Pages

Friday, September 30, 2011

จับผิดครู


เดิมว่าจะเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ต่อ แต่อยากแทรกเรื่องนี้เข้ามาก่อนเพราะตั้งใจจะเขียนมานานแล้ว

ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในวงการแพทย์มานาน เห็นวิชาการในทางโลกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการปรับปรุง (Update) ต่อยอดเสมอมา วิชชาแพทย์สมัยใหม่มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันจนต้องแยกแยะตำราออกเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ Journal ไปจนถึง Textbook แม้เป็น Textbook แล้วก็ต้องดูด้วยว่าเขียนขึ้นในปีใด ส่วนใหญ่จะต้อง update ใหม่ทุกๆ 5 ปี

แต่วิชาธรรมกายซึ่งเป็นวิชชาสำคัญสำหรับความอยู่รอดของชีวิตในระดับธาตุธรรม กลับมีตำรับตำราออกมาน้อยมาก ทั้งที่เนื้อหามีทั้งความกว้างและความลึก ประวัติศาสตร์ก็ยาวนานจนนับประมาณมิได้ แต่เราไม่อาจศึกษาวิชาธรรมกายได้เหมือนวิชาการทางโลก เพราะอะไร เราก็รู้ๆ กันอยู่

มาถึงตรงนี้ผมนึกทึ่งในความรู้สำคัญในยุคแม่ชีถนอม และคุณลุงที่ว่า ศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์ โลกและธรรมจึงจะเจริญนั่นเอง นี่คือความทันสมัย ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เนรคุณครู เรามีความเคารพบูชาครูบาอาจารย์อยู่เช่นเดิม แพทย์รุ่นเราก็ยังเคารพแพทย์รุ่นบุกเบิกอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพราะหากไม่มีท่าน แพทย์อย่างเราก็ไม่มี

ข้าเรื่องนะครับ ประสบการณ์ของผม มีเรื่องจับผิดหรือมีความเห็นไม่ตรงกับครูอยู่เสมอมา ส่วนใหญ่พอพิสูจน์ได้ มักพบว่าเราผิดเอง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีความคิดของตัวเองไว้ก่อน ตามหลักกาลามสูตร ดังเรื่องที่จะเล่าคร่าวๆ ต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 การเดินวิชชาพรหมวิหาร 4


ผมรู้จักการเดินวิชชานี้ตั้งแต่เริ่มสอนธรรมใหม่ๆ เพราะลูกน้องของผมเองมีปัญหาถูกรุ่นพี่ในที่ทำงานรังแก ผมเขียนจดหมายไปปรึกษาคุณลุง คุณลุงแนะนำให้เดินวิชชาพรหมวิหาร 4 แบบง่ายๆ เพราะถือว่าตอนนั้นเราเพิ่งมาเรียนรู้ใหม่ๆ โดยเอาใจเราไปหมุนขวาที่ดวงธรรมของผู้รุกราน แล้วท่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมื่อกายมนุษย์เจอะเจอเขาก็ให้นึกท่องอย่างนี้ไป หากเขาไม่กลับใจ เขาจะมีอันเป็นไปเอง ซึ่งวิชชานี้ได้ผลเกินคาด ชนิดเจ็บป่วยแทบตายกันเลยทีเดียว และภายหลังยังมาดีกับเราชนิดชวนให้ไปทำงานแผนกใหม่กับเขาด้วยซ้ำ ผมไม่เล่ารายละเอียดนะครับ ไว้มีเวลาจะเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะปัจจุบันการทำวิชชานี้ มีความซับซ้อนมากขึ้น คุณลุงเคยให้ผมไปบรรยายในห้องประชุมแล้ว

ต่อมา เราก็เอาวิชชานี้มาทำกันในหมู่วิทยากร แต่มาเดินวิชชาในศูนย์กลางกายของตัวเราเอง ทำเช่นนี้มาตั้งนาน  จนคราวหนึ่งได้มีโอกาสคุยกับคุณลุงทางโทรศัพท์พูดถึงเรื่องนี้ คุณลุงต่อว่ามาว่าจะมาเดินวิชชานี้ในศูนย์ของเราทำไม เราตอบว่าจะได้ทำให้คนเขารักเราไงครับ คุณลุงบอกว่าเราจะทำให้ใครรักก็ต้องมีเป้าหมาย โดยไปทำที่ศูนย์ของคนๆ นั้น หากมาทำที่ตัวเราเอง มันไม่เสียหาย แต่จะทำไปทำไม? เราก็งงๆ คิดว่าน่าจะทำได้ แต่ความหมายของคุณลุงคือตัวเราเป็นพระอยู่แล้ว หากจะทำก็ไปทำให้คนอื่นมีพรหมวิหารสิ ผมก็ยังไม่เชื่อ และคิดว่าเราถูกอยู่ดี เพราะเราก็รู้สึกว่าบางครั้งเราไม่ค่อยมีเมตตาเท่าไหร่หรอก

