Pages

Wednesday, December 28, 2011

การอธิษฐาน


การอธิษฐานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด การอธิษฐานคือการตั้งวัตถุประสงค์ หรือ Vision ว่าเราต้องการอะไร เป็นอะไร เป็นไปอย่างไร แล้วจึงวางแผนสร้างบุญบารมี หรือ Mission เพื่อให้ได้ผลสมดังคำอธิษฐานนั้น ทั้งนี้การกระทำเพื่อให้บรรลุซึ่งคำอธิษฐานก็ต้องสมเหตุสมผลกับสิ่งที่เราอธิษฐานด้วย เช่นเราทำบุญทำทานแค่ชั้นอนุบาล แต่หวังผลบรรลุถึงชั้นอุดมศึกษา ก็เป็นไปไม่ได้

การอธิษฐาน คุณลุงได้เขียนไว้ละเอียดแล้วในหนังสือ คู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 221-224 แต่ที่ผมจะกล่าวถึงในที่นี้ ถือเป็นการคุยขยายความ และช่วยทบทวนเผื่อท่านที่อาจจะลืมเลือนไป

ความรู้ทั้งปวงมีหลายระดับ ต้นกลางปลาย อ่อนแก่ หยาบละเอียด อดีตปัจจุบันอนาคต การอธิษฐานก็เช่นกัน การอธิษฐานทำให้เห็นภูมิความรู้ รวมถึงความอ่อนแก่ในการสร้างบารมีของผู้อธิษฐาน คุณลุงแบ่งวิธีการอธิษฐานให้เราได้ศึกษา ดังนี้

การอธิษฐานมี 3 ระดับ

1.       ระดับชาวบ้าน
        อธิษฐานให้ได้ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1
2.       ระดับบัณฑิต
                        อธิษฐานให้ได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ
                        หรืออื่นๆ ตามหัวข้อในพระไตรปิฎก
3.       ระดับนักรู้
การอธิษฐานในระดับนักรู้ แบ่งได้อีก 3-4 ระดับ ทั้งนี้ ต้องเรียนรู้ให้แตกฉาน และสัมพันธ์กับบารมีที่เราบำเพ็ญมา และต้องไม่ไปท้าตีท้าต่อยกับมาร จนกว่าเราจะสร้างบารมีได้ถึงขีดขั้น ระหว่างนี้จึงเป็นการอธิษฐานป้องกันตัวไว้ก่อน มารก็อ้างไม่ได้ว่า เราจะไปรบกับเขา


ผมไม่ลงรายละเอียดของคำอธิษฐานระดับนักรู้ในที่นี้ ด้วยเหตุผลดังย่อหน้าข้างบน คำอธิษฐานเบื้องต้นคือให้ดวงบารมี ดวงเห็นจำคิดรู้ ดวงกายใจจิตวิญญาณ เป็นธาตุขาวธรรมขาว ... จากนั้นก็ต้องสร้างบารมีควบคู่ไปด้วย จนบารมีถึงขีดขั้น จึงก้าวเข้าสู่การอธิษฐานในลำดับต่อๆ ไป จนท้ายสุดเป็นการอธิษฐานของผู้ปราบ บุคคลธรรมดาเอามาใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นภัยแก่ตัว การเล่าเรียนวิชาต้องดูความเหมาะสม บางท่านเฝือ ชอบคุยวิชาชั้นสูง แต่เราต้องมีหลักเกณฑ์ และรู้จุดยืนของเราด้วยว่าอยู่ตรงไหน แล้วสร้างบารมีอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป

ผมอยากให้ข้อคิดต่อ ดังนี้

การอธิษฐานในระดับชาวบ้าน คือ อธิษฐานให้ได้ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1” เมื่อผมอ่านใหม่ๆ ยังงงๆ ว่ามันชาวบ้านตรงไหน แต่พอไตร่ตรองดูจึงพบว่า นี่คือการอธิษฐานขอบรรลุธรรม เข้านิพพาน หรือเป็นปกติสาวก นั่นเอง ในที่นี้ ไม่ได้อธิษฐานในเรื่องทางโลกเลย

อย่างไรก็ตาม หากต้องการพ้นทุกข์และเป็นสุขอย่างถาวร นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านควรอธิษฐาน ควรกำหนดไว้เป็นเป้าหมายชีวิต ควรเป็น  Vision อันสำคัญที่ต้องแสวงหา แต่ถามว่าจะมีชาวบ้านซักกี่คนคิดที่จะอธิษฐาน หรือตั้งความปรารถนาให้แก่ตัวเองแบบนี้ นั่นคือ สัตว์โลกแทบทั้งปวงไม่รู้เลยว่า ยอดปรารถนาสูงสุดในการมาเกิดเป็นมนุษย์ของตน ควรเป็นอย่างไร

เมื่อดูมุมมองของการปกครอง จึงพบว่าสัตว์โลกต้องถูกชี้นำโดยผู้ทรงปัญญา ชี้ทางสว่างให้ เพราะการให้สัตว์โลกด้วยกันที่มีปัญญาเพียงแค่นั้นปกครองกันเองเพราะเป็นคนส่วนมาก ก็ไม่ได้ถูกเสมอไป

การที่เราสอนธรรมจนผู้เรียนมีดวงตาเห็นธรรม เท่ากับเราได้ให้ในสิ่งที่สัตว์โลกปรารถนามาตลอดชีวิตของการเวียนว่ายตายเกิดของพวกเขา เพราะการเห็นธรรมเป็นสื่อให้เข้าถึงนิพพานในที่สุด

การอธิษฐานในระดับบัณฑิต  อธิษฐานให้ได้ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ ก็คืออธิษฐานขอเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า ภาคโปรด นั่นเอง

ส่วนการอธิษฐานในระดับนักรู้ ก็คือการอธิษฐานของภาคปราบ รวมๆ กับภาคโปรดในการสร้างบารมียุคใหม่ ซึ่งกล่าวมาก่อนแล้ว

ท่านได้เห็นความลุ่มลึกของความรู้เรื่องการอธิษฐาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา ทุกอย่างมีขั้นมีตอน มีการวางแผน เหมือน ทุกๆ เรื่องในชีวิตของเราที่ต้องวางแผนเช่นกัน เราจึงจะประสบความสำเร็จ

ขอให้ทุกท่านโชคดี

Wednesday, December 21, 2011

ทำใจไม่ได้


มีคำถามเรื่องการเดินวิชชาจากวิทยากร โดยเนื้อหามีดังนี้

เมื่อเราได้เรียนการเดินวิชชาพรหมวิหาร 4  ซึ่งเป็นวิชชาของภาคพระ หากเป็นสมัยโบราณก็คือการแผ่เมตตาให้แก่ผู้คนนั่นเอง ไม่ว่าเขาจะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เราคำนวณเข้ามา หรือเป็นบุคคลที่มาล่วงเกินเราก็ตาม ขั้นตอนการเดินวิชชาไม่ยาก แต่การทำใจให้เป็นไปตามคุณธรรมของพรหมวิหารคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บางครั้งยากมากๆ โดยเฉพาะการเจริญพรหมวิหารแก่ศัตรูที่มาล่วงเกินเรา เรานั่งวิชชาเข้าไปแล้วบอกว่า ขอท่านจงเป็นสุขเถิด ขอท่านจงพ้นทุกข์เถิด ขอท่านจงมีความจำเริญเถิด ฯลฯ เหล่านี้เรามักทำใจไม่ได้ เพราะเรายังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ ยังโกรธอยู่ เราควรทำอย่างไร?

