Pages

Wednesday, November 30, 2011

โยนิโสมนสิการ


การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี

ก่อนเราจะไปถึงวิชาในทางลึก ผมเห็นว่าเราต้องทำความเข้าใจกับรากฐานให้แน่นหนา วันนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของ ความตั้งใจไว้ในที่ที่ถูกทางเสียก่อน หากไม่เป็นเช่นนั้น เราได้ยินได้ฟังอะไรมา เราก็ฟังผ่านโดยไม่ไตร่ตรอง เพราะเรามีจุดยืนที่แน่นหนาอยู่ก่อนแล้ว เราไม่ใส่ใจเนื้อหาใหม่ๆ ที่อาจสำคัญกว่าสิ่งที่เราเคย เป็นอยู่คือมาก่อน

อยากให้ทบทวนเรื่อง ผู้มาใหม่ แม้ผู้อยู่เก่าก็ควรตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของ ความเพี้ยน เฝือ เรื้อรัง ฮึกเหิม เพราะเมื่อเวลาเนิ่นนานไป เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น โอกาสที่ใครๆ จะเตือนเราได้ ก็มีน้อยลงทุกวัน เราหลงผิดไปทางไหน ไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาเตือนเรา หากความผิดพลาดเป็นเรื่องสำคัญ เราอาจรู้ตัวเมื่อสาย คุณลุงเคยสอนอยู่ตอนหนึ่งว่าเมื่อครั้งคุณลุงเป็นครู แม้ภารโรงก็ยังตรวจสอบคำบาลีที่ลุงเขียนบนกระดานดำได้

ทุกอย่างมันออกไปจากความคิด การทำธุรกิจใหญ่โตทุกอย่างที่ประสบผล ล้วนมาจากความคิดที่ถูกต้องทั้งสิ้น เพื่อนนักธุรกิจคนสำคัญของน้องสาวผมได้บอกไว้ว่า เขาก่อร่างสร้างธุรกิจมานาน มีเงินเป็นร้อยๆ ล้านก็จริง แต่เธอรู้ไหมว่าฉันสามารถหมดตัวได้ภายในวันเดียว เพียงเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพียงเพราะยกหูโทรศัพท์สั่งการผิดพลาดแม้ครั้งเดียวเท่านั้น

การระมัดระวังความคิดหรือใจของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดยอดเหนืออื่นใด

แม้การเข้ามาเรียนรู้วิชาธรรมกายก็ตาม ผมเคยเขียนในบทความเรื่อง ศรัทธากับปัญญา รู้ญาณกับเหตุผล มาก่อนแล้ว ความเชื่อทุกอย่างมี 2 ด้านนี้เสมอ วิชาธรรมกายมีทั้งเนื้อหาวิชาการที่เป็นเหตุเป็นผล และปาฏิหาริย์ ที่เกิดจากการ รู้เห็นเป็นซึ่งเป็นภาคปฏิบัติปฏิเวธในตัววิชชาเอง เกิดเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาขึ้น

แต่ความศักดิ์สิทธิ์โดยทั่วไปก็มีได้แม้ไม่ได้มาเรียนวิชาธรรมกาย หากเรามัวหลงในความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ทั้งปวง เราก็ยังไม่ก้าวล่วงความเป็นปุถุชน ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาก็เป็นกันมาก่อน เมื่อเราเรียนวิชาธรรมกาย เราจึงต้องเป็น (หรือหากยังไม่เป็นก็พยายามแสวงหา) สิ่งที่มากกว่าอภินิหารเหล่านั้น คือทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงเกิดขึ้นจาก การเรียนรู้วิชา จึงจะสมภูมิที่อุตส่าห์มาเจอหลักวิชา

ยุคต้นๆ ของการมาเป็นวิปัสสนาจารย์ของผม คุณลุงและหมู่คณะจะเน้นย้ำถึงการออกไปสร้างบารมีสอน จะมีการทบทวนเทคนิคการสอน การใช้อุปกรณ์การสอน ว่าต้องมีดวงใส กับผ้า 7 ฐาน มีการแก้ปัญหาผู้เรียน เวลาเห็นธรรมยาก เวลาปวดเมื่อย มีการตรวจสอบการเห็นธรรมที่ชัดเจน คือการสอบถามผู้เรียนตรงๆ ไม่ได้ใช้รู้ญาณตรวจแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้สามารถทบทวนได้ในหนังสือ คู่มือวิปัสสนาจารย์ และที่ต่อยอดขึ้นมาก็คือหนังสือ ปุจฉาวิสัชชนา นั่นเอง

