Pages

Friday, September 30, 2011

จับผิดครู


เดิมว่าจะเขียนเรื่องประวัติศาสตร์ต่อ แต่อยากแทรกเรื่องนี้เข้ามาก่อนเพราะตั้งใจจะเขียนมานานแล้ว

ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในวงการแพทย์มานาน เห็นวิชาการในทางโลกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการปรับปรุง (Update) ต่อยอดเสมอมา วิชชาแพทย์สมัยใหม่มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันจนต้องแยกแยะตำราออกเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ Journal ไปจนถึง Textbook แม้เป็น Textbook แล้วก็ต้องดูด้วยว่าเขียนขึ้นในปีใด ส่วนใหญ่จะต้อง update ใหม่ทุกๆ 5 ปี

แต่วิชาธรรมกายซึ่งเป็นวิชชาสำคัญสำหรับความอยู่รอดของชีวิตในระดับธาตุธรรม กลับมีตำรับตำราออกมาน้อยมาก ทั้งที่เนื้อหามีทั้งความกว้างและความลึก ประวัติศาสตร์ก็ยาวนานจนนับประมาณมิได้ แต่เราไม่อาจศึกษาวิชาธรรมกายได้เหมือนวิชาการทางโลก เพราะอะไร เราก็รู้ๆ กันอยู่

มาถึงตรงนี้ผมนึกทึ่งในความรู้สำคัญในยุคแม่ชีถนอม และคุณลุงที่ว่า ศิษย์ต้องเก่งกว่าอาจารย์ โลกและธรรมจึงจะเจริญนั่นเอง นี่คือความทันสมัย ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่เนรคุณครู เรามีความเคารพบูชาครูบาอาจารย์อยู่เช่นเดิม แพทย์รุ่นเราก็ยังเคารพแพทย์รุ่นบุกเบิกอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพราะหากไม่มีท่าน แพทย์อย่างเราก็ไม่มี

ข้าเรื่องนะครับ ประสบการณ์ของผม มีเรื่องจับผิดหรือมีความเห็นไม่ตรงกับครูอยู่เสมอมา ส่วนใหญ่พอพิสูจน์ได้ มักพบว่าเราผิดเอง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีความคิดของตัวเองไว้ก่อน ตามหลักกาลามสูตร ดังเรื่องที่จะเล่าคร่าวๆ ต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 การเดินวิชชาพรหมวิหาร 4


ผมรู้จักการเดินวิชชานี้ตั้งแต่เริ่มสอนธรรมใหม่ๆ เพราะลูกน้องของผมเองมีปัญหาถูกรุ่นพี่ในที่ทำงานรังแก ผมเขียนจดหมายไปปรึกษาคุณลุง คุณลุงแนะนำให้เดินวิชชาพรหมวิหาร 4 แบบง่ายๆ เพราะถือว่าตอนนั้นเราเพิ่งมาเรียนรู้ใหม่ๆ โดยเอาใจเราไปหมุนขวาที่ดวงธรรมของผู้รุกราน แล้วท่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมื่อกายมนุษย์เจอะเจอเขาก็ให้นึกท่องอย่างนี้ไป หากเขาไม่กลับใจ เขาจะมีอันเป็นไปเอง ซึ่งวิชชานี้ได้ผลเกินคาด ชนิดเจ็บป่วยแทบตายกันเลยทีเดียว และภายหลังยังมาดีกับเราชนิดชวนให้ไปทำงานแผนกใหม่กับเขาด้วยซ้ำ ผมไม่เล่ารายละเอียดนะครับ ไว้มีเวลาจะเขียนเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะปัจจุบันการทำวิชชานี้ มีความซับซ้อนมากขึ้น คุณลุงเคยให้ผมไปบรรยายในห้องประชุมแล้ว

ต่อมา เราก็เอาวิชชานี้มาทำกันในหมู่วิทยากร แต่มาเดินวิชชาในศูนย์กลางกายของตัวเราเอง ทำเช่นนี้มาตั้งนาน  จนคราวหนึ่งได้มีโอกาสคุยกับคุณลุงทางโทรศัพท์พูดถึงเรื่องนี้ คุณลุงต่อว่ามาว่าจะมาเดินวิชชานี้ในศูนย์ของเราทำไม เราตอบว่าจะได้ทำให้คนเขารักเราไงครับ คุณลุงบอกว่าเราจะทำให้ใครรักก็ต้องมีเป้าหมาย โดยไปทำที่ศูนย์ของคนๆ นั้น หากมาทำที่ตัวเราเอง มันไม่เสียหาย แต่จะทำไปทำไม? เราก็งงๆ คิดว่าน่าจะทำได้ แต่ความหมายของคุณลุงคือตัวเราเป็นพระอยู่แล้ว หากจะทำก็ไปทำให้คนอื่นมีพรหมวิหารสิ ผมก็ยังไม่เชื่อ และคิดว่าเราถูกอยู่ดี เพราะเราก็รู้สึกว่าบางครั้งเราไม่ค่อยมีเมตตาเท่าไหร่หรอก

จนมาค้นจดหมายเก่า พลิกตำราทุกเล่มที่มีเรื่องพรหมวิหาร ปรากฏว่าการทำวิชชานี้ทั้งปวง ล้วนทำในศูนย์ของคนอื่นทั้งนั้น ซึ่งอาจคำนวณคนทั้งโลกเข้ามาก็ยังได้ สรุป งานนี้เราเถียงลุงไม่ได้

เรื่องที่ 2 ปุพเพนิวาสญาณ จุตูปปาตญาณ


เป็นเรื่องของคำศัพท์

ผมเคยได้ยินมาจากสายธรรมกายบางสายว่า ปุพเพนิวาสญาณ คือการดูตัวเอง หากดูอดีต เรียกว่า อตีตังสญาณ หากดูอนาคต เรียกว่า อนาคตังสญาณ ส่วน จุตูปปาตญาณ คือการดูคนอื่น จะดูอดีตหรืออนาคต ก็ว่าไป

แต่มาได้ยินคุณลุง คุณลุงบอกว่า ปุพเพนิวาสญาณ คือการดูอดีต ส่วน จุตูปปาตญาณ คือการดูอนาคต จะดูตัวเราเอง หรือดูคนอื่น ก็ว่าไป

ผมก็เลยงงๆ เพราะเคยมีความเข้าใจอย่างอื่นมาก่อน ตอนแรกไม่เชื่อลุง แต่ภายหลังได้ค้นตำรับตำราทั้งที่เป็นวิชชาธรรมกาย และนอกสายธรรมกาย ก็พบว่าหลายแห่งตรงตามที่คุณลุงบอก ท่านผู้อ่านอ่านแล้วก็อย่าสับสนนะครับ

อย่างไรก็ดี หากเราเดินวิชชาดูปุพเพนิวาสญาณและจุตูปปาตญาณ ก็ไม่จำเป็นต้องพะวงกับคำแปลนัก ในทางปฏิบัติ จะดูอดีต ปัจจุบัน อนาคต ของอะไร ก็เข้าวิชชาไปตามบทเรียน เช่นคู่มือสมภารบทบัญญัติที่ 5 กับมรรคผลพิสดาร 1 บทบัญญัติที่ 23 เป็นต้น

เรื่องที่ 3 การละลายดวงทุกข์(สมุทัย) จะต้องละลายดวงเกิดด้วยหรือไม่


ถึงปัจจุบันนี้ ผมก็ยังไม่ชัดเจนในคำตอบ เพราะคุณลุงตอบว่าไม่ต้องละลาย โดยถือว่าดวงเกิดเป็นส่วนหนึ่งของกำเนิดเดิมของเรา อธิบายเพิ่มเติมว่าเราเกิดมาก่อน จนถึงอายุ 14 ปีตามตำรา ดวงเกิดจึงขยายส่วนออกมาให้เห็น ทำให้ชีวิตยังดำรงค์ต่อไปได้ หากไม่เป็นเช่นนั้นชีวิตก็จะแตกดับ การละลายดวงทุกข์(สมุทัย) คุณลุงมักใช้คำพูดเพียงว่า ละลาย แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้น

ตอนนี้ ผมยังมีเหตุผลที่มีความเห็นไม่ตรงกับคุณลุงอยู่ (ซึ่งเคยพยายามถามคุณลุงแล้ว ก็ยังได้คำตอบเดิม) ดังนี้

หากเป็นไปตามคำตอบข้างต้น ดวงเกิดก็ไม่น่าจะจัดเป็นส่วนหนึ่งของดวงทุกข์ ที่เราเคยเรียนกันมานานว่า ทุกข์มี 4 อย่างคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ถ้าเป็นลักษณะนี้ต้องเปลี่ยนใหม่เป็น ทุกข์มีแค่ แก่ เจ็บ ตาย เท่านั้น ตัด เกิดออกไป ซึ่งอาจล้อกับดวงสมุทัย ที่มีอยู่ 3 ดวงตามตำราคู่มือสมภารก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทเรียนกันมาก


ตั้งแต่อดีต มีผู้พยายามอธิบายว่าความเกิดเป็นทุกข์อย่างไร บ้างก็ว่ามารดาต้องเจ็บปวดในการคลอด ซึ่งหลายท่านแย้งแล้วว่านั่นมันไม่ใช่ความทุกข์ของผู้มาเกิด ก็เลยมีหลายท่านอธิบายว่าเป็นทุกข์เพราะถูกมดลูกมารดาบีบอยู่นาน เจ็บและอึดอัดหายใจลำบาก ก็เลยเป็นทุกข์แต่เราจำไม่ได้ แต่เหตุผลที่คนทั่วไปยอมรับมากกว่า ก็คือเมื่อเกิดมาแล้ว เป็นเหตุให้เราต้องมาผจญกับทุกข์อีก 3 ตัวคือ แก่ เจ็บ ตาย นั่นเอง

ความเข้าใจของผม ซึ่งไม่ขอรับรองความถูกต้องนะครับ คือ ดวงเกิดน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ ทุกข์นั่นแหละ แต่พบว่าจะเข้ามาเมื่ออายุ 14 ปีตามตำรา ผมเชื่อว่ามนุษย์ได้เกิดมีชีวิตมาก่อนแล้วด้วยกำเนิดเดิมของตน ซึ่งมีต้นกลางปลาย ไม่จำเป็นต้องมีดวงเกิดดวงนี้อีก ผมคิดว่าดวงเกิดดวงนี้เป็นดวงฐานทัพของภาคมารที่ส่งเข้ามาตั้งไว้ในที่ตั้งของเรา แต่เขาหลอกเราด้วยลักษณะขาวใสของดวง ซึ่งภาคเขาทำได้สบายมาก และอาจมีชื่อเรียกว่าดวงเกิด เพื่อให้ละม้ายคล้ายชื่อของกำเนิดเดิมของเราก็ได้ เมื่อตั้งฐานทัพได้ ดวงแก่เจ็บตาย จะมาตอนไหนก็สะดวกแล้ว

