Pages

Thursday, August 19, 2010

เพี้ยน เฝือ เรื้อรัง ฮึกเหิม ...

ความผิดพลาดของผู้ศึกษาวิชชา

ความผิดพลาดของการเรียนวิชชาใดใด โดยเฉพาะวิชชาธรรมกาย เกิดจาก วิชชาเพี้ยน วิชชาเฝือ และวิชชาเรื้อรัง

มุมมองของผม มีดังนี้

วิชชาเพี้ยน คือวิชชาที่ถูกก็ถูกไม่หมด ผิดก็ผิดไม่หมด อันนี้ร้ายกาจที่สุด ในบรรดาความผิดพลาดทั้งหลาย เพราะยากต่อการแยกแยะว่าใช่หรือไม่ โดยเฉพาะผู้มาใหม่ สุดท้ายก็เกิดความเสียหายในทางวิชชา ส่งผลถึงความเป็นโทษที่รุนแรงต่อตัวผู้ศึกษาเอง

วิชชาเฝือ คือรู้ไม่จริง รู้น้อยแต่ขยายความให้ดูมาก บางทีจับโน่นมาชนนี่ เอาวิชชาที่โน่นที่นี่อย่างละนิดอย่างละหน่อยมาผสมผสานกัน แต่ไม่รู้ว่ามันเข้ากันได้แค่ไหน ก็หยิบยกเอามาตามความเข้าใจของตัว เฝือมากๆ ก็เพี้ยน ถ้าเรารู้จริง ควรจะรวบรัดสรุปให้เข้าใจง่าย (Simplify) คือรู้ 10 เอามาพูดแค่ 5 คือความกระชับ แต่คนเฝือรู้ 1 แต่พยายามพูด 5 สิ่งที่ขยายขึ้นมาคือความเพ้อเจ้อ

วิชชาเรื้อรัง คือการปล่อยปละละเลยวิชชาของตัวไว้โดยไม่มีการทบทวน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎี คือการไม่ทบทวนตำรับตำรา ไม่ทบทวนกับครูบาอาจารย์ ภาคปฏิบัติ คือการละเลยไม่ปฏิบัติ (ไม่เดินวิชชา) อย่างสม่ำเสมอ เช่นครูบาอาจารย์กำหนดให้เดินวิชชาวันละ 2 เที่ยว เช้ากับก่อนนอน เพื่อไม่ให้วิชชาเรื้อรัง เป็นต้น

สามข้อข้างต้น เป็นข้อผิดพลาดหลักที่ครูบาอาจารย์ท่านเน้นมาก ผมมีข้อควรระวังเพิ่มเติมส่วนตัวอีก 2 ข้อ คือ ความฮึกเหิม กับการไม่ปรับปรุงต่อยอด

ความฮึกเหิม คือนึกว่าตัวเองเก่งแล้ว ยิ่งใหญ่แล้ว มีทั้งจริงและไม่จริง ความฮึกเหิมอาจเกิดจากแรงเชียร์ของหมู่คณะและแม้ครูบาอาจารย์เพื่อให้เกิดกำลังใจในการสร้างบารมี แต่การสร้างบารมีสอนธรรม เป็นบารมีที่เราไม่ได้ทำได้ด้วยตัวเราเอง เรามีฉากหลังช่วยเราอยู่ เราเพียงโชคดีที่ท่านเลือกเรา เราจึงได้อานิสงค์ตรงนี้ จึงไม่น่าเป็นเหตุให้ฮึกเหิมและเสียงาน ความฮึกเหิม ทำให้วิชชาเพี้ยน วิชชาเฝือ วิชชาเรื้อรัง ได้ทั้ง 3 ข้อ เพราะตอนนั้นเราพูดอะไรไป ดูเหมือนผู้คนจะยอมเราหมด ทั้งที่มันอาจไม่ถูกต้อง

การไม่ปรับปรุงต่อยอด (No Update)

ผมว่าอันนี้สำคัญ น่ากลัว และเป็นดาบ 2 คม แต่จะไม่มีการปรับปรุงเลยก็ไม่ได้ หากมีแล้ว ก็มีได้เฉพาะบางคน ซึ่งต้องแยกแยะเป็น ว่ามันเป็นความเพี้ยน หรือความเฝือ หรือไม่

ผมยังไม่อาจหาตัวชี้วัดตายตัวที่จะบอกได้ว่า อันนี้คือการต่อยอด หรือเป็นความเพี้ยนไม่อยู่กับร่องกับรอย ครูบาอาจารย์ของเราน่าจะตัดสินได้ดีที่สุด แต่เราอาจชี้วัดได้คร่าวๆ คือหากเป็นการต่อยอด เราต้องเข้าใจเนื้อหา หรือการปฏิบัติดั้งเดิมให้แจ่มแจ้งเสียก่อน แล้วแจกแจงให้ได้ว่าเราต่อยอดขึ้นมาจากอะไร เพราะอะไรถึงไม่ใช้วิชชาเดิม เพราะอะไรถึงไม่ใช้วิธีการดั้งเดิม ถ้าเราตอบคำถามนี้ได้ ก็น่าจะพอรอดตัว

ศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์เสมอไป โลกจึงจะเจริญ ธรรมจึงจะเจริญ การกตัญญูรู้คุณเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่คือการต่อยอด ใช่หรือเปล่า?

หากแพทย์สมัยใหม่ไม่เก่งกว่าแพทย์สมัยก่อน วงการแพทย์ก็ไม่เจริญ และไม่สามารถสู้กับโรคภัยไข้เจ็บสมัยใหม่ได้

การเดินวิชชา เดิมค้นพบ ดวงธรรม 1 ดวง กาย 5 กาย ก็มาพบดวงธรรม 6 ดวง กาย 18 กาย เป็นการค้นคว้าที่ไม่หยุดของครูบาอาจารย์ ใช่หรือไม่?

การทำให้ใส เริ่มต้นจากการเดินฌาน การตั้งกสิณเดินสมาบัติในกสิณ การแยกธาตุแยกธรรม ( - ครูอาจารย์ไม่ให้เราทำเอง เพราะหากไม่สะอาดจริง แก้ไขยาก) สลับมาเป็นการเดินวิชชาอนุโลมปฏิโลมของ 18 กาย การซ้อนสับ การแลบลั่นย่อยแยกระเบิดผ่าดับละลายโดยตรง ปรับเปลี่ยนกลยุทธไปตามสถานการณ์ในส่วนละเอียด

การบำเพ็ญบารมี เคยเน้นบารมี 10 ทัศศ์ ต่อยอดมาเป็นการสอนธรรมปฏิบัติ จนเกิดดวงตาเห็นธรรม

หากเราย่ำเท้าอยู่กับที่ มันน่าจะเป็นความเรื้อรังอย่างหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ หากเราไม่แน่ใจ อย่าได้แผลงไปทำอะไรนอกลู่นอกทางจากตำรับตำราหรือวิธีการที่เราเคยเรียนรู้มา ยกเว้นมีความแน่ชัดแล้วว่าความรู้ในตำราที่มีอยู่ ไม่พอแก่การศึกษาเพิ่มเติมของเราเสียแล้ว

แต่ถึงอย่างไร เราก็ยังมีครูบาอาจารย์ให้ได่ถามอยู่