จนมาค้นจดหมายเก่า พลิกตำราทุกเล่มที่มีเรื่องพรหมวิหาร ปรากฏว่าการทำวิชชานี้ทั้งปวง ล้วนทำในศูนย์ของคนอื่นทั้งนั้น ซึ่งอาจคำนวณคนทั้งโลกเข้ามาก็ยังได้ สรุป งานนี้เราเถียงลุงไม่ได้

เรื่องที่ 2 ปุพเพนิวาสญาณ จุตูปปาตญาณ


เป็นเรื่องของคำศัพท์

ผมเคยได้ยินมาจากสายธรรมกายบางสายว่า ปุพเพนิวาสญาณ คือการดูตัวเอง หากดูอดีต เรียกว่า อตีตังสญาณ หากดูอนาคต เรียกว่า อนาคตังสญาณ ส่วน จุตูปปาตญาณ คือการดูคนอื่น จะดูอดีตหรืออนาคต ก็ว่าไป

แต่มาได้ยินคุณลุง คุณลุงบอกว่า ปุพเพนิวาสญาณ คือการดูอดีต ส่วน จุตูปปาตญาณ คือการดูอนาคต จะดูตัวเราเอง หรือดูคนอื่น ก็ว่าไป

ผมก็เลยงงๆ เพราะเคยมีความเข้าใจอย่างอื่นมาก่อน ตอนแรกไม่เชื่อลุง แต่ภายหลังได้ค้นตำรับตำราทั้งที่เป็นวิชชาธรรมกาย และนอกสายธรรมกาย ก็พบว่าหลายแห่งตรงตามที่คุณลุงบอก ท่านผู้อ่านอ่านแล้วก็อย่าสับสนนะครับ

อย่างไรก็ดี หากเราเดินวิชชาดูปุพเพนิวาสญาณและจุตูปปาตญาณ ก็ไม่จำเป็นต้องพะวงกับคำแปลนัก ในทางปฏิบัติ จะดูอดีต ปัจจุบัน อนาคต ของอะไร ก็เข้าวิชชาไปตามบทเรียน เช่นคู่มือสมภารบทบัญญัติที่ 5 กับมรรคผลพิสดาร 1 บทบัญญัติที่ 23 เป็นต้น

เรื่องที่ 3 การละลายดวงทุกข์(สมุทัย) จะต้องละลายดวงเกิดด้วยหรือไม่


ถึงปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่ชัดเจนในคำตอบ เพราะคุณลุงตอบว่าไม่ต้องละลาย โดยถือว่าดวงเกิดเป็นส่วนหนึ่งของกำเนิดเดิมของเรา อธิบายเพิ่มเติมว่าเราเกิดมาก่อน จนถึงอายุ 14 ปีตามตำรา ดวงเกิดจึงขยายส่วนออกมาให้เห็น ทำให้ชีวิตยังดำรงค์ต่อไปได้ หากไม่เป็นเช่นนั้นชีวิตก็จะแตกดับ การละลายดวงทุกข์(สมุทัย) คุณลุงมักใช้คำพูดเพียงว่า ละลาย แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้น

ตอนนี้ ผมยังมีเหตุผลที่มีความเห็นไม่ตรงกับคุณลุงอยู่ (ซึ่งเคยพยายามถามคุณลุงแล้ว ก็ยังได้คำตอบเดิม) ดังนี้

หากเป็นไปตามคำตอบข้างต้น ดวงเกิดก็ไม่น่าจะจัดเป็นส่วนหนึ่งของดวงทุกข์ ที่เราเคยเรียนกันมานานว่า ทุกข์มี 4 อย่างคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าเป็นลักษณะนี้ต้องเปลี่ยนใหม่เป็น ทุกข์มีแค่ แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้น ตัด เกิดออกไป ซึ่งอาจล้อกับดวงสมุทัย ที่มีอยู่ 3 ดวงตามตำราคู่มือสมภารก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทเรียนกันมาก


ตั้งแต่อดีต มีผู้พยายามอธิบายว่าความเกิดเป็นทุกข์อย่างไร บ้างก็ว่ามารดาต้องเจ็บปวดในการคลอด ซึ่งหลายท่านแย้งแล้วว่านั่นมันไม่ใช่ความทุกข์ของผู้มาเกิด ก็เลยมีหลายท่านอธิบายว่าเป็นทุกข์เพราะถูกมดลูกมารดาบีบอยู่นาน เจ็บและอึดอัดหายใจลำบาก ก็เลยเป็นทุกข์แต่เราจำไม่ได้ แต่เหตุผลที่คนทั่วไปยอมรับมากกว่า ก็คือเมื่อเกิดมาแล้ว เป็นเหตุให้เราต้องมาผจญกับทุกข์อีก 3 ตัวคือ แก่ เจ็บ ตาย นั่นเอง