แม้ปัจจุบัน เป็นยุคของเทคโนโลยี เราอาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยเราได้มาก แต่ก็ต้องไม่ลืมพื้นฐานดั้งเดิมด้วย คุณลุงมีวิธีพลิกแพลงให้เราได้ยินได้ฟังเสมอ สมัยหนึ่งเคยไปร่วมสอนกับคุณลุง ตอนนั้นใช้แผ่นใส ฉายผ่าน Overhead Projector เราเคยลองเอาดวงใสวางแล้วฉายขึ้นจอ ภาพดวงออกสีคล้ำๆ คุณลุงเห็นเข้า บอกเราให้รีบเอาออก ลุงไม่ให้ใช้ เพราะมันติดตาผู้เรียนที่มาใหม่ ทั้งที่ดวงใสนั้นก็เป็นดวงแก้วของพวกเราวิปัสสนาจารย์นั่นแหละ

หากใช้นิมิตแบบโบราณก็ให้ใช้ดวงจันทร์ จะสอนใครที่ไม่เคยเห็นดวงใสมาก่อนก็ให้เขานึกถึงดวงจันทร์ เวลาไปช่วยคนตาย ให้ใช้วิธีสอนให้เขาเป็นธรรมโดยบอกนิมิตเป็นดวงจันทร์ เพราะเป็นสากล ใครๆ ก็รู้จัก มีคำถามในปุจฉาฯ ว่าใช้นิมิตเป็นดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ คุณลุงตอบว่าดวงอาทิตย์มีสีออกส้มๆ กระเดียดไปทางดำ ไม่ให้ใช้

แสดงว่า คุณลุงให้ความสำคัญกับนิมิตที่เอามาใช้สอนธรรมมาก

นานมาแล้ว ผมเคยถามคุณลุงว่ารัตนชาติที่มีสีดำ แต่จักรพรรดิ์กายสิทธิ์ข้างในเป็นภาคขาวได้ไหมครับ คุณลุงตอบผมว่า ได้ แต่น้อย ผมมีอยู่องค์หนึ่ง เป็นสีดำ แต่กายในใส เอาไว้หมอไปดูสิ ผมเก็บไว้ในตู้ ลุงไม่ได้เอาออกมาไว้ข้างนอก

ปัจจุบัน ดูเหมือนเราคุยถึง เคล็ดลับงานสอน เคล็ดลับการทำใจให้ใส เคล็ดลับการอ่านตำราให้มากเที่ยว ทบทวนตำราให้แตกฉาน น้อยลงไปหน่อย บางครั้งอาจติดอภินิหารรู้ญาณจักรพรรดิ์กายสิทธิ์เป็นหลัก เพราะไม่ว่าใครที่เข้ามาสร้างบารมี ก็อยากเด่นอยากดังอยู่ในตัวกันทั้งนั้น ยุคแรกๆ ผมก็เป็น แต่เมื่ออยู่ไปนานวัน จึงพบว่าสิ่งที่จะช่วยตัวเรา ช่วยศาสนา ช่วยจรรโลงวิชาได้จริงๆ คือหลักเหตุผลและความรู้ทางวิชชา มากกว่ารู้ญาณ ซึ่งบางทีเกิดขึ้นกลางอากาศ ผิดบ้างถูกบ้าง ได้แต่เอามาคุยเสียมากกว่า

บันทึกปราบมารของคุณลุงระบุไว้ชัดเจน ให้เชื่อเหตุผลมากกว่ารู้ญาณ

อยากให้ผู้สนใจใฝ่เรียนรู้ที่มีโอกาสเข้ามาเจอแหล่งวิชาแล้ว ได้กอบโกยความรู้ และสร้างบารมีสอนให้เต็มที่ อภินิหารจะเกิดตามมาเองอย่างแน่นอน แต่อย่าเอามาเป็นบทนำ

และ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน อย่าฮึกเหิม โดยเด็ดขาด
นั่นคือมี โยนิโสมนสิการ ไว้แต่เริ่มแรก นั่นเอง

Friday, November 18, 2011

สมถะ กับ วิปัสสนา


วันนี้เราคุยกันในเรื่องสำคัญ แบบง่ายๆ ซึ่งอยู่ในหลักสูตรวิชชาธรรมกาย ในหนังสือคู่มือมรรคผลพิสดารทั้ง 2 ภาค ท่านผู้อ่านควรอ่านตำราประกอบให้จบ จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น

ธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนามีวิชชาสำคัญ 2 วิชชาคือ สมถะ และวิปัสสนา ขอให้ดูในหนังสือคู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 12 ประกอบด้วยอีกเล่มหนึ่ง

สมถะ(ความสงบระงับ) คือการฝึกให้จิตเป็นขึ้น คือให้มีกำลังทางใจเกิดขึ้นนั่นเอง

ส่วนวิปัสสนา(ความเห็นแจ้ง) คือการเอาจิตที่เป็นขึ้นแล้ว เก่งแล้ว แข็งแรงแล้ว มาศึกษาเรื่องของตัวเองในภาคละเอียด คล้ายการศึกษากายวิภาค (Anatomy) ของร่างกายของเราในวิชาแพทย์

