Pages

Wednesday, December 28, 2011

การอธิษฐาน


การอธิษฐานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด การอธิษฐานคือการตั้งวัตถุประสงค์ หรือ Vision ว่าเราต้องการอะไร เป็นอะไร เป็นไปอย่างไร แล้วจึงวางแผนสร้างบุญบารมี หรือ Mission เพื่อให้ได้ผลสมดังคำอธิษฐานนั้น ทั้งนี้การกระทำเพื่อให้บรรลุซึ่งคำอธิษฐานก็ต้องสมเหตุสมผลกับสิ่งที่เราอธิษฐานด้วย เช่นเราทำบุญทำทานแค่ชั้นอนุบาล แต่หวังผลบรรลุถึงชั้นอุดมศึกษา ก็เป็นไปไม่ได้

การอธิษฐาน คุณลุงได้เขียนไว้ละเอียดแล้วในหนังสือ คู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 221-224 แต่ที่ผมจะกล่าวถึงในที่นี้ ถือเป็นการคุยขยายความ และช่วยทบทวนเผื่อท่านที่อาจจะลืมเลือนไป

ความรู้ทั้งปวงมีหลายระดับ ต้นกลางปลาย อ่อนแก่ หยาบละเอียด อดีตปัจจุบันอนาคต การอธิษฐานก็เช่นกัน การอธิษฐานทำให้เห็นภูมิความรู้ รวมถึงความอ่อนแก่ในการสร้างบารมีของผู้อธิษฐาน คุณลุงแบ่งวิธีการอธิษฐานให้เราได้ศึกษา ดังนี้

การอธิษฐานมี 3 ระดับ

1.       ระดับชาวบ้าน
        อธิษฐานให้ได้ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1
2.       ระดับบัณฑิต
                        อธิษฐานให้ได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ
                        หรืออื่นๆ ตามหัวข้อในพระไตรปิฎก
3.       ระดับนักรู้
การอธิษฐานในระดับนักรู้ แบ่งได้อีก 3-4 ระดับ ทั้งนี้ ต้องเรียนรู้ให้แตกฉาน และสัมพันธ์กับบารมีที่เราบำเพ็ญมา และต้องไม่ไปท้าตีท้าต่อยกับมาร จนกว่าเราจะสร้างบารมีได้ถึงขีดขั้น ระหว่างนี้จึงเป็นการอธิษฐานป้องกันตัวไว้ก่อน มารก็อ้างไม่ได้ว่า เราจะไปรบกับเขา


ผมไม่ลงรายละเอียดของคำอธิษฐานระดับนักรู้ในที่นี้ ด้วยเหตุผลดังย่อหน้าข้างบน คำอธิษฐานเบื้องต้นคือให้ดวงบารมี ดวงเห็นจำคิดรู้ ดวงกายใจจิตวิญญาณ เป็นธาตุขาวธรรมขาว ... จากนั้นก็ต้องสร้างบารมีควบคู่ไปด้วย จนบารมีถึงขีดขั้น จึงก้าวเข้าสู่การอธิษฐานในลำดับต่อๆ ไป จนท้ายสุดเป็นการอธิษฐานของผู้ปราบ บุคคลธรรมดาเอามาใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นภัยแก่ตัว การเล่าเรียนวิชาต้องดูความเหมาะสม บางท่านเฝือ ชอบคุยวิชาชั้นสูง แต่เราต้องมีหลักเกณฑ์ และรู้จุดยืนของเราด้วยว่าอยู่ตรงไหน แล้วสร้างบารมีอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป

ผมอยากให้ข้อคิดต่อ ดังนี้

การอธิษฐานในระดับชาวบ้าน คือ อธิษฐานให้ได้ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1” เมื่อผมอ่านใหม่ๆ ยังงงๆ ว่ามันชาวบ้านตรงไหน แต่พอไตร่ตรองดูจึงพบว่า นี่คือการอธิษฐานขอบรรลุธรรม เข้านิพพาน หรือเป็นปกติสาวก นั่นเอง ในที่นี้ ไม่ได้อธิษฐานในเรื่องทางโลกเลย

อย่างไรก็ตาม หากต้องการพ้นทุกข์และเป็นสุขอย่างถาวร นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านควรอธิษฐาน ควรกำหนดไว้เป็นเป้าหมายชีวิต ควรเป็น  Vision อันสำคัญที่ต้องแสวงหา แต่ถามว่าจะมีชาวบ้านซักกี่คนคิดที่จะอธิษฐาน หรือตั้งความปรารถนาให้แก่ตัวเองแบบนี้ นั่นคือ สัตว์โลกแทบทั้งปวงไม่รู้เลยว่า ยอดปรารถนาสูงสุดในการมาเกิดเป็นมนุษย์ของตน ควรเป็นอย่างไร

