Pages

Tuesday, November 27, 2012

ทางเลือก

ขอคัดลอกเอาบทความของคุณโสภา คงนาม ใน Facebook มาลงไว้ในที่นี้
เนื้อหาคล้ายๆ กับ การแก้โรค กับ ความคาบลูกคาบดอก

นิทาน”ทางเลือก”
คำว่ามีพระที่ไหนมีมารที่นั่นได้ยินมานานมากแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นนิทานเล่าสู่กันอ่านเล่นเพลินๆ

ในอดีตมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีพระกับมารอาศัยอยู่รวมกัน ต่างคนต่างต้องการจะครอบครองคนในหมู่บ้านมาเป็นพวกของตัวเองให้มากที่สุด คนในหมู่บ้านต่างคนต่างทำมาหากินโดยไม่รู้ว่าตัวเอง จะตกเป็นคนของฝ่ายพระหรือฝ่ายมา

วันหนึ่งมาเกิดโรคระบาดเกิดขึ้น ทุกคนเริ่มมีอาการเจ็บป่วยแบบไม่มีสาเหตุ และก็มีการใฝ่หาทางรักษาให้ตนและคนในครอบครัวพ้นจากโรคนี้ นายตลกก็เป็นอีกคนหนึ่งเช่นกันที่ป่วยและใฝ่หาทางรักษา มาเจอพระก่อนพระบอกหากอยากหายต้องทำบุญทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา นายตลกก็ทำตามอยู่นานเกือบปี อาการก็เพียงทรงๆไม่หายขาด แต่เพื่อนบ้านที่เป็นโรคเดียวกัน แต่ไปรักษากับมาร มารบอกให้เพื่อนเข้าจัดบูชาด้วยเครื่องเซ่นไหว้มีของหวานของคาวตามที่มารบอกให้ทำ และต้องนับถือแบบจริงจังอย่าไปๆมาๆไม่ได้ หากทำแบบนั้นมารไม่ช่วย เพื่อนนายตลกหายเจ็บป่วยและรำรวยขึ้นมากอย่างมหัศจรรย์

นายตลกเฝ้ามองเพื่อนตัวเองด้วยความสงสัย และคิดว่าเรามาผิดทางแน่ๆ ไม่เห็นผลอะไรเลยเมื่อเราทำตามพระ ถึงจะสงบแต่เจริญช้าไม่ทันใจ จึงคิดหาหนทางที่จะบอกพระว่าตัวเองนั่น ในวันนี้ทำทานถือศีลและทำภาวนาไม่ได้ เพราะร่างกายไม่พร้อม ขอหยุดสักพักก่อนเดียวมีแรงแล้วจะกลับมาทำ พระได้แต่นิ่งและพูดขึ้นว่า “ใจเรานั่นมีทางเลือกเกิดขึ้นใหม่เสมอ อยู่แต่ว่าการที่นายตลกจะเลือกทำและเลือกเลิกทำนั่น เราไปห้ามนายตลกไม่ได้หรอก แล้วแต่ใจของนายตลกเองเท่านั่นที่จะตัดสินเอาเองว่า นายตลกจะเลือกทำแบบไหน”

เบื้องหลังการหายโรคนั่นมีอยู่ว่า คนในหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข นั่นเป็นความเสื่อมของมาร ด้วยความเจ้าอุบายจึงหยิบโรคแปลกๆใส่เข้าไปให้คนเหล่านั้นเดือดร้อน แล้วตั้งตัวเป็นผู้รักษาโรคด้วยการหยิบเอาโรคที่ใส่ไปนั่นออกเสีย คนที่ทำตามคำสั่งมารโรคก็หายเป็นปลิดทิ้งเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากมาย แต่พระต้องพยายามแก้โรคที่เกิดแก่คนที่มาให้รักษา ต้องหาสาเหตุแห่งการเกิดโรคว่ามารตนไหนเป็นคนทำ แล้วตามแก้ หากพบก็ต้องประลองฤทธิ์กัน เพื่อที่จะเอาโรคนั่นออกไปจากคนที่กำลังเดือดร้อน

ผลคือต้องหาต้องแก้ แต่มารเอาเข้าไปและเอาออกมาเองไม่ต้องเสียเวลาไปหา มันก็เลยศักดิ์สิทธ์และได้คนมาเป็นพวกมากกว่าพระ แต่พระก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไป และทำต่อไปตราบจนมาถึงทุกวันนี้ และนี่คงเป็นที่มาที่ไปของคำว่า”มีพระที่ไหนมีมารที่นั่น”

Wednesday, September 26, 2012

ความเข้าใจเรื่องโลก 3 กับคำทำนาย 2012


มีคำทำนายวิบัติของโลกออกมาเรื่อยๆ ระยะนี้ก็มีมาตั้งแต่ปี 2011 2012 มาถึงตอนนี้ ใกล้ปลายปี 2012 แล้ว คำทำนายก็ต้องต่อไปถึงปี 2013 ผมไม่ได้ลบหลู่ว่ามันจะเกิดหรือมันจะไม่เกิดแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้เราพิจารณาความเป็นไปของตัวเราและโลกใบนี้ให้ลึกซึ้ง อย่างโลกใบนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด แผนที่โลกก็เปลี่ยนไปเรื่อยจากยุคสู่ยุค ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลดูได้อย่างละเอียดในโลกอินเตอร์เน็ต เรามาคุยกันในเนื้อหาทางธรรมดีกว่า

ผมเคยเขียนเรื่องวิชาธรรมกายกับประวัติศาสตร์ ว่าความเป็นไปในส่วนละเอียด ทั้งปวงมาจากการแย่งชิงอำนาจปกครองของธาตุธรรมสำคัญระหว่าง พระกับมาร ความดีกับความชั่ว ขาวกับดำ นั่นเอง แต่ธาตุธรรมทั้งปวงมีทั้งอ่อนแก่ หยาบละเอียด การรบในส่วนละเอียดมีผลมาถึงสมรภูมิในส่วนหยาบซึ่งก็คือสิ่งที่เราได้เห็นความ เป็นอยู่คือในโลกมนุษย์ของเรานั่นเอง

การรบต้องอาศัยสมรภูมิ หรือที่อยู่ หรือโลก ที่เป็นสนามรบ ผมเคยเขียนเรื่องโลก 3 มาแล้ว โลกที่เราเห็นเป็น ของส่วนหยาบ ในความหมายของวิชาธรรมกายก็คือที่อาศัยของธาตุธรรมส่วนละเอียด (ไม่ว่าจะเป็นพระหรือมาร) เพื่อเข้ามามีอำนาจปกครอง ใครได้ปกครอง โลกเหล่านี้ก็แปรไปตามอำนาจปกครองของธาตุธรรมนั้นๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปจนเรียกได้ว่าไม่แน่นอน จนกว่าจะถึงจุดสมดุลย์อันหนึ่ง

โลก 3 นี้ก็คือ สัตว์โลก ขันธโลก (หรือสังขารโลก) และอากาสโลก (หรือโอกาสโลก) นั่นเอง

สัตว์โลก

คือธาตุธรรม หรือตัวตนส่วนละเอียด หรือใจจิตวิญญาณของเรา ที่มาเวียนว่ายตายเกิดในโลกใบนี้ ซึ่งมีอ่อนแก่หยาบละเอียดเข้าไป การมาอยู่ในโลกก็มาอยู่กันชั่วคราว มีหน้าที่สำคัญคือการสร้างบารมีให้ธาตุธรรมของตนยกระดับขึ้นสู่ธาตุธรรมชั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ต้องมาเวียนตายเวียนเกิดอีก เมื่อมาสู่โลกใบนี้ จำเป็นต้องมีกายมนุษย์ ซึ่งมีขั้นตอน มีพิธีการที่จะให้มีกายมนุษย์เกิดขึ้นได้ เช่นต้องมีพ่อแม่ มีการนำทรัพยากรดินน้ำไฟลมที่มาจากโลกใบนี้ (ซึ่งก็คือส่วนของอากาสโลกนั่นเอง) มาใช้

ภาคของมารที่ปกครองสัตว์โลก คือภาคปิฎก อันมี อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ เป็นต้น กองทัพปิฎกพยายามยึดฐานที่ตั้ง หรือโลกในส่วนของสัตว์โลกนั่นเอง

ขันธโลก

คือกายมนุษย์ของเราที่สัตว์โลกอันเป็นตัวเราได้อาศัยใช้สอยในชาติหนึ่งๆ คือเรามีการเวียนเกิดเวียนตายกันหลายชาติ ชาตินี้ก็มาสร้างกายมนุษย์ซึ่งเป็นขันธโลกขึ้นมาอีกขันธ์หนึ่ง ขันธโลกต้องถูกบำรุงเลี้ยงด้วยอาหารหรือธาตุดินน้ำไฟลมจากอากาสโลก จะอ้วนผอมสูงต่ำดำขาว ก็เป็นเรื่องของขันธโลกทั้งสิ้น