การฝึกสมถะและวิปัสสนาจึงเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน จะแยกกันฝึกโดยไม่เกี่ยวข้องกันไม่ได้ ตรงนี้มีการถกเถียงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติมากมาย บางสำนักกลัวการฝึกสมถะเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เหตุผลง่ายๆ ก็คือพระพุทธเจ้าท่านสอนทั้งสมถะและวิปัสสนา

สมถะ

ความสงบระงับ
คือการฝึกจิตให้เป็นขึ้น 
ภาษาอังกฤษใช้คำรวมๆ ว่า Meditation แต่ Meditation ครอบคลุมเนื้อหารวม ทั้งในพุทธศาสนา และนอกพุทธศาสนา

หลักการของสมถะเป็นการฝึกจิตให้แข็งแรง อุปมาเหมือนการฝึกร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งเราจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล

ผมเคยฝึกนักกีฬาแบดมินตัน โดยดูความแข็งแรงของนักกืฬาตอนกระโดดตบลูก เพราะลูกตบเป็นลูกที่ใช้แรงมาก และเป็นลูกฆ่าที่สำคัญ แต่เดิมใช้วิธีฝึกโดยการโยนลูกให้กระโดดตบวันหนึ่งเป็นร้อยครั้ง แต่โค้ชหลายท่านจะไม่ให้นักกีฬาจับไม้แบดมินตันเลยจนกว่าจะผ่านการฝึกยกน้ำหนักเสียก่อน โดยเริ่มจากน้ำหนักน้อยๆ เช่น 2 กิโลกรัม โดยให้ยกไป 1 สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนน้ำหนักเป็น 5 8 10 กิโลกรัมตามลำดับ ลำดับละ 1 สัปดาห์ ครบ 1 เดือน จึงให้ทดลองจับไม้แบดมินตัน แล้วลองตบลูกดู ผลปรากฏว่านักกีฬาสามารถตบลูกได้รุนแรงทั้งๆ ที่ไม่ได้จับไม้มาเป็นเดือน

ทำให้เราทราบว่าการฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแล้วเอามาใช้งาน เราเพียงเอาหน้าที่ของกล้ามเนื้อ(คือการออกแรง) มาพัฒนาโดยค่อยๆ เพิ่มแรงให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่นี้เราใช้ลูกน้ำหนักในการฝึก โดยไม่ได้มุ่งหวังให้นักกีฬาไปเป็นนักยกน้ำหนักแต่อย่างใด ผลคือกล้ามเนื้อแข็งแรง เอามาใช้เล่นกีฬาแบดมินตันให้เรา โดยให้มาพัฒนาทักษะอีกนิดหน่อยเท่านั้น

การวัดผลว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ก็เพียงดูง่ายๆ ว่าตอนนี้เขายกน้ำหนักได้กี่กิโลกรัมแล้ว นั่นเอง

การฝึกนักกีฬาจริงๆ มีความซับซ้อนกว่านี้มาก ผมพยายามยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายนะครับ

เมื่อมาถึงการฝึกใจให้แข็งแรง ก็ไม่ต่างจากการฝึกกายเลย เพียงแต่ใจ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน แต่มีหน้าที่ของใจให้เรารู้ได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนว่าใจมีหน้าที่ 4 อย่าง คือ เห็น จำ คิด รู้ การฝึกใจจึงให้เอาเห็นจำคิดรู้มาพัฒนานั่นเอง เหมือนกล้ามเนื้อที่เราเอาการออกแรงมาพัฒนา


หลักสูตรภาคสมถะ มี 40 วิธี ล้วนเป็นวิธีการพัฒนาหน้าที่ของใจให้แข็งแรงทั้งสิ้น โดยเลือกเอาวิธีที่ถูกจริตอัธยาศัย หรือวิธีที่ใช้ได้กับทุกจริตอัธยาศัย นั่นเอง