ความเข้าใจของผม ซึ่งไม่ขอรับรองความถูกต้องนะครับ คือ ดวงเกิดน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ ทุกข์นั่นแหละ แต่พบว่าจะเข้ามาเมื่ออายุ 14 ปีตามตำรา ผมเชื่อว่ามนุษย์ได้เกิดมีชีวิตมาก่อนแล้วด้วยกำเนิดเดิมของตน ซึ่งมีต้นกลางปลาย ไม่จำเป็นต้องมีดวงเกิดดวงนี้อีก ผมคิดว่าดวงเกิดดวงนี้เป็นดวงฐานทัพของภาคมารที่ส่งเข้ามาตั้งไว้ในที่ตั้งของเรา แต่เขาหลอกเราด้วยลักษณะขาวใสของดวง ซึ่งภาคเขาทำได้สบายมาก และอาจมีชื่อเรียกว่าดวงเกิด เพื่อให้ละม้ายคล้ายชื่อของกำเนิดเดิมของเราก็ได้ เมื่อตั้งฐานทัพได้ ดวงแก่เจ็บตาย จะมาตอนไหนก็สะดวกแล้ว

ฐานทัพที่ว่า อาจไม่ได้รอรับแค่ทุกข์สมุทัย แต่อาจจะเป็นฐานทัพของภาคปิฎกด้วย เราแยกแยะเป็นภาคเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ แต่จริงๆ ก็เป็นงานของเขาทั้งนั้น วิทยากรของเราหลายท่านเป็นครูบาอาจารย์เก่ามาก่อน ต่างสังเกตเห็นว่าเด็กมัธยม ม.2 มักเป็นปีที่มีปัญหามากที่สุด และด้วยความบังเอิญ เด็ก ม.2 ส่วนใหญ่อายุ 14 ปีพอดี

ตามความเข้าใจของผม หากเราตั้งเป้าว่าให้ละลายดวงเกิด (พร้อมกับ แก่เจ็บตาย) ไปด้วย ซึ่งรวมกันคือดวงทุกข์ ก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไร เพราะหากดวงเกิดเป็นของฝ่ายเรา ดวงนั้นก็จะมีความสะอาดมากขึ้น ไม่สามารถระเบิดแตกด้วยวิชชาของภาคขาวด้วยกันอยู่แล้ว แต่หากเป็นของภาคมาร ย่อมถูกระเบิดแตกไปด้วยอำนาจแห่งวิชชาภาคขาวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ถือเป็น Therapeutic diagnosis คล้ายหลักของการแพทย์ เพราะในบันทึกปราบมารของคุณลุง ก็เคยทำเช่นนี้มาก่อน ตอนที่ไปพบจักรพรรดิ์กายหนึ่งหม่นหมอง เข้าใจว่าเป็นจักรพรรดิ์ภาคมาร จึงทำวิชชาเข้าไประเบิดกายจักรพรรดิ์นั้น ปรากฏว่ากายท่านยิ่งขาวใสมากขึ้น ไม่แตกทำลายแต่อย่างใด แสดงว่าท่านเป็นภาคขาวนั่นเอง

เรื่องสุดท้ายนี้ ยังไม่มีข้อสรุป แม้เราจะมีข้อโต้แย้งในเชิงวิชาการกับครูอาจารย์ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเราผิดพลาดตกหล่นเสียเองอยู่บ่อยๆ แต่เราก็ยังควรอยู่ด้วยหลักเหตุผลต่อไป และ อย่าเพิ่งเชื่อ ตามหลักกาลามสูตรไว้ก่อน เพราะวิชชาอาจต้องรอการ Update ไปอีก โดยระมัดระวังความเพี้ยนไว้เสมอ


ผมต้องการเปิดมุมมองที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับครูในทุกๆ เรื่อง ไม่เช่นนั้นโลก(และธรรม) จะพัฒนาได้อย่างไร ผมเชื่อว่าการมีความคิดเห็นไม่ตรงกับครู ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าดื้อไม่รับฟังอะไรเลย เราต้องรับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังคิดอย่างไรอยู่ และเรื่องนี้ครูคิดเห็นอย่างไร แล้วคิดเผื่อไว้ด้วยว่าหากเรื่องนี้เราเป็นฝ่ายผิด จะเกิดปัญหาร้ายแรงตามมาหรือไม่ หรือแม้หากครูเป็นฝ่ายเข้าใจผิด จะเกิดเป็นปัญหาอะไรได้หรือไม่ รวมถึงหมั่นทบทวนหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป