Pages

Thursday, June 21, 2012

สอนตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ


เนื้อหาในบล็อก มีมากพอสมควรแล้ว ผมจึงคิดจะเขียนเรื่องนี้

สมัยที่ผมยังเล่นกีฬาแบดมินตันอยู่ เราออกไปเล่นวันเว้นวัน ชนิดที่ว่าติดกีฬา ทำเช่นนี้มาเป็นปีๆ ไม่เก่งก็ต้องเก่ง มีอยู่คราวหนึ่ง ผมซึ่งเป็นหมอหูคอจมูก ออกไปเล่นแบดมินตันทั้งๆ ที่ตัวเองป่วยเป็นหวัด ผมแปลกใจที่เพื่อนที่เล่นด้วยกันท่านหนึ่งเกิดความสงสัยว่าผมจะป่วยได้อย่างไรในเมื่อผมเป็นหมอ คือเขาเข้าใจว่า หมอที่รักษาทางหูคอจมูก ไม่น่าจะป่วยด้วยโรคหวัดซึ่งเป็นโรคทางหูคอจมูกที่ตัวเองชำนาญ แรกๆ ผมรู้สึกแปลกใจต่อความเข้าใจอันนี้ของเขา เพราะเราก็เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิ์จะป่วยได้ แถมในขณะป่วย เราก็ยังรักษาคนไข้ที่เป็นหวัดเหมือนเราไปด้วยในตัว หายป่วยก่อนเราก็มี

เมื่อเรามาสอนธรรมะภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นภาคขัดเกลากิเลส วิทยากรในยุคแรกเคยได้ยินคำพูดจากเจ้าสำนักธรรมกายสำนักหนึ่ง หลังจากที่เราไปบอกท่านว่ามีครูสอนให้เราไปออกสอนธรรมะตามโรงเรียน ท่านตอบกลับมาว่า เธอมีดีอะไร ถึงคิดจะไปสอนเขา สอนตัวเองให้ได้ก่อนเถอะคล้ายกับว่า ถ้าเธอยังไม่หมดกิเลส เธอก็อย่าคิดอ่านไปสอนใครให้หมดกิเลสเลย สอนตัวเองไปก่อน หรือจะบอกว่า หมอที่ยังป่วยได้อยู่ อย่าบังอาจไปรักษาคนไข้ รักษาตัวเองให้ไม่รู้จักเจ็บป่วยเสียก่อนเถอะ

ท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมขอบอกไว้ ณ ที่นี้ว่า เราไม่เคยสร้างภาพว่าเราเป็นผู้หมดกิเลส ตรงกันข้ามเราเป็นฆราวาสที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่เราได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการที่จะปราบกิเลสของเราให้เบาบางลง และถือโอกาสนี้สอนผู้อื่นไปพร้อมๆ กับการขัดเกลากิเลสส่วนตน ร่วมกับการให้โอกาสคนอื่น และเพิ่มพูนบารมีของเราให้เติบโตขึ้น

ประกอบกับการที่เราได้เรียนรู้วิธีการสร้างบารมีแบบลัดขั้นตอนซึ่งมีหลักการที่อธิบายอยู่ในบล็อกแห่งนี้มากมาย โดยเฉพาะความเข้าใจในเนื้อหาซึ่งเพิ่มพูนขึ้นจากประสบการณ์ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ท่านคงเห็นความต่างกันในเรื่องความเชื่อสูงสุดที่แม้จะอ้างอิงศาสนาพุทธด้วยกันก็ตาม

ผมคิดว่าท่านที่เห็นต่างควรรับฟังไว้บ้าง ว่ามันมีความคิดที่อาจเป็นไปได้อีกหลายแบบ

โปรดชั่งใจว่า ถ้าสิ่งที่ท่านคิด มันเกิดผิดหรือไม่สมบูรณ์ขึ้นมา ท่านจะเสียหายขนาดไหน เพียงท่านไม่ได้บารมีที่ควรได้ มันก็เสียหายมากมายมหาศาล เพราะโลกมนุษย์นี้เป็นสถานที่ที่เรามาสร้างบารมี ไม่นานเราก็ต้องกลับไป  ส่วนตัวผมเอง ผมคิดไว้แล้ว ถ้าผมผิด อย่างน้อยผมก็ได้มีโอกาสไปสอนธรรมะตามสถานที่ต่างๆ ให้ผู้เรียนในเบื้องต้น มีใจสงบระงับ คิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งเป็นหลักสากลมาตลอด 14 ปี ด้วยทุนรอนส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่เคยมีการเรี่ยไรบริจาค ไม่เคยมีหน่วยงานเบื้องหน้าเบื้องหลังสนับสนุนแต่อย่างใด เราทำเพราะเราเชื่อว่าเราได้บารมี เราไม่ได้ทำฟรีๆ หรอก