เมื่อดูมุมมองของการปกครอง จึงพบว่าสัตว์โลกต้องถูกชี้นำโดยผู้ทรงปัญญา ชี้ทางสว่างให้ เพราะการให้สัตว์โลกด้วยกันที่มีปัญญาเพียงแค่นั้นปกครองกันเองเพราะเป็นคนส่วนมาก ก็ไม่ได้ถูกเสมอไป

การที่เราสอนธรรมจนผู้เรียนมีดวงตาเห็นธรรม เท่ากับเราได้ให้ในสิ่งที่สัตว์โลกปรารถนามาตลอดชีวิตของการเวียนว่ายตายเกิดของพวกเขา เพราะการเห็นธรรมเป็นสื่อให้เข้าถึงนิพพานในที่สุด

การอธิษฐานในระดับบัณฑิต  อธิษฐานให้ได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ก็คืออธิษฐานขอเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า ภาคโปรด นั่นเอง

ส่วนการอธิษฐานในระดับนักรู้ ก็คือการอธิษฐานของภาคปราบ รวมๆ กับภาคโปรดในการสร้างบารมียุคใหม่ ซึ่งกล่าวมาก่อนแล้ว

ท่านได้เห็นความลุ่มลึกของความรู้เรื่องการอธิษฐาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา ทุกอย่างมีขั้นมีตอน มีการวางแผน เหมือน ทุกๆ เรื่องในชีวิตของเราที่ต้องวางแผนเช่นกัน เราจึงจะประสบความสำเร็จ

ขอให้ทุกท่านโชคดี

Wednesday, December 21, 2011

ทำใจไม่ได้


มีคำถามเรื่องการเดินวิชชาจากวิทยากร โดยเนื้อหามีดังนี้

เมื่อเราได้เรียนการเดินวิชชาพรหมวิหาร 4  ซึ่งเป็นวิชชาของภาคพระ หากเป็นสมัยโบราณก็คือการแผ่เมตตาให้แก่ผู้คนนั่นเอง ไม่ว่าเขาจะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เราคำนวณเข้ามา หรือเป็นบุคคลที่มาล่วงเกินเราก็ตาม ขั้นตอนการเดินวิชชาไม่ยาก แต่การทำใจให้เป็นไปตามคุณธรรมของพรหมวิหารคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บางครั้งยากมากๆ โดยเฉพาะการเจริญพรหมวิหารแก่ศัตรูที่มาล่วงเกินเรา เรานั่งวิชชาเข้าไปแล้วบอกว่า ขอท่านจงเป็นสุขเถิด ขอท่านจงพ้นทุกข์เถิด ขอท่านจงมีความจำเริญเถิด ฯลฯ เหล่านี้เรามักทำใจไม่ได้ เพราะเรายังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ ยังโกรธอยู่ เราควรทำอย่างไร?

ผมอยากให้ข้อคิดคือ วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาที่แก้ใขจากส่วนละเอียดออกมา แม้เราจะต้องปรับส่วนหยาบคือใจของกายมนุษย์เข้าไปบ้าง ก็ทำไปเท่าที่ทำได้ การเดินวิชชาในเที่ยวแรกๆ อาจจำเป็นต้องทำในลักษณะ สักแต่ว่า ทำ เพราะเรายังปรับอารมณ์ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ของเราก็สอนให้เรา ท่อง วิชชาเข้าไว้ก่อน แต่จะเข้าถึงแค่ไหน ใจเราจะค่อยๆ ปรับไปเอง

เมื่อเรามีปัญหากับใครที่มาล่วงเกินเรา เราไม่เดินวิชชาไปสาปแช่งเขา เท่ากับว่าเราพยายามเจริญรอยตามวิถีทางของพระอยู่แล้ว แต่การฝึกฝนใจหรือแม้การหัดทำอะไรก็ตาม มันมีขั้นตอนของการเริ่มฝึกใหม่ ซึ่งต้องรอเวลา มากบ้างน้อยบ้าง ผมเคยเขียนเรื่องพรหมวิหารว่าเมื่อเดินวิชชาแก่ศัตรูเราแล้ว เขามีอันเป็นไป เราก็อย่าก้าวขั้นไปคาดหวังว่าเราจะเดินวิชชาให้ศัตรูมีอันเป็นไป เขาจะเกิดอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เพราะสุดท้ายของเหตุการณ์นั้น วิชชามันก็ทำให้เขากลับกลายมาเป็นมิตรในที่สุด

เมื่อเรามีทุกข์ภัยโรค ผมเคยเขียนให้ลองเดินวิชชา 18 กาย อนุโลมปฏิโลมซัก 7 เที่ยว จะเห็นได้ว่าการเดินวิชชาในเที่ยวแรกๆ ขณะที่ใจยังวุ่นวายสับสนนั้น ยากที่สุด แต่ให้เราฝืนท่องวิชชาเข้าไว้ โดยประสบการณ์ของผมจะเริ่มนึกวิชชาและความสว่างออกประมาณเที่ยวที่ 4 (ไม่ตายตัว) แล้ววิชชาจะคล่องตัวขึ้น ใจสบายขึ้น เรายังไม่ต้องกังวลกับความว้าวุ่นในเที่ยวแรกๆ แล้วพยายามปรับสภาพใจทั้งๆ ที่ยังทำไม่ได้ในตอนนั้น แต่เรามีไม้ตายคือการ ท่องวิชชา เข้าไว้ นั่นเอง

วิธีการนี้ เอามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ได้ ตอนที่คุณลุงพยายามตรวจดูอาจารย์ทางวิชชาธรรมกายท่านหนึ่งว่าละสังขารแล้วไปอยู่ที่ใด ท่านเล่าว่าท่านใช้เวลาตรวจไปเรื่อยๆ ทุกวัน วันแรกๆ ไม่เห็นอะไรเลย จน 3-4 เดือน เห็นนิดๆ แล้วมากระจ่างเอาเดือนที่ 8 หมายความว่าท่านไม่จำเป็นต้องเค้นเอาเหตุเอาผลให้ได้ภายในเวลาสั้นๆ

แม้ตอนที่เราหัดนั่งสมาธิใหม่ๆ เราก็ต้องเริ่มจากการ นึก ดวงใสเอาดื้อๆ เช่นกัน นึกออกบ้างไม่ออกบ้าง ก็ทำไป ทำหนักเข้าๆ ใจเราก็ค่อยๆ ปรับเป็นความ เห็น ขึ้นทีละน้อย ทุกอย่างย่อมมีขั้นมีตอน ยังไม่ต้องฝืน

การเดินวิชชาพรหมวิหาร ต้องทำใจให้โน้มน้าวไปตามความหมายของพรหมวิหารก็จริง ครั้งแรกๆ จะทำได้แค่ไหน ก็แค่นั้น วันหลังก็ทำต่อ

ถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ แม้วันร้ายคืนร้ายที่เรารู้สึกว่า เราเดินวิชชาประจำวันไม่ดี เราก็ไม่ต้องไปกังวลใจ ออกมาเปลี่ยนอิริยาบถ พอมีเวลาก็กลับมานั่งใหม่ หากยังไม่ดีอีกก็ท่องวิชชาให้ผ่าน แล้วกลับมาเดินวิชชากันใหม่ในเที่ยวหลัง หรือมาทำใหม่ในอิริยาบถอื่น ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกังวลว่าวันนี้มันจะไม่ดี ไม่ต้องไปสร้างผังให้เขา เราทำดีที่สุดแล้ว มันก็ต้องดีจนได้

Saturday, December 17, 2011

การแก้โรค กับ การหายของโรค


เรามีความคาดหวังต่อการหายของโรคอย่างไร?

บทความในบล็อกนี้เป็นบทความเกี่ยวกับวิชชาธรรมกาย จึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าการแก้โรคที่เราพูดถึงเป็นการแก้ไขด้วยวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นการแก้ไขจากส่วนละเอียดออกมา แล้วมีผลทำให้กายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหยาบหายเจ็บป่วย

ในบทความเรื่องวิชชาธรรมกายกับประวัติศาสตร์เราพบว่าธรรมภาคขาวถูกปกครองมานาน การฟื้นฟูจากภาวะที่ถูกปกครองจึงต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป จริงๆ แล้วเราคาดหวังว่าเมื่อเราแก้โรค โรคก็ควรจะถูกหยิบทิ้งออกไป โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการทางแพทย์หรือวิธีการอื่นที่เป็นส่วนหยาบอีกแล้ว ผมและทุกคนที่เรียนวิชชาก็หวังให้เป็นเช่นนั้น คือเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทองคำภายในพริบตา หรือเปลี่ยนจากมะเร็งร้ายให้กลายเป็นเนื้อดีโดยฉับพลัน เราก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่ผลลัพธ์ที่ผมเห็นในขณะนี้กลับมีความแตกต่างกันไป บ้างก็หายในข้ามคืน บ้างก็ต้องผสมผสานกับวิธีการรักษาทางโลก จึงจะหาย

หากเราตั้งใจที่จะรักษาหลักวิชาที่ถูกต้อง ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้า เราก็ต้องอดทน ผมจะยกตัวอย่างเท่าที่ผมมีประสบการณ์จริงที่ผ่านมาดังนี้