ผมอยากให้ข้อคิดคือ วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาที่แก้ใขจากส่วนละเอียดออกมา แม้เราจะต้องปรับส่วนหยาบคือใจของกายมนุษย์เข้าไปบ้าง ก็ทำไปเท่าที่ทำได้ การเดินวิชชาในเที่ยวแรกๆ อาจจำเป็นต้องทำในลักษณะ สักแต่ว่า ทำ เพราะเรายังปรับอารมณ์ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ของเราก็สอนให้เรา ท่อง วิชชาเข้าไว้ก่อน แต่จะเข้าถึงแค่ไหน ใจเราจะค่อยๆ ปรับไปเอง

เมื่อเรามีปัญหากับใครที่มาล่วงเกินเรา เราไม่เดินวิชชาไปสาปแช่งเขา เท่ากับว่าเราพยายามเจริญรอยตามวิถีทางของพระอยู่แล้ว แต่การฝึกฝนใจหรือแม้การหัดทำอะไรก็ตาม มันมีขั้นตอนของการเริ่มฝึกใหม่ ซึ่งต้องรอเวลา มากบ้างน้อยบ้าง ผมเคยเขียนเรื่องพรหมวิหารว่าเมื่อเดินวิชชาแก่ศัตรูเราแล้ว เขามีอันเป็นไป เราก็อย่าก้าวขั้นไปคาดหวังว่าเราจะเดินวิชชาให้ศัตรูมีอันเป็นไป เขาจะเกิดอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เพราะสุดท้ายของเหตุการณ์นั้น วิชชามันก็ทำให้เขากลับกลายมาเป็นมิตรในที่สุด

เมื่อเรามีทุกข์ภัยโรค ผมเคยเขียนให้ลองเดินวิชชา 18 กาย อนุโลมปฏิโลมซัก 7 เที่ยว จะเห็นได้ว่าการเดินวิชชาในเที่ยวแรกๆ ขณะที่ใจยังวุ่นวายสับสนนั้น ยากที่สุด แต่ให้เราฝืนท่องวิชชาเข้าไว้ โดยประสบการณ์ของผมจะเริ่มนึกวิชชาและความสว่างออกประมาณเที่ยวที่ 4 (ไม่ตายตัว) แล้ววิชชาจะคล่องตัวขึ้น ใจสบายขึ้น เรายังไม่ต้องกังวลกับความว้าวุ่นในเที่ยวแรกๆ แล้วพยายามปรับสภาพใจทั้งๆ ที่ยังทำไม่ได้ในตอนนั้น แต่เรามีไม้ตายคือการ ท่องวิชชา เข้าไว้ นั่นเอง

วิธีการนี้ เอามาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ได้ ตอนที่คุณลุงพยายามตรวจดูอาจารย์ทางวิชชาธรรมกายท่านหนึ่งว่าละสังขารแล้วไปอยู่ที่ใด ท่านเล่าว่าท่านใช้เวลาตรวจไปเรื่อยๆ ทุกวัน วันแรกๆ ไม่เห็นอะไรเลย จน 3-4 เดือน เห็นนิดๆ แล้วมากระจ่างเอาเดือนที่ 8 หมายความว่าท่านไม่จำเป็นต้องเค้นเอาเหตุเอาผลให้ได้ภายในเวลาสั้นๆ

แม้ตอนที่เราหัดนั่งสมาธิใหม่ๆ เราก็ต้องเริ่มจากการ นึก ดวงใสเอาดื้อๆ เช่นกัน นึกออกบ้างไม่ออกบ้าง ก็ทำไป ทำหนักเข้าๆ ใจเราก็ค่อยๆ ปรับเป็นความ เห็น ขึ้นทีละน้อย ทุกอย่างย่อมมีขั้นมีตอน ยังไม่ต้องฝืน

การเดินวิชชาพรหมวิหาร ต้องทำใจให้โน้มน้าวไปตามความหมายของพรหมวิหารก็จริง ครั้งแรกๆ จะทำได้แค่ไหน ก็แค่นั้น วันหลังก็ทำต่อ

ถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ แม้วันร้ายคืนร้ายที่เรารู้สึกว่า เราเดินวิชชาประจำวันไม่ดี เราก็ไม่ต้องไปกังวลใจ ออกมาเปลี่ยนอิริยาบถ พอมีเวลาก็กลับมานั่งใหม่ หากยังไม่ดีอีกก็ท่องวิชชาให้ผ่าน แล้วกลับมาเดินวิชชากันใหม่ในเที่ยวหลัง หรือมาทำใหม่ในอิริยาบถอื่น ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกังวลว่าวันนี้มันจะไม่ดี ไม่ต้องไปสร้างผังให้เขา เราทำดีที่สุดแล้ว มันก็ต้องดีจนได้

Saturday, December 17, 2011

การแก้โรค กับ การหายของโรค


เรามีความคาดหวังต่อการหายของโรคอย่างไร?

บทความในบล็อกนี้เป็นบทความเกี่ยวกับวิชชาธรรมกาย จึงเป็นที่เข้าใจกันได้ว่าการแก้โรคที่เราพูดถึงเป็นการแก้ไขด้วยวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นการแก้ไขจากส่วนละเอียดออกมา แล้วมีผลทำให้กายมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหยาบหายเจ็บป่วย

ในบทความเรื่องวิชชาธรรมกายกับประวัติศาสตร์เราพบว่าธรรมภาคขาวถูกปกครองมานาน การฟื้นฟูจากภาวะที่ถูกปกครองจึงต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป จริงๆ แล้วเราคาดหวังว่าเมื่อเราแก้โรค โรคก็ควรจะถูกหยิบทิ้งออกไป โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการทางแพทย์หรือวิธีการอื่นที่เป็นส่วนหยาบอีกแล้ว ผมและทุกคนที่เรียนวิชชาก็หวังให้เป็นเช่นนั้น คือเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทองคำภายในพริบตา หรือเปลี่ยนจากมะเร็งร้ายให้กลายเป็นเนื้อดีโดยฉับพลัน เราก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่ผลลัพธ์ที่ผมเห็นในขณะนี้กลับมีความแตกต่างกันไป บ้างก็หายในข้ามคืน บ้างก็ต้องผสมผสานกับวิธีการรักษาทางโลก จึงจะหาย

หากเราตั้งใจที่จะรักษาหลักวิชาที่ถูกต้อง ตามที่ผมได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้า เราก็ต้องอดทน ผมจะยกตัวอย่างเท่าที่ผมมีประสบการณ์จริงที่ผ่านมาดังนี้

กรณีลูกของวิทยากรทานยาฆ่าหญ้า (Paraquat) จนเริ่มมีอาการไหม้ของปาก และเยื่อบุทางเดินอาหารตั้งแต่ลำคอลงไป รวมถึงมีอาการเหนื่อยหอบจากการเริ่มมีการทำลายของเนื้อปอด โดยปกติ หากมีอาการถึงขั้นนี้คนไข้มักเสียชีวิตทุกราย การรักษาเป็นเพียงแค่ประคับประคอง คนไข้ทานอะไรไม่ได้แล้ว คืนนั้นให้คนไข้คุยกับคุณลุงเพื่อต่อรองกับธาตุธรรม รุ่งเช้าคนไข้หายหอบ กลับมาอยากอาหารและรับประทานได้ตามปกติ สุดท้ายหายจากโรคภายในคืนเดียว ท่านจะเชื่อหรือไม่ ยังไงมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

Case ดังกล่าวเป็นที่น่าแปลกใจแก่วงการแพทย์ เพราะแพทย์ที่ศิริราชได้นัดคนไข้ไปฟื้นฟูต่อที่แผนกจิตเวช และต่างก็แปลกใจต่อการหายของโรคในรายนี้

มีรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับการหายจากการรับสาร Paraquat อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เป็นรายที่ได้รับปริมาณน้อย และไม่ทันมีอาการไหม้ของเยื่อบุทั้งหลาย หรือยังไม่ทันมีการทำลายของปอดให้เห็น กรณีข้างต้นผมถือว่า เป็นปาฏิหาริย์ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์

เราไม่ค่อยได้พบกรณีดังกล่าวบ่อยครั้งนัก เรื่องที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับน้องสาวที่ป่วยเป็นไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto’s thyroiditis) ในตอน มนุษย์เป็นหุ่น” ก็ไม่ได้หายแบบฉับพลันทันที เพียงแต่การช่วยทางวิชชาทำให้เปิดโอกาสให้มีการวินิจฉัยที่ถูกต้องและได้รับการรักษาในที่สุด