ถ้าผมถูก เนื้อหาในวิชาธรรมกายจะเป็นเรื่องจริงอันยิ่งใหญ่ มีการต่อสู้กันระหว่าง ความดีกับความชั่ว พระกับมาร ขาวกับดำ จริง ! มีการขัดขวางผู้บำเพ็ญเพียรที่สร้างบารมี จริง ! การขัดขวางนั้นขัดขวางมาในส่วนละเอียดซึ่งยากแก่การรู้เห็น มาในทุกรูปแบบที่เราต้องฟันฝ่า มาในลักษณะที่คนทั่วไปหาว่าเราพยายามแก้ตัว มาอย่างไร ศึกษาเอาจากที่นี่ก็ได้ครับ


สุดท้าย โปรดสร้างความเข้าใจว่า ภาคพระไม่ใช่ผ้าขี้ริ้ว จะเหยียบจะย่ำ ท่านก็ต้องยอม นั่นมันอดีต ปัจจุบันอนาคตไม่ใช่แล้ว ภาคพระไม่ได้มีลักษณะ
ใจดีไม่มีประมาณ การใจดีกับใครก็ต้องมีเหตุผล ถ้าเห็นภาคพระตำหนิเอาแรงๆ ก็ดูเหตุผลด้วยนะครับ

Wednesday, June 20, 2012

อภัยทาน 4


ความรู้เรื่องอภัยทานที่กล่าวมาทั้งหมด 3 ตอน ถือว่าครอบคลุมเนื้อหาหมดแล้ว ตอนนี้จะคุยต่อในบางประเด็นเท่านั้น

ผมได้อ้างอิงเรื่องอภัยทานไว้ในเรื่อง เจ้ากรรมนายเวร ตอนนั้นได้แต่กล่าวลอยๆ อาจมีคนสงสัยว่าขณะนี้เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังไม่ได้พ้นไปจากวัฏฏะสงสาร ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน อาจเผลอไปทำอะไรให้ใครไม่พอใจ จองเวร และสาปแช่งเรา เราจะทำอย่างไร?

การจะไม่ให้ใครติดใจเราในทางไม่ดี เราต้องหมั่นเจริญพรหมวิหาร ซึ่งผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว โปรดทบทวน และหมั่นเจริญบ่อยๆ หากรู้ว่าใครจะสาปแช่งหรือคิดไม่ดีกับเรา ให้เจริญพรหมวิหารเฉพาะเจาะจงในตัวคนๆ นั้นทันที

ท่านที่เป็นวิชาพอจะรู้เรื่องเครื่องและกายมนุษย์พิเศษมาแล้ว ให้ท่านทบทวนเนื้อหาในหนังสือ ปราบมาร 6 ของคุณลุง หน้า 350 เรื่องการแก้ไขคนจองเวร เดินวิชาไปดับมารในกายของผู้ที่จองเวรเราทั้ง 18 กาย แล้วอาราธนาพระพุทธองค์และจักรพรรดิมาดูแลอีกที ผมไม่ลงรายละเอียดนะครับ ท่านต้องไปอ่านตำรา

แล้วต่อเนื่องไปยังเรื่อง ถูกมารสาปจะแก้วิชาอย่างไร? ในหน้า 351 ท่านอ่านแล้วท่านจะเข้าใจ และหากคำสาปนั้นเป็นของพระอริยเจ้า จะต้องทำอย่างไร ท่านไม่ต้องถามว่าทำไมพระอริยะจึงสาปแช่งได้ ท่านไปอ่านตำรานะครับ

อภัยทาน 3


ผมยังใช้หัวข้อของ "อภัยทาน" เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ตอนนี้เราคุยต่อ

จากภาค 2 เราเข้าใจเรื่องอภัยทานมากขึ้นแล้ว หากเรานำแผนภาพในภาค 2 กลับมาใช้กับอามิสทาน และวิทยาทาน (หรือ ธรรมทาน) จะเป็นรูปร่างคล้ายกันดังนี้


