)ทำไปตามการบังคับบัญชาของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง หากเป็นหุ่นให้มนุษย์ด้วยกันเอง ก็อาจถูกบังคับด้วยอำนาจ(มนุษย์)อื่นที่เหนือกว่า เช่นเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาเรา ว่าจ้างให้เงินเรา ใช้กำลังกับเรา นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นได้ในโลกมนุษย์
แต่ในวิชชาธรรมกาย การเชิดหุ่น มาจากโลกส่วนละเอียดเข้าไปจากกายมนุษย์ หากดูผังการเดินวิชชาคือละเอียดไปทางแกนตั้งและแกนนอนของกาย แกนตั้งคือแกน 18 กาย แกนนอนคือแกนกายพิสดาร และทรัพยากรส่วนละเอียดต่างๆ ของกาย

บังคับในแกนนอน เช่น บังคับผ่านมาทางสาย ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจจ์ ปฏิจจสมุปบาท แถมสิ่งเหล่านี้ ยังมีเห็นจำคิดรู้ ประจำอยู่ตลอดหมด มีเห็นจำคิดรู้ ย่อมมีกาย จึงมีผู้บังคับมากมายมหาศาล
บังคับในแกนตั้ง ก็บังคับผ่านมาทางกายที่ละเอียดๆ เข้าไป ตั้งแต่ กายฝัน กายทิพย์หยาบ ไล่ไปตามแกน 18 กาย ไปจนถึง กายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด แต่ละกายละเอียดนั้นๆ ก็มีแกนนอนของตนเองอีก

เมื่อเรามาดูในภาคมนุษย์ ความรับรู้ของมนุษย์ทั่วไปไม่เห็นอะไรนอกจากสิ่งที่สัมผัสผ่านมาทางอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกาย และความสัมผัสรับรู้ทางใจบางส่วนของกายมนุษย์นั้น ไม่เห็นว่ามีใครมาบังคับให้เราคิดพูดทำใดใดได้ มนุษย์คิดว่าเรามีเหตุผลในการคิด พูด ทำ ของตัวเอง ถ้ามองอย่างหลักวิชชาก็คือ โง่ คือ อวิชชาครอบงำเต็มที่ นั่นเอง

มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเหมือน เล่นละครใส่กัน เป็นฉากๆ ลงจากฉากนี้ก็ไปฉากโน้นต่อๆ ไป เราลองมองผู้คนในตลาด ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาต่อหน้าเรา เราก็เห็นการพูดคุยสังสรรค์ให้เวลาและสถานการณ์มันผ่านๆ ไป ที่เป็นจริงเป็นจังบ้างก็น้อยเต็มที

ผมจะเล่าเรื่องของวิทยากรของเราให้ได้รับรู้ดังนี้

วิทยากรท่านหนึ่ง ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล ช่วงพัก มีหมอดูทางในเข้ามาทำนายทายทักเจ้าหน้าที่ทุกคน ทำนายได้ถึงลักษณะบ้านอยู่อาศัยของใครๆ บ้างก็ว่ามีจอมปลวกอยู่หลังบ้าน บางทีก็ทำนายถึงญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถูกต้องอย่างประหลาด แต่ไม่หันมาพูดถึงหรือทำนายวิทยากรของเราแม้แต่ประโยคเดียว ทั้งที่นั่งตำตาอยู่ตรงหน้า และเรียกร้องให้เขาลองทำนายให้ด้วยซ้ำ พอมีคนมาใหม่ เขาก็หันไปทำนายคนใหม่นั้นต่อ จนกระทั่งผู้คนไปกันหมด เหลือแต่วิทยากรกับหมอดูคนนั้น วิทยากรบอกว่าทายหนูได้หรือยัง หมอดูทำท่าอึดอัดอย่างเห็นได้ชัด ขอตัวว่ามีธุระจะรีบไป วิทยากรเราเซ้าซี้ต่อ เขาเสียไม่ได้ เขาให้แบมือ แล้วบอกว่าเส้นลายมือดี เอามาต่อกันเป็นรูปเรือหงส์ ไปโน่น ไม่ทายด้วยรู้ญาณแบบเมื่อกี้ ราวกับว่าคนเชิดไม่อยู่แล้ว สุดท้ายก็รีบผละไป