กรณีที่วิทยากรร่วมคณะของผมท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก้อนมะเร็งใหญ่โตพอสมควร แต่ยังพอผ่าตัดได้ แพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนัดผ่าตัด แต่บอกแก่คนไข้ว่าไม่สามารถผ่าตัดให้ขับถ่ายทางทวารหนักด้านล่างได้เพราะก้อนมะเร็งใหญ่เกินไป จำเป็นต้องเปิดรูขับถ่ายทางหน้าท้องตลอดชีวิต คนไข้เกิดความลังเล และหันมารักษาด้วยวิชชาธรรมกาย ร่วมกับแพทย์ทางเลือกอีกหลายอย่างที่ไม่ให้ทานเนื้อสัตว์ จึงขาดการติดต่อกับแพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมไปถึง 6 เดือน ซึ่งแพทย์เขาไม่ทำผ่าตัดให้แล้วเพราะมะเร็งน่าจะลุกลามไปมาก ระหว่างนี้เราก็เดินวิชชาแก้โรคโดยความควบคุมของครูอาจารย์กันอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายแพทย์ทางเลือกที่ไปหาก็บอกคนไข้ว่าไม่สามารถรักษาโดยลำพังได้ คนไข้ต้องไปทำการผ่าตัดจึงจะเหมาะสม คนไข้จำต้องเปลี่ยนโรงพยาบาลไปอีกแห่งหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยอีกครั้ง พบว่าก้อนมะเร็งไม่ได้โตขึ้น และไม่ได้แพร่กระจายไปไหน ทั้งๆ ที่ทิ้งเวลามาถึง 6 เดือน ยังสามารถผ่าตัดได้ และสามารถทำให้ขับถ่ายทางรูทวารหนักข้างล่างได้ด้วย คนไข้ยังแข็งแรงมาถึงทุกวันนี้ ท่านจะว่าเป็นการรักษาผสมผสานอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ผลสุดท้ายคนไข้ก็หายโดยไม่ต้องมีถุงขับถ่ายที่หน้าท้องด้วยซ้ำ

เราจะเห็นความสำคัญอีกอย่างคือ เรื่องของจังหวะ (Timing) เพราะวิธีการรักษาทั้งปวงมันมีอยู่แล้ว แต่เราจะพบกับจังหวะและวิธีการที่เหมาะสมที่สุดหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะแสวงหาด้วยวิธีใด แต่ผมเชื่อว่าการแก้โรคด้วยวิชชา จะช่วยเรื่องจังหวะเหล่านี้


ผมได้บอกไว้ก่อนแล้วว่า การแก้ไขแบบของเรา ต้องต่อสู้ ต้องเหนื่อยหน่อย แต่ไม่ต้องต่อตีนโจร ผมเชื่อว่ามีหลายแห่งทำอัศจรรย์ได้มากกว่านี้ แต่ทำอย่างนี้เราสบายใจกว่า ขอท่านผู้อ่านได้โปรดใช้ดุลย์พินิจ

ครูบาอาจารย์ของเราก็ป่วย และได้รับการรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วยมาตลอด มีอะไรก็แก้ไขกันไปตามหน้าตัก แต่อย่าทำตัวเป็นเจ้าประเทศราชแบบที่ผมเขียนไว้ในเรื่องมุมมองของการปกครอง

สักวันหนึ่งเราคงเนรมิตทุกอย่างได้ดังใจนึก นั่นคือ แม้แก้โรคก็ไม่ต้องพึ่งพาการรักษาส่วนหยาบจากแพทย์ เมื่อเกิดทุกข์ภัยโรคก็หยิบหรือระเบิดทุกข์ภัยโรคออกไปในฉับพลัน หากทำได้อย่างนั้นก็สุดยอด

Friday, December 16, 2011

บุฟเฟ่ต์ (Buffet)


ต้นเดือน ธ.ค.2554 ผมได้มีโอกาสไปทานอาหารบุฟเฟ่ต์ที่ร้านอาหารการะเวก ซึ่งเป็นร้านอาหารระดับใหญ่แห่งหนึ่ง สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับแขกบางคนเวลาไปตักอาหารก็คือ เขามักจะเลือกตักแต่สิ่งที่ตนเองชอบ เช่นถ้าเขาไม่ชอบผัก เขาก็ไม่ตักสลัด บางทีไม่ตักผลไม้ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ร้านอาหาร มีบริการอาหารหลากหลายให้เลือกได้ตามใจชอบ หากเราเลือกตักอาหารให้ทั่ว กระจายไปในลักษณะ ครบ 5 หมู่ ตามหลักสุขศึกษา เราคงได้รับประโยชน์จากสารอาหารอีกมาก แต่เมื่อมันเป็นของเลือกได้ และไม่ได้มีกฏเกณฑ์ใดใดมาบังคับ ลักษณะการตักอาหารจึงเป็นเช่นนั้น

เหตุการณ์ในชีวิตเราหลายๆ เรื่อง เราไม่อาจเลือกได้ เช่นการเล่าเรียน โดยเฉพาะในสายวิชาชีพ เช่นการเรียนแพทย์ ซึ่งมีการกำหนดหลักสูตรตายตัวไว้แล้วว่า แพทย์ต้องมีความรู้พื้นฐานอะไรบ้าง ที่จะต้องเรียนรู้ให้จบและสอบให้ผ่าน เราจะมีสิทธิ์เลือก ก็เพียงวิชาเลือกบางวิชาเท่านั้น ตัวผมเองไม่ชอบวิชา Preclinic อยู่หลายอย่างเพราะต้องท่องจำมาก เช่น Biochemistry Anatomy Physiology แต่ผมก็ไม่อาจเลือกที่จะไม่เรียนได้ เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญอันหนึ่งของความเป็นแพทย์

การเรียนในสายธรรมะก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวิชชาธรรมกายซึ่งมีหลักสูตรให้เรียนอย่างชัดเจน แต่ไม่มีโรงเรียนที่สอนภาคบังคับตามหลักสูตรแบบการเรียนในทางโลก เราจึงเห็นผู้เรียนหลายท่านเลือกที่จะเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ตนชอบเหมือนการตักอาหารบุฟเฟ่ต์ ส่วนใหญ่ติดอภินิหาร ก็เลือกสนใจความรู้ที่เป็นอภินิหาร แต่ความรู้เกี่ยวกับการเดินวิชา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมถะวิปัสสนา ซึ่งเป็นยาขมหม้อใหญ่ มักผ่านไปโดยไม่ค่อยอยากทบทวน ซึ่งผมก็พบเห็นในบล็อกเช่นกัน

ความเป็นธรรมกายก็คล้ายๆ กับการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอย่างหนึ่งในทางโลก เช่นแพทย์ วิศวกร แต่ในทางโลก เราเลือกวิชาเรียนที่ถูกใจเราทั้งหมดไม่ได้ เพราะเขาบังคับเราให้ผ่านหลักสูตรที่เขากำหนดมาเสียก่อน เขาถึงจะยอมรับเรา แต่วิชาธรรมกายยังไม่ได้บังคับหลักสูตรกันขนาดนั้น ข้อดีคือมีความยืดหยุ่นและอิสระในการเลือกที่จะศึกษา แต่ข้อเสียก็คือเราไม่มีมาตรฐานของความรู้ในวิชชาธรรมกายที่แท้จริง จึงพบสำนักสอนธรรมกายบางสำนักซึ่งบอกว่าสอนธรรมกายแต่กลับสอนเน้นหนักเรื่องไตรลักษณ์ ปล่อยวางไปหมด เห็นพระแล้วให้รีบพิจารณาให้พระหายไป อย่างนี้ก็มี

เราจะเรียนวิชา เราต้องยอมอ่านบทเรียนทั้งหมดทุกบท ไม่ว่าจะเข้าใจยากสักเพียงใดก็ตาม อย่าเลือกเอาแต่บทเรียนที่ถูกกับความชอบของตนแต่อย่างเดียว มิฉะนั้นท่านก็เปรียบเสมือนการเลือกทานอาหาร ที่ไม่ครบ 5 หมู่ตามที่พื้นฐานร่างกายมนุษย์ควรได้รับ แบบการเลือกตักอาหารบุฟเฟ่ต์นั่นเอง

การแก้โรค กับ ความคาบลูกคาบดอก


ผมยังไม่ได้บอกถึงการเดินวิชชาแก้โรค เพราะเรื่องบางอย่างยังไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เราต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ที่จะเอาวิชชาไปทำ มีความรู้ถึงหรือยัง การไปเดินวิชชาชั้นสูงมีความเสี่ยงต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงธาตุธรรมส่วนรวมโดยเจ้าตัวไม่รู้คือต่อตีนโจรไปโดยไม่รู้ตัว แต่ที่ผมจะเขียนต่อในที่นี้จะเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดทั่วไปเกี่ยวกับการแก้โรคที่ยังไม่ได้พูดถึง

อาจารย์แพทย์อาวุโสท่านหนึ่งสอนผมในชั่วโมงแรกที่เราข้ามฟากจากคณะวิทยาศาสตร์มายังคณะแพทย์ศาสตร์ว่า โรคจำแนกตามการหายของโรคได้ 3 อย่างคือ 1. รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย 2. รักษาหาย ไม่รักษาไม่หาย 3. รักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย ข้อ 1 และข้อ 3 ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องพึ่งการรักษา แต่การรักษาทางการแพทย์จะช่วยลดความทุกข์ทรมานจากโรคเหล่านี้ได้ เราต้องเข้าใจว่าเวลาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางที 2-3 วัน มันก็หายไปเอง โดยไม่ต้องกินยาหรือเดินวิชชาแก้เลย ถือเป็นเพียงเหตุรำคาญ เท่านั้น

เราจะพูดต่อถึงโรคที่ยากแก่การหาย วงการแพทย์พยายามหาตัวชี้วัดสำหรับโรคเหล่านี้ เช่นโรคมะเร็ง ว่าหลังวินิจฉัยและได้รับการรักษา หากคนไข้มีชีวิตอยู่ถึงระยะหนึ่งที่กำหนด ก็ถือว่าการรักษาประสบความสำเร็จ บางท่านอาจเรียกว่าหายแล้วก็ได้ เช่น 5 years survival คืออยู่มาได้ 5 ปีหลังการรักษาก็ถือว่าการรักษาเกิดผลสำเร็จแล้ว โรคบางอย่างให้ถึง 10 years survival แต่บางอย่างก็ให้แค่ 3 years survival เท่านั้น เราต้องเข้าใจตรงนี้เพื่อวางความคาดหวังของเราไว้ให้ชัดเจนเสียก่อน

ขึ้นชื่อว่า มนุษย์ คงไม่มีใครไม่เคยเจ็บป่วย แม้แพทย์ผู้รักษาคนไข้ ในบางเวลาก็ต้องเป็นคนไข้เสียเอง ยังไงก็ยังเป็นมนุษย์ด้วยกัน 

ถ้าเรามีความรู้ทางวิชชา เราย่อมแก้โรคได้ ในฝั่งของผู้ป่วยก็ควรทำตัวเป็นภาชนะที่ดีสำหรับรองรับการแก้โรคไปด้วย หากเป็นผู้ที่เข้ามาทางสายวิชชาด้วยกัน อันนี้ไม่ยาก ให้เดินวิชชา 18 กายให้หนักมือขึ้น แต่ถ้าเป็นคนทั่วไป ก็ควรสอนธรรมปฏิบัติให้เขาทำ จนเกิดดวงใสในท้อง ท่องสัมมาอะระหัง นึกถึงดวงใสในท้องให้เป็นนิจสิน หากสอนให้เกิดกายธรรมได้ด้วยก็ยิ่งดี นั่นคือปรบมือทั้ง 2 ฝ่าย

มาถึงตอนนี้ ก็ยังมี ความคาบลูกคาบดอก เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้โรค

ผมเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยเพราะเห็นมามาก บางท่านอยากหายก็เอาทุกทาง ( ในแง่ของวิชชาส่วนละเอียด ไม่เกี่ยวกับส่วนหยาบของวงการแพทย์  ) คือแก้ด้วยวิชชาธรรมกายแล้ว ก็ยังไปทำพลีกรรมเรื่องอื่นๆ เผื่อไว้ด้วย ไปบูชายักษ์บ้าง ไปแก้เกี้ยวบ้าง หากเรามีความรู้ว่าการแก้โรคมีทั้งพระและมาร ภาคพระแก้ไว้ให้แล้ว เราก็ยังไปทำพิธีของภาคมารประกอบด้วยในฐานะ ไม่เชื่อก็ไม่ลบหลู่ วิชชาและบารมีที่ภาคพระแก้ไว้ให้ก็เสียหาย อย่างนี้เท่ากับเราให้เงินขอทานเพื่อไปซื้อข้าวกิน แต่ขอทานเอาไปซื้อเหล้า นั่นเอง

แม้ความเชื่อคาบลูกคาบดอกในเนื้อหาวิชาก็เช่นกัน โดยถือปรัชญาที่ว่าที่ไหนๆ ก็ดีหมด สอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น แต่ไม่ดูว่าความดีที่สอนเป็นแค่ฉากหน้าที่เขาหลอกให้เราเข้าใจผิดหรือเปล่า โปรยเงินทำบุญไปทั่ว บำรุงทั้งพระทั้งมาร ข้าไม่ศึกษาเรียนรู้ทั้งนั้นว่าแก่นแท้ vision mission แท้ๆ ข้างในเป็นอย่างไร เวลาทำบุญกับพระ พระให้บารมี พอไปเข้าพิธีของมาร มารก็มาระเบิดบารมีไป แบบนี้จะให้ภาคพระวางแผนกับคนกลุ่มนี้อย่างไร

ปัจจุบันเรามีปัญหากับความคาบลูกคาบดอกมากที่สุด ถ้าแสดงตัวเป็นมารเสียเลย เราระมัดระวังได้ง่ายกว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า เส้นทางไหนๆ ที่อ้างการทำดีใดใดก็จะถูกไปทั้งหมด เพราะหากพิจารณาแล้วเส้นทางหนึ่งถูก เส้นทางอื่นก็ย่อมต้องผิดเพราะอย่างดีก็เป็นแค่ทางอ้อม ท่านต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด แล้วเข้าหาสิ่งที่ถูกที่สุดเท่านั้น


บารมีคาบลูกคาบดอก มีปัญหาถึงขั้นต้องดับตัวละครสำคัญมาแล้ว
ขอจบบทความตอนนี้ไว้แค่นี้ก่อนครับ

Sunday, December 4, 2011

การแก้โรค


เราพบเห็นผู้มีความรู้วิชาธรรมกายอยู่มากมายจนตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปทางไหน
สำหรับผม ผมดูตัวชี้วัดง่ายๆ ที่คุณลุงให้ผมไว้ตั้งแต่เริ่มแรก คือ

ธรรมกาย ต้องทำสิ่งเหล่านี้ได้

  1. สามารถแก้ทุกข์ภัยโรค ด้วยวิชาได้
  2. สามารถสอนเบื้องต้นให้เกิดธรรมได้
หากไม่มีประวัติว่า ทำ 2 สิ่งนี้ได้ ก็ฟังไม่ขึ้น

เมื่อมองให้ลึกซึ้ง ข้อ 1 คือการแก้วิชาสายทุกข์สมุทัยของเขา ส่วนข้อ 2 คือการแก้วิชาสายปิฎกของเขานั่นเอง ไม่ว่าท่านจะเรียนแตกแขนงมาอย่างไร สุดท้ายท่านต้องทำ 2 สิ่งนี้ได้ ไม่อย่างนั้นก็เป็นการคุยวิชาให้เฝือกันไปเปล่าๆ คือ ฟังไม่ขึ้น ในสายตาของคุณลุงนั่นเอง

ตอนนี้ ผมจะอ้างอิง การแก้โรค เป็นหลัก ซึ่งสามารถเอาความเข้าใจไปเกี่ยวโยงถึงทุกข์ภัยทั้งปวงได้ด้วย

ความรู้ทุกอย่าง มี ต้นกลางปลาย อ่อนแก่ หยาบละเอียด อดีตปัจจุบันอนาคต เล็กโต เสมอ เราจะแก้โรคได้ เราต้องมีความรู้ในวิชา และต้องมีบารมีที่จะสู้กับ โรค นั้นด้วย

ผมเคยเขียนเรื่อง วิชชาธรรมกาย กับโรคที่เกิดแก่มนุษย์ มาแล้ว นั่นเป็นการแจกแจงสาเหตุในระดับมนุษย์ พบว่าส่วนใหญ่โรคเกิดจากมารเป็นหลัก เราจะแก้โรค เราก็ต้องไปปราบมารที่ทำให้เกิดโรค มาถึงตอนนี้ เราก็รู้ว่าการปราบมาร ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใข่เรื่องที่เราจะมาพูดกันเล่นๆ แล้วทำไมจึงพบว่ามีหลายสำนักหลายความเชื่อสามารถแก้โรคได้