ฐานทัพที่ว่า อาจไม่ได้รอรับแค่ทุกข์สมุทัย แต่อาจจะเป็นฐานทัพของภาคปิฎกด้วย เราแยกแยะเป็นภาคเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ แต่จริงๆ ก็เป็นงานของเขาทั้งนั้น วิทยากรของเราหลายท่านเป็นครูบาอาจารย์เก่ามาก่อน ต่างสังเกตเห็นว่าเด็กมัธยม ม.2 มักเป็นปีที่มีปัญหามากที่สุด และด้วยความบังเอิญ เด็ก ม.2 ส่วนใหญ่อายุ 14 ปีพอดี

ตามความเข้าใจของผม หากเราตั้งเป้าว่าให้ละลายดวงเกิด (พร้อมกับ แก่เจ็บตาย) ไปด้วย ซึ่งรวมกันคือดวงทุกข์ ก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไร เพราะหากดวงเกิดเป็นของฝ่ายเรา ดวงนั้นก็จะมีความสะอาดมากขึ้น ไม่สามารถระเบิดแตกด้วยวิชชาของภาคขาวด้วยกันอยู่แล้ว แต่หากเป็นของภาคมาร ย่อมถูกระเบิดแตกไปด้วยอำนาจแห่งวิชชาภาคขาวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ถือเป็น Therapeutic diagnosis คล้ายหลักของการแพทย์ เพราะในบันทึกปราบมารของคุณลุง ก็เคยทำเช่นนี้มาก่อน ตอนที่ไปพบจักรพรรดิ์กายหนึ่งหม่นหมอง เข้าใจว่าเป็นจักรพรรดิ์ภาคมาร จึงทำวิชชาเข้าไประเบิดกายจักรพรรดิ์นั้น ปรากฏว่ากายท่านยิ่งขาวใสมากขึ้น ไม่แตกทำลายแต่อย่างใด แสดงว่าท่านเป็นภาคขาวนั่นเอง

เรื่องสุดท้ายนี้ ยังไม่มีข้อสรุป แม้เราจะมีข้อโต้แย้งในเชิงวิชาการกับครูอาจารย์ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเราผิดพลาดตกหล่นเสียเองอยู่บ่อยๆ แต่เราก็ยังควรอยู่ด้วยหลักเหตุผลต่อไป และ อย่าเพิ่งเชื่อ ตามหลักกาลามสูตรไว้ก่อน เพราะวิชชาอาจต้องรอการ Update ไปอีก โดยระมัดระวังความเพี้ยนไว้เสมอ


ผมต้องการเปิดมุมมองที่ว่าเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับครูในทุกๆ เรื่อง ไม่เช่นนั้นโลก(และธรรม) จะพัฒนาได้อย่างไร ผมเชื่อว่าการมีความคิดเห็นไม่ตรงกับครู ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าดื้อไม่รับฟังอะไรเลย เราต้องรับรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังคิดอย่างไรอยู่ และเรื่องนี้ครูคิดเห็นอย่างไร แล้วคิดเผื่อไว้ด้วยว่าหากเรื่องนี้เราเป็นฝ่ายผิด จะเกิดปัญหาร้ายแรงตามมาหรือไม่ หรือแม้หากครูเป็นฝ่ายเข้าใจผิด จะเกิดเป็นปัญหาอะไรได้หรือไม่ รวมถึงหมั่นทบทวนหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

Wednesday, September 28, 2011

วิชชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (1)


การศึกษาวิชชาธรรมกายต้องดูประวัติศาสตร์ด้วย เราต้องรู้ว่าตำราแต่ละเล่ม ค้นคว้ามาได้ในยุคใด ที่ว่าวิชชาชั้นสูงนั้น เป็นวิชชาที่เขียนมาแต่ปีใด ครั้งนั้นค้นคว้าวิชชาไปได้ถึงไหน มันอาจเป็นวิชชาสูงในยุคนั้น แต่ปัจจุบัน เวลาได้ผ่านเลยไปหลายปีแล้ว มีวิชชารุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากมาย หากเราจะเปิดตำราเก่าเดินวิชชาตามไปแต่ละหน้าแต่ละบทจะเหมาะสมหรือไม่

วันนี้ผมอยากเล่าถึงความสัมพันธ์ของยุคต่างๆ ในวิชชาธรรมกาย โดยเริ่มจากกำเนิดของธาตุธรรมก่อน แต่พูดเฉพาะธาตุธรรมหลัก คือธรรมภาคพระ กับธรรมภาคมารเท่านั้น ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าเนื้อหาตอนนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครตัดสินถูกผิดได้ เพราะกล่าวถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว เป็นเวลานานมากๆ ถือว่าเราจินตนาการไปด้วยกัน ผมเพียงอาศัยความน่าจะเป็นจากตำรับตำรา รวมถึงความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น

การศึกษาประวัติศาสตร์จะดูง่ายขึ้นมาก หากเราวาดรูปในลักษณะ Timeline ดังที่แสดงให้เห็น



เริ่มต้นจากยุค A คือยุคที่ยังไม่มีธาตุธรรมใดใดบังเกิดขึ้น ในตำราเรียกว่าเป็นเหตุไม่มีธาตุไม่มีธรรม นั่นเอง ขอให้ผู้อ่านทบทวนเรื่องนี้ในหนังสือมรรคผลพิสดาร 1 บทบัญญัติที่ 42 เพื่อความเข้าใจอีกครั้งนะครับ

เมื่อเวลานานไปจนนับประมาณมิได้ ความไม่มีธาตุไม่มีธรรมนั้นก็ก่อให้เกิดเหตุมีธาตุมีธรรมขึ้น (B) คือเริ่มมีธาตุ 6 และธรรม 6 นั่นเอง ในตำราบอกว่ายังมีเหตุ 2 เหตุนี้เกิดขึ้นสลับกันไปไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย แต่ผมเอาไว้อธิบายแค่ตรงนี้ก่อน

ก่อนจะไปต่อ ผมขอแทรกนิดหนึ่ง แต่เดิมผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเราจะเอาเหตุไม่มีธาตุไม่มีธรรมมาทำกายมนุษย์พิเศษตามตำราได้อย่างไร ก็มันไม่มีอะไรนี่นา แต่เมื่อเรามาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อนนัก เราจึงเข้าใจ เช่น เวลาเราจะไปเที่ยว เราทำวิชชาล่วงหน้าเพื่อให้การไปเที่ยวของเราไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดใด เราคำนวณรวมเหตุทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการไปเที่ยวมาทำวิชชาจนขาวใส เราไปเที่ยวได้อย่างสนุกสนาน แต่พอกลับมาปรากฏว่าบ้านที่ทิ้งไว้น้ำท่วม ที่ทำงานมีปัญหา เพราะเราลืมคำนวณเหตุไม่มีธาตุไม่มีธรรมของการไปเที่ยวมาแก้ไขด้วยนั่นเอง คงพอเข้าใจนะครับ

ไปต่อ นานเท่าใดไม่อาจคำนวณได้ ก็เกิดธรรมภาคมารหรือภาคดำขึ้น ธาตุธรรมผู้ใหญ่ท่านให้ความรู้ว่าธรรมภาคมารเกิดก่อนธรรมภาคพระ ผมใช้สัญญลักษณ์ตัว M บน timeline เขาเกิดก่อน เขาก็ยึดพื้นที่ และรวบรวมธาตุธรรมชั้นดีต่างๆ ที่มีมาก่อนแล้ว มาเป็นของเขาได้อย่างถนัด นั่นคือเลือกหัวกะทิไปก่อน เขาก็คงสร้างบ้านสร้างเรือนดูแลปกครองธาตุธรรมของเขาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งธาตุธรรมภาคพระหรือภาคขาว (W) บังเกิดขึ้น โดยมีธรรมชาติที่ต่างกันกับภาคมารในเชิงของสีสรรวรรณะ ความคิดเห็นทั้งปวงโดยสิ้นเชิง แต่สมบัติคุณสมบัติมีแบบเดียวกับธรรมภาคมารที่เกิดมาก่อนแล้ว

M รู้ว่า W มีอุปนิสัย ไม่รุกราน มีธรรมชาติที่เย็น อยู่ด้วยแล้วร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งเขาก็ใช้สอยได้ ระยะแรกเขาปล่อยให้ W เติบโตไปเรื่อยๆ  W ก็ปกครองธาตุธรรมของตนด้วยปิฎกทานศีลภาวนา เป็นต้น บารมีเต็มส่วนก็เข้านิพพานเป็น คือกายสุดหยาบสุดละเอียดทั้งปวงเข้านิพพานได้หมด รวมถึงกายมนุษย์หยาบด้วย (C)

ให้สังเกตุว่าระยะนี้ เรามีทานศีลภาวนาแก่ผู้มีใจเป็นพระด้วยกัน สัตว์โลกทั้งปวงก็น่าจะมีใจพร้อมจะเป็นทานศีลภาวนาแบบเดียวกับเราโดยธรรมชาติ

การเกิดธาตุธรรมขึ้นในยุคเหล่านี้ มีความยาวนานมาก ภาษาวิชชาธรรมกายมีคำพูดว่า นับอายุธาตุ อายุบารมีไม่ถ้วน คือเอากันตั้งแต่เริ่มมีธาตุมีธรรม เอากันตั้งแต่แรกเริ่มสร้างบารมีของธาตุธรรม (ไม่ว่าภาคใด) กันเลยทีเดียว

เมื่อธรรมภาคพระหรือภาคขาว บำเพ็ญบารมีเข้านิพพานเป็นไปสักระยะหนึ่ง ภาคมารคงเห็นว่าภาคขาวเริ่มเติบใหญ่ และกายมนุษย์ที่เข้านิพพานเป็นมีฤทธิ์เดชยิ่งนัก จึงเข้าแทรกแซง ตรงนี้เอง ความปภัสสรทั้งปวงจึงมีการปนเป็น เขาซ้อนนิพพานของเขาเข้ากับนิพพานของภาคขาว ซ้อนภพ และสร้างนรกโลกันตร์ขึ้นเพื่อเก็บกักเชลย เราไม่เห็นเขาเพราะเขาละเอียดกว่า เขาปกครองธรรมภาคขาวด้วยวิชชาสำคัญคือปิฎก กับทุกข์สมุทัย เปลี่ยนระบบมรรคผลเป็นการเข้านิพพานกายธรรม (D) คือสอนให้ภาคขาวถอดกายเข้านิพพานนั่นเอง คือกายมนุษย์ต้องตาย เข้านิพพานได้เฉพาะกายที่เหลือ บุญบารมีทั้งหลายที่ทำได้ ส่วนละเอียดๆ เขาช่วงชิงไป ส่วนหยาบอันได้แก่ทรัพย์สินเงินทองที่พอจับต้องได้เขาทิ้งไว้ให้ ซึ่งเราเข้าใจว่านี่เป็นผลของบุญที่เราทำ