เห็นได้ชัดเจนว่า คนกลุ่มที่เขาทำนายทายทักได้ เขาสื่อสารกันด้วยส่วนละเอียด เขาคุยกันเรื่องของเขาเป็นคุ้งเป็นแคว พวกใครพวกมัน พอมาถึงวิทยากรอย่างพวกเรา เขาไม่(กล้า)ยุ่งด้วย

เล่าอีกเรื่องหนึ่ง น้องสาวผมป่วยเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto thyroiditis) ตอนเริ่มเป็นก็แค่เจ็บๆ คอ กินยาทั่วไปไม่หาย ปล่อยจนเจ็บมากเป็นเดือน เริ่มมีอาการไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย (Hyperthyroid) ระหว่างป่วยก็มีงานรัดตัว จนไปไหนมาไหนไม่ได้ เช้าวันหนึ่งอาการกำเริบมาก จึงโทรหาคุณลุง (อาจารย์ทางวิชชาธรรมกายของพวกเรา) ท่านบอกว่าเดี๋ยวท่านแก้ให้เลย พักเดียว มีลูกน้องที่โดยปกติก็ไม่ค่อยได้เจอกัน เดินเข้ามาหา บอกว่าคุณเป็นอะไร ดูไม่ค่อยสบาย น้องผมบอกว่าไม่รู้ซี มันเจ็บคอมาก ทานยาก็ไม่หาย เขาจ้องเขม็งบอกว่าเป็นอย่างนี้ ปล่อยไว้ได้อย่างไร แล้วเอามือมาแตะที่คอ บอกต่อว่านี่น่ะ เป็นไทรอยด์ ต้องรีบไปหาหมอ ไปเดี๋ยวนี้เลย หนูจะเรียกแท๊กซี่ให้ ห้ามขับรถเองเด็ดขาดนะ (มันสั่งเรา) น้องผมไม่ได้ไปแท๊กซี่ของเธอหรอก แต่ก็ไปหาหมอ และเริ่มต้นการรักษาอย่างเป็นจริงเป็นจังตั้งแต่วันนั้น

เหตุการณ์ยังไม่จบ กลับจากพบแพทย์แล้ว บ่ายวันนั้นเอง น้องผมตั้งใจจะไปขอบคุณลูกน้องที่แนะนำให้ไปหาหมอเมื่อเช้า พอไปหาเขา เขาตกใจที่เจ้านายมาหา และทำท่า จำไม่ได้ ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเช้า เจ้านายจะมาขอบคุณเขาทำไม แล้วเขาก็รีบตัดบทผละไป

ตอนนั้น เขาเป็นหุ่นของใครซักคน มาช่วย จัดการ เรื่องความเจ็บป่วยของเรา ให้ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง เท่านั้นเอง

ที่เล่ามา เป็นเรื่องจริง ไม่ได้ปรุงแต่งใดใดทั้งสิ้น รายละเอียดอาจตกหล่นไปบ้าง เพราะผมจำได้แค่นี้
สุดท้ายจึงมาถึงคำถามที่น่าสนใจ คือ
  • ทำไมมนุษย์เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ทำไมคนบางคนเคยทำงานให้ภาคขาว ต่อมาไปทำให้ภาคมาร ต่อมาไม่ทำอะไรเลย หรือกลับไปกลับมา
  • ทำไมครูบาอาจารย์ที่สู้รบปรบมือกับส่วนละเอียด จึงไม่คิดหาใครมาดูแลใกล้ชิด
  • ทำไมการจับเข่าคุยกัน ตกลงกันไปแล้ว จึงไม่มีผล
  • ทำไมโจรจึงกลับใจ
  • ทำไมคนเราได้รับข้อมูลเหมือนๆ กัน ในเวลาเดียวกัน จึงคิดไม่เหมือนกัน
  • ฯลฯ