สัตว์โลกซึ่งเป็น ธาตุเป็นธรรมเป็น นำเอาดินน้ำไฟลมจากอากาสโลกซึ่งเป็น ธาตุตายธรรมตาย มาสร้างกายมนุษย์คือขันธโลกและกลายมาเป็นธาตุเป็นธรรมเป็นขึ้นมานั่นเอง

ภาคมารที่มาปกครองขันธโลก คือภาคทุกข์สมุทัย หรือเกิดแก่เจ็บตาย ภาคนี้เป็นภาคของการทำลายขันธ์หรือสังขารของเราให้แตกดับไป หากไม่แตกดับไปด้วยภัยใดใด ก็ต้องแก่เจ็บตาย ทำลายขันธ์ด้วยความเสื่อมโทรมอันนี้อยู่ดี เพราะแต่ดั้งเดิม เรายังแก้วิชาทุกข์สมุทัยของเขาไม่ได้

พูดให้ง่ายขึ้นอีกก็คือ ร่างกายของเราคือ "ขันธโลก" ส่วนจิตใจของเราหรือใจจิตวิญญาณที่เวียนมาเกิดของเราคือ "สัตว์โลก" นั่นเอง

อากาสโลก

มองง่ายๆ ก็คือแผ่นดินแผ่นน้ำแผ่นฟ้า หรือโลกทั้งปวงที่เราอยู่อาศัยนั่นเอง มีอ่อนแก่หยาบละเอียดทั้งนั้น เท่าที่ผมสังเกต ภาคอากาสโลกนี้ มีวิชาธรรมกายเท่านั้นที่พูดถึง

อากาสโลกเป็นธาตุตายธรรมตาย ประกอบด้วยธาตุ ดินน้ำไฟลมอากาศ เป็นธาตุทั้ง 4 หรือ 5

หากประกอบเป็นขันธโลกโดยมีวิญญาณธาตุเติมเข้าไปก็จะเป็น ธาตุเป็นธรรมเป็น (คือธาตุ 6) ขึ้นมาทันที เช่นเซลล์ในร่างกายของเรา ไล่เรื่อยขึ้นมา ส่วนวิญญาณธาตุนั้นจะเป็นอะไร เป็นเรื่องละเอียดเกินไปสำหรับบทความตอนนี้

เมื่อภาคมารปกครองอากาสโลก เราจะเห็นภัยพิบัติในเรื่องดินน้ำไฟลมอากาศในรูปแบบต่างๆ และในยุคนี้ก็เป็นที่มาของคำทำนายภัยพิบัติทั้งปวงแห่งปี 2012 นั่นเอง

โลกทั้ง 3 เกี่ยวข้องและอาศัยซึ่งกันและกัน สัตว์โลกมีความโลภเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน เช่น ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทำให้โลกร้อนขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน เราก็รู้ทั้งนั้น แต่ไม่อาจเลิกได้เพราะเสียประโยชน์ โลกเสียหาย มนุษย์ที่อยู่บนโลกก็เสียหาย

เราเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่เวียนมาเกิดบนโลกใบนี้ จะทำอย่างไร?

เมื่อโลกทั้งปวงสามารถสื่อถึงกัน บารมีที่มนุษย์จำนวนมากช่วยกันสร้าง ย่อมเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ เราควรทบทวนหน้าที่ที่แท้จริงของเราที่มาเกิดบนโลกใบนี้ ให้เข้าใจว่าเรามาอยู่ชั่วคราว เพื่อมาสร้างบารมียกระดับธาตุธรรมของเรา ให้ก้าวไปสู่ความเป็นอยู่ที่เป็นอมตะกว่า

โลกใบนี้ยังไม่ใช่ของอมตะ มันต้องเปลี่ยนแปลงไป แบบที่มันก็เคยเป็นมาในอดีต ตัวเราก็เช่นกัน เราจะเป็นห่วงเป็นใยไปก็เท่านั้น ต่อให้ไม่มีภัยพิบัติใดใด กายมนุษย์ของคนทั่วไปก็ยังมีแก่เจ็บตายอยู่ดี ยังไม่จิรังยั่งยืน เราจะไปก่อนหรือโลกจะไปก่อนก็ไม่รู้

เราสร้างบารมีพอหรือยัง เราวางแผนสำหรับโลกข้างหน้าไว้ดีพอหรือยัง เพราะเรายังต้องเดินทางต่อ ใกล้บ้างไกลบ้าง มิใช่หรือ

Thursday, June 21, 2012

สอนตัวเองให้ได้ก่อนเถอะ


เนื้อหาในบล็อก มีมากพอสมควรแล้ว ผมจึงคิดจะเขียนเรื่องนี้

สมัยที่ผมยังเล่นกีฬาแบดมินตันอยู่ เราออกไปเล่นวันเว้นวัน ชนิดที่ว่าติดกีฬา ทำเช่นนี้มาเป็นปีๆ ไม่เก่งก็ต้องเก่ง มีอยู่คราวหนึ่ง ผมซึ่งเป็นหมอหูคอจมูก ออกไปเล่นแบดมินตันทั้งๆ ที่ตัวเองป่วยเป็นหวัด ผมแปลกใจที่เพื่อนที่เล่นด้วยกันท่านหนึ่งเกิดความสงสัยว่าผมจะป่วยได้อย่างไรในเมื่อผมเป็นหมอ คือเขาเข้าใจว่า หมอที่รักษาทางหูคอจมูก ไม่น่าจะป่วยด้วยโรคหวัดซึ่งเป็นโรคทางหูคอจมูกที่ตัวเองชำนาญ แรกๆ ผมรู้สึกแปลกใจต่อความเข้าใจอันนี้ของเขา เพราะเราก็เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิ์จะป่วยได้ แถมในขณะป่วย เราก็ยังรักษาคนไข้ที่เป็นหวัดเหมือนเราไปด้วยในตัว หายป่วยก่อนเราก็มี

เมื่อเรามาสอนธรรมะภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นภาคขัดเกลากิเลส วิทยากรในยุคแรกเคยได้ยินคำพูดจากเจ้าสำนักธรรมกายสำนักหนึ่ง หลังจากที่เราไปบอกท่านว่ามีครูสอนให้เราไปออกสอนธรรมะตามโรงเรียน ท่านตอบกลับมาว่า เธอมีดีอะไร ถึงคิดจะไปสอนเขา สอนตัวเองให้ได้ก่อนเถอะคล้ายกับว่า ถ้าเธอยังไม่หมดกิเลส เธอก็อย่าคิดอ่านไปสอนใครให้หมดกิเลสเลย สอนตัวเองไปก่อน หรือจะบอกว่า หมอที่ยังป่วยได้อยู่ อย่าบังอาจไปรักษาคนไข้ รักษาตัวเองให้ไม่รู้จักเจ็บป่วยเสียก่อนเถอะ

ท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมขอบอกไว้ ณ ที่นี้ว่า เราไม่เคยสร้างภาพว่าเราเป็นผู้หมดกิเลส ตรงกันข้ามเราเป็นฆราวาสที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่เราได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการที่จะปราบกิเลสของเราให้เบาบางลง และถือโอกาสนี้สอนผู้อื่นไปพร้อมๆ กับการขัดเกลากิเลสส่วนตน ร่วมกับการให้โอกาสคนอื่น และเพิ่มพูนบารมีของเราให้เติบโตขึ้น

ประกอบกับการที่เราได้เรียนรู้วิธีการสร้างบารมีแบบลัดขั้นตอนซึ่งมีหลักการที่อธิบายอยู่ในบล็อกแห่งนี้มากมาย โดยเฉพาะความเข้าใจในเนื้อหาซึ่งเพิ่มพูนขึ้นจากประสบการณ์ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ท่านคงเห็นความต่างกันในเรื่องความเชื่อสูงสุดที่แม้จะอ้างอิงศาสนาพุทธด้วยกันก็ตาม

ผมคิดว่าท่านที่เห็นต่างควรรับฟังไว้บ้าง ว่ามันมีความคิดที่อาจเป็นไปได้อีกหลายแบบ

โปรดชั่งใจว่า ถ้าสิ่งที่ท่านคิด มันเกิดผิดหรือไม่สมบูรณ์ขึ้นมา ท่านจะเสียหายขนาดไหน เพียงท่านไม่ได้บารมีที่ควรได้ มันก็เสียหายมากมายมหาศาล เพราะโลกมนุษย์นี้เป็นสถานที่ที่เรามาสร้างบารมี ไม่นานเราก็ต้องกลับไป  ส่วนตัวผมเอง ผมคิดไว้แล้ว ถ้าผมผิด อย่างน้อยผมก็ได้มีโอกาสไปสอนธรรมะตามสถานที่ต่างๆ ให้ผู้เรียนในเบื้องต้น มีใจสงบระงับ คิดดี พูดดี ทำดี ซึ่งเป็นหลักสากลมาตลอด 14 ปี ด้วยทุนรอนส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่เคยมีการเรี่ยไรบริจาค ไม่เคยมีหน่วยงานเบื้องหน้าเบื้องหลังสนับสนุนแต่อย่างใด เราทำเพราะเราเชื่อว่าเราได้บารมี เราไม่ได้ทำฟรีๆ หรอก

ถ้าผมถูก เนื้อหาในวิชาธรรมกายจะเป็นเรื่องจริงอันยิ่งใหญ่ มีการต่อสู้กันระหว่าง ความดีกับความชั่ว พระกับมาร ขาวกับดำ จริง ! มีการขัดขวางผู้บำเพ็ญเพียรที่สร้างบารมี จริง ! การขัดขวางนั้นขัดขวางมาในส่วนละเอียดซึ่งยากแก่การรู้เห็น มาในทุกรูปแบบที่เราต้องฟันฝ่า มาในลักษณะที่คนทั่วไปหาว่าเราพยายามแก้ตัว มาอย่างไร ศึกษาเอาจากที่นี่ก็ได้ครับ


สุดท้าย โปรดสร้างความเข้าใจว่า ภาคพระไม่ใช่ผ้าขี้ริ้ว จะเหยียบจะย่ำ ท่านก็ต้องยอม นั่นมันอดีต ปัจจุบันอนาคตไม่ใช่แล้ว ภาคพระไม่ได้มีลักษณะ
ใจดีไม่มีประมาณ การใจดีกับใครก็ต้องมีเหตุผล ถ้าเห็นภาคพระตำหนิเอาแรงๆ ก็ดูเหตุผลด้วยนะครับ

Wednesday, June 20, 2012

อภัยทาน 4


ความรู้เรื่องอภัยทานที่กล่าวมาทั้งหมด 3 ตอน ถือว่าครอบคลุมเนื้อหาหมดแล้ว ตอนนี้จะคุยต่อในบางประเด็นเท่านั้น

ผมได้อ้างอิงเรื่องอภัยทานไว้ในเรื่อง เจ้ากรรมนายเวร ตอนนั้นได้แต่กล่าวลอยๆ อาจมีคนสงสัยว่าขณะนี้เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังไม่ได้พ้นไปจากวัฏฏะสงสาร ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน อาจเผลอไปทำอะไรให้ใครไม่พอใจ จองเวร และสาปแช่งเรา เราจะทำอย่างไร?

การจะไม่ให้ใครติดใจเราในทางไม่ดี เราต้องหมั่นเจริญพรหมวิหาร ซึ่งผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้แล้ว โปรดทบทวน และหมั่นเจริญบ่อยๆ หากรู้ว่าใครจะสาปแช่งหรือคิดไม่ดีกับเรา ให้เจริญพรหมวิหารเฉพาะเจาะจงในตัวคนๆ นั้นทันที

ท่านที่เป็นวิชาพอจะรู้เรื่องเครื่องและกายมนุษย์พิเศษมาแล้ว ให้ท่านทบทวนเนื้อหาในหนังสือ ปราบมาร 6 ของคุณลุง หน้า 350 เรื่องการแก้ไขคนจองเวร เดินวิชาไปดับมารในกายของผู้ที่จองเวรเราทั้ง 18 กาย แล้วอาราธนาพระพุทธองค์และจักรพรรดิมาดูแลอีกที ผมไม่ลงรายละเอียดนะครับ ท่านต้องไปอ่านตำรา

แล้วต่อเนื่องไปยังเรื่อง ถูกมารสาปจะแก้วิชาอย่างไร? ในหน้า 351 ท่านอ่านแล้วท่านจะเข้าใจ และหากคำสาปนั้นเป็นของพระอริยเจ้า จะต้องทำอย่างไร ท่านไม่ต้องถามว่าทำไมพระอริยะจึงสาปแช่งได้ ท่านไปอ่านตำรานะครับ

อภัยทาน 3


ผมยังใช้หัวข้อของ "อภัยทาน" เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ตอนนี้เราคุยต่อ

จากภาค 2 เราเข้าใจเรื่องอภัยทานมากขึ้นแล้ว หากเรานำแผนภาพในภาค 2 กลับมาใช้กับอามิสทาน และวิทยาทาน (หรือ ธรรมทาน) จะเป็นรูปร่างคล้ายกันดังนี้


กำหนดให้ A เป็นผู้ให้ ที่จะให้อามิสทาน หรือวิทยาทานต่อ B

X คือวัตถุทานที่เป็นส่วนผสมของสิ่งของที่จะให้ หรือความรู้ที่จะให้ กับอารมณ์ความเสียดายที่ A ปรุงแต่งเสริมขึ้นมา (F) นั่นคือ X=T+F เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ อีกเช่นกัน

จะเห็นได้ชัดเจนว่า เรื่องของทาน มีใจ (F) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นี่แหละใจจึงเป็นใหญ่ ใจจึงเป็นประธานในการกระทำทุกอย่าง การให้ทานต้องยอมสละอารมณ์ออกไป ไม่มากก็น้อย อามิสทานต้องเสียสละความเสียดายสิ่งของ เสียดายเงินทองที่เราเพียรหามา วิทยาทานก็เสียสละความเสียดายความหวงแหนความรู้ที่เราพากเพียรเรียนมา แม้ความรู้ไม่ได้หมดไปจากเรา แต่มันก็มีอารมณ์ที่ว่า สมัยเรากว่าจะได้ความรู้นี้ ยากลำบากยิ่งนัก แต่นาย B ไม่ต้องลำบากแบบเรา เราสอนให้ ก็ได้ความรู้ของเราไปเลย

ส่วนอภัยทานต้องสละอารมณ์ขุ่นมัวออกไป อามิสทานและวิทยาทานก็ต้องสละความเสียดายออกไป ความยิ่งใหญ่ของทานจึงมีส่วนของใจมาประกอบอยู่ไม่ใช่น้อย มหาทานบารมีที่พระเวสสันดรบำเพ็ญ อาศัยความเสียสละแบบโพธิสัตว์ ที่ยึด 5 วลีที่ว่า ต้อง ให้ ได้ ทุก อย่าง มีการสละลูกเมียเป็นทาน ซึ่งจะต้องเอาชนะความหวงแหนอย่างที่สุดจึงจะทำได้

เรื่องที่อยากคุยต่อในภาคอภัยทานจริงๆ ยังไม่จบ ตอนนี้เป็นเพียงดึงความเกี่ยวข้องของทานอีก 2 อย่างเข้ามาพิจารณา เอาไว้คราวหน้าค่อยคุยต่อครับ

Tuesday, June 19, 2012

อภัยทาน 2


หลายท่านเกิดความคิดเรื่องทานต่อยอดมาจากบทความที่แล้ว คราวนี้จะสรุปรวมเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ให้ต่อยอดออกไปอีก

ทาน มีองค์ประกอบ 3 คือ ผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทาน

อามิสทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบชัดเจน จับต้องได้

ธรรมทาน และวิทยาทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบค่อนข้างชัด แต่วัตถุทานคือความรู้ อาจจับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ได้ไม่ยาก พระพุทธองค์ยกย่องธรรมทานว่าเป็นเลิศกว่าการให้ทั้งปวง

ส่วนอภัยทาน เป็นทานที่มีองค์ประกอบซึ่งจับต้องได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ให้ ผู้รับ และที่สำคัญที่สุดคือวัตถุทานที่จับต้องได้ยากมาก เพราะเป็นเพียงนามธรรม แม้เหตุการณ์ล่วงเกินกันไม่ว่าด้วยกายวาจาใจได้จบลงไปแล้ว แต่บาดแผลทางใจยังไม่สิ้นสุด บาดแผลอันเป็นนามธรรมนี้เองที่เป็นวัตถุทานของภาคอภัยทาน

ดูแผนภูมิข้างบนประกอบนะครับ

กำหนดให้ A ถูก B ล่วงเกินด้วยกายวาจาใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจคือ X และ A เป็นผู้ให้ ที่จะให้อภัยต่อ B

X คือวัตถุทานที่เป็นนามธรรม เป็นรอยแผลฝากไว้ในฝั่งของ A ผมแยกออกเป็น การล่วงเกินที่เกิดขึ้นจริง (T) กับอารมณ์ขุ่นมัวที่ A ปรุงแต่งเสริมขึ้นมา (F) นั่นคือ X=T+F เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ ซะเลย

จากแผนภูมิอันนี้ เราสามารถอธิบายเรื่องราวต่อยอดได้อีกมากมาย เช่น

(1) ถ้าเป็นเหตุการณ์ตรงไปตรงมา B ขอโทษ A A ยกโทษ X ให้ B โทษ X เป็นอันหมดไปจากความสัมพันธ์ของทั้งสอง แต่โทษ X หนักเบาแค่ไหน ถ้าหนักมากเหมือนเป็นคดีอาญาในทางโลก B ยังต้องสะสางกับกฎเกณฑ์ของธาตุธรรมต่อไป

(2) ถ้าเอามือปิดตรงตัว T คือ B ไม่ได้ล่วงเกิน แต่ A คิดไปเอง คือมีอารมณ์ขุ่นมัว (F) ไปเอง ถ้าเออเองคือคิดยกโทษ ก็เป็นการสละอารมณ์ขุ่นมัวนั้นออกไป คืออโหสิกรรมให้ B (ทั้งๆ ที่ B ก็ไม่ได้ล่วงเกินจริงๆ แต่ถูกกล่าวหา) ก็ถือว่าจบ

กรณีนี้ หาก A ไม่ยอมเออเอง ยังถือโทษขุ่นมัวต่อเนื่อง ในระดับชาวบ้านย่อมเป็นการผูกเวรข้ามชาติโดยที่ B ก็ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไร นี่คือความซวยอย่างหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิด แล้วมาเจอคนอย่าง A เข้า

(3) หากเหตุการณ์ครบองค์ มีทั้ง T และ F แต่ B ดื้อรั้น ไม่ยอมรับว่าตนล่วงเกิน A A ไม่อยากก่อเวร ก็นึกอโหสิกรรมยก F คือความขุ่นมัวออกไปจากใจ แม้ T จะยังอยู่ ไม่ครบองค์แห่งอภัยทาน แต่ A ก็ไม่ต้องขุ่นมัวกับอารมณ์ในเหตุการณ์นี้อีก ส่วน B จะไปรับโทษจาก T หรือไม่ A ก็วางใจปล่อยวางเสีย

(4) ถ้าเอามือปิดตรง F (กลายเป็น X=T) คือมีเหตุการณ์ล่วงเกิน (T) แต่ A ไม่ถือสา ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวเลย มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ที่ให้อภัยต่อลูกได้เสมอ B อาจมาขอขมาลาโทษในยามพิเศษบางอย่าง เช่นขอบวช A ย่อมยกโทษทั้งปวงให้ อภัยทานก็สมบูรณ์

การล่วงเกินด้วยกายวาจาใจ ก็เป็นสิ่งที่ตัดสินยาก เพราะเป็นปฏิสัมพันธ์ของสัตว์โลกที่มีต่อกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขันธ์อายตนะธาตุอินทรีย์ของแต่ละคน การกระทำอันหนึ่งอาจไม่ล่วงเกินคนทั่วไป แต่อาจล่วงเกินคนบางคน เช่นเราขับรถตัดหน้าเขาในระยะ 50 เมตร บางท่านก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางท่านก็หาว่าเป็นการขับรถตัดหน้า และผูกโกรธเราก็ได้ เรื่องอภัยทานจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างแท้จริง

ยังมีได้อีกหลายกรณีจากแผนภูมินี้ ผมไม่ขอกล่าวต่อ ให้ผู้อ่านคิดต่อยอดเอาเอง

แต่ที่อยากจะกล่าวต่อไปคือ ท่านจะเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากบ่วงเวรเหล่านี้ได้

สิ่งที่ผมกล่าวมา คือเหตุการณ์ที่เกิดแก่ A กับ B ซึ่งเป็นบุคคลระดับชาวบ้าน มีบุญบารมีพอๆ กัน จึงเวียนว่ายตายเกิด และมาเจอะเจอกัน หากเราจะหนีให้พ้นวัฏฐจักรเหล่านี้ มีทางเดียวคือ ต้องหนีให้พ้นจากวัฏฏะสงสาร บำเพ็ญบารมีของเราให้แก่กล้า ยกระดับธาตุธรรมของเราให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเหตุการณ์ระดับชาวบ้านไม่อาจตามเราทัน

การสร้างบารมีสอนธรรม ทำให้ธาตุธรรมของเราเป็นถึงระดับอนุพุทธเจ้า ย่อมอยู่ในสถานะที่ก้าวล่วงได้ยาก เหมือนชาวบ้านธรรมดาไม่อาจกล่าวตู่ขุนนางผู้ใหญ่ได้ง่ายๆ

ดังนั้น จงสร้างบารมีให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะการสร้างบารมีสอนธรรม คือคำตอบของทุกสิ่ง

Monday, June 18, 2012

อภัยทาน 1


ทาน จัดเป็น 1 ใน 3 ของปิฎกของภาคขาวของ(กาย)มนุษย์ ซึ่งเป็นภาคสุตตันตปิฎก

มีวิทยากรถามถึงองค์ประกอบของทาน ว่ามีหลักการอย่างไรทานจึงจะสำเร็จผล ผมขอตอบตามความเห็นส่วนตัว และที่ค้นคว้ามาได้ ดังนี้

ทาน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ อามิสทาน ธรรมทาน (หรือ วิทยาทาน) และอภัยทาน

การจำแนกอานิสงค์ของทานว่าอะไรจะสูงกว่ากัน ก็ต้องดูเนื้อหาอ้างอิง เราพบว่ามีพุทธพจน์บทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สัพพะ ทานัง ธัมมะ ทานัง ชินาติ การให้ธรรมเป็นทาน เลิศกว่าการให้ทั้งปวง” ก็ควรอ้างอิงตามนี้

ผมพยายามหากฎเกณฑ์ของทานจากตำรับตำราต่างๆ พบว่า มีการขยายความไว้แต่ อามิสทาน ธรรมทานและวิทยาทาน ก็พอจะเอากฎเกณฑ์มาใช้ได้ คือมี ผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทาน อานิสงค์จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความประณีตขององค์ประกอบทั้ง 3 นั่นเอง เช่นผู้ให้มีจิตเป็นกุศล ผู้รับเป็นเนื้อนาบุญที่ดี วัตถุทานมีความประณีต หรือเป็นเนื้อหา(ธรรมะ)ระดับไหน ซึ่งเราเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ผมไม่ลงลึกรายละเอียดตรงนี้

สิ่งที่ผมอยากพิจารณาต่อก็คือ “อภัยทาน” เรามีกฎเกณฑ์หรือไม่ อย่างไร ถ้าเราล้อกับกฎเกณฑ์ของอามิสทาน และธรรมทาน อภัยทานก็ต้องมีผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทานเหมือนกัน แต่อภัยทานเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เป็นนามธรรม ที่อาจเป็นแค่อารมณ์ความรู้สึก จึงมีกลไกที่ซับซ้อนกว่า ซึ่งผมจะยกตัวอย่างต่อไป

สมมุติว่า นาย A ถูกนาย B ล่วงเกินด้วยเหตุๆ หนึ่ง (เหตุ X)

(1) กรณีตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นแบบฉบับ ง่ายๆ ให้เกิดความเข้าใจ คือเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง อภัยทานน่าจะสมบูรณ์เมื่อ นาย B ไปขอให้ นาย A ยกโทษ X ให้แก่ตน นาย A ยกโทษ X ให้นาย B โทษ X เป็นอันหมดไปจากความสัมพันธ์ของทั้ง 2 เหมือนเราไม่ติดใจเอาความ โทษทางแพ่งก็เป็นอันหมดไป แต่หากโทษ X นั้นหนักหนามาก ยังมีโทษทางอาญาที่ยกฟ้องไม่ได้อยู่ ก็เป็นเรื่องของนาย B กับกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎเกณฑ์ของธาตุธรรม คืออัยการยังต้องสั่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

(2) กรณีไม่ตรงไปตรงมา เช่น นาย A เข้าใจผิดว่านาย B ล่วงเกินตนด้วยเหตุ X แต่ความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างนี้ถือว่าโทษของเหตุ X ย่อมไม่มีแก่นาย B มาแต่เดิม กรณีนี้มีแต่ผู้ให้(A) ไม่มีผู้รับ ส่วนวัตถุทานเปลี่ยนเป็น “อารมณ์โกรธ” ของนาย A นาย A อาจนึกขึ้นมาลอยๆ ว่าขออโหสิกรรมให้นาย B ก็เป็นการสละอารมณ์โกรธนั้นออกไป องค์ประกอบของทานอาจไม่สมบูรณ์นัก เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มีเหตุ X เลย แต่ทำให้นาย A ไม่ต้องแบกอารมณ์โกรธนั้นอีกต่อไป

แต่หากนาย A ไม่สละอารมณ์นั้นทิ้งเสีย และจองเวรนาย B ต่อ สำหรับความรู้ระดับชาวบ้าน เหตุการณ์นี้ยังไม่จบเพราะสามารถจองเวรกันข้ามภพข้ามชาติได้ แม้นาย B จะไม่ตอบโต้เลยก็ตาม เช่นกรณีพระพุทธเจ้า กับเทวทัต เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนั้นน่ากลัว เราว่าเราดีปานใดอยู่เฉยๆ ก็มีเรื่องได้

(3) บางที นาย B คิดว่าตนคงเคยไปล่วงเกินนาย A โดยที่นาย A ก็ไม่เคยติดใจอะไร เช่นนาย B ไปขอขมานาย A ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช นาย A อโหสิกรรมให้ทุกอย่าง อันนี้ก็คงเข้าได้กับกรณีตรงไปตรงมาอันแรก น่าจะถือว่าครบองค์ทั้ง 3 แห่งทาน

(4) กรณีไม่ตรงไปตรงมาอีกกรณีหนึ่ง คือ นาย B ล่วงเกินนาย A ด้วยเหตุ X จริง แต่นาย B ไม่ยอมรับว่าตนล่วงเกินนาย A แม้นาย A ซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีคุณธรรมมากกว่าจะกล่าวลอยๆ ว่าขอโทษ X จงอย่ามีแก่นาย B เลย กรณีนี้นาย B ย่อมยังไม่พ้นโทษ เพราะเขาไม่คิดแม้จะหยิบมันออก เรียกว่าเป็นโจรใจแข็ง แต่นาย A ก็ได้สละอารมณ์ไม่ดีออกไป แม้ไม่มีโอกาสได้ให้อภัยทานแก่นาย B อย่างครบองค์ก็ตาม

จะเห็นได้ว่า อภัยทานมีความยากในการพิจารณา เพราะเป็นนามธรรม เกี่ยวข้องกับอารมณ์ของมนุษย์ที่มักเข้าข้างตัวเอง และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผมเพียงนำเสนอให้ช่วยกันวิเคราะห์เท่านั้น

กรณีของวิทยากร ให้ไปอ่านปราบมาร 6 บทที่ว่า ทำอย่างไรเมื่อถูกสาปแช่ง มีกล่าวไว้หลายแห่ง แล้วเอามาคุยกัน

Sunday, June 17, 2012

ความว่าง คือจุดสูงสุดจริงหรือ?


เมื่อเราเข้าใจเรื่องการยกระดับธาตุธรรม เราก็มาต่อยอดเรื่องจุดสูงสุดของศาสนากัน

จุดสูงสุดของศาสนาพุทธ คือนิพพาน ซึ่งทุกสำนักพูดตรงกัน แต่เข้าใจต่างกัน ผมจึงขออ้างอิงเหตุผล (Logic) ง่ายๆ ดังนี้

มนุษย์ ทำคุณงามความดีเพื่อยกระดับธาตุธรรมของตน ไปเป็นเทวดา (ทิพย์) มีเทวธรรมคือหิริโอตตัปปะ  สภาพเปลี่ยนจากความเกิดแก่เจ็บตายแบบมนุษย์ กลายเป็น เกิดกับตาย (จุติ) ไม่มีแก่กับเจ็บ อายุยืนขึ้นจากความเป็นมนุษย์มาก

จากเทวดา ยกระดับธาตุธรรมไปเป็นพรหม อรูปพรหม มีพรหมวิหาร และฌานทั้ง 4 และ 8 เป็นคุณสมบัติ ยังมีเกิดกับตาย (จุติ) แต่อายุยืนยาวมาก มากจนนึกว่าเป็นอมตะ เป็นนิรันดร์ แต่สุดท้ายก็ยังไม่พ้นจุติ ต้องยกระดับธาตุธรรมต่อไปให้ถึงนิพพาน

เมื่อยกระดับธาตุธรรมมาถึงนิพพาน เหตุและผลที่น่าจะต่อเนื่องมาก็ควรจะเป็น  มีเกิด(บรรลุธรรมเข้านิพพาน) แต่ไม่มีตายอีกแล้ว มีอายุสืบเนื่องไปเรี่อยๆ เป็นอมตะ และบรมสุขอย่างแท้จริง

แต่คำสอนส่วนหนึ่งกลับเห็นว่านิพพานเป็นความว่างทั้งปวง ไม่ใช่แค่ว่างจากกิเลส แต่ล่วงไปถึงการไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีแม้สถานที่ที่เป็นนิพพาน สภาพไม่ต่างไปจากการไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี ตลอดกาล

แค่เหตุผลต่อเนื่องง่ายๆ ก็กลับหัวกลับหางมาจนได้ เรายกระดับธาตุธรรมด้วยการสร้างบุญบารมีมาแทบแย่ เพื่อมา ตายตลอดกาล หรืออย่างไร?


การพิจารณาไตรลักษณ์ จึงควรพิจารณาในระดับของภพ 3 ซึ่งเป็นระดับที่เรายังเวียนว่ายตายเกิด บำเพ็ญบารมีอยู่ ไตรลักษณ์ไม่ควรเป็นลักษณะของจุดสูงสุดที่เรามุ่งหวังจะไปเป็นอยู่คือที่นั่น

Friday, May 25, 2012

แก่น หรือ กระพี้


ความยากของการเรียนรู้ความจริงในสิ่งต่างๆ คือการแยกแยะว่า อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ แม้สิ่งทั้งปวงนั้นจะเป็นความจริง ไม่ใช่ความหลอกลวงก็ตาม

ผมเคยสัมผัสกับผู้มีรู้มีญาณมามาก รู้เห็นทุกอย่างรอบตัวจนเป็นปกติ แถมรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ แต่ส่วนใหญ่มักมาบอกเราเมื่อเหตุการณ์เกิดไปแล้ว มีคราวหนึ่งเราไปเที่ยว แล้วเด็กทำรองเท้าตกน้ำ เขาก็ไปซุบซิบกับคนมีรู้ญาณด้วยกันเองว่า เขาเห็นเหตุการณ์นี้มาก่อนตั้งแต่ย่างเท้าเข้ามาในบริเวณนั้นก็รู้สึกได้ทันที เธอเห็นหรือไม่ แล้วเขาเหล่านั้นก็คุยกันด้วยความบันเทิงใจว่าเขาสามารถเห็นเหตุการณ์ได้ก่อนที่มันจะเกิด แต่ผมกลับหงุดหงิดว่าหากเธอรู้ว่าสิ่งไม่ดีจะเกิด ทำไมไม่แก้ให้มันไม่เกิด หรือกลัวว่าหากทำให้มันไม่เกิด ตัวเองจะมาคุยเขื่องไม่ได้ ที่สำคัญคือหากเป็นเหตุการณ์การตัดสินใจสำคัญๆ เขามักเข้าข้างกลุ่มคนที่เราเห็นว่าเป็นภัยด้วยซ้ำ แสดงว่ารู้ญาณนั้นเปิดในเรื่องไร้สาระเพื่อให้เขาหลงติดในความสามารถของเขา แต่การตัดสินถูกผิดในเรื่องสำคัญจริงๆ กลับเอาเหตุเอาผลไม่ได้

แน่นอน ความรู้บางอย่างที่ระลึกรู้ขึ้นมาได้ อาจเป็นชนวนให้เกิดความรู้สำคัญขึ้นในอนาคต แต่อะไรจะเป็นตัวตัดสิน และมันคุ้มที่จะซื้อหรือไม่

วงการแพทย์ มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน แต่วงการแพทย์มีกลไกควบคุมความรู้เหล่านั้น เริ่มต้นให้ทดลองกันในหมู่เล็กๆ หากจะเผยแพร่ ก็นำลงในวารสารท้องถิ่นระดับโรงพยาบาลก่อน ถ้าได้รับการยอมรับ ก็เผยแพร่ออกสู่โลกที่กว้างขึ้น โดยลงบทความในวารสารระดับจังหวัด ระดับประเทศ ระดับโลก หากเกิดการยอมรับจึงมีสิทธิ์นำลงในตำรามาตรฐานให้แพทย์และนักเรียนแพทย์ได้ศึกษากัน แม้ตำรามาตรฐานก็ต้องตรวจสอบเป็นระยะๆ ทุกๆ 5 ปี 10 ปีก็ว่ากันไป การอ้างอิงความรู้ทั้งปวง ต้องกล่าวอ้างได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตำราของท่านทันสมัยหรือโบราณขนาดไหน

หากวงการธรรมะทำได้อย่างวงการแพทย์ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก ก็คงดีไม่น้อย แต่จะมีความละเอียดอ่อนกว่าเพราะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่อาจรู้เห็นกันตรงหน้าได้ง่ายนัก

ปัญหาทั้งปวงในโลกใบนี้ เกิดจากความเชื่อ เกิดจากรู้ญาณ(ความรู้ภายใน)ที่หลากหลายทั้งสิ้น เกิดเป็นแขนงแห่งความเชื่อแตกออกไปไม่รู้จบ ความเชื่อทำให้คนเราทำได้ทุกอย่าง พลีชีพตัวเองได้ ฆ่าคนอื่นได้ มีพฤติกรรมแปลกๆ ที่มนุษย์ทั่วไปเขาไม่ทำกันก็ได้ แล้วอะไรคือความถูกผิด หากเราไม่มีหลักยึดประจำใจกันไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ หลักยึดเหล่านั้นเป็นพื้นฐานที่อาจต้องเพาะบ่มมาจากครอบครัว หรือโรงเรียน หรือองค์กรอะไรก็ตาม หรือแม้เป็นบารมีเก่าที่ติดตัวมา นั่นเอง

เช่น เรายึดปิฎกของธรรมภาคขาวสำหรับมนุษย์ คือ ทาน ศีล ภาวนา หากปลูกสำนึกนี้มาแต่เด็ก เราเชื่อโดยหลักเหตุผลว่า หากทุกคนมีทานศีลภาวนาประจำใจ โลกย่อมร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นแก่น คุณความดีอื่นๆ ที่จะแตกแขนงออกไป ก็ให้ยึดหลักปิฎกนี้ เหมือนรัฐธรรมนูญเป็นแก่น กฎหมายลูกต่อๆ มาก็ต้องเป็นไปตามแนวรัฐธรรมนูญ

เมื่อเราค้นพบวิชาใหม่ๆ เราต้องเชื่อมโยงความรู้ว่ามันต่อยอดจากหลักการเดิมตรงไหน หากเราอ้างว่าเราพบวิธีปราบมารแบบใหม่ เราก็ต้องอ้างได้ว่าของเก่าเป็นอย่างไร เราต่อยอดจากของเก่าตรงไหน หรือแม้ไม่ได้ต่อยอดแต่ต้องรู้ว่ามันต่างมาจากเดิมอย่างไร ภาพรวมขณะนี้เป็นอย่างไร หากจะปราบมารในภพ 3 เรามองภาพรวมอย่างไร เรามีกำลังพอจะสู้เขาไหม กำลังที่จะสู้สรรหามาจากไหน ไปหามารได้ที่ใด ไม่ใช่เอากันแค่เฉพาะที่โผล่มาให้เห็น ใช้ความรู้อะไรในการปราบ ปราบแล้วทำอย่างไรไม่ให้เขากลับมาปกครองธาตุธรรมตรงนั้นได้อีก ต้องคุยกันยาว

สรุปคือ ความเป็นจริงทั้งปวงในโลกใบนี้มีมากมายมหาศาล ทั้งที่เกิดมาก่อนแล้ว กำลังเกิดอยู่ และจะเกิดต่อไป อะไรคือแก่นสาร อะไรคือกระพี้ที่เป็นเรื่องสัพเพเหระเสียเวลาใส่ใจ ต้องแยกแยะให้ดีเพราะเรามีเวลาจำกัด เสียเวลาไปก็ต้องให้คุ้มค่า อย่าให้กระพี้มีความสำคัญเหนือแก่น เช่นให้สัญญากันไว้ แต่ผิดสัญญา แล้วอ้างเหตุผลที่ดูดีในการผิดสัญญา เราจะวินิจฉัยอย่างไร มันก็ต้องผิดมาตั้งแต่เกิดการผิดสัญญาซึ่งเป็นแก่นของเรื่อง ส่วนเหตุผลอื่นที่ตามมาเป็นเพียงกระพี้เท่านั้น

Thursday, March 22, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (5)


ความตอนนี้ ฟังหูไว้หู นะครับ

เรื่อง ปราบมาร ไม่ใช่จะมาพูดกันเล่นๆ เพราะมารขัดขวางเต็มกำลัง ยากแก่การเผยแพร่สู่โลกภายนอก แต่ปัจจุบัน งานปราบมารของคุณลุงซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในทางธรรมของพวกเรา มาถึงจุดสำคัญจริงๆ แล้ว

ในภาค 3 ผมได้เขียนถึงตำราวิชาธรรมกายในยุคของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในตอน วิชาปราบมาร ว่าไม่มีตำราเขียนไว้ชัดเจน ความรู้ที่สืบทอดมาจึงเป็นเพียงการบอกเล่าต่อๆ กันในหมู่ผู้เป็นวิชาธรรมกายชั้นสูงที่เข้าเวรอยู่ในโรงงานทำวิชา มีผู้เคยถามหลวงพ่อว่าทำไมไม่ทำตำราปราบมารไว้บ้างเลย ท่านตอบว่ามารเขาห้ามไว้

แต่ยุคปัจจุบัน มีตำราปราบมารออกสู่สาธารณะแล้ว 6 ภาค บรรยายทั้งภาควิชาการ และเหตุการณ์ ที่ต่อเนื่องลุ่มลึกไปตามลำดับ ผมไม่อาจบรรยายซ้ำโดยละเอียดได้ เพราะเนื้อหาซับซ้อนมาก ท่านควรหาอ่านให้ครบ หลายแห่งอาจทำตำราในชื่อเดียวกัน ซึ่งผมติดตามหาอ่านและศึกษามาโดยตลอดแทบทุกแห่ง พบว่าส่วนใหญ่ แม้แต่คำจำกัดความของคำว่า มาร ก็ไม่มีอยู่ในหนังสือ ส่วนเนื้อหา ก็เป็นหัวข้อธรรมะทั้งหลายซึ่งเป็นลักษณะคำสอนทั่วไป ให้คนเราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ก็คือภาคโปรดนั่นเอง ไม่ใช่ภาคปราบ

เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ตอนที่ 1 ซึ่งกล่าวถึงอดีต แต่ตอนนี้ กล่าวถึงอนาคต มันอาจไม่เป็นอย่างที่กล่าวก็ได้ แต่มันคือแนวโน้มที่อาจจะเป็นไปได้ โดยอ้างอิงจากหนังสือ ปราบมาร เล่มที่ 1 ถึง 6 ซึ่งท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผม ขอให้ยึดหลักกาลามสูตร เข้าไว้

โดยสรุป มารคือผู้ขัดขวางคุณงามความดี และยังมีความหมายอีกหลายนัยยะ แบ่งเป็นหมวดหมู่ได้หลายรูปแบบ ในพระไตรปิฎกแบ่งไว้ถึง 9 รูปแบบ (ปราบมาร 1 หน้า 1) แต่การปฏิบัติทางญาณทัสสนะ ไม่ว่าอะไร ถ้าไม่ขาวและไม่ใส ถือว่าเป็นมารทั้งนั้น การปราบมาร ก็คือการกระทำใดใด ให้ความไม่ขาวไม่ใสดับไป และทำให้เกิดความขาวใสขึ้นมาแทน

วิธีปกครองของมาร มี 2 อย่าง คือ ปกครองใหญ่ ได้แก่ ปกครองธาตุธรรม ปกครองนิพพาน กับ ปกครองย่อย ได้แก่ ปกครองภพ 3 นั่นคือเขาปกครองหมด ไม่ว่าใคร ตามที่เขียนไว้ในประวัติศาสตร์ภาค 1 นั่นเอง

ในตำรายังมีรายละเอียดอีกมาก แต่ขอกล่าวต่ออย่างรวบรัด

การวางแผนปราบมารของคุณลุง ก็พุ่งเป้าไปที่ ปกครองใหญ่ ก่อน โดยเริ่มรบมาตั้งแต่วันเข้าพรรษาปี พ.ศ.2527 ท่ามกลางความลำบากทั้งปวงที่จะพึงมี แพ้บ้างชนะบ้าง ถึงกับจะประกาศเอกราช (การรบชนะ) มาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ได้สักที บางคราวความชนะปรากฏอยู่นานมาก จนเข้าใจว่ามารหมดแล้ว สักพักก็พบมารอีก ในบันทึกมีเหตุการณ์ขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้มาตลอด ตั้งแต่เริ่มปราบมารปีแรกๆ ประกาศเอกราชและวันสำคัญไปบ้างหลายครั้ง จนกระทั่งถึงยุคตำราปราบมาร 6 ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2547-2548 เป็นช่วงที่มีบันทึกว่ามารห่างหายไปจากนิพพานเป็นเวลานาน แม้ยังพบอยู่ประปราย จนธาตุธรรมส่วนใหญ่มีความตั้งใจจะประกาศว่าหมดมารอยู่หลายครั้ง และเป็นช่วงที่การปราบมารเริ่มรุกคืบมายังปกครองย่อย (ภพ 3) แต่เรายังไม่เห็นเหตุการณ์ชัดๆ ในภาคภพ 3 ตามที่จดบันทึกไว้

มาถึงปัจจุบัน ย่างเข้าสู่ปี พ.ศ.2554-2555 ห่างจากยุคในตำราปราบมารภาค 6  มาประมาณ 7-8 ปี มาถึงเวลานี้ หากจะมีประกาศว่า หมดมาร ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนในโลกมนุษย์ที่เรายังอาศัยอยู่ เราจะพิจารณาอย่างไร

เราจะวินิจฉัยอะไร เราต้องตั้งตัวชี้วัดขึ้น แต่ก็ต้องรอบคอบว่า เป็นตัวชี้วัดที่ถูกต้องจริงๆ กับเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย

เราเปิดตำรารุ่นแรกคือ ปราบมารภาค 1 หน้า 157 เรื่องข้อพิสูจน์ว่าหมดมาร คือเหตุการณ์ทางโลก จะดีขึ้น และเหตุการณ์ทางธรรม จะดีขึ้น

นั่นเป็นผลลัพธ์ที่คาดหวัง แต่ความเป็นไปเหล่านี้จะช้าเร็วทันใจเราขนาดไหน

เมื่อดูความเป็นมาว่า เราถูกปกครอง จนไม่เป็นตัวของตัวเองมานานแสนนาน เปรียบเสมือนประเทศที่เพิ่งโค่นล้มผู้นำเผด็จการ   (แถมต่างถิ่นด้วย) ได้สำเร็จ คงเหลือแต่ประเทศที่บอบช้ำ ที่ต้องการการฟื้นฟูอย่างหนัก

จากประสบการณ์ปราบมารของครู พบว่าท่านเริ่มต้นจาก ปกครองใหญ่ มาก่อน แล้วทะยอยประกาศเอกราชมาเป็นระยะๆ หลายช่วงเวลา ความชนะทั้งปวงที่เราอ่านเจอจากตำรา ล้วนเป็นความชนะที่เกิดจากการไม่พบเห็นมารในปกครองใหญ่แล้ว เป็นส่วนใหญ่

เมื่อเป็นดังนี้ ตัวชี้วัดว่ามารหมดก็น่าจะเริ่มจากตัวชี้วัดในระดับนิพพาน ซึ่งยากแก่การรู้เห็น เพราะต้องอาศัยรู้ญาณของผู้ได้ธรรมกายอย่างแก่กล้ามากๆ เท่านั้น  แม้เรารู้เห็นบ้าง ก็ยังไม่อาจเชื่อรู้ญาณนั้นได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เราลองพิจารณาตัวชี้วัดเหล่านี้ดู หากนิพพานเป็นบรมสุขขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อเดินวิชชาเข้านิพพาน ก็น่าจะรู้สึกได้ถึงความสว่างไสวอันมากกว่าที่เคยเป็นมา อาจจะเห็นพระพุทธองค์ทรงบันเทิง และช่วงเวลานี้ ก็มีผู้เห็นโดยรู้ญาณเช่นนั้นจริงๆ เวลาเดินวิชชาอาราธนาให้พระพุทธองค์มาชูช่วยเรา ก็เห็นพระองค์และจักรพรรดิ์มากมายก่ายกองมาช่วยเราได้อย่างเต็มกำลัง เกิดผลสำเร็จอัศจรรย์จากการเดินวิชามากขึ้น และง่ายขึ้น

ที่สำคัญ คือ งานใดใดที่เป็นความสำคัญของธาตุธรรม โดยเฉพาะการสอน(ให้เกิด)ธรรม จะมีความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์กว่าแต่ก่อน รวมถึงงานสอนจะทยอยเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยพบปัญหาและอุปสรรคน้อยลงกว่ายุคก่อน ซึ่งผมสังเกตมาตลอด 10 กว่าปี ว่างานสอนธรรมไม่เคยลดปริมาณ และคุณภาพลงเลย ไม่ว่าผู้สอนจะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปเช่นไร ผู้สอนหรือผู้เคยสอนจะไปหกคะเมนตีลังกาอย่างไร งานสอนธรรมซึ่งถือเป็นงานของธาตุธรรม ไม่เคยลดลง และผมมีความเชื่อมั่นเสมอมาว่า ไม่มีใครขวางงานสอนได้

ส่วนภาคของภพ 3 เราคงต้องดูกันอีกหน่อย ซึ่งไม่น่ายากแล้ว แม้มารระดับปกครองใหญ่ส่วนหนึ่งจะหนีลงมายังภพ 3 ก็ตาม เกิดความเข้มข้นของผลงานของเขาไปทั่ว ทำให้ตัวชี้วัดในระดับภพ 3 หรือโลกมนุษย์ ยังบอกอะไรเราได้ไม่ดีนัก

ถึงกระนั้น เราต้องทำความเข้าใจว่า หากใครก็ตามสามารถเดินวิชาเข้านิพพานได้อย่างสม่ำเสมอ หรือหากสามารถเดินวิชาอาราธนาธาตุธรรมในนิพพานให้มาชูช่วยเราได้ (ทำวิชชา) ท่านน่าจะปลอดภัยกว่าใคร เพราะโดยหลักการ ธาตุธรรมย่อมมาชูช่วยพวกเราได้สะดวกกว่ายุคก่อนๆ เปรียบเสมือน มีงบประมาณอยู่แล้ว หากผู้ใดผันงบประมาณมาใช้ได้ ผู้นั้นก็เจริญ

เป็นยังไงบ้างครับ มันจะเป็นจริงหรือเปล่าหนอ เราก็ต้องดูกันต่อไป

Monday, March 19, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (4)


เมื่อเราติดตามประวัติศาสตร์มา 3 ตอน เราคงเห็นปัญหาทั้งปวงของธาตุธรรมได้พอสมควร เราลองมาสำรวจกันในตอนนี้

โลกมนุษย์ ก็คือสนามรบ สนามสร้างบารมีของพวกเรา มันไม่ใช่ที่อยู่ถาวรที่เราจะมาอยู่อาศัยกันตลอดไป แม้ในยุคนิพพานเป็น ก็มีการสร้างบารมีมาก่อน ก่อนที่ธรรมภาคมารจะมาก้าวก่ายอำนาจปกครอง การสร้างบารมีก็เพื่อพัฒนาธาตุธรรมของตนให้สูงขึ้น แล้วเปลี่ยนแปรตัวเองให้เข้าสู่ความเป็นธาตุเป็นธรรมที่ถูกยกระดับเข้าไปในนิพพาน (เป็น) หากเข้าใจเช่นนี้ จึงไม่ควรยึดติดกับความเป็นอยู่ในโลกจนเกินไป และมองหนทาง มองอนาคต ให้ไกลเกินกว่าความเป็นมนุษย์ที่เป็นกันอยู่ ในเมื่อชีวิตต้องมีการวางแผน แต่การวางแผนของคนทั่วไปอย่างดีก็วางแผนไว้แค่ตาย แต่ควรมองไกลไปกว่านั้น โดยวางแผนไว้เผื่อประโยชน์ในภายภาคหน้า และประโยชน์สูงสุดด้วย

การพัฒนาธาตุธรรม ทำได้ด้วยการสร้างบารมี ซึ่งมีหลักสูตรหลักคือ การสร้างบารมี 10 ทัศศ์ ตามเส้นทางที่เราเรียกว่า มรรค ในส่วนหยาบของมนุษย์ก็คือ มรรคมีองค์ 8 อันมี สัมมาทิฐิ เป็นต้น ที่เราเคยมีโอกาสเรียนพุทธศาสนาในโรงเรียนกันในสมัยโบราณ ส่วนละเอียด มรรคคือทางเดินของใจ ก่อนจะเดินไป ก็ต้องมีการละลายไปตามเส้นทาง ซึ่งอาศัยอำนาจของมรรคทั้งสิ้น

คนยุคก่อนมีปกติอยู่ในปิฎก 3 คือสุตตันตปิฎก อันมีทาน เป็นต้น วินัยปิฎก อันมีศีล เป็นต้น และอภิธรรมปิฎก อันมีภาวนา เป็นต้น เป็นหลักปฏิบัติ หรือคุณสมบัติพื้นฐานของธรรมภาคขาว

แต่การสร้างบารมี มีปัญหาที่ไม่ตรงไปตรงมา จากการก้าวก่ายอำนาจปกครองของธรรมภาคมาร ความลำบากง่ายๆ ที่เห็นก็เช่น เราเคยประพฤติปิฎกทานศีลภาวนาแก่คนของเราด้วยกัน แต่กลับต้องเจอะเจอกับคนที่มีการปนเป็น และต้องกลายเป็นการประพฤติทานศีลภาวนาให้แก่คนที่ถมไม่เต็ม คนที่พร้อมจะทำร้ายเราแม้เรามีทานศีลภาวนาให้แก่เขา แต่เราก็ยังต้องอยู่ต่อไป และพยายามสร้างบารมีตามหลักสูตรเดิม โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การแก้ไขที่ธรรมภาคขาวพอจะกระทำได้ คือการส่งคน (ภาคโปรด) มาสั่งสอนสัตว์โลกถึงวิธีการปฏิบัติดังกล่าว ให้พ้นจากทุกข์ภัยโรคทั้งปวง แก้เขาไม่ได้ก็ต้องหนี และหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่โดนทุกข์ภัยโรคเล่นงาน เพียงสถานเดียว ที่ผ่านมา ทำยังไงกายมนุษย์ก็ไม่อาจหนีพ้นจากทุกข์ภัยโรคไปได้ การสร้างบารมีต้องเปลี่ยนหลักการจากการยกระดับธาตุธรรมของตน ไปเป็นการหนีไปให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง แล้วเข้านิพพาน (กายธรรม) ที่เชื่อว่าเป็นอมตสุข แต่ต้องถอดกายมนุษย์ออก เพราะกายมนุษย์เป็นศูนย์รวมของทุกข์สมุทัยมาแต่ไหนแต่ไร และเขาก็ไม่ยอมให้นิพพานยุคใหม่เข้าได้ด้วยกายมนุษย์

เห็นปัญหาดังนี้แล้ว เราบอกได้คำเดียวว่า การแก้ปัญหาไม่มีทางอื่นนอกจากการทำให้ธาตุธรรมของเราเป็นอิสระ พ้นจากการปกครองของธรรมภาคมาร และกลับไปใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขได้อย่างเดิม แต่เราจะเป็นคนลักษณะเดิมเสียทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะกลับมาแพ้เขาได้อีก

ธาตุธรรมจึงต้องส่งคน (ภาคปราบ) มาเพื่อ ปราบมาร เป็นระยะๆ จนเหตุการณ์ล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบันนี้

Wednesday, March 14, 2012

วิชาธรรมกาย กับประวัติศาสตร์ (3)


เดิมว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ในแบบเดิมต่อ แต่คิดว่าเนื้อหาของพุทธศาสนา ทั้งพุทธประวัติ ตลอดถึงการเกิดขึ้นของพระไตรปิฎกหลังพุทธกาลจนมีการสังคายนาไปแล้วประมาณ 8 รุ่น (เมื่อนับที่เข้ามาในประเทศไทย เฉพาะฝ่ายหินยาน) ซึ่งชาวพุทธสามารถศึกษาได้ไม่ยาก จึงขอไม่กล่าวถึงรายละเอียด ผมเพียงกระชับเหตุการณ์เข้ามาสู่ยุคของวิชชาธรรมกายเท่านั้น

ไม่ว่าเราจะเรียนรู้เรื่องใด เราควรมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ของเรื่องนั้นๆ ให้ถ่องแท้ หรือไม่ก็ ให้พอรับรู้ ถึงที่มาที่ไปของบัญญัติต่างๆ หรือตำราต่างๆ ได้บ้าง

ศาสนาพุทธก็เช่นกัน เราต้องเรียนพุทธประวัติ ควบคู่ไปกับคำสอน หากเราอ่านจากพระไตรปิฎกจะพบว่าทุกๆ เรื่องของวินัย และคำสอนทั้งปวง จะอ้างอิงเหตุการณ์สถานที่ ตัวละคร และบทสรุปต่างๆ สุดท้ายลงเอยที่พระพุทธองค์ทรงตัดสินอย่างไร ทรงให้ข้อคิดคำสอนอย่างไร เป็นบัญญัติสุดท้ายเสมอ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ากลับได้รับการรวบรวมเรียบเรียงหลังพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว ไม่ได้เรียบเรียงไว้ก่อนตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หากมีการเรียบเรียงไว้ก่อน ก็อาจมีการไต่ถามกล่อมเกลาจากพระพุทธองค์ได้ เราก็คงไม่ต้องพะวงถึงพระไตรปิฎกที่แตกแขนงออกมาเป็นฝ่ายหินยาน และมหายาน ตั้งแต่ยุคต้นๆ หลังพุทธปรินิพพานใหม่ๆ กระมัง

การสืบทอดพระไตรปิฎกในช่วง 100-200 ปีแรก อาศัยการท่องจำสืบต่อกันมา ที่เรียกว่า มุขปาฐะ มาเริ่มจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างจริงจังในยุคพระเจ้าอโศก แต่เดิมเราเข้าใจว่าการท่องจำเอา อาจมีความคลาดเคลื่อน แต่เมื่อดูจากความรู้คุณลุง ไม่ได้มีความเห็นเช่นนั้น ความคลาดเคลื่อนในยุคนั้นสามารถเกิดได้จากการสืบรู้สืบญาณเข้าไปถามความรู้ได้ไม่กี่นิพพาน และยังได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนมากกว่า ซึ่งเราต้องมาเรียนรู้กันอีกที

พระไตรปิฎกที่สืบทอดมาทางประเทศไทยเป็นฝ่ายหินยาน ผมจำง่ายๆ ว่าเป็นฝ่ายที่รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัตรปฏิบัติ การแต่งกาย ฯลฯ แต่ทางฝ่ายมหายาน จะยืดหยุ่นกว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงวัตรปฏิบัติบางอย่างให้เข้ากับยุคสมัย เพราะพระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ เพียงแต่ไม่ได้บอกกฏเกณฑ์หรือรายละเอียดว่าจะเปลี่ยนแปลงตอนใดได้บ้างเท่านั้น จึงมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายหลังพุทธปรินิพพาน

การศึกษาพุทธศาสนา หากเรามีโอกาส เราก็น่าจะรับรู้ความรู้ของทั้ง 2 ฝ่ายไว้บ้าง เพราะแตกแขนงมาจากที่เดียวกัน
ผมเกริ่นมาถึงตอนนี้ เพื่อชี้นำเข้าสู่วิชชาธรรมกาย ซึ่งมีการกล่าวถึงไว้ค่อนข้างมากในคัมภีร์ฝ่ายมหายาน มีการเน้นเรื่องภพภูมิ และเรื่องกายที่สัมพันธ์ต่อกัน โดยเราอาจเห็นสิ่งปลูกสร้างที่สื่อออกมาได้ เช่น บุโรพุทโธ เป็นต้น

วิชชาธรรมกาย มีการปฎิบัติสืบเนื่องหลังพุทธปรินิพพานได้ 500 ปี จากนั้นไม่มีผู้ปฎิบัติต่อ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี มาค้นพบกลับคืนได้ในยุคของท่านเมื่อปี พ.ศ.2460 และมีผู้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในยุคใหม่ มีการค้นคว้าความรู้ต่อยอดเพิ่มเติมมาตั้งแต่ยุคของหลวงพ่อ ซึ่งแต่เดิมค้นวิชชาได้ 1 ดวงธรรม 5 กาย มาเป็น 3 ดวงธรรม และ 6 ดวงธรรม และค้นกายได้ถึง 18 กาย ในยุคไม่ถึง 10 ปี ก่อนหลวงพ่อมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2502

มีตำราในยุคหลวงพ่อที่เผยแพร่ชัดเจนจริงๆ คือ
1. วิชชา 18 กาย เป็นพื้นฐาน
2. คู่มือสมภาร วิชชาชั้นสูง
3. คู่มือมรรคผลพิสดาร 1 วิชชาชั้นสูง
4. คู่มือมรรคผลพิสดาร 2 วิชชาชั้นสูง
5. ตำราปราบมาร ไม่ได้ทำเป็นตำราไว้อย่างชัดเจน แต่เป็นการบอกเล่ากันในหมู่ผู้เดินวิชชาในโรงงาน และมีการจดบันทึกเป็นหมายเหตุไว้บ้างเท่านั้น

สิ่งที่ผมอยากเน้นในตอนนี้ก็คือ วิชชาทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าในทางโลกหรือในทางธรรม ยังต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ แม้วิชชาในพุทธศาสนาก็ตาม

อันนี้อาจไม่ตรงกับความเข้าใจของหลายๆ ท่าน ที่มีความเชื่อว่าวิชชาในพุทธศาสนาซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของจิตวิญญาณ น่าจะเป็นวิชชาที่เบ็ดเสร็จ เป็น Absolute truth ที่ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดใดอีกแล้ว ผมคงไม่เถียงท่าน แต่ขอให้ท่านพยายามทำความเข้าใจเสียใหม่ เพราะส่วนใหญ่เราเถียงกันมาก่อนแล้ว แม้เรื่องของสภาพนิพพาน ก็เข้าใจไม่ตรงกันเสียแล้ว เพราะหากเชื่อว่าความหลุดพ้นสุดท้าย (นิพพาน) คือความว่างเปล่า เราก็ไม่ต้องต่อยอดในวิชชาอะไรอีก เพราะไม่มีตัวตนให้ต่อยอด แต่หากเชื่อว่าอมตสุขในนิพพานมีภพมีภูมิอยู่จริง การเรียนรู้ในระดับนิพพานก็น่าจะยังมีอยู่ต่อไป การเข้านิพพานจะเป็นเพียงการสอบผ่านเข้าไป เหมือนเราสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ และไปเรียนรู้ต่อในอีกระดับหนึ่ง

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ คำว่าวิชชาชั้นสูงนั้น มันมียุคสมัย หากเราไปเจอตำราที่กล่าวว่าเป็นวิชชาชั้นสูง เราดีใจ เริ่มเปิดอ่านและเริ่มปฏิบัติไปตั้งแต่หน้าแรกจนจบ แต่พบว่าเป็นวิชชาที่เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492 เราจะมีความคิดเห็นอย่างไร? จริงๆ แล้วเราก็ควรรับรู้ที่มาที่ไปของตำราด้วย เราควรศึกษาให้เข้าใจว่านี่เป็นความรู้ชั้นสูงของปี 2492 ซึ่งขณะนั้นค้นพบดวงธรรมได้ 3 ดวง และพบกายได้ 5 กายเท่านั้น การเดินวิชชาให้ละเอียดอาศัยการทำฌานสมาบัติเป็นหลัก ปัจจุบันเรายังใช้วิธีนี้อยู่หรือเปล่า หากเราจะเอาวิชชาที่เรียนรู้ในยุคนั้นมาใช้ เราควรปรับแต่งอย่างไรหรือไม่? เหมือนหมอจะเอาวิชชาแพทย์ชั้นสูงในยุค 2492 มารักษาเรา เราจะว่าอย่างไร?

ประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญกับทุกแขนงวิชา โดยเหตุที่กล่าวมา นั่นเอง