กรณีลูกของวิทยากรทานยาฆ่าหญ้า (Paraquat) จนเริ่มมีอาการไหม้ของปาก และเยื่อบุทางเดินอาหารตั้งแต่ลำคอลงไป รวมถึงมีอาการเหนื่อยหอบจากการเริ่มมีการทำลายของเนื้อปอด โดยปกติ หากมีอาการถึงขั้นนี้คนไข้มักเสียชีวิตทุกราย การรักษาเป็นเพียงแค่ประคับประคอง คนไข้ทานอะไรไม่ได้แล้ว คืนนั้นให้คนไข้คุยกับคุณลุงเพื่อต่อรองกับธาตุธรรม รุ่งเช้าคนไข้หายหอบ กลับมาอยากอาหารและรับประทานได้ตามปกติ สุดท้ายหายจากโรคภายในคืนเดียว ท่านจะเชื่อหรือไม่ ยังไงมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

Case ดังกล่าวเป็นที่น่าแปลกใจแก่วงการแพทย์ เพราะแพทย์ที่ศิริราชได้นัดคนไข้ไปฟื้นฟูต่อที่แผนกจิตเวช และต่างก็แปลกใจต่อการหายของโรคในรายนี้

มีรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับการหายจากการรับสาร Paraquat อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เป็นรายที่ได้รับปริมาณน้อย และไม่ทันมีอาการไหม้ของเยื่อบุทั้งหลาย หรือยังไม่ทันมีการทำลายของปอดให้เห็น กรณีข้างต้นผมถือว่า เป็นปาฏิหาริย์ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์

เราไม่ค่อยได้พบกรณีดังกล่าวบ่อยครั้งนัก เรื่องที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับน้องสาวที่ป่วยเป็นไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto’s thyroiditis) ในตอน มนุษย์เป็นหุ่น” ก็ไม่ได้หายแบบฉับพลันทันที เพียงแต่การช่วยทางวิชชาทำให้เปิดโอกาสให้มีการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาในที่สุด

กรณีที่วิทยากรร่วมคณะของผมท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก้อนมะเร็งใหญ่โตพอสมควร แต่ยังพอผ่าตัดได้ แพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนัดผ่าตัด แต่บอกแก่คนไข้ว่าไม่สามารถผ่าตัดให้ขับถ่ายทางทวารหนักด้านล่างได้เพราะก้อนมะเร็งใหญ่เกินไป จำเป็นต้องเปิดรูขับถ่ายทางหน้าท้องตลอดชีวิต คนไข้เกิดความลังเล และหันมารักษาด้วยวิชชาธรรมกาย ร่วมกับแพทย์ทางเลือกอีกหลายอย่างที่ไม่ให้ทานเนื้อสัตว์ จึงขาดการติดต่อกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมไปถึง 6 เดือน ซึ่งแพทย์เขาไม่ทำผ่าตัดให้แล้วเพราะมะเร็งน่าจะลุกลามไปมาก ระหว่างนี้เราก็เดินวิชชาแก้โรคโดยความควบคุมของครูอาจารย์กันอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายแพทย์ทางเลือกที่ไปหาก็บอกคนไข้ว่าไม่สามารถรักษาโดยลำพังได้ คนไข้ต้องไปทำการผ่าตัดจึงจะเหมาะสม คนไข้จำต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลไปอีกแห่งหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยอีกครั้ง พบว่าก้อนมะเร็งไม่ได้โตขึ้น และไม่ได้แพร่กระจายไปไหน ทั้งๆ ที่ทิ้งเวลามาถึง 6 เดือน ยังสามารถผ่าตัดได้ และสามารถทำให้ขับถ่ายทางรูทวารหนักข้างล่างได้ด้วย คนไข้ยังแข็งแรงมาถึงทุกวันนี้ ท่านจะว่าเป็นการรักษาผสมผสานอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผลสุดท้ายคนไข้ก็หายโดยไม่ต้องมีถุงขับถ่ายที่หน้าท้องด้วยซ้ำ

เราจะเห็นความสำคัญอีกอย่างคือ เรื่องของจังหวะ (Timing) เพราะวิธีการรักษาทั้งปวงมันมีอยู่แล้ว แต่เราจะพบกับจังหวะและวิธีการที่เหมาะสมที่สุดหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะแสวงหาด้วยวิธีใด แต่ผมเชื่อว่าการแก้โรคด้วยวิชชา จะช่วยเรื่องจังหวะเหล่านี้


ผมได้บอกไว้ก่อนแล้วว่า การแก้ไขแบบของเรา ต้องต่อสู้ ต้องเหนื่อยหน่อย แต่ไม่ต้องต่อตีนโจร ผมเชื่อว่ามีหลายแห่งทำอัศจรรย์ได้มากกว่านี้ แต่ทำอย่างนี้เราสบายใจกว่า ขอท่านผู้อ่านได้โปรดใช้ดุลย์พินิจ