ท่านจะเลือกใช้วิธีไหน กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปฌาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 รวมเป็น 40 ล้วนเป็นการปั้นใจดวงนี้ขึ้นมา แล้วพัฒนาจนเกิดความแข็งแรงของใจ เช่นอาโลกกสิณ การเพ่งกสิณแสงสว่างโดยใช้ดวงใสเป็นแบบ ด้วยการเริ่มให้ใจทำงาน จดจำ จินตนาการ นึก ดวงใสที่เราเห็นด้วยตาขึ้นมาก่อน เริ่มนึกได้ลางๆ ซัก 20% ก็เปรียบเสมือนเราเพิ่งหัดยกน้ำหนักได้ 2 กิโลกรัม พอนึกไปๆ นึกได้ชัดขึ้นเป็น 50% ก็เปรียบเหมือนเรายกน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม นึกได้ 80% ก็เหมือนยกน้ำหนักได้ 8 กิโลกรัม นึกไปๆ นึกได้เท่าตาเห็นคือ 100% ยกน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม เราวัดผลตรงนี้ ถือว่าจิตเป็นขึ้น พร้อมจะเอามาทำงานทางใจได้ในระดับหนึ่ง ในวิชชาธรรมกาย เราให้เอามาเดินวิชชา 18 กายเสียก่อน จากนั้นจะเอาไปเรียนรู้ในภาควิปัสสนาคือการศึกษาเรื่องของตัวเราแบบแยกส่วน เหมือนหมอศึกษาร่างกายมนุษย์ด้วยการผ่าศพ เพื่อให้รู้เรื่องของตัวเราอย่างแจ่มแจ้ง รักษาโรค และแก้ปัญหาของชีวิตของเราได้ต่อไป

ความสำคัญของภาคสมถะ คือการวัดผล ให้รู้ว่าจิตเราเป็นขึ้นหรือยัง ก่อนจะเอามาทำงานทางใจในระดับต่อไป เช่นเดียวกับการวัดผลความแข็งแรงของนักกีฬาให้ได้ระดับเสียก่อน จึงเอามาฝึกทักษะทางกีฬาที่จะเล่นได้ ซึ่งไม่ยากแล้ว

หากจิตยังไม่เป็นขึ้น แล้วรีบเข้าสู่การเรียนรู้ในภาควิปัสสนา การเรียนรู้นั้นก็ทำได้ไม่ถนัด หรือไม่ได้เลย เหมือนนักกีฬาที่ยังไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถเล่นกีฬาให้ดีได้

ภาคสมถะทั้ง 40 วิธี มีอธิบายไว้จนครบในหลักสูตรมรรคผลพิสดาร 2 โปรดหาอ่านดู

วิปัสสนา

ความเห็นแจ้ง เป็นการเรียนรู้ส่วนประกอบภาคละเอียดของตัวเรา โดยใช้จิตที่เป็นขึ้นแล้ว เก่งแล้วจากภาคสมถะ มาดู ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 นั่นเอง ซึ่งบทเรียนในคู่มือมรรคผลพิสดารภาค 1 มีบทบัญญัติให้ฝึกหัดไปในแต่ละบท

ระหว่างที่เราดูส่วนประกอบเหล่านี้ไปแต่ละอย่าง เราจะเห็นปัญหาของความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ เช่น ในภาคของขันธ์ 5 จะพบว่ากายมนุษย์ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีการแตกทำลายของขันธ์ ให้เราไปหัดดูกายละเอียดของคนที่กำลังจะตาย ว่าเดินทางไปตามฐานที่ตั้งใจอย่างไร อะไรทำให้ขันธ์ต้องแตกดับ มีทุกข์สมุทัยหุ้มอยู่อย่างไร ระดับไหนบ้าง

เมื่อดูถึง อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ เราจึงพอทราบได้ว่า มนุษย์ติดต่อกับโลกรอบตัวอย่างไร ทำไมมนุษย์เมื่อเห็น ฟัง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ในสิ่งเดียวกัน จึงตอบสนองไม่เหมือนกัน ชอบ ไม่ชอบ ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่สิ่งกระตุ้นเป็นตัวเดียวกัน ดูอินทรีย์แล้ว น่าสงสัยว่าอินทรีย์มนุษย์ ทำไมมีทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ แทรกเข้ามาในอินทรีย์ 22 ของเราตั้งแต่อ้อนแต่ออก ได้อย่างไร

ดูถึงอริยสัจ 4 จะเห็นสายปกครองฝ่ายทุกข์สมุทัยที่ส่งวิชชามาให้มนุษย์แก่ เจ็บ ตาย อยู่ลึกถึงเพียงนี้ แถมยังทำวิชชาหุ้มไปทั่วทั้งสุดหยาบสุดละเอียด มีตำราให้เรียนอย่างเจาะลึกในวิชชาธรรมกาย เห็นแล้ว เราคิดแก้ไขอย่างไร จะใช้วิชาใด พอมาถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 จึงเห็นสายปกครองอีกสายคือสายปิฎก อันมี อวิชชา เป็นหัวหน้า อยู่ลึกถึงอย่างนี้นี่เอง เราจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว


วิจารณ์


การฝึกกายด้วยลูกน้ำหนัก (Dumbbell) เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แล้วเอาความแข็งแรงมาเล่นแบดมินตันให้เรา ในวงการแพทย์และวงการกีฬายุคปัจจุบันยอมรับแล้วว่าการฝึกความแข็งแรงด้วยน้ำหนัก ให้ผลดีที่สุด เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจะเอาไปทำอะไรก็ได้ดั่งใจนึก
การยกน้ำหนัก ไม่ได้ทำให้เราติดในการยกน้ำหนัก จนไม่ทำอย่างอื่น ไม่ได้แปลว่าจะให้นักกีฬาไปเล่นยกน้ำหนักแต่เพียงอย่างเดียว
หากเราไม่ยกน้ำหนัก แต่เริ่มเล่นกีฬาไปเลยโดยไม่วางแผนฝึกกล้ามเนื้อมาก่อน ก็อาจทำได้ แต่สู้นักกีฬาที่ถูกฝึกมาอย่างเป็นระบบไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่อเราฝึกฝนกีฬาใดใดมาอย่างผิดวิธี การแก้ไขในครั้งต่อๆ ไปนั้นยากมาก ผู้เคยเป็นนักกีฬามาก่อนย่อมรู้ดี
ผลของการออกกำลังกาย ย่อมสัมผัสได้จากการลงมือออกกำลังกายด้วยตัวเองเท่านั้น เราจึงจะสัมผัสกับความแข็งแรงนั้นได้ (Well being) สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นจากการอ่าน หรือการทำความเข้าใจจากตำราแต่เพียงอย่างเดียว การฝึกใจก็เช่นเดียวกัน


การฝึกใจให้เป็นขึ้นด้วยสมถะ ทำให้จิตแข็งแรง และเป็นขึ้นมาก่อน แล้วเอา 'เห็นจำคิดรู้' ที่แข็งแรงนั้น ไปเรียนรู้ต่อในภาควิปัสสนา ย่อมทำให้การเรียนรู้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ กว่าการพยายามทำวิปัสสนาโดยที่ยังไม่มีการฝึกจิตในภาคสมถะ ซึ่งการเรียนรู้นั้นย่อมทำไปโดยอาศัยความเข้าใจจากตำรับตำราแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้รู้เห็น และเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น เพราะความรู้หลายๆ อย่าง ต้องเป็นขึ้นจากการฝึกฝน จะอ่านตำราอย่างเดียวไม่ได้ คำภีร์อุปนิษัทโบราณก่อนพุทธศาสนา กล่าวไว้ว่า "มีความรู้บางอย่างที่มนุษย์ไม่อาจเรียนรู้ได้ หากปราศจากการฝึกจิต"
การฝึกสมถะด้วยกสิณ ไม่ได้มีความหมายแค่ ติดนิมิต ติดสุข อย่างที่หลายๆ ท่านวิพากษ์วิจารณ์กัน นั่นมันเป็นความรู้เด็กๆ จึงกลัวการฝึกสมถะกันนัก


จริงๆ แล้ว การเรียนรู้เรื่อง ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ฯ ยังเป็นแค่การศึกษาเรื่องราวของกายในแกนนอนเท่านั้น วิชชาธรรมกายเดินวิชชา 18 กาย เข้าถึง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ในแกนตั้งอย่างเป็นปกติ โดยไม่ต้องตีความใดใด จึงเป็นภาควิปัสสนาที่ลึกซึ้งยิ่ง นี่แหละ ทำไมจึงบอกว่า วิชชาธรรมกายเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา


ขอจบไว้เพียงนี้ก่อนครับ

Thursday, November 17, 2011

วิชชาธรรมกาย กับโรคที่เกิดแก่มนุษย์


สมัยที่ผมเรียนวิชา Pathology (หลายท่านเรียกว่า ปาโถ) อาจารย์แพทย์สอนผมไว้ว่า โรคทั้งปวงที่เกิดแก่มนุษย์จัดกลุ่มได้ 5 กลุ่ม คือ Congenital Trauma Tumor Infection Degeneration วันนี้ เรามาดูกันว่า โรคทั้ง 5 กลุ่มนี้ พอจะคุยกันในแง่มุมของวิชชาธรรมกายได้อย่างไร

การตายของมนุษย์ในวงการแพทย์ ตัวชี้วัดคือ หัวใจหยุด หายใจหยุด (ระยะหลังเพิ่มเติมคลื่นสมองเป็นเส้นตรงด้วย) ส่วนวิชชาธรรมกายเกิดจากหัวต่อกายหลุดออกจากกัน อะไรก็ตามที่ทำให้หัวต่อกายมนุษย์หลุดออกจากกายฝัน จะทำให้กายมนุษย์ตาย

  1. Congenital พันธุกรรม
คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือกรรมพันธุ์ มันติดตัวเรามาในระดับยีน (Gene) อาจแสดงให้เห็นตั้งแต่แรกเกิด หรือมาแสดงให้เห็นตอนโตแล้วก็ได้ บางโรคมีความแม่นยำในการแสดงผลมาก พอถึงอายุที่กำหนดเช่น อายุ 15 ปีก็จะเริ่มมีอาการของโรคทันที วงการแพทย์ติดตามสังเกตุอาการเหล่านี้จนจัดประเภทเป็น กลุ่มอาการ (Syndrome) แล้วตั้งชื่อแต่ละ syndrome ตามชื่อของผู้ค้นพบ ตอนนี้มีเป็นหลักพันแล้ว

ในแง่วิชชาธรรมกาย แต่เดิมเราก็เข้าใจว่าโรคทั้งปวงต้องเกิดจากมารเป็นผู้กระทำ โรคในกลุ่มนี้อาจเกิดจากผู้ต้นคิดวิชาของแต่ละกลุ่มอาการที่ทำขึ้นไว้ก็เป็นได้

หรือ หากมองอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นธรรมชาติ (อย่างน้ำท่วม) ที่สายกรรมพันธุ์นี้ได้หมู่ธาตุ(ธรรม) ที่เอามาสร้างกายมนุษย์ไม่สมบูรณ์ มีความไม่สมดุลย์ของธาตุในตัวของสายกรรมพันธุ์นี้มาแต่เดิม โรคจึงเกิดแก่คนเฉพาะกลุ่ม

เมื่อพูดถึงพันธุกรรม ทำให้ผมนึกถึง เหตุข้ามชาติ คือบางคนตายในลักษณะเดียวกันข้ามภพข้ามชาติต่อเนื่องมาตลอด คุณลุงก็เคยเล่าประวัติคนสำคัญที่คุณลุงไปช่วย ท่านบอกว่าท่านจะต้องตายอย่างที่เป็นมานี้อีกหลายชาติ คุณลุงต้องแก้ว่าเมื่อท่านทำดวงใสในท้องได้แล้ว เหตุทั้งปวงเป็นอันจบไป เหตุเหล่านี้ บางแห่งเรียกว่าเป็นกรรมเก่า ทำให้กายมนุษย์แตกดับไปชาติหนึ่งแล้ว แต่ตัวเหตุยังติดอยู่กับกายละเอียดๆ ของผู้นั้น คอยจ้องทำลายต่อไปในอนาคตเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก การแก้ไขในวิชชาธรรมกายจึงต้องคำนวณ อดีตปัจจุบันอนาคต อ่อนแก่ หยาบละเอียด ฯลฯ เข้ามาให้หมด (ดู วิชชาธรรมกาย กับคณิตศาสตร์) เราจะเห็นถึงความลึกซึ้งของวิชชาธรรมกายที่มีความรู้ทั้งกว้างไกล และลึกซึ้ง

ผมเชื่อว่าเหตุทางพันธุกรรม เป็นได้ทั้งเรื่องของ ธรรมชาติ และธาตุธรรม ผู้อ่านได้โปรดไตร่ตรองและค้นคว้าต่อไป

  1. Trauma การบาดเจ็บ
กลุ่มนี้เข้าใจไม่ยาก เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากแรงกระทำต่อกายมนุษย์โดยตรง เช่นรถชน ตกจากที่สูง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือจงใจก็ตาม ในวิชชาธรรมกายก็คงไม่ใช่ใครอื่น นอกจากมารผู้ต้นคิดวิชาวิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงนั่นเอง

  1. Tumor เนื้องอก
โรคที่เกิดจากการมีเนื้องอกส่วนเกินเกิดขึ้นในร่างกายของเราไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเนื้องอกลุมลาม (มะเร็ง) เนื้องอกธรรมดาไม่แพร่กระจาย หากวินิจฉัยได้ ตัดออกก็หาย แต่มะเร็งจะลุกลามไปได้ทั้งบริเวณใกล้เคียง และเดินทางไปที่ไกลๆ ได้ตามลักษณะเฉพาะตัวของโรคนั้นๆ เมื่อลุกลามจนทำลายอวัยวะสำคัญ ก็ทำให้กายมนุษย์ตาย

ความรู้วิชชาธรรมกายเชื่อว่าโรคในกลุ่มนี้มีผู้ต้นคิดวิชา เป็นเจ้าของโรคแต่ละอย่าง

บางครั้งพบว่าโรคในกลุ่มนี้เกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์(ข้อ 1)  ด้วย โดยพบประวัติครอบครัวของผู้ป่วยอยู่บ่อยๆ

  1. Infection การติดเชื้อ
การติดเชื้อ คงไม่ต้องอธิบายมาก ในทางแพทย์ มันมีเชื้อโรคตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปหาเล็ก เช่น พยาธิ แมลง ยีสต์ เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ปัจจุบันเล็กไปถึง Interferon ฯลฯ

ความรู้วิชชาธรรมกาย ก็มีผู้ต้นคิดวิชาของแต่ละโรคดูแลกันไป

โรคทั้ง 4 หมวดที่กล่าวมา หากใครโชคดี อาจไม่เคยพบปะเจอะเจอเลยก็ได้ หรือหากเจอก็แค่เบาๆ ไม่หนักหนาอะไร ชีวิตก็ไม่แตกดับเพราะโรคเหล่านี้ แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่รอดพ้นจากโรคทั้ง 4 ข้างต้น ย่อมหนีไม่พ้นโรคที่ 5 คือ

  1. Degeneration ความเสื่อมสภาพ
โรคที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสังขาร ปัจจุบันวงการแพทย์เริ่มอธิบายถึงทฤษฎีแห่งความเสื่อมหรือความชราของสังขารมนุษย์มากขึ้น ว่าอาจจะมาจากทฤษฎี Wear and Tear, Oxidation, Hormone โดยเริ่มรู้และสนใจวิธีการชลอวัยกันมากขึ้น ผมไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ

ส่วนวิชชาธรรมกาย โรคในกลุ่มนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราพูดถึงกันมาก คือโรคที่เกิดจากดวงทุกข์สมุทัย นั่นเอง ทุกข์สมุทัยเป็นวิชาที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของกายมนุษย์ทำให้กายมนุษย์ แก่ เจ็บ และตายในที่สุด

สำหรับดวงเกิด ผมได้นำเสนอความคิดเห็นไว้พอสมควรแล้วในบทความ จับผิดครู ตอนนี้อยากเพิ่มเติมว่า ดวงเกิดอาจเป็นดวงกสินของภาคมารที่เข้ามาตั้งในที่ตั้ง(ศูนย์กลางกาย) ของเราเมื่ออายุ 14 ปี ก็ได้ เหมือนเวลาที่เราแก้ไขเรื่องธาตุกับธรรมในหนังสือมรรคผลพิสดาร 2 โดยให้ภาคธาตุเป็นกสิน ภาคธรรมเป็นสมาบัติ เดินสมาบัติในกสินจนกสินนั้นขาวใส ขอให้ผู้อ่านไปทบทวนตำราให้แตกฉานนะครับ

ในทางกลับกัน ภาคมารนำดวงเกิดมาตั้งเป็นกสินของเขาไว้ในที่ตั้งของเรา ดวงกสินนี้เป็นตัวแทนกายมนุษย์ของเรา เวลาจะกระทำการใดใดต่อเรา ก็กระทำที่ดวงกสิน(ดวงเกิด)นี้ ที่ชัดๆ ก็คือเอา แก่ เจ็บ ตาย มาเดินสมาบัติในดวงเกิดที่เขาเอามาตั้งไว้ จนดวงเกิดขุ่นมัว คือดำลง (กลับกับวิชชาเราที่เดินวิชชาให้ดวงกสินขาวใสขึ้น) ชี้วัดว่าวิชชาของเขาได้ผล สัตว์โลก แก่เจ็บตาย ไม่มีใครเว้น เพราะยังแก้วิชชาของเขาไม่ได้

ความเจ็บในขั้นตอนนี้ น่าจะเป็นความเจ็บที่เกี่ยวเนื่องด้วยความแก่ คือเจ็บเพราะความเสื่อมโทรมของสังขาร ข้อเสื่อมปวดข้อ เดินเหิรไม่ถนัดปวดเนื้อตัวไปหมด อวัยวะสำคัญๆ ก็เสื่อมไปเรื่อยๆ เสื่อมหนักเข้าๆ ดวงตายก็เข้ามาเดินสมาบัติทำงานจนหัวต่อกายมนุษย์หลุดจากกายฝัน กายมนุษย์ก็ตายด้วยโรคชรา

ถ้าเป็นไปตามนี้ เราจึงพออธิบายได้ว่า เด็กอายุ 0-14 ปี ไม่ตายด้วยทุกข์สมุทัย เพราะตอนนั้นดวงเกิดยังไม่เข้ามา คือเด็กไม่ตายด้วยชุดวิชชา เกิด แก่ เจ็บ ตาย แม้จะมีการยกเว้นบ้างเช่น โรคที่ทำให้แก่ก่อนวัย แต่พบเห็นน้อย นั่นคงเป็นเพราะทุกข์สมุทัยเข้าไปทำงานก่อนวัยอันควรเฉพาะบางคน ส่วนใหญ่เด็กๆ ที่ตายก่อนอายุ 14 ปี จะตายด้วยโรค 4 โรคข้างต้นที่ผมกล่าวมา ไม่ใช่ Degenerative diseases

วิชชาทุกข์สมุทัยถือเป็นวิชชาชิ้นโบว์แดงของเขา กระทำต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม จนกลายเป็นธรรมดาของสังขารในยุคปัจจุบัน กลายเป็นเนื้อหาหลักของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป

การแยกแยะโรคที่เกิดแก่กายมนุษย์ในบทนี้ อาจมีส่วนช่วยในการคำนวณ เวลาที่เราจะแก้วิชชาของเขาได้ไม่มากก็น้อย ขอจบบทความตอนนี้ไว้แค่นี้ก่อนครับ

Monday, November 14, 2011

เราสร้างบารมีไปทำไม ?