Tuesday, August 3, 2010

กาลามสูตร

วันนี้ขอคุยเรื่องกาลามสูตรในเชิงประสบการณ์ของผม ซึ่งผมเห็นว่าหลักกาลามสูตร เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ศึกษาไม่ว่าในทางโลก หรือทางธรรม หลักกาลามสูตรสอนให้เราวางใจเป็นกลางไว้ก่อน แล้วรับฟังข้อมูลให้ชัดเจน จึงจะปลงใจเชื่อ

กาลามสูตร คืออะไร? ผมอยากให้ดูข้อมูลบางส่วนจาก Website นี้

http://www.dopa.go.th/religion/tammar.html

ดังนี้

สิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ

พระพุทธเจ้าแทนที่จะตรัสเหมือนกับสมณพราหมณ์เหล่าอื่นที่เคยพูดมาแล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงสรรเสริญคำสอนของพระองค์ และก็ไม่ทรงติเตียนคำสอนศาสนาของผู้อื่นแต่พระองค์กลับตรัสอีกแบบหนึ่ง การพูดแบบนี้เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน คือพระองค์ได้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการโดยตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงฟัง

http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา อนุสฺสวเนน
อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา ปรมฺปราย
อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา อิติกิราย
อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา ปิฏกสมฺปทาเนน
อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา ตกฺกเหตุ
อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา นยเหตุ
อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา อาการปริวิตกฺเกน
อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา
อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา ภพฺพรูปตา
อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif มา สมโณ โน ครูติ
อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา

http://www.dopa.go.th/religion/image/bb.gif
สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุ 10 ประการนี้

ข้อความประเภทนี้ตรงกับกฎทางวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อถ้าเขายังไม่ได้ ทดสอบหรือพิจารณาเหตุผลให้ปรากฏก่อน และข้อความเช่นนี้ไปตรงกันได้อย่างไรในข้อที่ไม่ให้เชื่อเพราะเหตุ เหล่านี้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราควรจะเชื่อแบบใดเมื่อปฏิเสธไปหมดเลยทั้ง 10 ข้อ และเราควรจะเชื่ออะไรได้บ้าง

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของเหตุและผล ไม่โจมตีศาสนา ไม่โจมตีผู้ใด
ชี้แต่เหตุและผลที่ยกขึ้นมา อธิบายเท่านั้น

พระพุทธวจนะทั้ง 10 ประการข้างต้นนั้น ท่านทั้งหลายฟังดูแล้วอาจคิดว่า ถ้าใครถือตามแบบ นี้ทั้งหมดก็มองดูว่าน่าจะเป็นมิจฉาทิฎฐิ คือ ไม่เชื่ออะไรเลย แม้แต่ครูของตนเอง แม้แต่พระไตรปิฎกก็ไม่ให้เชื่อ พิจารณาดูแล้ว น่าจะเป็นมิจฉาทิฎฐิ
แต่ก็ไม่ใช่

คำว่า "มา" อันเป็นคำบาลีในพระสูตรนี้ เป็นการปฏิเสธมีความหมายเท่ากับ No หรือ นะ คือ อย่า แต่โบราณาจารย์กล่าวว่า ถ้าแปลว่า อย่าเชื่อ เป็นการแปลที่ค่อนข้างจะแข็งไปควรแปลว่า"อย่าเพิ่งเชื่อ" คือให้ ฟังไว้ก่อน สำนวนนี้ ได้แก่สำนวนแปลของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) วัดเทพศิรินทราวาส นักปราชญ์ รูปหนึ่งในยุครัตนโกสินทร์ แต่บางอาจารย์ให้แปลว่า"อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ" แต่บางท่านแปลตามศัพท์ว่า "อย่าเชื่อ" ดังนั้น การแปลในปัจจุบันนี้จึงมีอยู่ 3 แบบคือ

1. อย่าเชื่อ

2. อย่าเพิ่งเชื่อ

3. อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ

การแปลว่า "อย่าเชื่อ" นั้น เป็นการแปลที่ค่อนข้างจะแข็งเป็นการไม่ค่อยยอมกัน ส่วนการ แปลอีก 2 อย่างนั้น คือ "อย่าเพิ่งเชื่อ" และ "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ" นั้นก็มีความหมายเหมือนกันแต่คำว่า "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ"นั้นเป็นสำนวนแปล
ที่ค่อนข้างยาว ดังนั้น คำว่า
"อย่าเพิ่งเชื่อ" เป็นสำนวนที่สั้นกว่า ง่ายกว่าและเข้าใจได้ดีกว่า ฉะนั้น การที่จะแปลให้ฟังง่ายและเหมาะสมก็ต้องแปลว่า "อย่าเพิ่งเชื่อ"