ถึงตอนนี้ ผมขอแบ่งฝ่ายแก้โรคแบบง่ายๆ เป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายความเชื่อที่เป็นแบบเดียวกับผู้ส่งโรค กับฝ่ายความเชื่อของภาคพระที่เป็นคนละฝ่ายกับผู้ส่งโรค

หากผู้แก้ มีความเชื่อแบบเดียว(หรือละม้าย) กับผู้ส่งโรค อันนี้ไม่ยาก พวกเดียวกัน อยากแก้โรคให้หาย ข้าก็หยิบโรคออก ทีเดียวโรคก็หาย แต่ต้องบวงสรวงทำพลีอย่างนี้ๆๆๆ ด้วยนะ ซึ่งเป็นการส่งส่วยเพิ่มกำลังให้ฝ่ายเขา และทำให้ความเชื่อในสำนักนี้เกิดความนิยมส่งต่อออกไป ซึ่งแน่นอนเป็นความเชื่อเพี้ยนๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างบารมียกระดับธาตุธรรมของสาวกเหล่านั้น เขาต้องการให้มาติดกับความเชื่อตรงนี้เพื่อไม่ให้เจอของจริง และเป็นแหล่งได้บารมีส่วนละเอียดจากพลีกรรมของคนเหล่านั้นต่อไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าผู้แก้เป็นฝ่ายพระ อันนี้ต้องเหนื่อยหน่อย ขึ้นอยู่กับว่า ผู้แก้มีบารมีแค่ไหน?

ถ้าบารมีน้อยกว่าเขา ท่านแก้โรคไม่ได้ ท่านต้องสร้างบารมีและหาความรู้ให้มาก ไม่อย่างนั้นท่านอาจต้องใช้วิธีเดียวกับ ความเชื่อเดียวกับผู้ส่งโรคดังที่กล่าวมา นั่นคือวิชาท่านจะเริ่มเพี้ยนออกไป

หากท่านเริ่มมีบารมีมากขึ้นจนใกล้เคียงกับเขา ท่านเริ่มต่อรองกับเขาได้บ้าง ท่านอาจพูดถึงความรู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร แล้วจำต้องส่งบุญส่งบารมีให้เขา เพื่อให้เขาอดโทษให้ผู้ป่วย ท่านอาจต้องอ้างเหตุที่ท่านมาแก้โรคให้คนๆ นี้ว่า เพราะเขาเป็นญาติของท่าน เพราะเขาขอให้ท่านแก้ให้ในฐานะลูกศิษย์ โรคจึงจะหายได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านบอกว่ามารมันแพ้หลอกๆ คือเขาไม่ได้แพ้เลย เพียงแต่เขายอมให้โรคหายเท่านั้น

ถ้าบารมีท่านสูงกว่าเขา อันนี้ไม่ต้องพูดกันมาก บารมีระดับปราบมาร เพียงแต่ว่าท่านจะแก้ในระดับลึกแค่ไหน แก้แค่เครื่องที่เขาส่งมา หรือสาวไปถึง ผู้ต้นคิดวิชา ผู้สอด ผู้ส่ง ผู้สั่ง ผู้บังคับ ผู้ปกครอง ผู้ปกครองย่อย ผู้ปกครองใหญ่ เครื่องรวมย่อย เครื่องรวมใหญ่ หัวใจเครื่องรวมใหญ่ (ของผู้ปกครองใหญ่) ซึ่งกว่าจะเจอเขา บางทีทำวิชาเข้าไปหลายชั้น อย่างที่ผมพูดไว้ในบทความ วิชชาธรรมกายกับคณิตศาสตร์ (1) มาแล้ว ท่านจะคำนวณแก้เฉพาะหน้าตอนนี้ หรือแก้เหตุอดีตปัจจุบันอนาคต ต้นกลางปลาย ฯลฯ ไปตามแกนตั้งแกนนอน เพื่อกันไม่ให้เขาป่วยด้วยโรคเดิมใหม่ข้ามภพข้ามชาติ คือเป็นสมุทเฉทปหานไปเลยหรือไม่?   ผมกล่าวถึงแนวคิดต่อยอดไว้เท่านั้น

บางแห่งคุยว่า การแก้โรคไม่ยาก เราก็ต้องดูว่าหลักการแก้ของท่านเป็นอย่างไร ความเชื่อของท่านเป็นแบบใด ท่านเป็นพวกใคร ท่านสร้างบารมีแบบไหน สร้างมาจนมีบารมีมาแล้วมากน้อยเท่าไหร่ และสุดท้ายท่านแก้ด้วยวิธีใด?

ตัวชี้วัดที่ว่าโรคหาย อาจมองเพียงครั้งนั้นครั้งเดียวไม่ได้

Wednesday, November 30, 2011

โยนิโสมนสิการ


การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี

ก่อนเราจะไปถึงวิชาในทางลึก ผมเห็นว่าเราต้องทำความเข้าใจกับรากฐานให้แน่นหนา วันนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของ ความตั้งใจไว้ในที่ที่ถูกทางเสียก่อน หากไม่เป็นเช่นนั้น เราได้ยินได้ฟังอะไรมา เราก็ฟังผ่านโดยไม่ไตร่ตรอง เพราะเรามีจุดยืนที่แน่นหนาอยู่ก่อนแล้ว เราไม่ใส่ใจเนื้อหาใหม่ๆ ที่อาจสำคัญกว่าสิ่งที่เราเคย เป็นอยู่คือมาก่อน

อยากให้ทบทวนเรื่อง ผู้มาใหม่ แม้ผู้อยู่เก่าก็ควรตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของ ความเพี้ยน เฝือ เรื้อรัง ฮึกเหิม เพราะเมื่อเวลาเนิ่นนานไป เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น โอกาสที่ใครๆ จะเตือนเราได้ ก็มีน้อยลงทุกวัน เราหลงผิดไปทางไหน ไม่มีใครกล้าเสี่ยงมาเตือนเรา หากความผิดพลาดเป็นเรื่องสำคัญ เราอาจรู้ตัวเมื่อสาย คุณลุงเคยสอนอยู่ตอนหนึ่งว่าเมื่อครั้งคุณลุงเป็นครู แม้ภารโรงก็ยังตรวจสอบคำบาลีที่ลุงเขียนบนกระดานดำได้

ทุกอย่างมันออกไปจากความคิด การทำธุรกิจใหญ่โตทุกอย่างที่ประสบผล ล้วนมาจากความคิดที่ถูกต้องทั้งสิ้น เพื่อนนักธุรกิจคนสำคัญของน้องสาวผมได้บอกไว้ว่า เขาก่อร่างสร้างธุรกิจมานาน มีเงินเป็นร้อยๆ ล้านก็จริง แต่เธอรู้ไหมว่าฉันสามารถหมดตัวได้ภายในวันเดียว เพียงเพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพียงเพราะยกหูโทรศัพท์สั่งการผิดพลาดแม้ครั้งเดียวเท่านั้น

การระมัดระวังความคิดหรือใจของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดยอดเหนืออื่นใด

แม้การเข้ามาเรียนรู้วิชาธรรมกายก็ตาม ผมเคยเขียนในบทความเรื่อง ศรัทธากับปัญญา รู้ญาณกับเหตุผล มาก่อนแล้ว ความเชื่อทุกอย่างมี 2 ด้านนี้เสมอ วิชาธรรมกายมีทั้งเนื้อหาวิชาการที่เป็นเหตุเป็นผล และปาฏิหาริย์ ที่เกิดจากการ รู้เห็นเป็นซึ่งเป็นภาคปฏิบัติปฏิเวธในตัววิชชาเอง เกิดเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของวิชาขึ้น

แต่ความศักดิ์สิทธิ์โดยทั่วไปก็มีได้แม้ไม่ได้มาเรียนวิชาธรรมกาย หากเรามัวหลงในความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ทั้งปวง เราก็ยังไม่ก้าวล่วงความเป็นปุถุชน ที่ชาวบ้านทั่วไปเขาก็เป็นกันมาก่อน เมื่อเราเรียนวิชาธรรมกาย เราจึงต้องเป็น (หรือหากยังไม่เป็นก็พยายามแสวงหา) สิ่งที่มากกว่าอภินิหารเหล่านั้น คือทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงเกิดขึ้นจาก การเรียนรู้วิชา จึงจะสมภูมิที่อุตส่าห์มาเจอหลักวิชา

ยุคต้นๆ ของการมาเป็นวิปัสสนาจารย์ของผม คุณลุงและหมู่คณะจะเน้นย้ำถึงการออกไปสร้างบารมีสอน จะมีการทบทวนเทคนิคการสอน การใช้อุปกรณ์การสอน ว่าต้องมีดวงใส กับผ้า 7 ฐาน มีการแก้ปัญหาผู้เรียน เวลาเห็นธรรมยาก เวลาปวดเมื่อย มีการตรวจสอบการเห็นธรรมที่ชัดเจน คือการสอบถามผู้เรียนตรงๆ ไม่ได้ใช้รู้ญาณตรวจแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้สามารถทบทวนได้ในหนังสือ คู่มือวิปัสสนาจารย์ และที่ต่อยอดขึ้นมาก็คือหนังสือ ปุจฉาวิสัชชนา นั่นเอง

แม้ปัจจุบัน เป็นยุคของเทคโนโลยี เราอาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยเราได้มาก แต่ก็ต้องไม่ลืมพื้นฐานดั้งเดิมด้วย คุณลุงมีวิธีพลิกแพลงให้เราได้ยินได้ฟังเสมอ สมัยหนึ่งเคยไปร่วมสอนกับคุณลุง ตอนนั้นใช้แผ่นใส ฉายผ่าน Overhead Projector เราเคยลองเอาดวงใสวางแล้วฉายขึ้นจอ ภาพดวงออกสีคล้ำๆ คุณลุงเห็นเข้า บอกเราให้รีบเอาออก ลุงไม่ให้ใช้ เพราะมันติดตาผู้เรียนที่มาใหม่ ทั้งที่ดวงใสนั้นก็เป็นดวงแก้วของพวกเราวิปัสสนาจารย์นั่นแหละ

หากใช้นิมิตแบบโบราณก็ให้ใช้ดวงจันทร์ จะสอนใครที่ไม่เคยเห็นดวงใสมาก่อนก็ให้เขานึกถึงดวงจันทร์ เวลาไปช่วยคนตาย ให้ใช้วิธีสอนให้เขาเป็นธรรมโดยบอกนิมิตเป็นดวงจันทร์ เพราะเป็นสากล ใครๆ ก็รู้จัก มีคำถามในปุจฉาฯ ว่าใช้นิมิตเป็นดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ คุณลุงตอบว่าดวงอาทิตย์มีสีออกส้มๆ กระเดียดไปทางดำ ไม่ให้ใช้

แสดงว่า คุณลุงให้ความสำคัญกับนิมิตที่เอามาใช้สอนธรรมมาก

นานมาแล้ว ผมเคยถามคุณลุงว่ารัตนชาติที่มีสีดำ แต่จักรพรรดิ์กายสิทธิ์ข้างในเป็นภาคขาวได้ไหมครับ คุณลุงตอบผมว่า ได้ แต่น้อย ผมมีอยู่องค์หนึ่ง เป็นสีดำ แต่กายในใส เอาไว้หมอไปดูสิ ผมเก็บไว้ในตู้ ลุงไม่ได้เอาออกมาไว้ข้างนอก

ปัจจุบัน ดูเหมือนเราคุยถึง เคล็ดลับงานสอน เคล็ดลับการทำใจให้ใส เคล็ดลับการอ่านตำราให้มากเที่ยว ทบทวนตำราให้แตกฉาน น้อยลงไปหน่อย บางครั้งอาจติดอภินิหารรู้ญาณจักรพรรดิ์กายสิทธิ์เป็นหลัก เพราะไม่ว่าใครที่เข้ามาสร้างบารมี ก็อยากเด่นอยากดังอยู่ในตัวกันทั้งนั้น ยุคแรกๆ ผมก็เป็น แต่เมื่ออยู่ไปนานวัน จึงพบว่าสิ่งที่จะช่วยตัวเรา ช่วยศาสนา ช่วยจรรโลงวิชาได้จริงๆ คือหลักเหตุผลและความรู้ทางวิชชา มากกว่ารู้ญาณ ซึ่งบางทีเกิดขึ้นกลางอากาศ ผิดบ้างถูกบ้าง ได้แต่เอามาคุยเสียมากกว่า

บันทึกปราบมารของคุณลุงระบุไว้ชัดเจน ให้เชื่อเหตุผลมากกว่ารู้ญาณ

อยากให้ผู้สนใจใฝ่เรียนรู้ที่มีโอกาสเข้ามาเจอแหล่งวิชาแล้ว ได้กอบโกยความรู้ และสร้างบารมีสอนให้เต็มที่ อภินิหารจะเกิดตามมาเองอย่างแน่นอน แต่อย่าเอามาเป็นบทนำ

และ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะไหน อย่าฮึกเหิม โดยเด็ดขาด
นั่นคือมี โยนิโสมนสิการ ไว้แต่เริ่มแรก นั่นเอง

Friday, November 18, 2011

สมถะ กับ วิปัสสนา


วันนี้เราคุยกันในเรื่องสำคัญ แบบง่ายๆ ซึ่งอยู่ในหลักสูตรวิชชาธรรมกาย ในหนังสือคู่มือมรรคผลพิสดารทั้ง 2 ภาค ท่านผู้อ่านควรอ่านตำราประกอบให้จบ จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น

ธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนามีวิชชาสำคัญ 2 วิชชาคือ สมถะ และวิปัสสนา ขอให้ดูในหนังสือคู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 12 ประกอบด้วยอีกเล่มหนึ่ง

สมถะ(ความสงบระงับ) คือการฝึกให้จิตเป็นขึ้น คือให้มีกำลังทางใจเกิดขึ้นนั่นเอง

ส่วนวิปัสสนา(ความเห็นแจ้ง) คือการเอาจิตที่เป็นขึ้นแล้ว เก่งแล้ว แข็งแรงแล้ว มาศึกษาเรื่องของตัวเองในภาคละเอียด คล้ายการศึกษากายวิภาค (Anatomy) ของร่างกายของเราในวิชาแพทย์

การฝึกสมถะและวิปัสสนาจึงเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน จะแยกกันฝึกโดยไม่เกี่ยวข้องกันไม่ได้ ตรงนี้มีการถกเถียงกันในหมู่ผู้ปฏิบัติมากมาย บางสำนักกลัวการฝึกสมถะเหลือเกิน ทั้งๆ ที่เหตุผลง่ายๆ ก็คือพระพุทธเจ้าท่านสอนทั้งสมถะและวิปัสสนา

สมถะ

ความสงบระงับ
คือการฝึกจิตให้เป็นขึ้น 
ภาษาอังกฤษใช้คำรวมๆ ว่า Meditation แต่ Meditation ครอบคลุมเนื้อหารวม ทั้งในพุทธศาสนา และนอกพุทธศาสนา

หลักการของสมถะเป็นการฝึกจิตให้แข็งแรง อุปมาเหมือนการฝึกร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งเราจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล

ผมเคยฝึกนักกีฬาแบดมินตัน โดยดูความแข็งแรงของนักกืฬาตอนกระโดดตบลูก เพราะลูกตบเป็นลูกที่ใช้แรงมาก และเป็นลูกฆ่าที่สำคัญ แต่เดิมใช้วิธีฝึกโดยการโยนลูกให้กระโดดตบวันหนึ่งเป็นร้อยครั้ง แต่โค้ชหลายท่านจะไม่ให้นักกีฬาจับไม้แบดมินตันเลยจนกว่าจะผ่านการฝึกยกน้ำหนักเสียก่อน โดยเริ่มจากน้ำหนักน้อยๆ เช่น 2 กิโลกรัม โดยให้ยกไป 1 สัปดาห์ แล้วเปลี่ยนน้ำหนักเป็น 5 8 10 กิโลกรัมตามลำดับ ลำดับละ 1 สัปดาห์ ครบ 1 เดือน จึงให้ทดลองจับไม้แบดมินตัน แล้วลองตบลูกดู ผลปรากฏว่านักกีฬาสามารถตบลูกได้รุนแรงทั้งๆ ที่ไม่ได้จับไม้มาเป็นเดือน

ทำให้เราทราบว่าการฝึกให้กล้ามเนื้อแข็งแรงแล้วเอามาใช้งาน เราเพียงเอาหน้าที่ของกล้ามเนื้อ(คือการออกแรง) มาพัฒนาโดยค่อยๆ เพิ่มแรงให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่นี้เราใช้ลูกน้ำหนักในการฝึก โดยไม่ได้มุ่งหวังให้นักกีฬาไปเป็นนักยกน้ำหนักแต่อย่างใด ผลคือกล้ามเนื้อแข็งแรง เอามาใช้เล่นกีฬาแบดมินตันให้เรา โดยให้มาพัฒนาทักษะอีกนิดหน่อยเท่านั้น

การวัดผลว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ก็เพียงดูง่ายๆ ว่าตอนนี้เขายกน้ำหนักได้กี่กิโลกรัมแล้ว นั่นเอง

การฝึกนักกีฬาจริงๆ มีความซับซ้อนกว่านี้มาก ผมพยายามยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายนะครับ

เมื่อมาถึงการฝึกใจให้แข็งแรง ก็ไม่ต่างจากการฝึกกายเลย เพียงแต่ใจ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน แต่มีหน้าที่ของใจให้เรารู้ได้ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านสอนว่าใจมีหน้าที่ 4 อย่าง คือ เห็น จำ คิด รู้ การฝึกใจจึงให้เอาเห็นจำคิดรู้มาพัฒนานั่นเอง เหมือนกล้ามเนื้อที่เราเอาการออกแรงมาพัฒนา


หลักสูตรภาคสมถะ มี 40 วิธี ล้วนเป็นวิธีการพัฒนาหน้าที่ของใจให้แข็งแรงทั้งสิ้น โดยเลือกเอาวิธีที่ถูกจริตอัธยาศัย หรือวิธีที่ใช้ได้กับทุกจริตอัธยาศัย นั่นเอง

ท่านจะเลือกใช้วิธีไหน กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อรูปฌาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 รวมเป็น 40 ล้วนเป็นการปั้นใจดวงนี้ขึ้นมา แล้วพัฒนาจนเกิดความแข็งแรงของใจ เช่นอาโลกกสิณ การเพ่งกสิณแสงสว่างโดยใช้ดวงใสเป็นแบบ ด้วยการเริ่มให้ใจทำงาน จดจำ จินตนาการ นึก ดวงใสที่เราเห็นด้วยตาขึ้นมาก่อน เริ่มนึกได้ลางๆ ซัก 20% ก็เปรียบเสมือนเราเพิ่งหัดยกน้ำหนักได้ 2 กิโลกรัม พอนึกไปๆ นึกได้ชัดขึ้นเป็น 50% ก็เปรียบเหมือนเรายกน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม นึกได้ 80% ก็เหมือนยกน้ำหนักได้ 8 กิโลกรัม นึกไปๆ นึกได้เท่าตาเห็นคือ 100% ยกน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม เราวัดผลตรงนี้ ถือว่าจิตเป็นขึ้น พร้อมจะเอามาทำงานทางใจได้ในระดับหนึ่ง ในวิชชาธรรมกาย เราให้เอามาเดินวิชชา 18 กายเสียก่อน จากนั้นจะเอาไปเรียนรู้ในภาควิปัสสนาคือการศึกษาเรื่องของตัวเราแบบแยกส่วน เหมือนหมอศึกษาร่างกายมนุษย์ด้วยการผ่าศพ เพื่อให้รู้เรื่องของตัวเราอย่างแจ่มแจ้ง รักษาโรค และแก้ปัญหาของชีวิตของเราได้ต่อไป

ความสำคัญของภาคสมถะ คือการวัดผล ให้รู้ว่าจิตเราเป็นขึ้นหรือยัง ก่อนจะเอามาทำงานทางใจในระดับต่อไป เช่นเดียวกับการวัดผลความแข็งแรงของนักกีฬาให้ได้ระดับเสียก่อน จึงเอามาฝึกทักษะทางกีฬาที่จะเล่นได้ ซึ่งไม่ยากแล้ว

หากจิตยังไม่เป็นขึ้น แล้วรีบเข้าสู่การเรียนรู้ในภาควิปัสสนา การเรียนรู้นั้นก็ทำได้ไม่ถนัด หรือไม่ได้เลย เหมือนนักกีฬาที่ยังไม่แข็งแรงพอ ก็ไม่สามารถเล่นกีฬาให้ดีได้

ภาคสมถะทั้ง 40 วิธี มีอธิบายไว้จนครบในหลักสูตรมรรคผลพิสดาร 2 โปรดหาอ่านดู

วิปัสสนา

ความเห็นแจ้ง เป็นการเรียนรู้ส่วนประกอบภาคละเอียดของตัวเรา โดยใช้จิตที่เป็นขึ้นแล้ว เก่งแล้วจากภาคสมถะ มาดู ขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 นั่นเอง ซึ่งบทเรียนในคู่มือมรรคผลพิสดารภาค 1 มีบทบัญญัติให้ฝึกหัดไปในแต่ละบท

ระหว่างที่เราดูส่วนประกอบเหล่านี้ไปแต่ละอย่าง เราจะเห็นปัญหาของความเป็นมนุษย์ไปเรื่อยๆ เช่น ในภาคของขันธ์ 5 จะพบว่ากายมนุษย์ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีการแตกทำลายของขันธ์ ให้เราไปหัดดูกายละเอียดของคนที่กำลังจะตาย ว่าเดินทางไปตามฐานที่ตั้งใจอย่างไร อะไรทำให้ขันธ์ต้องแตกดับ มีทุกข์สมุทัยหุ้มอยู่อย่างไร ระดับไหนบ้าง

เมื่อดูถึง อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ เราจึงพอทราบได้ว่า มนุษย์ติดต่อกับโลกรอบตัวอย่างไร ทำไมมนุษย์เมื่อเห็น ฟัง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส ในสิ่งเดียวกัน จึงตอบสนองไม่เหมือนกัน ชอบ ไม่ชอบ ไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่สิ่งกระตุ้นเป็นตัวเดียวกัน ดูอินทรีย์แล้ว น่าสงสัยว่าอินทรีย์มนุษย์ ทำไมมีทุกขินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ แทรกเข้ามาในอินทรีย์ 22 ของเราตั้งแต่อ้อนแต่ออก ได้อย่างไร

ดูถึงอริยสัจ 4 จะเห็นสายปกครองฝ่ายทุกข์สมุทัยที่ส่งวิชชามาให้มนุษย์แก่ เจ็บ ตาย อยู่ลึกถึงเพียงนี้ แถมยังทำวิชชาหุ้มไปทั่วทั้งสุดหยาบสุดละเอียด มีตำราให้เรียนอย่างเจาะลึกในวิชชาธรรมกาย เห็นแล้ว เราคิดแก้ไขอย่างไร จะใช้วิชาใด พอมาถึงปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 จึงเห็นสายปกครองอีกสายคือสายปิฎก อันมี อวิชชา เป็นหัวหน้า อยู่ลึกถึงอย่างนี้นี่เอง เราจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว


วิจารณ์


การฝึกกายด้วยลูกน้ำหนัก (Dumbbell) เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แล้วเอาความแข็งแรงมาเล่นแบดมินตันให้เรา ในวงการแพทย์และวงการกีฬายุคปัจจุบันยอมรับแล้วว่าการฝึกความแข็งแรงด้วยน้ำหนัก ให้ผลดีที่สุด เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงจะเอาไปทำอะไรก็ได้ดั่งใจนึก
การยกน้ำหนัก ไม่ได้ทำให้เราติดในการยกน้ำหนัก จนไม่ทำอย่างอื่น ไม่ได้แปลว่าจะให้นักกีฬาไปเล่นยกน้ำหนักแต่เพียงอย่างเดียว
หากเราไม่ยกน้ำหนัก แต่เริ่มเล่นกีฬาไปเลยโดยไม่วางแผนฝึกกล้ามเนื้อมาก่อน ก็อาจทำได้ แต่สู้นักกีฬาที่ถูกฝึกมาอย่างเป็นระบบไม่ได้อย่างแน่นอน เมื่อเราฝึกฝนกีฬาใดใดมาอย่างผิดวิธี การแก้ไขในครั้งต่อๆ ไปนั้นยากมาก ผู้เคยเป็นนักกีฬามาก่อนย่อมรู้ดี
ผลของการออกกำลังกาย ย่อมสัมผัสได้จากการลงมือออกกำลังกายด้วยตัวเองเท่านั้น เราจึงจะสัมผัสกับความแข็งแรงนั้นได้ (Well being) สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นจากการอ่าน หรือการทำความเข้าใจจากตำราแต่เพียงอย่างเดียว การฝึกใจก็เช่นเดียวกัน