ครูบาอาจารย์ของเราก็ป่วย และได้รับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วยมาตลอด มีอะไรก็แก้ไขกันไปตามหน้าตัก แต่อย่าทำตัวเป็นเจ้าประเทศราชแบบที่ผมเขียนไว้ในเรื่องมุมมองของการปกครอง

สักวันหนึ่งเราคงเนรมิตทุกอย่างได้ดังใจนึก นั่นคือ แม้แก้โรคก็ไม่ต้องพึ่งพาการรักษาส่วนหยาบจากแพทย์ เมื่อเกิดทุกข์ภัยโรคก็หยิบหรือระเบิดทุกข์ภัยโรคออกไปในฉับพลัน หากทำได้อย่างนั้นก็สุดยอด

Friday, December 16, 2011

บุฟเฟ่ต์ (Buffet)


ต้นเดือน ธ.ค.2554 ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารบุฟเฟ่ต์ที่ร้านอาหารการะเวก ซึ่งเป็นร้านอาหารระดับใหญ่แห่งหนึ่ง สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับแขกบางคนเวลาไปตักอาหารก็คือ เขามักจะเลือกตักแต่สิ่งที่ตนเองชอบ เช่นถ้าเขาไม่ชอบผัก เขาก็ไม่ตักสลัด บางทีไม่ตักผลไม้ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ร้านอาหาร มีบริการอาหารหลากหลายให้เลือกได้ตามใจชอบ หากเราเลือกตักอาหารให้ทั่ว กระจายไปในลักษณะ ครบ 5 หมู่ ตามหลักสุขศึกษา เราคงได้รับประโยชน์จากสารอาหารอีกมาก แต่เมื่อมันเป็นของเลือกได้ และไม่ได้มีกฏเกณฑ์ใดใดมาบังคับ ลักษณะการตักอาหารจึงเป็นเช่นนั้น

เหตุการณ์ในชีวิตเราหลายๆ เรื่อง เราไม่อาจเลือกได้ เช่นการเล่าเรียน โดยเฉพาะในสายวิชาชีพ เช่นการเรียนแพทย์ ซึ่งมีการกำหนดหลักสูตรตายตัวไว้แล้วว่า แพทย์ต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง ที่จะต้องเรียนรู้ให้จบและสอบให้ผ่าน เราจะมีสิทธิ์เลือก ก็เพียงวิชาเลือกบางวิชาเท่านั้น ตัวผมเองไม่ชอบวิชา Preclinic อยู่หลายอย่างเพราะต้องท่องจำมาก เช่น Biochemistry Anatomy Physiology แต่ผมก็ไม่อาจเลือกที่จะไม่เรียนได้ เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญอันหนึ่งของความเป็นแพทย์

การเรียนในสายธรรมะก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวิชชาธรรมกายซึ่งมีหลักสูตรให้เรียนอย่างชัดเจน แต่ไม่มีโรงเรียนที่สอนภาคบังคับตามหลักสูตรแบบการเรียนในทางโลก เราจึงเห็นผู้เรียนหลายท่านเลือกที่จะเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ตนชอบเหมือนการตักอาหารบุฟเฟ่ต์ ส่วนใหญ่ติดอภินิหาร ก็เลือกสนใจความรู้ที่เป็นอภินิหาร แต่ความรู้เกี่ยวกับการเดินวิชา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมถะวิปัสสนา ซึ่งเป็นยาขมหม้อใหญ่ มักผ่านไปโดยไม่ค่อยอยากทบทวน ซึ่งผมก็พบเห็นในบล็อกเช่นกัน

ความเป็นธรรมกายก็คล้ายๆ กับการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างหนึ่งในทางโลก เช่นแพทย์ วิศวกร แต่ในทางโลก เราเลือกวิชาเรียนที่ถูกใจเราทั้งหมดไม่ได้ เพราะเขาบังคับเราให้ผ่านหลักสูตรที่เขากำหนดมาเสียก่อน เขาถึงจะยอมรับเรา แต่วิชาธรรมกายยังไม่ได้บังคับหลักสูตรกันขนาดนั้น ข้อดีคือมีความยืดหยุ่นและอิสระในการเลือกที่จะศึกษา แต่ข้อเสียก็คือเราไม่มีมาตรฐานของความรู้ในวิชชาธรรมกายที่แท้จริง จึงพบสำนักสอนธรรมกายบางสำนักซึ่งบอกว่าสอนธรรมกายแต่กลับสอนเน้นหนักเรื่องไตรลักษณ์ ปล่อยวางไปหมด เห็นพระแล้วให้รีบพิจารณาให้พระหายไป อย่างนี้ก็มี

เราจะเรียนวิชา เราต้องยอมอ่านบทเรียนทั้งหมดทุกบท ไม่ว่าจะเข้าใจยากสักเพียงใดก็ตาม อย่าเลือกเอาแต่บทเรียนที่ถูกกับความชอบของตนแต่อย่างเดียว มิฉะนั้นท่านก็เปรียบเสมือนการเลือกทานอาหาร ที่ไม่ครบ 5 หมู่ตามที่พื้นฐานร่างกายมนุษย์ควรได้รับ แบบการเลือกตักอาหารบุฟเฟ่ต์นั่นเอง

การแก้โรค กับ ความคาบลูกคาบดอก


ผมยังไม่ได้บอกถึงการเดินวิชชาแก้โรค เพราะเรื่องบางอย่างยังไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เราต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ที่จะเอาวิชชาไปทำ มีความรู้ถึงหรือยัง การไปเดินวิชชาชั้นสูงมีความเสี่ยงต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงธาตุธรรมส่วนรวมโดยเจ้าตัวไม่รู้คือต่อตีนโจรไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่ผมจะเขียนต่อในที่นี้จะเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดทั่วไปเกี่ยวกับการแก้โรคที่ยังไม่ได้พูดถึง

อาจารย์แพทย์อาวุโสท่านหนึ่งสอนผมในชั่วโมงแรกที่เราข้ามฟากจากคณะวิทยาศาสตร์มายังคณะแพทย์ศาสตร์ว่า โรคจำแนกตามการหายของโรคได้ 3 อย่างคือ 1. รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย 2. รักษาหาย ไม่รักษาไม่หาย 3. รักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย ข้อ 1 และข้อ 3 ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องพึ่งการรักษา แต่การรักษาทางการแพทย์จะช่วยลดความทุกข์ทรมานจากโรคเหล่านี้ได้ เราต้องเข้าใจว่าเวลาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางที 2-3 วัน มันก็หายไปเอง โดยไม่ต้องกินยาหรือเดินวิชชาแก้เลย ถือเป็นเพียงเหตุรำคาญ เท่านั้น

เราจะพูดต่อถึงโรคที่ยากแก่การหาย วงการแพทย์พยายามหาตัวชี้วัดสำหรับโรคเหล่านี้ เช่นโรคมะเร็ง ว่าหลังวินิจฉัยและได้รับการรักษา หากคนไข้มีชีวิตอยู่ถึงระยะหนึ่งที่กำหนด ก็ถือว่าการรักษาประสบความสำเร็จ บางท่านอาจเรียกว่าหายแล้วก็ได้ เช่น 5 years survival คืออยู่มาได้ 5 ปีหลังการรักษาก็ถือว่าการรักษาเกิดผลสำเร็จแล้ว โรคบางอย่างให้ถึง 10 years survival แต่บางอย่างก็ให้แค่ 3 years survival เท่านั้น เราต้องเข้าใจตรงนี้เพื่อวางความคาดหวังของเราไว้ให้ชัดเจนเสียก่อน

ขึ้นชื่อว่า มนุษย์ คงไม่มีใครไม่เคยเจ็บป่วย แม้แพทย์ผู้รักษาคนไข้ ในบางเวลาก็ต้องเป็นคนไข้เสียเอง ยังไงก็ยังเป็นมนุษย์ด้วยกัน 

ถ้าเรามีความรู้ทางวิชชา เราย่อมแก้โรคได้ ในฝั่งของผู้ป่วยก็ควรทำตัวเป็นภาชนะที่ดีสำหรับรองรับการแก้โรคไปด้วย หากเป็นผู้ที่เข้ามาทางสายวิชชาด้วยกัน อันนี้ไม่ยาก ให้เดินวิชชา 18 กายให้หนักมือขึ้น แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป ก็ควรสอนธรรมปฏิบัติให้เขาทำ จนเกิดดวงใสในท้อง ท่องสัมมาอะระหัง นึกถึงดวงใสในท้องให้เป็นนิจสิน หากสอนให้เกิดกายธรรมได้ด้วยก็ยิ่งดี นั่นคือปรบมือทั้ง 2 ฝ่าย

มาถึงตอนนี้ ก็ยังมี ความคาบลูกคาบดอก เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้โรค

ผมเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยเพราะเห็นมามาก บางท่านอยากหายก็เอาทุกทาง ( ในแง่ของวิชชาส่วนละเอียด ไม่เกี่ยวกับส่วนหยาบของวงการแพทย์  ) คือแก้ด้วยวิชชาธรรมกายแล้ว ก็ยังไปทำพลีกรรมเรื่องอื่นๆ เผื่อไว้ด้วย ไปบูชายักษ์บ้าง ไปแก้เกี้ยวบ้าง หากเรามีความรู้ว่าการแก้โรคมีทั้งพระและมาร ภาคพระแก้ไว้ให้แล้ว เราก็ยังไปทำพิธีของภาคมารประกอบด้วยในฐานะ ไม่เชื่อก็ไม่ลบหลู่ วิชชาและบารมีที่ภาคพระแก้ไว้ให้ก็เสียหาย อย่างนี้เท่ากับเราให้เงินขอทานเพื่อไปซื้อข้าวกิน แต่ขอทานเอาไปซื้อเหล้า นั่นเอง

แม้ความเชื่อคาบลูกคาบดอกในเนื้อหาวิชาก็เช่นกัน โดยถือปรัชญาที่ว่าที่ไหนๆ ก็ดีหมด สอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น แต่ไม่ดูว่าความดีที่สอนเป็นแค่ฉากหน้าที่เขาหลอกให้เราเข้าใจผิดหรือเปล่า โปรยเงินทำบุญไปทั่ว บำรุงทั้งพระทั้งมาร ข้าไม่ศึกษาเรียนรู้ทั้งนั้นว่าแก่นแท้ vision mission แท้ๆ ข้างในเป็นอย่างไร เวลาทำบุญกับพระ พระให้บารมี พอไปเข้าพิธีของมาร มารก็มาระเบิดบารมีไป แบบนี้จะให้ภาคพระวางแผนกับคนกลุ่มนี้อย่างไร

ปัจจุบันเรามีปัญหากับความคาบลูกคาบดอกมากที่สุด ถ้าแสดงตัวเป็นมารเสียเลย เราระมัดระวังได้ง่ายกว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า เส้นทางไหนๆ ที่อ้างการทำดีใดใดก็จะถูกไปทั้งหมด เพราะหากพิจารณาแล้วเส้นทางหนึ่งถูก เส้นทางอื่นก็ย่อมต้องผิดเพราะอย่างดีก็เป็นแค่ทางอ้อม ท่านต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วเข้าหาสิ่งที่ถูกที่สุดเท่านั้น


บารมีคาบลูกคาบดอก มีปัญหาถึงขั้นต้องดับตัวละครสำคัญมาแล้ว
ขอจบบทความตอนนี้ไว้แค่นี้ก่อนครับ

Sunday, December 4, 2011

การแก้โรค


เราพบเห็นผู้มีความรู้วิชาธรรมกายอยู่มากมายจนตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปทางไหน
สำหรับผม ผมดูตัวชี้วัดง่ายๆ ที่คุณลุงให้ผมไว้ตั้งแต่เริ่มแรก คือ

ธรรมกาย ต้องทำสิ่งเหล่านี้ได้

  1. สามารถแก้ทุกข์ภัยโรค ด้วยวิชาได้
  2. สามารถสอนเบื้องต้นให้เกิดธรรมได้
หากไม่มีประวัติว่า ทำ 2 สิ่งนี้ได้ ก็ฟังไม่ขึ้น

เมื่อมองให้ลึกซึ้ง ข้อ 1 คือการแก้วิชาสายทุกข์สมุทัยของเขา ส่วนข้อ 2 คือการแก้วิชาสายปิฎกของเขานั่นเอง ไม่ว่าท่านจะเรียนแตกแขนงมาอย่างไร สุดท้ายท่านต้องทำ 2 สิ่งนี้ได้ ไม่อย่างนั้นก็เป็นการคุยวิชาให้เฝือกันไปเปล่าๆ คือ ฟังไม่ขึ้น ในสายตาของคุณลุงนั่นเอง

ตอนนี้ ผมจะอ้างอิง การแก้โรค เป็นหลัก ซึ่งสามารถเอาความเข้าใจไปเกี่ยวโยงถึงทุกข์ภัยทั้งปวงได้ด้วย

ความรู้ทุกอย่าง มี ต้นกลางปลาย อ่อนแก่ หยาบละเอียด อดีตปัจจุบันอนาคต เล็กโต เสมอ เราจะแก้โรคได้ เราต้องมีความรู้ในวิชา และต้องมีบารมีที่จะสู้กับ โรค นั้นด้วย

ผมเคยเขียนเรื่อง วิชชาธรรมกาย กับโรคที่เกิดแก่มนุษย์ มาแล้ว นั่นเป็นการแจกแจงสาเหตุในระดับมนุษย์ พบว่าส่วนใหญ่โรคเกิดจากมารเป็นหลัก เราจะแก้โรค เราก็ต้องไปปราบมารที่ทำให้เกิดโรค มาถึงตอนนี้ เราก็รู้ว่าการปราบมาร ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใข่เรื่องที่เราจะมาพูดกันเล่นๆ แล้วทำไมจึงพบว่ามีหลายสำนักหลายความเชื่อสามารถแก้โรคได้