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครจะพูดก็พูดไปเราก็ฟังไป อย่าไปว่าหรือค้านเขา แต่อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องพิจารณาดูก่อนว่าถูกหรือผิด เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เป็นบุญหรือเป็นบาป เป็นไปเพื่อประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

หากจะดูรายละเอียด ให้ไปดูใน Website ที่ผมได้อ้างอิงไว้นะครับ แต่ผมจะกล่าวในส่วนที่เป็นประสบการณ์ของเรา ดังนี้

มา อนุสฺสวเนน

มา ปรมฺปราย

มา อิติกิราย

อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกัน คือ อย่าเพิ่งเชื่อโดย ฟังตามกันมา เป็นของเก่าเล่าสืบกันมา เป็นนิยายปรัมปรา เป็นข่าวเล่าลือ

กลุ่มนี้ คงไม่ยากสำหรับเรา มันคงเป็นหลักสถิติที่คนก่อนหน้าจดจำบันทึกไว้ สังเกตผลอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จึงเล่าต่อๆ กัน แต่ทั้งนี้ เราย่อมทราบดีว่า มันมีความเพี้ยนเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ ความรู้ของผู้ที่ประสบกับเหตุอันนั้น การส่งต่อข้อมูลข่าวสาร ความเพี้ยนจากช่วงเวลาที่ยาวนาน จากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฯลฯ

มา ปิฏกสมฺปทาเนน

อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา อันนี้สำคัญ บางทีผู้พูดอยากให้คนเชื่อ ก็อ้างว่าเอามาจากตำรา หรือตำราท่านว่าไว้ หรือใช้คำรวมๆ ว่า ปู่ย่าตายายท่านว่าไว้ ครูบาอาจารย์ท่านว่าไว้ พอเอาเข้าจริง บางทีเป็นการหลอกลวงยกเมฆ สืบไปสืบมาตำรานั้นไม่มี

บางที ตำรามี แต่เป็นตำราที่ใช้อ้างอิงไม่ได้ ไม่ใช่หลักสูตร ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ท่านเอามาอ้าง ตัวอย่างเช่น หากท่านจะอ้างวิชชาธรรมกาย ท่านต้องอ้างอิงหลวงพ่อวัดปากน้ำก่อน เรามักได้รับคำถามเสมอว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำเขียนตำราวิชชาธรรมกายไว้กี่เล่ม อะไรบ้าง เป็นพื้นฐานไว้ก่อน

ตำรามี ใช้อ้างอิงได้ แต่ผู้อ้างอิงเข้าใจความรู้ผิด หรือเอามาอ้างอิงเฉพาะบางส่วนที่ถูกกับความเห็นของตน

ทุกอย่าง มี อ่อนแก่ หยาบละเอียด อดีตปัจจุบันอนาคต บางครั้งตำราเขียนไว้นานแล้ว เป็นความรู้เก่า ปัจจุบันความรู้นี้ใช้ไม่ได้แล้ว อนาคตไม่แน่ อาจเอาความรู้เก่ามาใช้ได้อีก หรือผสมผสานความรู้ต่อยอดขึ้นไปก็ได้ แม้ในธาตุในธรรม ก็มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธตลอดเวลา อย่ายึดมั่นอะไรตายตัว

มา ตกฺกเหตุ

มา นยเหตุ

มา อาการปริวิตกฺเกน

อย่าเพิ่งเชื่อ โดยคาดเดาเอาเอง โดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา โดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ

อันนี้ขึ้นกับพื้นฐานความรู้ของแต่ละบุคคล เรารู้เท่าทันขนาดไหน เรื่องของอดีตปัจจุบันอนาคตมีส่วนอยู่ไม่ใช่น้อย แต่ก่อนเคยใช้เหตุผลนี้ได้ ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว

ผมขอยกตัวอย่างเชิงตรรก ดังนี้

มารส่งโรค เพราะฉะนั้น ใครแก้โรคได้ คนนั้นเป็นพระ ใช่หรือไม่?

คำตอบ คือ แต่ก่อนใช่ แต่เมื่อมีการแก้หมาก หลอกลวงกันมากขึ้น เกิดสำนักแก้โรคเลียนแบบพระขึ้นมากมาย ผู้แก้โรค อาจเป็นพวกเดียวกับคนส่งโรค เพื่อลวงให้ผู้คนเข้าใจผิด หลงเข้ามามีความเชื่อแบบที่ตนต้องการ และได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากศรัทธาของคนเหล่านั้น

มารปิดไม่ให้เห็นธรรม ใครเปิดดวงธรรม คนนั้นเป็นพระ(พุทธเจ้า) ใช่หรือไม่?

ตอบกันเอาเอง

มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา

อย่าเพิ่งเชื่อเพราะต้องกับความเห็นของตน

เราอาจมีความประทับใจกับอะไรมาก่อน หรือเคยถูกหลอกจนเข้าใจผิดมานาน เช่นเคยได้ยินจากวัดที่เคยไปทำบุญว่า คนเป็นธรรมกายต้องสำรวม เรียบร้อย มีความสุขในธรรมะที่ตนเห็น เขาจะนั่งสมาธิได้ทน และนานโดยไม่เบื่อ เราเคยเข้าใจอย่างนี้ พอเราเห็นใครๆ ที่อ้างว่าเขาเป็นธรรมกายแล้ว เราตรวจสอบโดยความรู้ที่เราเข้าใจ(ผิด)มาก่อน แล้วไม่ตรงตามความเห็นของเรา เราก็เลยเชื่อว่าเขาไม่เป็นธรรมกาย เราก็พลาดความรู้จากที่อื่นที่อาจถูกต้องกว่า

มา ภพฺพรูปตา

มา สมโณ โน ครูติ

อย่าเพิ่งเชื่อ ว่าผู้พูดควรเชื่อได้ ว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา

โลกมนุษย์เป็นโลกของความสับสน ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ และมีความไม่ชัดเจนอยู่รอบตัวเรา ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านยังครองกายมนุษย์แบบเรา ท่านก็มีความเข้าใจผิด หรือพลาดพลั้งได้ เรายกท่านในฐานะครู แต่ไม่ใช่ว่าท่านพูดแล้วจะต้องถูกทุกอย่าง แม้ท่านจะถูกมาตลอด 99.99% ก็ตาม ครูของผมท่านเคยพูดไว้หลายหนว่า อย่ายึดมั่นถือมั่นในตัว (กายมนุษย์ของ) ครู

มาถึงตรงนี้ เราจะเชื่อในอะไรดีเล่า น่าสับสน แต่โลกมันก็เป็นของมันอย่างนี้ เรารู้เท่าทันแล้ว เราคงต้องพึ่งตัวเราเอง การตัดสินใจเชื่อในอะไร เรามีความรู้และความระมัดระวังอย่างที่สุดแล้ว ทั้งนี้ก็ยังอาจพลาดได้ ตราบใดที่ความเป็นไตรลักษณ์ทั้งปวงยังปรากฏให้เห็นในโลกมนุษย์ที่เราอยู่ทุกวันนี้

Sunday, August 1, 2010

กลลวงจากสิ่งที่เราเห็น

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2553 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปสอนสมาธิที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงครามแห่งหนึ่ง เด็กที่นั่นเรียบร้อยมากดั่งผ้าพับไว้ ทำให้จำเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อนที่เรามาสอนที่โรงเรียนนี้เช่นกัน ครั้งนั้นเด็กก็เรียบร้อยมากอย่างผิดสังเกต แต่เด็กๆ แทบไม่เกิดธรรมะเลย และไม่ตอบสนองต่อการบอกนำวิชชาของเราทั้งสิ้น ทั้งที่สภาพภายนอกดูสงบเรียบร้อยเหลือเกิน วันนี้ ผ่านมาหลายปี เด็กรุ่นก่อนจบจากโรงเรียนนี้ไปหมดแล้ว มารุ่นใหม่ก็ดูเรียบร้อยพอๆ กัน แต่วันนี้เราถามเด็กว่า หนูเคยฝึกสมาธิมาก่อนหรือเปล่า เด็กยกมือกันทุกคน ฝึกสายไหน ใช้คำภาวนาว่าอะไร เด็กๆ ตอบว่า พุทโธ