คำสอนทั้งปวงในยุคนิพพานกายธรรม ต้องสอนอยู่ในกรอบของเขา เพราะเราเปรียบเสมือนประเทศราช สอนให้ไม่ยี่หระต่อกายมนุษย์ สอนว่ากายมนุษย์เป็นรังแห่งโรคภัย เป็นรังแห่งกิเลส สิ่งที่รับมาโดยอายตนะมนุษย์ต้องให้สักแต่ว่ารับรู้ ห้ามยึดมั่นถือมั่น เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ ต้องเพ่งเผาทำลายสิ่งอันเนื่องด้วยกายมนุษย์เพื่อไปสู่กายธรรมที่ผ่องใสกว่า ทานศีลภาวนาที่ทำอยู่น่ะ ดีอยู่แล้ว เผื่อแผ่ทานมาถึงเขาด้วย แผ่เมตตามาให้เขาด้วย พรหมะ มารา จะ อินทา จะ โลกะปาลา จะ เทวะตา แต่ถมไม่เต็มหรอกนะ รักษาศีลก็ห้ามตบยุงนะ แต่ยุงมาแพร่โรคให้คนตายได้ ไม่เป็นไร

ภาคขาวพยายามแก้ไขมาโดยตลอด โดยส่งผู้ปราบมาเป็นช่วงๆ (E) ตราบถึงทุกวันนี้ การแก้ไขเพิ่งทำมาได้ในระดับสำคัญ แต่ยังไม่เห็นผลในภาคของภพ 3 เราจะต้องดูกันต่อไป

Monday, September 26, 2011

มุมมองของการปกครอง


เว้นวรรคเรื่องหนักๆ สักหน่อย วันนี้เราคุยกันเรื่องเบาๆ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (ก.ย.2554) ผมมีโอกาสไปดูหนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 4 (ล่าสุด) ซึ่งหลายๆ ท่านคงได้ไปดูมาแล้ว

สมเด็จพระนเรศวรเป็นภาคปราบที่มีความเด็ดขาด เราทราบว่าสุดท้ายพระองค์กู้ชาติได้สำเร็จ ก็เพราะความเด็ดขาดและพระปรีชาสามารถของพระองค์ คราวที่เจ้าเมือง 2 เมืองมีความเห็นทำนองว่าควรอยู่ใต้ปกครองของศัตรูต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดศึกสงครามอันจะเป็นความเดือดร้อนเฉพาะหน้า พระองค์เห็นว่าความคิดแบบนี้เป็นภัยอันใหญ่หลวงต่อการกู้ชาติ เป็นความคิดที่เข้าข้างฝ่ายศัตรู โทษของเจ้าเมืองทั้ง 2 คือประหารชีวิต

หรือแม้เจ้าเมืองที่มาอาสาออกรบแต่กลับทำให้พ่ายแพ้แก่ศัตรูอย่างหมดรูป ก็มีโทษประหารเช่นกัน

สมัยนี้อาจมีความเห็นในการปกครองต่างออกไป ผมมาคิดเล่นๆ ในเรื่องการปกครองของธาตุธรรม ความคิดของภาคโปรดกับภาคปราบ ความคิดแบบเจ้าเมืองที่เป็นประเทศราช กับความคิดแบบผู้ปราบที่ต้องการทำให้ธาตุธรรมเป็นเอกราช ย่อมแตกต่างกัน คล้ายๆ ที่เราเห็นในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนออกมาจากภาพยนตร์

หากเป็นเช่นนี้ ใครก็ตามที่ยอมจำนนต่อภาคกิเลส ไม่ว่าจะเป็นสายปิฎก หรือสายทุกข์สมุทัย ยอมรับทุกข์ทุกอย่างที่เขาส่งมา ชนิดไม่ยอมเรียนรู้วิธีต่อสู้ เรามีความ X เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความ X ไปไม่ได้ ถ้าเป็นความเห็นของภาคปราบ จะเป็นเช่นไร?

คิดเล่นๆ เท่านั้นนะครับ ความจริงจะเป็นอย่างไร ต้องไปถามผู้ปราบเอาเอง วันนี้เรื่องเบามากเลย

Thursday, September 22, 2011

ภาคผู้เลี้ยง (5)


เรื่องที่ 3 ท่านมาอยู่ด้วยเพราะ ท่านต้องการสร้างบารมี


เรื่องนี้เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด

เมื่อต้นปี พ.ศ.2553 ผมขายรถคันเก่าที่ใช้มานาน 13 ปีออกไป เพราะซื้อรถคันใหม่มาแล้ว ก็ต้องดูแลรถถึง 2 คัน เป็นภาระมาก คันเก่าก็เริ่มผุและมีปัญหาตามประสารถเก่า รถคันนี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรามา รวมถึงการเป็นยานพาหนะให้เราไปสร้างบารมีสอนธรรมแทบทุกครั้ง ผมเล่าให้วิทยากรฟังที่ร้าน วิทยากรหลุดปากมาว่าขายไปซะก็ดี (คือเก่าแล้ว ลำบากในการดูแลรถ 2 คันนั่นแหละ)

ทันใดนั้น วิทยากรก็ต้องตกใจ เขาบอกว่าเขาเห็นจักรพรรดิ์องค์ใหญ่และสว่างมากมาปรากฏตรงหน้า บอกว่ารู้ไหม ที่ท่านมาอยู่ด้วย เพราะท่านต้องการสร้างบารมี

ภายหลังผมก็เดินวิชชาเพื่ออัญเชิญท่านซ้อนเข้ามาในรถคันใหม่ แล้วจึงขายรถคันเก่าออกไป

เหตุการณ์นี้ ตรงกับความรู้ของคุณลุงที่ว่า จักรพรรดิ์ ไม่ต้องแสวงหา ถ้าเราสร้างบารมี และหมั่นเดินวิชชา ท่านมาเอง


มีประสบการณ์ของวิทยากรรุ่นก่อนๆ ได้เดินทางไปสอนธรรมที่อเมริกา ท่านพบเห็นรัตนชาติที่นั่น ก็ไม่ได้ซื้อหามาแต่อย่างใด เพียงแต่นึกอาราธนาจักรพรรดิ์ว่า หากท่านอยากมาสร้างบารมีด้วยกัน ก็ให้มาอยู่ที่ศูนย์กลางกายข้าพเจ้า เมื่อกลับมาให้คุณลุงตรวจดู ก็พบว่าจักรพรรดิ์ท่านมาอยู่ด้วยเต็มไปหมด

ความรู้อีกอย่างคือ สถานที่ต่างๆ ล้วนมีเครื่องปกครอง คุณลุงเคยให้ความรู้ว่าไม่ว่าเราจะสร้างสถานที่แห่งใดขึ้นมา จะมีการแย่งชิงกันเข้ามาปกครองโดยตั้งเครื่องขึ้น ภายในเครื่องมีผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีได้ 3 รูปแบบ คือ กายธรรม หรือ จักรพรรดิ์ หรือกายมนุษย์ (พิเศษ) แต่สถานที่ส่วนใหญ่มักเป็นจักรพรรดิ์ แต่โบราณมา เรามักไม่ค่อยทันอีกภาคเขา จากความรู้นี้เราจะดูแลแก้ไขอย่างไร นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างระดับครูบาอาจารย์ แม้พวงกุญแจ ก็ยังมีจักรพรรดิ์มาอาศัยอยู่ด้วย

Tuesday, September 20, 2011

ภาคผู้เลี้ยง (4)


เรื่องที่ 2 จะให้ท่านทำความสำเร็จให้ ก็ เดินวิชชาเข้าสิ


จากเรื่องที่ 1 จะเห็นว่าจักรพรรดิ์อาจแสดงฤทธิ์ได้หลายรูปแบบ แต่ไม่ได้มีความตายตัวจากความคาดหวังของเรา ดังเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ผมออกมาปลูกบ้านส่วนตัวห่างจากตัวเมืองไม่มาก มีห้องประชุมวิทยากรภายในบ้านพอจุคนได้สิบกว่าคน เราได้ใช้บ้านหลังนี้ประชุมวิทยากรมาทุกสัปดาห์แทบไม่เคยขาด ผมเชื่อว่าที่นี่มีจักรพรรดิ์ดูแล

คราวหนึ่งเพื่อนบ้านปรับปรุงบ้านของเขา และตัดต้นไม้ในบ้านเขาเองเอามาเผาถ่านหน้าบ้านเยื้องมาทางบ้านเรา ส่งควันและกลิ่นเหม็นคละคลุ้งทั่วบริเวณตลอด 24 ชม. แค่เผาขยะแล้วดับก็เหม็นจะแย่อยู่แล้ว นี่เป็นการเผาถ่านซึ่งต้องจุดเตาเผาเลี้ยงไฟไว้ตลอดเวลา ผมกลับมาบ้านทีไร แทบจะอยู่นอกตัวบ้านไม่ได้ อากาศบริสุทธิ์นอกเมืองหายไปเลย

นานเข้า 2-3 วันก็ยังเผากันไม่หมด ด้วยความอารมณ์เสียก็พลอยนึกตำหนิจักรพรรดิ์ในบ้านว่าทำไมท่านไม่ทำปาฏิหาริย์ ไปเตือนเพื่อนบ้านเราบ้างว่าทำอย่างนี้เป็นการเบียดเบียนเรา เพราะเราเคยได้ยินมาเสมอถึงอานุภาพของใครบางคนที่ใครก็ตามไปล่วงเกินท่านแล้วต้องมีอันเป็นไป ทำไมเราไม่ศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นบ้าง

ผมโชคดีที่มีกัลยาณมิตร วิทยากรของผมหลายท่านมีรู้มีญาณมาบอกผมที่ร้านว่า จักรพรรดิ์ที่บ้านหมอท่านมาบอกว่า ฮึ เที่ยวนี้ทำไม่ถูกใจนาย แต่จะให้ท่านออกมาแสดงฤทธิ์ในทันทีแบบนั้น ท่านทำไม่ได้เหมือนที่ภาคมารทำ หากจะให้เกิดความสำเร็จใดใด ก็ เดินวิชชาเข้าสิ

ผมได้ยินดังนั้นจึงได้คิด ภายหลังต้องกล่าวอุจจโยโทษแก่ท่านทุกวัน และขอให้บทความนี้เป็นการกล่าวอุจจโยโทษต่อท่านอีกครั้ง ผมนั่งสมาธิเอาท่านมาช่วยทำวิชชาพรหมวิหารในตัวเพื่อนบ้านทันที แค่ข้ามคืน เตาเผาถูกดับลง เพื่อนบ้านมาบอกแก่วิทยากรผมซึ่งผมให้มาช่วยดูแลบ้านเป็นประจำ เองว่า จะย้ายที่เผาถ่านไปที่อื่น เขามีที่ใหม่จะไปเผาแล้ว จากนั้นเขาก็ทะยอยขนไม้ที่เหลือออกไปจนหมด

เหตุการณ์คลายตัวโดยที่ไม่ต้องเอากายมนุษย์ไปพูดจาให้ขุ่นเคืองกัน

จริงๆ แล้ว ผมไม่อยากให้วิทยากรยึดถือรู้ญาณเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ เพราะเหตุการณ์แบบนี้ ถ้าเราอยู่กับวิชชา เราก็ต้องแก้ไขทางวิชชามาตั้งแต่แรก ไม่ใช่มาแก้ไขเพราะได้ยินจักรพรรดิ์ท่านมาเตือน งานนี้ผงเข้าตาตัวเอง และเป็นข้อคิดสำหรับผมเองและผู้มาเรียนรู้วิชชาได้ตามสมควร

Monday, September 19, 2011

ภาคผู้เลี้ยง (3)


หากเขียนเรื่องจักรพรรดิ์ แล้วไม่แทรกเรื่องปาฏิหาริย์บ้าง ก็ดูจะจืดชืดไปหน่อย เหมือนปรุงอาหารแล้วเอาแต่คุณค่าทางโภชนาการ แต่ไม่เอารสชาติ เรื่องปาฏิหาริย์ของจักรพรรดิ์ มีปรากฏให้เห็นในที่ต่างๆ มากมาย และเป็นที่หมายปองของผู้คนไม่ว่าระดับใด นับเป็นส่วนสำคัญในการดึงคนที่มากด้วยศรัทธาให้เข้ามาในหมู่คณะ เวลาเราอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เราต้องยึดหลักความรู้ไว้ก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นผลพลอยได้ ไม่ต้องแสวงหา

ผมจะเล่าเฉพาะปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับผม และหมู่คณะเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะมากความไป ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และคำนึงถึงหลักกาลามสูตรไว้ให้มาก


เรื่องที่ 1 จักรพรรดิ์ปรากฏเป็นกายมนุษย์ให้เห็น


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2539 ช่วงใดจำไม่ได้แล้ว ผมแปลกใจตัวเองที่ปกติเป็นคนจดบันทึกประจำวันตลอด แต่เหตุการณ์ในวันนั้นผมค้นไม่เจอ คาดว่าคงตกหล่น ไม่ได้จดบันทึกไว้ มันเหมือนถูกลบออกไปจากความทรงจำ โชคดีที่มีผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยกันหลายคน

ช่วงที่เราเข้าสู่วิชชาธรรมกายมาระยะหนึ่ง ยังไม่เจอคุณลุง เราก็เล่นกายสิทธิ์เหมือนกัน คือแสวงหารัตนชาติมาเก็บไว้เยอะแยะ เพราะรู้ว่าภายในมีกายสิทธิ์ จะดลบันดาลเรื่องสมบัติคุณสมบัติให้เราได้

วันหนึ่ง พวกเราเอารถปิคอัพไปทำบุญที่วัดที่นับถือแนวทางของหลวงพ่อวัดปากน้ำ แถวๆ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ห่างชายแดนพม่าแค่ 1-2 กม. ทำบุญเสร็จก็ขับรถตามทางไปเรื่อยๆ พวกเราคนหนึ่งเห็นแสงสว่างในไร่ข้างทางแห่งหนึ่ง มองไปก็เห็นหินขาวๆ วางเรียงรายอยู่เกลื่อนกลาด จึงจอดรถลงไปดู มันเป็นป่าโล่งๆ เหมือนถูกปรับพื้นที่ไว้ทำไร่อะไรสักอย่าง พวกเราบางคนพบหินเขี้ยวหนุมานเป็นแท่งวางอยู่ก็หยิบเอามา รวมถึงหินอื่นๆ ในบริเวณนั้นด้วย

แล้วเราก็มาเจอหินสีขาวก้อนใหญ่ บางส่วนขาวขุ่นๆ บางส่วนออกใส พอมองลึกเข้าไปในเนื้อหินเห็นเป็นสีชมพู ก้อนใหญ่มากขนาดซัก 1 x 1 x 2 เมตร น่าจะได้ จมหน้าดินอยู่ ลองช่วยกันผลักดู ก็ไม่ขยับเขยื้อน คงหนักเป็นตัน ตอนแรกผมบอกว่าอย่าเอาไปเลย ก้อนใหญ่ขนาดนี้จะเอาไปยังไง ถ้าจะเอา เราไปหาเครื่องมือที่ดีกว่านี้แล้วมาใหม่วันหลังดีกว่า แต่ดูไปก็เสียดาย โดยความรู้สึกถ้าไม่เอาไปในวันนี้ วันหน้าคงหาสถานที่นี้ไม่เจอแน่ GPS ก็ยังไม่มีในยุคนั้น

เราหาเชือกขนาดใหญ่ในรถผูกหิน แล้วใช้รถดึง หินขยับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผมจะเข้าไปช่วยผลัก ยังถูกพรรคพวกเอ็ดเอาว่าหมอระวัง ถ้าเชือกขาด มันจะสบัดมาฟาดเราเข้า เขาเคยเห็นคนโดนในเรือมาแล้ว เราพยายามขยับหินก้อนนั้นอยู่นานประมาณ 1-2 ชม. ใจก็กลัวว่าเดี๋ยวเจ้าของไร่มาเจอเข้า จะว่าเรามาขโมยอะไรในที่เขา

แล้วก็มีคนเดินมาจริงๆ ผมตกใจกลัวว่าโดนด่าแน่แล้ว ตอนนั้นฟ้าเริ่มมืดครึ้ม คนๆ นั้นตัวใหญ่พอๆ กับพวกเรา เดินตรงเข้ามาหา แล้วถามเราว่าจะเอาไปทำไม เราอ้อมแอ้มตอบว่าอยากเอาไปแกะพระครับ เขาพูดว่า แกะพระเหรอ เอาล่ะ เดี๋ยวข้าช่วย เขาเอามือจับก้อนหิน พวกเรากรูกันเข้าไปช่วยยก รวมทั้งผมด้วย หินหลุดออกจากแอ่งดินนั่น เรารีบยกมันลอยขึ้นใส่กระบะท้ายรถได้ทันที ความรู้สึกผมงงๆ เพราะผมไม่รู้สึกว่ามันมีน้ำหนักเลย แต่เราไม่ทันคิด มัวแต่ดีใจที่เอามันมาได้ ผมหันไปจะขอบคุณชาวไร่ที่มาช่วยเรา แหมพี่แรงดีเหลือเกิน เราทำกันอยู่ตั้งนาน 5-6 คน ไม่ขยับเลย พอหันไป ชาวไร่คนนั้นหายไปแล้ว แถวนั้นเป็นที่โล่งๆ จะเดินไปไหนจนลับตาเร็วอย่างนั้น  ตอนนั้นพวกเราไม่มีใครถามถึงชาวไร่คนนั้นเลย

หินก้อนนั้นหนักมาก เราขับรถออกจากบริเวณนั้นท่ามกลางฟ้าแล่บ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้าง และฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก รถเรายวบตัวด้วยน้ำหนักของหิน แต่ก็ขับฝ่าออกมาจนถึงบ้าน (แม่กลอง)

พวกเรานำหินก้อนนั้นตีรถไปเชียงรายในวันถัดๆ มา เพื่อไปหาหลวงพี่ท่านหนึ่ง ให้ช่วยหาช่างแกะเป็นรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้ยินมาว่าตอนเอาลงจากรถก็ลำบากมากเพราะน้ำหนักของหิน หินก้อนใหญ่ขนาดนั้น แกะเป็นรูปหลวงพ่อได้หน้าตักแค่ 7 นิ้ว เพราะภายในมีรอยแตกร้าวในตัวหินเอง และใจกลางบางส่วนก็กลายสภาพเป็นหินสีชมพูใสๆ เศษที่เป็นเปลือกหุ้ม พวกเราหลายคนยังเก็บกันไว้ เนื้อส่วนที่ไม่มีรอยร้าว จึงสามารถแกะพระได้เพียงองค์เดียว

สุดท้ายพวกเราเอาพระที่แกะเรียบร้อยแล้วมาให้ผม ให้ผมช่วยทำบุญค่าแกะพระแก่หลวงพี่ ผมยินดีทำบุญไปเกินครึ่งหมื่นในยุคนั้น และเก็บรักษาหินสีชมพูซึ่งแกะสลักเป็นรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำไว้จนวันนี้

แล้วเราก็มาอยู่กับคุณลุง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2540


วันที่ 28 มี.ค. 2542 ผมจำได้เพราะหลังจากไปหาคุณลุง ผมก็ติดสติคเกอร์ลงวันที่ไว้ที่หินแกะนั้น วันนั้นผมเอาหินแกะสลักหลวงพ่อไปให้คุณลุงดู คุณลุงบอกว่า หินที่ออกมาเป็นสีนี้ ถือเป็นรัตนชาติแล้ว จักรพรรดิ์องค์นี้ท่านไว้ตัว ไม่เกรงกลัวใคร ท่านบอกว่าท่านมาอยู่ เพื่อมาคุมวิชชาให้หมอ ลุงบอกท่านว่าทำเป็นรูปหลวงพ่อ ต้องเก่งอย่างหลวงพ่อนะ ท่านบอกว่าถ้าไม่เก่งจะมาถึงนี่ได้อย่างไร

เหตุการณ์ผ่านมานานมาก พวกเราก็สร้างบารมีสอนธรรมตามวิธีการของคุณลุงไปเรื่อยๆ

ประมาณกลางปี พ.ศ.2553 วิทยากรท่านหนึ่งที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ไปเอาหินในวันนั้น ซึ่งท่านมีรู้ญาณพอสมควร มาคุยกับผมที่ร้าน ให้ผมทบทวนเรื่องราวในวันนั้นอีกครั้ง ว่าชายชาวไร่ที่มาช่วยพวกเราเป็นใคร พวกเราจึงฉุกคิดได้ว่าเราลืมชาวไร่คนนั้นเสียสนิท วิทยากรบอกผมว่า เขาไม่ใช่คน เขายังอยู่กับหมอ หมอสังเกตดู ในวันนั้น ตาเขามีสีเขียวๆ ไม่มีแววตา สีผิวของเขาออกคล้ำๆ จนดูเขียว ไม่มีเหงื่อ ตอนมาฟ้าฝนวิปริต แล้วหายไปโดยไม่มีร่องรอย แถมหินหนักขนาดนั้น มีเขาเพิ่มมาแค่คนเดียว ทำไมยกได้ปลิวอย่างนั้น ตอนนี้เขามาบอกหนูว่าเขาอยากให้เอาเขามาวางในห้องที่พวกเราประชุมนั่งสมาธิกันทุกสัปดาห์ เขาอยากมาร่วมด้วย เพราะผมเก็บเขาไว้ในห้องชั้นบน สุดท้ายผมก็ยกท่านลงมาในห้องประชุม

ผมถ่ายรูปเศษหิน(รัตนชาติ) ที่เป็นส่วนเปลือกบางส่วน มาให้ดู มีเหลือบสีชมพูให้เห็นบ้าง



ฟังหูไว้หูนะครับ

Thursday, September 15, 2011

ภาคผู้เลี้ยง (2)


บทความต่อเนื่องมาจากบทที่แล้ว

การเดินวิชชาให้ภาคผู้เลี้ยง ทำให้ท่านมีกำลังมากขึ้น มีวิธีการทั้งจากง่ายไปหายาก วิธีการที่ยกมากล่าวในที่นี้ถือเป็นตัวอย่างเท่านั้น ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมาก อย่าได้ถืออะไรตายตัวจนเกินไป

วิธีที่ง่ายที่สุด คือในตอนที่เราเดินวิชชาประจำวัน  ก็อธิษฐานเรียกจักรพรรดิ์ภาคขาวทั้งปวงของเรา ทั้งในกาย และนอกกาย มาเดินวิชชา 18 กายกับเรา แล้วเราก็เดินวิชชา 18 กายไปตามปกติ

ส่วนวิธีที่พิสดารขึ้น คือ อธิษฐานที่ดวงปฐมมรรค (ดวงธรรมที่ 1 ) ของกายเราทุกกายทั้ง 18 กาย ขอให้จักรพรรดิ์ประจำกายนั้นๆ มาเดินวิชชา 18 กายกับเราเถิด อธิษฐานเสร็จ เราก็เดินวิชชาของเราไปตามแบบที่เคยทำ จักรพรรดิ์ท่านจะทำวิชชาของท่านไป เราก็เดินวิชชาต่อของเราไป วิธีนี้วิทยากรรุ่นเก่าเคยตอบคำถามของคุณลุงไว้

ส่วนวิธีที่พิสดารขึ้นอีก เป็นการช่วยกันเดินวิชชา 18 กายไล่เรียงเรื่อยไปพร้อมๆ กันทั้งหมด จะดูวิชชาให้ง่าย ควรทำ Diagram ให้เห็นเป็นภาพข้างล่าง วิธีนี้ใช้เวลานานมาก หากตั้งใจจะเดินวิชชาด้วยวิธีนี้ เราต้องมีเวลามากพอ ผมเคยทำกันอย่างเร็วๆ ใช้เวลาประมาณ 2 ช.ม. โปรดดูรูปข้างล่าง



ที่ดวงธรรมที่ 1 ของทุกกาย เราอธิษฐานให้เห็นภาคผู้เลี้ยงประจำกาย (a) ซึ่งเป็นกายมนุษย์ของภาคผู้เลี้ยงของกายนั้นๆ 
จากนั้น เดินวิชชา 18 กายของภาคผู้เลี้ยงไปจนถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของภาคผู้เลี้ยงของกายนั้น (b) จากตรงนี้เป็นรอยต่อเพื่อกลับไปสู่วิชชา 18 กายที่เราทำอยู่ เมื่อเราเดินวิชชามาถึงดวงธรรมที่ 1 ที่ศูนย์กลางกายของกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของภาคผู้เลี้ยง ให้เราอาราธนาพระองค์ให้ต่อรู้ต่อญาณให้เห็นดวงธรรม (ที่ 1) ของกายหลักอีกครั้ง (c)  เดินดวงธรรม 6 ดวง ก็จะไปถึงกายถัดไป ดังรูปข้างบน เดินวิชชาจากกายมนุษย์หยาบ ไปยังกายฝัน ตรงดวงธรรม 1 ของกายมนุษย์ เราเดินวิชชา 18 กายของภาคผู้เลี้ยงกายมนุษย์ แล้วกลับมาที่ดวงธรรมของกายมนุษย์อีกครั้ง เดินวิชชาต่อไปยังกายฝัน ตรงดวงธรรม 1 ของกายฝัน ก็เดินวิชชา 18 กายของภาคผู้เลี้ยงกายฝัน ทำดังนี้ไปจนถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียดของเราเอง คือครบ 18 กาย และเป็นการเดินวิชชา 18 กายของภาคผู้เลี้ยงประจำกายทุกกาย ด้วยตัวเราไปจนจบ


วิธีสุดท้ายนี้ เป็นการเดินวิชชา 18 กายให้แก่ภาคผู้เลี้ยงในกาย หากจะเอาภาคผู้เลี้ยงนอกกายซึ่งก็คือจักรพรรดิ์ที่มาอยู่กับเราในรูปของรัตนชาติทั้งหลาย เราจะทำอย่างไร ลองคิดดูเองนะครับ

คงไม่งง มีเวลาก็ลองทำดู

ภาคผู้เลี้ยง (1)


ภาคผู้เลี้ยงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากเรื่องหนึ่งในวิชชาธรรมกาย จนบัดนี้เรายังไม่กระจ่างในเรื่องภาคผู้เลี้ยง บทความในวันนี้ พยายามพูดถึงความรู้ที่พอจะรู้มาบ้าง โดยนำมารวมไว้เพื่อให้เกิดความคิดต่อยอดเรื่องภาคผู้เลี้ยงต่อไป

อีกมุมมองหนึ่งของเป้าหมายของการสร้างบารมี มี 2 รูปแบบคือ การสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า กับการสร้างบารมีเป็นจักรพรรดิ์ หรือภาคผู้เลี้ยง ภาคผู้เลี้ยงจะสร้างบารมีในแบบฆราวาส คอยดูแลผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าอีกทีหนึ่ง และนั่นเป็นการสร้างบารมีของท่าน แต่แม้ท่านได้บรรลุมรรคผลแล้ว ก็ยังคอยดูแลผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป(นาย) รวมถึงตามไปดูแลพระพุทธเจ้าในนิพพาน ตลอดลงมายังพวกเราที่อยู่ในภพ 3 หรือแม้ตกนรกหมกไหม้ ท่านก็เฝ้ารออยู่ และเก็บรักษาบารมีไว้ให้ การดูแลคือ สร้างภพ สร้างที่อยู่อาศัย ดูแลอาหารการกิน ดูแลสมบัติ ดูแลความเป็นอยู่ ฯลฯ เรียกได้ว่าใครไม่เห็นคุณของจักรพรรดิ์ ผู้นั้นสมควรตายทีเดียว

ในยุคหลวงพ่อวัดปากน้ำเคยมีคำถามว่า ระหว่างพระพุทธเจ้ากับจักรพรรดิ์ ใครมีบารมีมากกว่ากัน ผู้รู้หลายท่านตอบหลวงพ่อว่าพระพุทธเจ้ามีบารมีมากกว่า แต่แม่ชีถนอมตอบว่าจักรพรรดิ์มีบารมีมากกว่า ซึ่งเป็นคำตอบที่หลวงพ่อไม่ค่อยพอใจนัก แต่ก็ไม่ได้สรุปคำตอบไว้ว่า ถูกผิดอย่างไร

ภาคผู้เลี้ยงช่วยดูแลศาสนาในช่วงที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เราจะพบความรู้ที่ว่าในพระพุทธรูปที่ประดิษฐานตามที่ต่างๆ ภายในล้วนเป็นจักรพรรดิ์ทั้งสิ้น บางทีจำแนกว่าท่านดูแลทั้ง พุทธจักร ธรรมจักร สังฆจักร และอาณาจักร

ภาคผู้เลี้ยงมีชื่อเรียกได้หลายแบบ มีทั้งอยู่ในกายเรา และนอกกายเรา หากเรียกว่า กายสิทธิ์ มักหมายถึงภาคผู้เลี้ยงที่ยังไม่ได้มรรคผล หากได้มรรคผลแล้วจะเรียกว่าจักรพรรดิ์

ภาคผู้เลี้ยงในกายเรา คือผู้เลึ้ยงที่ได้มรรคผลแล้ว ถูกจัดมาให้จากนิพพาน บางท่านมีครบ บางท่านไม่ครบ บางท่านไม่มี ต้องไปขอรัตนะ 7 ตอนเราเป็นธรรมกายแล้ว โดยขอจากนิพพานเจ้าของศาสนาในยุคนั้น และห้ามขอในช่วงเข้าพรรษา ถือเป็นประเพณี

เดิมที ภาคผู้เลี้ยงก็เป็นมนุษย์สร้างบารมีคู่ไปกับภาคพระ สมัยก่อนไม่ว่าภาคพระหรือภาคผู้เลี้ยง จะสร้างบารมีเข้านิพพานเป็น (สอุปาทิเสสนิพพาน) คือเข้านิพพานทั้งกายมนุษย์ ต่อมาระบบมรรคผลนิพพานถูกยึดครองเปลี่ยนแปลงไป ภาคพระต้องถอดกาย(มนุษย์) เข้านิพพานกายธรรม (อนุปาทิเสสนิพพาน) คือกายมนุษย์ต้องตาย แล้วถอดอีก 17 กายเข้านิพพาน แต่ภาคผู้เลี้ยงยังไม่เปลี่ยนแปลงระบบมรรคผลนิพพาน ผู้ที่บำเพ็ญบารมีเข้านิพพานไม่ทันในยุคนั้น ต้องหาที่อยู่โดยหลบซ่อนอยู่ในวัตถุที่คงทน อันได้แก่หินรัตนชาติ เป็นส่วนใหญ่ แล้วคอยสร้างบารมีไปกับภาคพระเพื่อให้บารมีเต็มเกณฑ์ และเข้านิพพานได้ ดังนั้นระบบนิพพานของภาคผู้เลี้ยงจึงมีเพียงระบบเดียวคือนิพพานเป็น เท่านั้น