ถึงตอนนี้ ผมขอแบ่งฝ่ายแก้โรคแบบง่ายๆ เป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายความเชื่อที่เป็นแบบเดียวกับผู้ส่งโรค กับฝ่ายความเชื่อของภาคพระที่เป็นคนละฝ่ายกับผู้ส่งโรค

หากผู้แก้ มีความเชื่อแบบเดียว(หรือละม้าย) กับผู้ส่งโรค อันนี้ไม่ยาก พวกเดียวกัน อยากแก้โรคให้หาย ข้าก็หยิบโรคออก ทีเดียวโรคก็หาย แต่ต้องบวงสรวงทำพลีอย่างนี้ๆๆๆ ด้วยนะ ซึ่งเป็นการส่งส่วยเพิ่มกำลังให้ฝ่ายเขา และทำให้ความเชื่อในสำนักนี้เกิดความนิยมส่งต่อออกไป ซึ่งแน่นอนเป็นความเชื่อเพี้ยนๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างบารมียกระดับธาตุธรรมของสาวกเหล่านั้น เขาต้องการให้มาติดกับความเชื่อตรงนี้เพื่อไม่ให้เจอของจริง และเป็นแหล่งได้บารมีส่วนละเอียดจากพลีกรรมของคนเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าผู้แก้เป็นฝ่ายพระ อันนี้ต้องเหนื่อยหน่อย ขึ้นอยู่กับว่า ผู้แก้มีบารมีแค่ไหน?

ถ้าบารมีน้อยกว่าเขา ท่านแก้โรคไม่ได้ ท่านต้องสร้างบารมีและหาความรู้ให้มาก ไม่อย่างนั้นท่านอาจต้องใช้วิธีเดียวกับ ความเชื่อเดียวกับผู้ส่งโรคดังที่กล่าวมา นั่นคือวิชาท่านจะเริ่มเพี้ยนออกไป

หากท่านเริ่มมีบารมีมากขึ้นจนใกล้เคียงกับเขา ท่านเริ่มต่อรองกับเขาได้บ้าง ท่านอาจพูดถึงความรู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร แล้วจำต้องส่งบุญส่งบารมีให้เขา เพื่อให้เขาอดโทษให้ผู้ป่วย ท่านอาจต้องอ้างเหตุที่ท่านมาแก้โรคให้คนๆ นี้ว่า เพราะเขาเป็นญาติของท่าน เพราะเขาขอให้ท่านแก้ให้ในฐานะลูกศิษย์ โรคจึงจะหายได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านบอกว่ามารมันแพ้หลอกๆ คือเขาไม่ได้แพ้เลย เพียงแต่เขายอมให้โรคหายเท่านั้น

ถ้าบารมีท่านสูงกว่าเขา อันนี้ไม่ต้องพูดกันมาก บารมีระดับปราบมาร เพียงแต่ว่าท่านจะแก้ในระดับลึกแค่ไหน แก้แค่เครื่องที่เขาส่งมา หรือสาวไปถึง ผู้ต้นคิดวิชา ผู้สอด ผู้ส่ง ผู้สั่ง ผู้บังคับ ผู้ปกครอง ผู้ปกครองย่อย ผู้ปกครองใหญ่ เครื่องรวมย่อย เครื่องรวมใหญ่ หัวใจเครื่องรวมใหญ่ (ของผู้ปกครองใหญ่) ซึ่งกว่าจะเจอเขา บางทีทำวิชาเข้าไปหลายชั้น อย่างที่ผมพูดไว้ในบทความ วิชชาธรรมกายกับคณิตศาสตร์ (1) มาแล้ว ท่านจะคำนวณแก้เฉพาะหน้าตอนนี้ หรือแก้เหตุอดีตปัจจุบันอนาคต ต้นกลางปลาย ฯลฯ ไปตามแกนตั้งแกนนอน เพื่อกันไม่ให้เขาป่วยด้วยโรคเดิมใหม่ข้ามภพข้ามชาติ คือเป็นสมุทเฉทปหานไปเลยหรือไม่?   ผมกล่าวถึงแนวคิดต่อยอดไว้เท่านั้น

บางแห่งคุยว่า การแก้โรคไม่ยาก เราก็ต้องดูว่าหลักการแก้ของท่านเป็นอย่างไร ความเชื่อของท่านเป็นแบบใด ท่านเป็นพวกใคร ท่านสร้างบารมีแบบไหน สร้างมาจนมีบารมีมาแล้วมากน้อยเท่าไหร่ และสุดท้ายท่านแก้ด้วยวิธีใด?

ตัวชี้วัดที่ว่าโรคหาย อาจมองเพียงครั้งนั้นครั้งเดียวไม่ได้