พอเราสอนไปๆ เราให้เด็กดูดวงใสในมือ แล้วจำไว้ ตามหลักการฝึกกสินของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ถามเด็กว่านึกได้ไหม เด็กทุกคนนั่งหลับตานิ่ง แล้วไม่ตอบสนองต่อคำถามของเรา ให้ลืมตาทำใหม่ ก็ยังเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าพอเด็กหลับตา ใจก็ไปอยู่กับลมหายใจ แล้วไม่ฟังคำสั่งวิทยากรอีก เราจึงต้องแก้ไขอย่างจริงจังขึ้น สั่้งเด็ดขาดให้ทำตามเรา และวางความรู้เก่าไปก่อน เด็กจึงทำได้ เห็นดวงธรรมและเกิดกายธรรมกันยกชั้น

ผมขอพักเรื่องสอนเด็กไว้แค่นั้น จะขอเล่าเรื่องราวต่อ เมื่อไม่นานมานี้ ลูกชายของเพื่อนน้องสาว ชื่อน้องแอ๊น อายุ 17 ปีได้ตายไปจากเราจากอุบัติเหตุรถที่ตัวเองนั่งขับกันไปกับเพื่อนชนเขาข้างทาง ไปกัน 4 คน น้องแอ๊นตายคนเดียว นอกนั้นไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร การไปเที่ยวของพวกเขา ก็เป็นเรื่องที่เด็กๆ ไปกันเอง ผู้ใหญ่ห้ามไว้แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล มันเป็นเรื่องไม่คาดคิดสำหรับพวกเรา เพราะน้องแอ๊นเป็นเด็กที่เราสอนจนเป็นธรรมกายมาตั้งแต่ยังเล็ก เที่ยวนี้เราพลาดมากเหลือเกิน

ผลต่อเนื่องที่ตามมาคือ เราให้คนที่มีรู้ญาณที่พอตรวจสอบได้ไปดูน้องแอ๊น วันแรกๆ พบว่าเขายังอยู่ที่เดิมที่เกิดอุบัติเหตุ และไม่รู้ว่าตัวตาย พอเขารู้ เขาฝากขอโทษไปถึงคุณแม่เขา แต่อีกสองสามวันต่อมา ตัวเขาก็เปลี่ยนสภาพไป เริ่มมีเครื่องทรง มีสังวาลย์ กางเกงกลายเป็นกางเกงสามส่วน รองเท้ามีหัวงอนๆ แสดงถึงเครื่องแต่งตัวของเทวดา แล้วก็บอกว่าไม่ต้องห่วงเขาแล้ว

เรื่องรู้ญาณที่นำมาประกอบ ผมไม่ขอบอกถึงรายละเอียด เอาเป็นว่า เราพอตรวจสอบกันได้

ในช่วงเวลาเดียวกัน คุณอาของสามีของน้องสาวของผม ได้ตายจากอุบัติเหตุจราจรอีกเช่นกัน ปกติแกเป็นผู้ใหญ่ใจดี ใจบุญสุนทาน เป็นแบบฉบับของคนเข้าวัดเข้าวาในอดีต แต่ไม่ได้มาเรียนรู้ธรรมปฏิบัติอย่างที่เราทำ เราได้ไปตรวจอาท่านนี้ พบว่าไปเป็นสุข แต่เป็นสวรรค์ชั้นต้นๆ ไปไม่ถึงที่ที่น้องแอ๊นไป

ถ้ามองด้วยสายตาของมนุษย์ ระหว่างเด็กวัยรุ่นที่กำลังแก่น ซึ่งน้องแอ๊นก็มี กับคนแก่ใจดี ทำบุญตลอดชีวิต ใครน่าจะไปดีกว่ากัน

สรรพสิ่งทั้งปวง ความรู้ทั้งปวง คุณความดีทั้งปวง มันมี ต้น กลาง ปลาย อ่อน แก่ หยาบ ละเอียด เล็ก โต อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งนั้น หากท่านทำความดีแค่เกื้อกูลกันในหมู่มนุษย์ ตายไป ท่านก็ยังอยู่ใกล้ๆ มนุษย์ อาจเป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง แล้วก็เวียนกลับมาใหม่ แต่ถ้าความดีของท่าน เข้าสู่เส้นทางระดับปรมัตถ์ อันเป็นทางไปเพื่อความหลุดพ้น ธาตุธรรมท่านยกระดับมากกว่า ท่านก็ไปพักในสวรรค์ที่สูงกว่า มีรอยใจให้กลับมาสร้างบารมีต่อ

เหมือนคนที่ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน คนรอบตัวที่ดูกุลีกุจอ มาบีบนวดเท้านวดขาให้เป็นวันๆ ก็ไม่อาจสู้แพทย์ที่สามารถจัดกระดูกให้เพียงกรึ๊กเดียวได้

การทำความดี มันถูกดี ถึงดี และเข้มข้นพอหรือเปล่า อย่างการนั่งสมาธิ เราจะมานับจำนวนชั่วโมงในการนั่ง เช่นนั่งได้ 3 ชั่วโมง แต่ฟุ้งซ่านรวมใจไม่ติด กับนั่ง 15 นาที แต่เดิน 18 กายได้ครบ อะไรจะดีกว่ากัน

หากเราทำความดีแค่ระดับพื้นฐาน แต่อ้างปริมาณเข้าว่า ยังไงมันก็ได้แค่งานของเด็กอนุบาล

ผมเห็นคนบางคน ไปถือศีลอุโบสถทุกวันพระ เป็นการลงทุนลงแรงลงเวลาทั้งชีวิต แต่ไม่เอาความรู้ เอาแต่กิจกรรม ผิดกับวิทยากรสอนธรรมอย่างพวกเรา วันหยุดอาจจะพักผ่อน ไม่ได้สร้างภาพว่าแก่ทางธรรม แต่เมื่อถึงเวลาเราก็ไปสอนธรรม ก็ลองเปรียบเทียบกันดู แต่คนทั่วไปจะมองความพยายามของคนที่ไปอดตาหลับขับตานอนที่วัดว่ามีมากกว่า

ผู้ที่ประสบความสำเร็จทางโลก เช่นหมอผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ประสบอุบัติเหตุ รถเก๋งที่ท่านขับชนกับรถบรรทุก 10 ล้อที่จอดอยู่ข้างทาง ท่านเสียชีวิตทันที หลงตาย เพราะเราเห็นว่าท่านยังไม่ได้ไปไหน นอกจากยังอยู่ในที่ที่ท่านตายนั่นเอง ทั้งที่ในทางโลก ท่านประสบความสำเร็จสูงสุด นั่นคือ ท่านมีตัวชี้วัด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พรั่งพร้อมบริบูรณ์

แต่เมื่อเข้ามาทางธรรม ผู้ใฝ่ธรรมเริ่มใช้ตัวชี้วัด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เหมือนกับผู้ใฝ่ทางโลก ซึ่งดูจะแปลกๆ เพราะผู้ใฝ่ทางโลกเขาก็ได้มันมาโดยไม่ต้องพึ่งทางธรรม ประเด็นนี้โปรดคิดดูให้ดีว่า เราหลงทางหรือเปล่า

รวย ! รวยสุดๆ ! รวยโย่ ! รวยโคตรๆ !

ดังนั้น สิ่งที่เรารู้สึกด้วยความเป็นมนุษย์ว่าดีแล้ว บางทีก็ต้องมองให้ลึก ว่าเรากำลังเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า และอย่าด่วนตัดสินอะไรทั้งนั้น ให้ยึดหลักกาลามสูตรเข้าไว้ หากมีโอกาสจะเขียนเรื่องกาลามสูตรสักครั้ง