ภาคผู้เลี้ยงมีทั้งภาคขาวและภาคดำ ปาฏิหาริย์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ล้วนเกิดจากภาคผู้เลี้ยงแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พระลอยน้ำได้ คตในผลไม้หรือในตัวสัตว์ แสงเสียงประหลาดๆ เป็นต้น

มีการจำแนกภาคผู้เลี้ยงไปหลายรูปแบบเช่น
จำแนกตามที่อยู่ คือ นอกกาย ในกาย หรือ นิพพาน และภพ 3 เช่น มนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม
จำแนกตามศักดิ์ คือ จุลจักร มหาจักร บรมจักร อุดมบรมจักร
จำแนกตามหน้าที่ คือ รัตนะ 7 อันได้แก่ ช้างแก้ว ม้าแก้ว นางแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี

มีความหลากหลายเรื่องเครื่องทรง ลักษณะ รวมถึงการแต่งกายของภาคผู้เลี้ยงอยู่มาก ความแตกต่างกันในแต่ละรูปแบบ อาจหาอ่านได้ในตำรา หรือไปดูเอาเองเมื่อเห็นวิชชาแล้ว

เมื่อเราดูภาคผู้เลี้ยงโดยเฉพาะในกายเรา แบบไม่เฉพาะเจาะจง เราเห็นเป็นกายภาคผู้เลี้ยงกายเดียว กายนั้นรวมการจำแนกทุกอย่างที่กล่าวมา ซึ่งพิสดารไปตามแกน X แกน Y ดังที่เคยกล่าวมาก่อนแล้ว

ในคู่มือสมภาร บทที่ 14 ให้ดูกายสิทธิ์ในดวงแก้ว บทที่ 15 เรื่องภาคผู้เลี้ยง สอนให้เดินวิชชา 6 ดวงธรรม 5 กาย ของภาคผู้เลี้ยง แต่ปัจจุบันถือว่าต้องเดินเป็น 18 กาย ในตำราบอกไว้อีกว่าบทที่เหลือก็ควรเดินวิชชาให้จักรพรรดิ์ไปด้วย บางทีเราจะได้ยินบางท่านพูดว่า คู่มือสมภารมี 30 บท ซึ่งจริงๆ ในหนังสือมีแค่ 15 บท แต่รวมการเดินวิชชาภาคผู้เลี้ยงด้วย (คือ 15 บท X 2 = 30) เป็น 30 บท

ส่วนในคู่มือมรรคผลพิสดาร มีการกล่าวถึงภาคผู้เลี้ยงไว้อีกมากมาย โดยเฉพาะการเอาภาคผู้เลี้ยงมาทำกายมนุษย์พิเศษ มีปรากฏหลายบทหลายตอนมาก

การบูชาจักรพรรดิ์ หรือภาคผู้เลี้ยง ให้บูชาด้วยดอกไม้หอม ถือว่าเป็นอาหารของท่าน และควรอธิษฐานเรียกถวายภาคผู้เลี้ยงในกายเราด้วย (ความรู้คุณลุง)

บทความตอนนี้คงครอบคลุมเนื้อหาได้ไม่หมด เพราะเรื่องภาคผู้เลี้ยงเป็นเรื่องใหญ่ มีความรู้ปรากฏอยู่หลายแห่ง ที่กล่าวมานี้ถือว่าช่วยปูพื้นฐานไว้ก่อนนะครับ


การเดินวิชชา 18 กาย ของภาคผู้เลี้ยง ขอยกไปคราวหน้าครับ

Monday, September 12, 2011

อย่าละเลยการปฏิบัติ


เราต้องเตือนกันบ่อยๆ ก็เรื่องนี้แหละ เพราะไม่ว่าใครก็ขี้เกียจเดินวิชชาด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่เป็นวิชชาก็ใช่ว่าจะมีความชอบที่จะจรดใจไว้กับวิชชาตลอด ความตอนนี้อาจไม่ตรงกับที่เราเคยเข้าใจมา ก็ต้องชั่งกันอีกที เหมือนตอนที่คุณลุงเคยบอกว่าเห็นพระพุทธองค์ร่ายรำด้วยความบันเทิง แล้วทำท่าให้เราดู เราคงเข้าใจว่าคุณลุงแค่เปรียบเทียบ แต่ผู้ที่มีรู้ญาณก็ไปเห็นเช่นนั้นจริงๆ เราเคยเข้าใจมาแต่เดิมว่าพระพุทธเจ้าต้องสงบสำรวม อยู่ในท่านั่งสมาธิเข้านิโรธตลอดเวลา คงไม่มีอาการดังที่คุณลุงบอก

วิชชาธรรมกายหรือแม้พุทธศาสนา เป็นวิชชาของการปฏิบัติ แม้เราจะรู้ปริยัติได้ลึกซึ้งปานใด หากไม่ปฏิบัติ ก็เป็นได้แค่โค้ชสอนนักกีฬาเท่านั้น ลงแข่งเองไม่ได้เพราะศักยภาพทางกีฬาต้องเกิดจากการเล่นกีฬาด้วยตัวเอง รวมถึงความมีสุขภาพที่สมบูรณ์ที่รู้สึกสัมผัสได้ (Well being) ก็ต้องการการออกกำลังกายด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่การอ่านตำรากีฬา หรือตำราการออกกำลังกาย แต่เพียงอย่างเดียว


อยู่กับวิชชาทุกลมหายใจ

คุณลุงพูดไว้กับผม จะทำได้แค่ไหน ตั้งเป้าไว้ก่อน


นอกจากการเดินวิชชาภาคบังคับวันละ 2 ครั้ง คือเช้าตื่นนอน 1 ครั้ง และก่อนนอนอีก 1 ครั้ง แล้ว
เวลาเราอยู่ตามลำพัง เช่นอยู่เงียบๆ นั่งเล่นเฉยๆ  หรือ  เราหลับตาลงคราใด หรือ  เรากำลังผ่อนคลายขณะทำท่าบริหารร่างกาย หรือ  ขณะอาบน้ำ  ฯลฯ ช่วงเวลาเหล่านี้ใจเราอยู่ที่ไหน? ถ้าช่วงใด เราเดินวิชชาได้ดี ตอนที่เราว่างจากภารกิจทั้งหลาย ใจเราอาจกำลังท่อง สัมมาอะระหัง หรือ หยุดในหยุด หรือ หมุนขวาในหมุนขวา หรือ แลบลั่นย่อยแยก ฯลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่การเจริญวิชชาในช่วงนั้น แสดงว่าช่วงนี้ใจเราติดอยู่กับวิชชา แต่หากเป็นการปล่อยใจไปคิดเรื่องอื่นฟุ้งซ่านไป แสดงว่าช่วงนี้ใจเราไม่ติดกับวิชชา แทนที่เราจะปล่อยใจไปที่อื่นให้มันเสียไปเฉยๆ ทำไมจึงไม่เดินวิชชาเล่า เวลาเพียง 10 นาทีที่รอหมอฟัน เราอาจเดิน 18 กายได้อีกตั้งรอบหนึ่ง

ให้เห็นดวงธรรมของกายธรรมพระอรหัตต์ และกายธรรมพระอรหัตต์ใสแจ่มชัดทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ว่าหลับตาลืมตา เชียวนะ พักได้

บทท่องข้างบนมีความหมายชัดเจนอยู่แล้ว ที่ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมคือ เราต้องเดินวิชชาให้ได้ทุกขณะจนเป็นปกติ จนสามารถลืมตาทำได้ ลืมตาท่องวิชชาได้ แม้จะไม่ละเอียดเท่าตอนหลับตา แต่ก็ทำให้ใจเราติดอยู่กับวิชชา บางท่านบอกว่าลืมตาทำ วิชชามั่นคงกว่าหลับตาทำเสียอีก ก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์ที่วัดปากน้ำ (หลวงน้า) เคยสอนผมไว้นานแล้วว่า วิชชาต้องฉลาดที่สุด และละเอียดที่สุด เมื่อไปถึงสุดละเอียดใด ให้ทำสุดละเอียดนั้นให้เป็นหยาบแล้วเดินวิชชาไปให้ถึงสุดละเอียดใหม่ รวมถึงการทำวิชชาต้องสามารถทำได้ทั้งที่เราลืมตาอยู่ผมคิดว่าตรงกับที่เรามาอยู่กับคุณลุงในยุคนี้

จากข้างต้น แม้เราจะขับรถ เราก็เดินวิชชาไปได้เรื่อยๆ ให้จบก่อน ก่อนที่เราจะเปิดหนัง เปิดเพลง เปิดวิทยุฟัง

เวลามีทุกข์ ภัย โรค เราคิดถึงการเดินวิชชาแก้ เป็นอันดับแรกหรือเปล่า?

ตอนมีทุกข์ภัยโรค เหมือนเราอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ เราอาจลืมการแก้ไขทางวิชชา เรามัวแต่วิ่งวุ่นแก้ไขด้วยวิธีทางโลกๆ อย่างวุ่นวาย เพราะคิดว่าต้องแก้ที่เหตุ แต่เราเห็นเหตุในระดับโลกๆ เท่านั้น ไม่ทันคิดถึงเหตุในส่วนละเอียด หากเราฉุกคิดเพียงเล็กน้อย ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แค่หาเวลาเดินวิชชา 18 กายซัก 10-20 นาที ผมเชื่อเหลือเกินว่า หนักต้องเป็นเบา จากนั้นจึงหาวิธีที่ลุ่มลึกขึ้น เช่น

หากเหตุเกิดจากบุคคลจะแก้ด้วยวิชชาอะไรได้บ้าง เอาความรู้มาเรียงดูตั้งแต่ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ว่าควรแก้ด้วยวิชชาอะไร ปัจจุบันครูบาอาจารย์แนะนำให้ทำอย่างไร วิชชาดั้งเดิมล้าสมัยไปหรือยัง หากเดินวิชชาเหล่านี้จะเป็นการต่อตีนโจรหรือเปล่า ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ การเดินวิชชา 18 กายให้มากเที่ยวจะปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคน และเป็นคำตอบในยุคปัจจุบัน

แก้กันไม่ได้จริงๆ จึงให้ครูบาอาจารย์ช่วย เราเป็นศิษย์มีครู หากเราแก้ได้ด้วยการเดินวิชชาของเราเอง เราก็ไม่ต้องไปรบกวนครู ท่านจะได้มีเวลาช่วยธาตุธรรมในส่วนลึกๆ เพราะบางครั้งปัญหามันเกิดจากการเดินวิชชาย่อหย่อนของเราเอง พอเรากลับมาเดินวิชชาให้หนักมือขึ้น ปัญหาก็หมดไป

ก่อนจบ อย่าลืม

จงอยู่กับวิชชาทุกลมหายใจ

Wednesday, September 7, 2011

วิชชาธรรมกาย กับคณิตศาสตร์ (3)


ตอนนี้ ขอคุยไปเรื่อยๆ ต่อยอดจากพื้นฐานที่ได้คุยไว้เมื่อ 2 ตอนที่แล้ว การต่อยอดต้องระวังความเพี้ยน ความเฝือไว้ด้วยเสมอ สำหรับผม จะอ้างอิงความรู้จากตำราที่อ้างอิงได้ แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เคยคุยส่วนตัวกับครูบาอาจารย์ ซึ่งครูของเรา ก็คือคุณลุง ท่านย้ำเสมอว่า เราจะรู้กันแค่ 2 คนไม่ได้ หมอต้องเอาไปพูดในที่ประชุม ผมจึงถือโอกาสใช้ blog นี้เป็นเครื่องมือสื่อสารอันหนึ่ง


ข้อ 1 เรื่องแกน X กับแกน Y


คุณลุงเคยถามผมเป็นการส่วนตัวว่า ทำอย่างไร เราจึงจะเอากำเนิดทั้ง 3 มาเดินวิชชาให้ครบ ให้ผมไปค้นคว้ามาเป็นการบ้าน

ภายหลังผมตอบคุณลุงไป 2 นัย ดังนี้

นัยที่ 1 มีความรู้ปรากฏอยู่ในมรรคผล 1 บทท้ายๆ เรื่องการถอยพืด เป็นการซ้อนสับกำเนิดเดิมทั้ง 3 ในตัวเรา คือทำไปทั้งอนุโลมและปฏิโลม เป็นการดึงกำเนิดเดิมทั้งหมดเข้ามาอยู่ในศูนย์ของเรา จากนั้นเราจึงเดินวิชชา 18 กาย คุณลุงรับรองความรู้นี้แล้ว

นัยที่ 2 ผมตอบคุณลุงทางโทรศัพท์ คือ ก่อนเดินดวงธรรมของกายมนุษย์หยาบ ให้อธิษฐานเอากายมนุษย์ของเราทุกกาลเวลา มาเดินวิชชา 18 กายด้วยกันกับเรา คุณลุงก็รับรองคำตอบข้อนี้ และชื่นชมว่ากว่าความรู้แต่ละอย่างจะเกิดขึ้น ใช้เวลาเนิ่นนานเหลือเกิน หมอค้นพบได้ จะทำให้กายของเราแข็งแรงขึ้น

ผมจะคุยตรงนัยที่ 2 นี่แหละ

หากเราเลื่อนจุด O ไปตามแกน X ที่เป็นกำเนิดเดิมของเรา เลื่อนมาทางซ้ายไปหากำเนิดที่เป็นต้นมากขึ้น คล้ายเราทำวิชชาปุพเพนิวาสญาณ ไปหยุดที่กำเนิดต้นที่อายุประมาณ 7 ขวบ มีอะไรน่าคิดหลายอย่าง เช่น กายมนุษย์เด็ก  7 ขวบนี้ ก็เป็นกายเรา แต่ไม่เหมือนเราในตอนนี้เลย มีเพียงความละม้ายกันเท่านั้น ไม่เหมือนแม้กระทั่งความคิดอ่าน แต่ก็เป็นกายเรา ตอนนี้เขาไปอยู่เสียที่ไหน ตอนนั้นเขายังไม่ได้เรียนวิชชาธรรมกาย เขาไม่มีโอกาสได้เดินวิชชา 18 กายเหมือนกับเราในตอนนี้ ทำอย่างไรกายของเราทั้งปวงจึงจะมีโอกาสมาเดินวิชชา 18 กายได้ ถึงตอนนี้ท่านจะเห็นความมากมายของธาตุธรรมแม้เป็นของเราเอง นี่แค่ชาตินี้ ยังมีชาติอื่นอีก การอธิษฐานเอากายมนุษย์ทุกกาลเวลาของเรามาเดินวิชชา 18 กายด้วย จึงต้องกระดิกจิตนึกเอามาให้หมด

วิชชา 18 กายสำคัญอะไรมากมายนัก ผมอยากให้พวกเราอ่านในปราบ 6 ตอนท้ายๆ ที่ว่า วิชชาสำคัญมีเพียง 2 อย่างคือ 1. วิชชา 18 กาย และ 2. วิชชาปราบมาร เปิดหาอ่านดูนะครับ


ตัวอย่างในข้อ 2 เรื่องการซ้อนกันเป็นชั้นๆ


ผมได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับการทำวิชชาของภาคเขา เราอาจมีความคิดต่อยอดหลายอย่าง เช่น


อย่ายึดถืออะไรเป็นกฏเกณฑ์ตายตัวจนเกินไป การซ้อนกันของวิชชาของเขาอาจสลับตำแหน่ง หรือมีเพิ่มเติมขยายความขึ้นอีกในตอนไหนก็ได้ เช่นวิชชาอธิษฐานกับปาฏิหาริย์ของเขา ก็อาจมีแทรกอยู่แทบทุกชั้น เราจึงต้องท่องดับอธิษฐาน ถอนปาฏิหาริย์ ไว้บ่อยๆ

เนื่องจากเขาเป็นผู้รุกราน เขาจึงมีวิชชาเชิงรุกมากมายมหาศาล เราได้แต่เดินวิชชาเพื่อแก้วิชชาของเขาเท่านั้น วิชชาเชิงรุกของเราแทบไม่มีเลย ยกเว้นเราจะพยายามฟื้นวิชชาของเราขึ้นมาเสียใหม่ เช่น วิชชาปิฎก วิชชาพรหมวิหาร วิชชาอิทธิบาท ให้มีโอกาสเข้ามาปกครองในเชิงรุกบ้าง

เขามีทีมงานที่เก่งฉกาจ และรู้หน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ฝ่ายเราต้องพัฒนาให้มากขึ้น

เขาฉลาดรอบคอบ ไม่ทำวิชชาแค่ชั้นเดียว เก่งในการหลบหลีกมาแต่ไหนแต่ไร เรียกว่าเป็นมวยมาก่อน เราต้องเรียนรู้ศึกษาให้ทัน มิฉะนั้นเขาจะก้าวต่อไปถึงไหนๆ

เขาซ่อนกาย แต่เราไม่ซ่อน
ฯลฯ

ชักจะลึกมากขึ้น เอากันพอหอมปากหอมคอนะครับ

วิชชาธรรมกาย กับคณิตศาสตร์ (2)


3.    หากเราวางแผนการเดินวิชชา ด้วยลักษณะ Flowchart หรือ Diagram จะมองภาพรวมได้ง่ายขึ้น


เช่น การเดินวิชชา 18 กายประจำวัน ดังรูปข้างล่าง

การเดินวิชชา 18 กายขาอนุโลมโดยทั่วไป ก็เดินวิชชาจาก กายมนุษย์หยาบ (กายที่ 1) เดินดวงธรรม 6 ดวง ไปที่กายฝัน (กายที่   2) แล้วไล่ไปจนถึงกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด (กายที่ 18) ตามบรรทัดบนในรูป

แต่เมื่อสิ้นยุคหลวงพ่อวัดปากน้ำ คุณลุงบอกว่าไม่มีใครเลยที่สามารถเดินวิชชา 18 กายได้ตลอดรอดฝั่ง สมัยหลวงพ่อยังอยู่ หลวงพ่อคุมวิชชาให้เรา ยุคหลังๆ บางทีต่อวิชชาให้ผู้ที่เห็นดวงธรรม ไปได้แค่ดวงธรรมที่ 3 (ดวงสมาธิ) ของกายมนุษย์หยาบ ก็หยุดแล้ว บางทีต่อวิชชาไปแค่กายฝัน สอนให้ดูกายฝันเดินเหิรไปเหนือยอดหญ้า ก็มี การเห็นวิชชาในลักษณะนี้ยังอยู่ในขั้นของกายโลกีย์ จะถูกภาคมารตัดวิชชาให้เลือนไปได้ง่ายมาก ครั้นจะกลับมาให้เห็นใหม่ก็ยากขึ้นเสียแล้ว เพราะวิชชาจะซ้ำรอยเดิม ถูกปิฎกของภาคมารขวางไว้แน่นหนาแล้ว

คุณลุงดัดเหลี่ยมนี้ โดยให้เราสร้างบารมีสอนให้เต็มที่ทั้งที่วิทยากรหลายท่านก็ยังไม่เห็นวิชชา แต่เอาสิทธิอำนาจในการเปิดดวงปฐมมรรคไปใช้ก่อน ให้ดูเรื่องการกู้ยืมบารมีประกอบ ส่วนการเดินวิชชา 18 กายประจำวัน ให้ใช้วิธีท่องจำเอา ตามรอยใจที่เรียบเรียงไว้อย่างถูกต้องดีแล้ว เมื่อบารมีเรามากเข้า จากงานสอน จากการหมั่นเดินวิชชาประจำวันอยู่เสมอ และอื่นๆ ที่เราทำกันอยู่เป็นประจำนั้น ปิฎกภาคมารก็ขวางเราไม่ได้ เราจะเห็นธรรมได้ด้วยตัวเองเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา ถึงตอนนั้นเราก็ทำอะไรมาได้เยอะแล้ว

อีกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้ในสายแม่ชีถนอม และสืบเนื่องมาในยุคคุณลุง คือตอนที่เรายังไม่ไปสู่ขั้นตอนของการเดินวิชชา  18 กาย ตรงดวงธรรมที่ 1 (ดวงปฐมมรรค) ของกายมนุษย์หยาบ (ดูรูปประกอบ) เรามาเดินวิชชาให้เห็น 4 กายธรรมเบื้องต้นก่อน คือ ”Loop 4 กายธรรม ในรูป ถ้าเวลาไม่พอ หรือผู้เรียนยังไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องไปเดิน 18 กาย ขั้นตอนนี้มักเป็นขั้นตอนที่เราออกไปสอนตามโรงเรียน

แต่เมื่อเราจะเดินวิชชา 18 กายต่อ เราก็ออกจาก Loop คือให้กายธรรมต่อรู้ต่อญาณให้เห็นดวงธรรมของกายมนุษย์ (หยาบ) ตอนนี้ขอให้ทำความเข้าใจว่า เราจะใช้กายธรรมใดก็ได้ ต่อรู้ต่อญาณให้เรา ใช้ได้ตั้งแต่กายธรรมพระโสดา จนถึงกายธรรมพระอรหัตต์ แต่เรามักใช้กายธรรมพระอรหัตต์ และการเดินวิชชา 18 กายต่อจากนี้ ถือเป็นการเดินวิชชาโดยอาศัยรู้ญาณของกายธรรมชูช่วยเรา จะทำให้เดินวิชชาได้ตลอดรอดฝั่ง