เราสร้างบารมีไปทำไม ?

วันนี้อยากเปิดประเด็นด้วยคำถามง่ายๆ แต่หากจะตอบเอาความกันจริงๆ ก็ยากเหมือนกัน เราเคยเจอแต่คำถามที่ว่า เราเกิดมาทำไม? คำตอบสำหรับนักสร้างบารมีก็คือ เกิดมาเพื่อสร้างบารมี แต่หลังจากนั้นลองถามต่อว่า เราสร้างบารมีไปทำไม?

ยุคปัจจุบัน เราอาจตอบว่า เราสร้างบารมีให้มาก เพื่อหนีให้พ้นจากทุกข์ภัยโรคทั้งปวง เมื่อบารมีเราแก่กล้าจะชนะอุปสรรคปัญหาทั้งปวงได้ พอแก่กล้าหนักเข้าจริงๆ ก็ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และเข้านิพพานอันเป็นบรมสุขต่อไป คือหนีความทุกข์ เพื่อไปพบความสุขที่ถาวรกว่า หรือเพื่อชนะมารในระดับต่างๆ นั่นเอง อันเป็นคำตอบหนึ่งในยุคปัจจุบันที่ธาตุธรรมของเราถูกปนเป็นไปก่อนแล้ว เราอยากเป็นอิสระจากการปนเป็นนั้น เราก็เร่งสร้างบารมีเพื่อชนะกิเลส(มาร)

อย่างไรก็ตาม ผมเคยเขียนบทความเรื่อง วิชชาธรรมกายกับประวัติศาสตร์(1) มาก่อนแล้ว เราพบว่ายุคแรกๆ ที่ธรรมภาคขาวบังเกิดขึ้น ภาคขาวก็ต้องสร้างบารมีเพื่อเข้านิพพานเป็น ตอนนั้นธรรมภาคมารยังไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเรา ยังไม่ได้มาปกครองเรา เราก็ยังต้องสร้างบารมี ตอนนั้นเราสร้างบารมีไปทำไม เราไม่น่าจะมีทุกข์ภัยโรคจากมาร มิใช่หรือ? มนุษย์ก็น่าจะเป็นสุขพอที่จะอยู่เฉยๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขวนขวายอะไรอีก

มาถึงตอนนี้ คำตอบของการสร้างบารมี จึงไม่ใช่ การรบกับกิเลส เพียงอย่างเดียวเสียแล้ว แต่หากจะเป็น การยกระดับธาตุธรรม ของเราให้สูงขึ้นนั่นเอง ทำเพื่ออะไร? แสดงว่า หากธาตุธรรมของเรายังไม่สูงพอ คงจะมี ความไม่สมบูรณ์ บางอย่าง ที่ทำให้เรา สุขไม่เต็มที่ ไม่ถาวร ไม่เช่นนั้นมนุษย์ยุคทานศีลภาวนา หรือยุคนิพพานเป็นก็คงไม่ต้องสร้างบารมีเพื่อเข้านิพพาน

ทุกข์ภัยโรค จำเป็นต้องเกิดจากมารเสมอไปหรือไม่? จึงเป็นอีกคำถามหนึ่งที่น่าคิดในยุคที่การปราบมารดำเนินมาถึงจุดสำคัญ อย่างน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ มีบางประเด็นบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับธาตุธรรมใดใด ไม่ว่าพระหรือมาร แต่เป็นเพราะโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย ทำให้มีน้ำส่วนเกินมาก มีผลทำให้น้ำท่วมมากกว่าปีก่อนๆ นั่นคือเป็นความไม่สมดุลย์ของธาตุ นั่นเอง แม้ทุกข์ภัยโรคในครั้งนี้ อาจเริ่มต้นจากเหตุดั้งเดิม เช่นความโลภของมนุษย์ทำให้ปลูกบ้านสร้างเรือนในพื้นที่น้ำผ่าน น้ำก็ท่วมเอา เกิดทุกข์ขึ้นอีกโดยไม่มีใครต้องมาสับโขกซ้ำ อันนี้ผมวิเคราะห์ในประเด็นที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมชาติล้วน

หากเปรียบบารมีเป็นเสมือนเงินทอง การสั่งสมบารมีให้มากเข้าไว้ จึงเป็นความไม่ประมาท เหมือนเราจำเป็นต้องทำมาหากินสั่งสมเงินทองไว้ก่อน เผื่อใช้สอยทั้งในยามปกติ และในยามฉุกเฉิน


ขอเปิดประเด็นไว้ให้ช่วยกันคิดต่อ ต้องขอโทษสำหรับผู้กำลังติดตามอ่านบล็อกที่ทิ้งช่วงมานานนะครับ