กำหนดให้ A เป็นผู้ให้ ที่จะให้อามิสทาน หรือวิทยาทานต่อ B

X คือวัตถุทานที่เป็นส่วนผสมของสิ่งของที่จะให้ หรือความรู้ที่จะให้ กับอารมณ์ความเสียดายที่ A ปรุงแต่งเสริมขึ้นมา (F) นั่นคือ X=T+F เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ อีกเช่นกัน

จะเห็นได้ชัดเจนว่า เรื่องของทาน มีใจ (F) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นี่แหละใจจึงเป็นใหญ่ ใจจึงเป็นประธานในการกระทำทุกอย่าง การให้ทานต้องยอมสละอารมณ์ออกไป ไม่มากก็น้อย อามิสทานต้องเสียสละความเสียดายสิ่งของ เสียดายเงินทองที่เราเพียรหามา วิทยาทานก็เสียสละความเสียดายความหวงแหนความรู้ที่เราพากเพียรเรียนมา แม้ความรู้ไม่ได้หมดไปจากเรา แต่มันก็มีอารมณ์ที่ว่า สมัยเรากว่าจะได้ความรู้นี้ ยากลำบากยิ่งนัก แต่นาย B ไม่ต้องลำบากแบบเรา เราสอนให้ ก็ได้ความรู้ของเราไปเลย

ส่วนอภัยทานต้องสละอารมณ์ขุ่นมัวออกไป อามิสทานและวิทยาทานก็ต้องสละความเสียดายออกไป ความยิ่งใหญ่ของทานจึงมีส่วนของใจมาประกอบอยู่ไม่ใช่น้อย มหาทานบารมีที่พระเวสสันดรบำเพ็ญ อาศัยความเสียสละแบบโพธิสัตว์ ที่ยึด 5 วลีที่ว่า ต้อง ให้ ได้ ทุก อย่าง มีการสละลูกเมียเป็นทาน ซึ่งจะต้องเอาชนะความหวงแหนอย่างที่สุดจึงจะทำได้

เรื่องที่อยากคุยต่อในภาคอภัยทานจริงๆ ยังไม่จบ ตอนนี้เป็นเพียงดึงความเกี่ยวข้องของทานอีก 2 อย่างเข้ามาพิจารณา เอาไว้คราวหน้าค่อยคุยต่อครับ

Tuesday, June 19, 2012

อภัยทาน 2


หลายท่านเกิดความคิดเรื่องทานต่อยอดมาจากบทความที่แล้ว คราวนี้จะสรุปรวมเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ให้ต่อยอดออกไปอีก

ทาน มีองค์ประกอบ 3 คือ ผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทาน

อามิสทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบชัดเจน จับต้องได้

ธรรมทาน และวิทยาทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบค่อนข้างชัด แต่วัตถุทานคือความรู้ อาจจับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ได้ไม่ยาก พระพุทธองค์ยกย่องธรรมทานว่าเป็นเลิศกว่าการให้ทั้งปวง

ส่วนอภัยทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบซึ่งจับต้องได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ให้ ผู้รับ และที่สำคัญที่สุดคือวัตถุทานที่จับต้องได้ยากมาก เพราะเป็นเพียงนามธรรม แม้เหตุการณ์ล่วงเกินกันไม่ว่าด้วยกายวาจาใจได้จบลงไปแล้ว แต่บาดแผลทางใจยังไม่สิ้นสุด บาดแผลอันเป็นนามธรรมนี้เองที่เป็นวัตถุทานของภาคอภัยทาน

ดูแผนภูมิข้างบนประกอบนะครับ

กำหนดให้ A ถูก B ล่วงเกินด้วยกายวาจาใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจคือ X และ A เป็นผู้ให้ ที่จะให้อภัยต่อ B

X คือวัตถุทานที่เป็นนามธรรม เป็นรอยแผลฝากไว้ในฝั่งของ A ผมแยกออกเป็น การล่วงเกินที่เกิดขึ้นจริง (T) กับอารมณ์ขุ่นมัวที่ A ปรุงแต่งเสริมขึ้นมา (F) นั่นคือ X=T+F เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ซะเลย

จากแผนภูมิอันนี้ เราสามารถอธิบายเรื่องราวต่อยอดได้อีกมากมาย เช่น

(1) ถ้าเป็นเหตุการณ์ตรงไปตรงมา B ขอโทษ A A ยกโทษ X ให้ B โทษ X เป็นอันหมดไปจากความสัมพันธ์ของทั้งสอง แต่โทษ X หนักเบาแค่ไหน ถ้าหนักมากเหมือนเป็นคดีอาญาในทางโลก B ยังต้องสะสางกับกฎเกณฑ์ของธาตุธรรมต่อไป

(2) ถ้าเอามือปิดตรงตัว T คือ B ไม่ได้ล่วงเกิน แต่ A คิดไปเอง คือมีอารมณ์ขุ่นมัว (F) ไปเอง ถ้าเออเองคือคิดยกโทษ ก็เป็นการสละอารมณ์ขุ่นมัวนั้นออกไป คืออโหสิกรรมให้ B (ทั้งๆ ที่ B ก็ไม่ได้ล่วงเกินจริงๆ แต่ถูกกล่าวหา) ก็ถือว่าจบ

กรณีนี้ หาก A ไม่ยอมเออเอง ยังถือโทษขุ่นมัวต่อเนื่อง ในระดับชาวบ้านย่อมเป็นการผูกเวรข้ามชาติโดยที่ B ก็ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไร นี่คือความซวยอย่างหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิด แล้วมาเจอคนอย่าง A เข้า

(3) หากเหตุการณ์ครบองค์ มีทั้ง T และ F แต่ B ดื้อรั้น ไม่ยอมรับว่าตนล่วงเกิน A A ไม่อยากก่อเวร ก็นึกอโหสิกรรมยก F คือความขุ่นมัวออกไปจากใจ แม้ T จะยังอยู่ ไม่ครบองค์แห่งอภัยทาน แต่ A ก็ไม่ต้องขุ่นมัวกับอารมณ์ในเหตุการณ์นี้อีก ส่วน B จะไปรับโทษจาก T หรือไม่ A ก็วางใจปล่อยวางเสีย

(4) ถ้าเอามือปิดตรง F (กลายเป็น X=T) คือมีเหตุการณ์ล่วงเกิน (T) แต่ A ไม่ถือสา ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวเลย มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ที่ให้อภัยต่อลูกได้เสมอ B อาจมาขอขมาลาโทษในยามพิเศษบางอย่าง เช่นขอบวช A ย่อมยกโทษทั้งปวงให้ อภัยทานก็สมบูรณ์

การล่วงเกินด้วยกายวาจาใจ ก็เป็นสิ่งที่ตัดสินยาก เพราะเป็นปฏิสัมพันธ์ของสัตว์โลกที่มีต่อกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขันธ์อายตนะธาตุอินทรีย์ของแต่ละคน การกระทำอันหนึ่งอาจไม่ล่วงเกินคนทั่วไป แต่อาจล่วงเกินคนบางคน เช่นเราขับรถตัดหน้าเขาในระยะ 50 เมตร บางท่านก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางท่านก็หาว่าเป็นการขับรถตัดหน้า และผูกโกรธเราก็ได้ เรื่องอภัยทานจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างแท้จริง

ยังมีได้อีกหลายกรณีจากแผนภูมินี้ ผมไม่ขอกล่าวต่อ ให้ผู้อ่านคิดต่อยอดเอาเอง

แต่ที่อยากจะกล่าวต่อไปคือ ท่านจะเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากบ่วงเวรเหล่านี้ได้

สิ่งที่ผมกล่าวมา คือเหตุการณ์ที่เกิดแก่ A กับ B ซึ่งเป็นบุคคลระดับชาวบ้าน มีบุญบารมีพอๆ กัน จึงเวียนว่ายตายเกิด และมาเจอะเจอกัน หากเราจะหนีให้พ้นวัฏฐจักรเหล่านี้ มีทางเดียวคือ ต้องหนีให้พ้นจากวัฏฏะสงสาร บำเพ็ญบารมีของเราให้แก่กล้า ยกระดับธาตุธรรมของเราให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเหตุการณ์ระดับชาวบ้านไม่อาจตามเราทัน

การสร้างบารมีสอนธรรม ทำให้ธาตุธรรมของเราเป็นถึงระดับอนุพุทธเจ้า ย่อมอยู่ในสถานะที่ก้าวล่วงได้ยาก เหมือนชาวบ้านธรรมดาไม่อาจกล่าวตู่ขุนนางผู้ใหญ่ได้ง่ายๆ

ดังนั้น จงสร้างบารมีให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะการสร้างบารมีสอนธรรม คือคำตอบของทุกสิ่ง

Monday, June 18, 2012

อภัยทาน 1


ทาน จัดเป็น 1 ใน 3 ของปิฎกของภาคขาวของ(กาย)มนุษย์ ซึ่งเป็นภาคสุตตันตปิฎก

มีวิทยากรถามถึงองค์ประกอบของทาน ว่ามีหลักการอย่างไรทานจึงจะสำเร็จผล ผมขอตอบตามความเห็นส่วนตัว และที่ค้นคว้ามาได้ ดังนี้

ทาน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ อามิสทาน ธรรมทาน (หรือ วิทยาทาน) และอภัยทาน

การจำแนกอานิสงค์ของทานว่าอะไรจะสูงกว่ากัน ก็ต้องดูเนื้อหาอ้างอิง เราพบว่ามีพุทธพจน์บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน เลิศกว่าการให้ทั้งปวง” ก็ควรอ้างอิงตามนี้

ผมพยายามหากฎเกณฑ์ของทานจากตำรับตำราต่างๆ พบว่า มีการขยายความไว้แต่ อามิสทาน ธรรมทานและวิทยาทาน ก็พอจะเอากฎเกณฑ์มาใช้ได้ คือมี ผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทาน อานิสงค์จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความประณีตขององค์ประกอบทั้ง 3 นั่นเอง เช่นผู้ให้มีจิตเป็นกุศล ผู้รับเป็นเนื้อนาบุญที่ดี วัตถุทานมีความประณีต หรือเป็นเนื้อหา(ธรรมะ)ระดับไหน ซึ่งเราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ผมไม่ลงลึกรายละเอียดตรงนี้

สิ่งที่ผมอยากพิจารณาต่อก็คือ “อภัยทาน” เรามีกฎเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร ถ้าเราล้อกับกฎเกณฑ์ของอามิสทาน และธรรมทาน อภัยทานก็ต้องมีผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทานเหมือนกัน แต่อภัยทานเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เป็นนามธรรม ที่อาจเป็นแค่อารมณ์ความรู้สึก จึงมีกลไกที่ซับซ้อนกว่า ซึ่งผมจะยกตัวอย่างต่อไป

สมมุติว่า นาย A ถูกนาย B ล่วงเกินด้วยเหตุๆ หนึ่ง (เหตุ X)

(1) กรณีตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นแบบฉบับ ง่ายๆ ให้เกิดความเข้าใจ คือเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง อภัยทานน่าจะสมบูรณ์เมื่อ นาย B ไปขอให้ นาย A ยกโทษ X ให้แก่ตน นาย A ยกโทษ X ให้นาย B โทษ X เป็นอันหมดไปจากความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เหมือนเราไม่ติดใจเอาความ โทษทางแพ่งก็เป็นอันหมดไป แต่หากโทษ X นั้นหนักหนามาก ยังมีโทษทางอาญาที่ยกฟ้องไม่ได้อยู่ ก็เป็นเรื่องของนาย B กับกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎเกณฑ์ของธาตุธรรม คืออัยการยังต้องสั่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

(2) กรณีไม่ตรงไปตรงมา เช่น นาย A เข้าใจผิดว่านาย B ล่วงเกินตนด้วยเหตุ X แต่ความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ถือว่าโทษของเหตุ X ย่อมไม่มีแก่นาย B มาแต่เดิม กรณีนี้มีแต่ผู้ให้(A) ไม่มีผู้รับ ส่วนวัตถุทานเปลี่ยนเป็น “อารมณ์โกรธ” ของนาย A นาย A อาจนึกขึ้นมาลอยๆ ว่าขออโหสิกรรมให้นาย B ก็เป็นการสละอารมณ์โกรธนั้นออกไป องค์ประกอบของทานอาจไม่สมบูรณ์นัก เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มีเหตุ X เลย แต่ทำให้นาย A ไม่ต้องแบกอารมณ์โกรธนั้นอีกต่อไป

แต่หากนาย A ไม่สละอารมณ์นั้นทิ้งเสีย และจองเวรนาย B ต่อ สำหรับความรู้ระดับชาวบ้าน เหตุการณ์นี้ยังไม่จบเพราะสามารถจองเวรกันข้ามภพข้ามชาติได้ แม้นาย B จะไม่ตอบโต้เลยก็ตาม เช่นกรณีพระพุทธเจ้า กับเทวทัต เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนั้นน่ากลัว เราว่าเราดีปานใดอยู่เฉยๆ ก็มีเรื่องได้

(3) บางที นาย B คิดว่าตนคงเคยไปล่วงเกินนาย A โดยที่นาย A ก็ไม่เคยติดใจอะไร เช่นนาย B ไปขอขมานาย A ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช นาย A อโหสิกรรมให้ทุกอย่าง อันนี้ก็คงเข้าได้กับกรณีตรงไปตรงมาอันแรก น่าจะถือว่าครบองค์ทั้ง 3 แห่งทาน

(4) กรณีไม่ตรงไปตรงมาอีกกรณีหนึ่ง คือ นาย B ล่วงเกินนาย A ด้วยเหตุ X จริง แต่นาย B ไม่ยอมรับว่าตนล่วงเกินนาย A แม้นาย A ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีคุณธรรมมากกว่าจะกล่าวลอยๆ ว่าขอโทษ X จงอย่ามีแก่นาย B เลย กรณีนี้นาย B ย่อมยังไม่พ้นโทษ เพราะเขาไม่คิดแม้จะหยิบมันออก เรียกว่าเป็นโจรใจแข็ง แต่นาย A ก็ได้สละอารมณ์ไม่ดีออกไป แม้ไม่มีโอกาสได้ให้อภัยทานแก่นาย B อย่างครบองค์ก็ตาม

จะเห็นได้ว่า อภัยทานมีความยากในการพิจารณา เพราะเป็นนามธรรม เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของมนุษย์ที่มักเข้าข้างตัวเอง และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผมเพียงนำเสนอให้ช่วยกันวิเคราะห์เท่านั้น

กรณีของวิทยากร ให้ไปอ่านปราบมาร 6 บทที่ว่า ทำอย่างไรเมื่อถูกสาปแช่ง มีกล่าวไว้หลายแห่ง แล้วเอามาคุยกัน

Sunday, June 17, 2012

ความว่าง คือจุดสูงสุดจริงหรือ?


เมื่อเราเข้าใจเรื่องการยกระดับธาตุธรรม เราก็มาต่อยอดเรื่องจุดสูงสุดของศาสนากัน

จุดสูงสุดของศาสนาพุทธ คือนิพพาน ซึ่งทุกสำนักพูดตรงกัน แต่เข้าใจต่างกัน ผมจึงขออ้างอิงเหตุผล (Logic) ง่ายๆ ดังนี้

มนุษย์ ทำคุณงามความดีเพื่อยกระดับธาตุธรรมของตน ไปเป็นเทวดา (ทิพย์) มีเทวธรรมคือหิริโอตตัปปะ  สภาพเปลี่ยนจากความเกิดแก่เจ็บตายแบบมนุษย์ กลายเป็น เกิดกับตาย (จุติ) ไม่มีแก่กับเจ็บ อายุยืนขึ้นจากความเป็นมนุษย์มาก

จากเทวดา ยกระดับธาตุธรรมไปเป็นพรหม อรูปพรหม มีพรหมวิหาร และฌานทั้ง 4 และ 8 เป็นคุณสมบัติ ยังมีเกิดกับตาย (จุติ) แต่อายุยืนยาวมาก มากจนนึกว่าเป็นอมตะ เป็นนิรันดร์ แต่สุดท้ายก็ยังไม่พ้นจุติ ต้องยกระดับธาตุธรรมต่อไปให้ถึงนิพพาน

เมื่อยกระดับธาตุธรรมมาถึงนิพพาน เหตุและผลที่น่าจะต่อเนื่องมาก็ควรจะเป็น  มีเกิด(บรรลุธรรมเข้านิพพาน) แต่ไม่มีตายอีกแล้ว มีอายุสืบเนื่องไปเรี่อยๆ เป็นอมตะ และบรมสุขอย่างแท้จริง

แต่คำสอนส่วนหนึ่งกลับเห็นว่านิพพานเป็นความว่างทั้งปวง ไม่ใช่แค่ว่างจากกิเลส แต่ล่วงไปถึงการไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีแม้สถานที่ที่เป็นนิพพาน สภาพไม่ต่างไปจากการไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ตลอดกาล

แค่เหตุผลต่อเนื่องง่ายๆ ก็กลับหัวกลับหางมาจนได้ เรายกระดับธาตุธรรมด้วยการสร้างบุญบารมีมาแทบแย่ เพื่อมา ตายตลอดกาล หรืออย่างไร?


การพิจารณาไตรลักษณ์ จึงควรพิจารณาในระดับของภพ 3 ซึ่งเป็นระดับที่เรายังเวียนว่ายตายเกิด บำเพ็ญบารมีอยู่ ไตรลักษณ์ไม่ควรเป็นลักษณะของจุดสูงสุดที่เรามุ่งหวังจะไปเป็นอยู่คือที่นั่น