มาถึงตรงนี้ หลายสำนัก เข้าใจผิดว่าเราเห็น  (เกิด) กายธรรมแล้วในช่วง Loop 4 กายธรรม (ในพระมีดวง ในดวงมีพระ) ก็ไม่จำเป็นต้องย้อนมาเดินวิชชา 18 กายอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ถ้าเราวาดผัง หรือ Diagram แบบข้างต้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเรายังอยู่ในขั้นตอนใด อีกอย่างคือความเข้าใจยุคเก่า ไม่ให้ความสำคัญกับกายโลกีย์ เมื่อหลุดมาเห็นกายธรรมแล้วก็เหมือนดีใจ และไม่อยากกลับไปเดินวิชชาที่กายโลกีย์อีก เป็นการ set priority ที่ผิด ผมจะคุยเรื่องนี้อีกทีในบทความถัดๆ ไป

การวาดผัง Flowchart หรือ Diagram ช่วยให้เราเห็นภาพรวม และทำให้วิชชาที่ดูซับซ้อน มองดูง่ายขึ้น บางท่านไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้เพราะจำได้ชัดเจนในสมองแล้ว แต่หลายๆ ท่านคงช่วยได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

เดิมว่าจะต่อยอดบทความที่แล้วไปด้วยกัน แต่จะยาวไปสำหรับบทความตอนนี้ เอาไว้เที่ยวถัดไปนะครับ

Monday, September 5, 2011

วิชชาธรรมกาย กับคณิตศาสตร์ (1)

จริงๆ แล้ววิชชาธรรมกายเป็นทั้งหมดของวิชชาทั้งปวง ผมเคยคุยกับวิทยากรว่า วิชชาธรรมกายเป็นทั้งหมดของพุทธศาสนา หากเราไม่คิดเช่นนั้นแสดงว่าเรายังมีความรู้น้อยไป วันนี้ผมจะยกตัวอย่างความเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ไว้พอสังเขป

วิชชาธรรมกายเป็นคณิตศาสตร์

เราคงเคยได้ยินเรื่อง การคำนวณ ในวิชชาธรรมกาย แต่ผมจะให้ข้อมูลบางส่วน ดังนี้


1.       แกนตั้ง กับแกนนอน ( แกน X กับ แกน Y)


ผมคิดว่าแกนอย่างน้อย 2 แกนนี้มีความสำคัญมากในความเข้าใจวิชชาธรรมกาย ขอให้ดูรูปประกอบ
เราต้องจับแกนหลัก X กับ Y ให้ได้ก่อน

จุด O (Origin) คือจุด หรือธาตุธรรมใดใดที่เราพิจารณา

หากเราให้จุด O เป็น กายมนุษย์หยาบ แกนตั้ง หรือแกน Y ก็คือแกน 18 กาย โดยเดินวิชชาอนุโลม จากจุด O คือกายมนุษย์หยาบ ไปยัง Y+ คือกายธรรมพระอรหัตต์ละเอียด ถ้าเดินปฏิโลมก็เดินกลับจาก Y+ มาที่จุด O นั่นเอง

ส่วนแกนนอน คือแกน X ก็คือ แกนกายพิสดารของกายมนุษย์ (หยาบ)  ซึ่งมีสุดหยาบ ไปทาง X- และสุดละเอียด ไปทาง X+ นั่นเอง

แกนนอนมีได้หลายแกนสุดแต่เราจะพิจารณาอะไร ผมจึงเขียนภาพให้มี X1-, X1+ ซึ่งจะมี X2 X3 ไปได้เรื่อยๆ ตัวอย่างสำหรับกายมนุษย์หยาบก็คือ เราอาจพิจารณา กำเนิดต้นกลางปลาย พิจารณาจักรพรรดิ์ในกาย และอื่นๆ ได้อีกมาก สุดแต่ความรู้ในเรื่องสมบัติ คุณสมบัติ ของกายที่เราค้นคว้าได้

ที่สำคัญคือ เมื่อเราเลื่อนจุด O ไปวางยังตำแหน่งใด ไม่ว่าจะเป็นจุดใดใดบนแกนทั้งปวงนั้น จะเกิดจุด Origin ใหม่ ซึ่งมีแกนตั้งแกนนอนแบบเดียวกันได้อีกมากมายนับไม่ถ้วน นั่นคือเป็น set ซ้ำแล้วซ้ำอีกในเชิงคณิตศาสตร์ จึงเป็นความมากที่เราพอจะมองเห็นได้ โดยการพิจารณาแกนตั้งแกนนอนนั่นเอง

ความมากในทางคณิตศาสตร์ อาจเรียกว่าเป็นอนันต์ (Infinity) แต่ความมากในทางวิชชาเรียกได้หลายรูปแบบ แต่มักได้ยินคำว่า นับอสงไขยไม่ถ้วน อยู่บ่อยๆ ส่วนที่เหลือ ให้ไปหาดูในหนังสือทางมรรคผลของหลวงพ่อวัดปากน้ำถือเป็นการบ้านนะครับ

สมมุติ หากจุด O เป็น กำเนิดเดิม แกน X ก็เป็นกำเนิดต้น กลาง ปลาย ของชาตินี้ แกน Y ก็น่าจะเป็น กำเนิดเดิมในภพชาติต่างๆ ที่เราเกิดมาแล้ว (ต้น ในทางแกนตั้ง) กำลังเกิดอยู่ (กลาง ในทางแกนตั้ง) และที่จะเกิดต่อไป (ปลาย ในทางแกนตั้ง) นั่นเอง

หากให้จุด O เป็น จักรพรรดิ์ แกนตั้ง เราอาจให้เป็นแกน 18 กายของท่าน แกนนอนที่ 1 อาจเป็น จุลจักร มหาจักร บรมจักร อุดมบรมจักร แกนนอนที่ 2 อาจเป็น ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว จักรแก้ว แก้วมณี สุดแต่เราจะพิจารณา

ยังเอามาใช้ได้อีกมากมาย และช่วยในการคำนวณทางวิชชาให้ครอบคลุม


2.       มองวิชชาให้ครอบคลุมด้วยลักษณะของการซ้อนกันเป็นชั้นๆ


ต่อไปนี้ ขอให้ถือเป็นการยกตัวอย่างให้ดูเท่านั้นนะครับ ที่เหลือคือการต่อยอดทางความคิดของท่านต่อไป

สมมุติว่า W คือวิชชาอะไรก็ตามที่ภาคมารเขาจะส่งมายังมนุษย์ เช่น โรค W

ในตัว W จะมีความมากมายไปทางแกน X และแกน Y เหมือนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แกน Y อาจเป็นแกน 18 กายของผู้ต้นคิดวิชชา แกน X หรือแกนนอน ก็อาจมี ผู้สอด ผู้ส่ง ผู้สั่ง ผู้บังคับ ผู้ปกครองย่อย ผู้ปกครองใหญ่ เครื่องรวมย่อย เครื่องรวมใหญ่ หัวใจเครื่องรวมใหญ่ของผู้ปกครองใหญ่ สุดแต่เราจะจับวาง ตัวตนเหล่านี้มีภพอยู่อาศัย กระจายความละเอียดของภพไปเป็น นิพพาน ภพ โลกันตร์ คิดโรคมาแล้วก็ทำเป็น เครื่อง คือวงกลม A นั่นเอง

ปรุงเครื่อง (โรค) เสร็จ เขายังไม่ส่งมา เขาหุ้มด้วยวงกลม B คือเหตุ 19 เพื่อให้ยากต่อการรู้เห็น คือหากรู้ญาณของธรรมภาคขาวเข้าไปสัมผัส ก็จะเห็นเป็นเหตุว่างทั้งปวง 19 รูปแบบ สาวไปไม่ถึงตัว W เรามองเห็นรอบตัวเราเป็นว่างไปหมด ไม่รู้เลยว่ามีอะไรถูกส่งมาบ้าง มองไปทางไหนก็มีแต่ว่างๆๆ จึงจัดเหตุว่างเหล่านี้ว่าเป็น เหตุหลักในตำราเล่ม 1 นั่นเอง ในเหตุว่าง B ก็มีกองกำลังสนับสนุนอีกมากมาย เป็นเหตุจร เหตุสอดแทรก ซึ่งเนื้อหาก็อยู่ในตำรานั่นเอง ส่วนตัว W เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องไปพิชิต คือเหตุที่เราจะไปประจัญข้างหน้า นั่นแหละ

มาถึงขนาดนี้ เขาก็ยังไม่ส่ง W มา เขาหุ้มด้วยวงกลม C อีกชั้นหนึ่ง คือเหตุอธิษฐาน กับเหตุปาฏิหาริย์ คืออธิษฐานไว้อีกชั้นว่า ไม่ให้ธรรมภาคขาวแก้ได้ เขาสลับเหตุในวงกลม C นี้ไปมาอะไรมาก่อนมาหลังไม่แน่นอน เราจึงต้องท่อง ดับอธิษฐาน ถอนปาฏิหาริย์ แล้วปฏิโลมอีกว่า ถอนปาฏิหาริย์ ดับอธิษฐาน บางทีต้องสลับคำด้วย เช่น ดับปาฏิหาริย์ ถอนอธิษฐาน ถอนอธิษฐาน ดับปาฏิหาริย์ หากเราได้ยินใครเขาท่อง ก็อย่าเพิ่งไปว่าเขาผิด

เขาส่งมาหรือยัง ถ้าวิชชาไม่แก่นัก ก็อาจส่ง W มาได้แล้ว ถ้าวิชชาแก่ขึ้นอีก ก็ยังไม่ส่งมา เขากลั่นทั้งหมดให้ละเอียดมากเข้าๆ จนทั้งปวงนี้ เล็กเป็นฝุ่นเป็นผงเหมือนฝุ่นยานัดถุ์ หรือที่เรียกว่าจุดดำ นั่นเอง ถึงตอนนี้เขาจึงจะส่งโรค W มา

เพิ่งได้ 2 เรื่องของคณิตศาสตร์ แต่เนื้อหายังไม่หมด ต้องยกไปคราวหน้า เพราะตอนนี้ยาวมากแล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านคงเริ่มสนุกกับการอ่านตำราวิชชาธรรมกายบ้างนะครับ เราต้องจัดหมวดหมู่ให้ดี จึงจะเกิดความเข้าใจ และจดจำได้ง่าย มาถึงตอนนี้ จะเห็นได้ว่า วิชชาไม่ใช่ของยาก แต่ต้องเรียนรู้อย่างถูกหลักและมีเหตุมีผล

เจอกันคราวหน้าครับ