การฝึกใจให้เป็นขึ้นด้วยสมถะ ทำให้จิตแข็งแรง และเป็นขึ้นมาก่อน แล้วเอา 'เห็นจำคิดรู้' ที่แข็งแรงนั้น ไปเรียนรู้ต่อในภาควิปัสสนา ย่อมทำให้การเรียนรู้ได้ผลที่ถูกต้องแม่นยำ กว่าการพยายามทำวิปัสสนาโดยที่ยังไม่มีการฝึกจิตในภาคสมถะ ซึ่งการเรียนรู้นั้นย่อมทำไปโดยอาศัยความเข้าใจจากตำรับตำราแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้รู้เห็น และเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น เพราะความรู้หลายๆ อย่าง ต้องเป็นขึ้นจากการฝึกฝน จะอ่านตำราอย่างเดียวไม่ได้ คำภีร์อุปนิษัทโบราณก่อนพุทธศาสนา กล่าวไว้ว่า "มีความรู้บางอย่างที่มนุษย์ไม่อาจเรียนรู้ได้ หากปราศจากการฝึกจิต"
การฝึกสมถะด้วยกสิณ ไม่ได้มีความหมายแค่ ติดนิมิต ติดสุข อย่างที่หลายๆ ท่านวิพากษ์วิจารณ์กัน นั่นมันเป็นความรู้เด็กๆ จึงกลัวการฝึกสมถะกันนัก


จริงๆ แล้ว การเรียนรู้เรื่อง ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ฯ ยังเป็นแค่การศึกษาเรื่องราวของกายในแกนนอนเท่านั้น วิชชาธรรมกายเดินวิชชา 18 กาย เข้าถึง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ในแกนตั้งอย่างเป็นปกติ โดยไม่ต้องตีความใดใด จึงเป็นภาควิปัสสนาที่ลึกซึ้งยิ่ง นี่แหละ ทำไมจึงบอกว่า วิชชาธรรมกายเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา


ขอจบไว้เพียงนี้ก่อนครับ

Thursday, November 17, 2011

วิชชาธรรมกาย กับโรคที่เกิดแก่มนุษย์


สมัยที่ผมเรียนวิชา Pathology (หลายท่านเรียกว่า ปาโถ) อาจารย์แพทย์สอนผมไว้ว่า โรคทั้งปวงที่เกิดแก่มนุษย์จัดกลุ่มได้ 5 กลุ่ม คือ Congenital Trauma Tumor Infection Degeneration วันนี้ เรามาดูกันว่า โรคทั้ง 5 กลุ่มนี้ พอจะคุยกันในแง่มุมของวิชชาธรรมกายได้อย่างไร

การตายของมนุษย์ในวงการแพทย์ ตัวชี้วัดคือ หัวใจหยุด หายใจหยุด (ระยะหลังเพิ่มเติมคลื่นสมองเป็นเส้นตรงด้วย) ส่วนวิชชาธรรมกายเกิดจากหัวต่อกายหลุดออกจากกัน อะไรก็ตามที่ทำให้หัวต่อกายมนุษย์หลุดออกจากกายฝัน จะทำให้กายมนุษย์ตาย

  1. Congenital พันธุกรรม
คือ โรคที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือกรรมพันธุ์ มันติดตัวเรามาในระดับยีน (Gene) อาจแสดงให้เห็นตั้งแต่แรกเกิด หรือมาแสดงให้เห็นตอนโตแล้วก็ได้ บางโรคมีความแม่นยำในการแสดงผลมาก พอถึงอายุที่กำหนดเช่น อายุ 15 ปีก็จะเริ่มมีอาการของโรคทันที วงการแพทย์ติดตามสังเกตุอาการเหล่านี้จนจัดประเภทเป็น กลุ่มอาการ (Syndrome) แล้วตั้งชื่อแต่ละ syndrome ตามชื่อของผู้ค้นพบ ตอนนี้มีเป็นหลักพันแล้ว

ในแง่วิชชาธรรมกาย แต่เดิมเราก็เข้าใจว่าโรคทั้งปวงต้องเกิดจากมารเป็นผู้กระทำ โรคในกลุ่มนี้อาจเกิดจากผู้ต้นคิดวิชาของแต่ละกลุ่มอาการที่ทำขึ้นไว้ก็เป็นได้

หรือ หากมองอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นธรรมชาติ (อย่างน้ำท่วม) ที่สายกรรมพันธุ์นี้ได้หมู่ธาตุ(ธรรม) ที่เอามาสร้างกายมนุษย์ไม่สมบูรณ์ มีความไม่สมดุลย์ของธาตุในตัวของสายกรรมพันธุ์นี้มาแต่เดิม โรคจึงเกิดแก่คนเฉพาะกลุ่ม

เมื่อพูดถึงพันธุกรรม ทำให้ผมนึกถึง เหตุข้ามชาติ คือบางคนตายในลักษณะเดียวกันข้ามภพข้ามชาติต่อเนื่องมาตลอด คุณลุงก็เคยเล่าประวัติคนสำคัญที่คุณลุงไปช่วย ท่านบอกว่าท่านจะต้องตายอย่างที่เป็นมานี้อีกหลายชาติ คุณลุงต้องแก้ว่าเมื่อท่านทำดวงใสในท้องได้แล้ว เหตุทั้งปวงเป็นอันจบไป เหตุเหล่านี้ บางแห่งเรียกว่าเป็นกรรมเก่า ทำให้กายมนุษย์แตกดับไปชาติหนึ่งแล้ว แต่ตัวเหตุยังติดอยู่กับกายละเอียดๆ ของผู้นั้น คอยจ้องทำลายต่อไปในอนาคตเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก การแก้ไขในวิชชาธรรมกายจึงต้องคำนวณ อดีตปัจจุบันอนาคต อ่อนแก่ หยาบละเอียด ฯลฯ เข้ามาให้หมด (ดู วิชชาธรรมกาย กับคณิตศาสตร์) เราจะเห็นถึงความลึกซึ้งของวิชชาธรรมกายที่มีความรู้ทั้งกว้างไกล และลึกซึ้ง

ผมเชื่อว่าเหตุทางพันธุกรรม เป็นได้ทั้งเรื่องของ ธรรมชาติ และธาตุธรรม ผู้อ่านได้โปรดไตร่ตรองและค้นคว้าต่อไป

  1. Trauma การบาดเจ็บ
กลุ่มนี้เข้าใจไม่ยาก เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากแรงกระทำต่อกายมนุษย์โดยตรง เช่นรถชน ตกจากที่สูง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือจงใจก็ตาม ในวิชชาธรรมกายก็คงไม่ใช่ใครอื่น นอกจากมารผู้ต้นคิดวิชาวิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงนั่นเอง

  1. Tumor เนื้องอก
โรคที่เกิดจากการมีเนื้องอกส่วนเกินเกิดขึ้นในร่างกายของเราไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเนื้องอกลุมลาม (มะเร็ง) เนื้องอกธรรมดาไม่แพร่กระจาย หากวินิจฉัยได้ ตัดออกก็หาย แต่มะเร็งจะลุกลามไปได้ทั้งบริเวณใกล้เคียง และเดินทางไปที่ไกลๆ ได้ตามลักษณะเฉพาะตัวของโรคนั้นๆ เมื่อลุกลามจนทำลายอวัยวะสำคัญ ก็ทำให้กายมนุษย์ตาย

ความรู้วิชชาธรรมกายเชื่อว่าโรคในกลุ่มนี้มีผู้ต้นคิดวิชา เป็นเจ้าของโรคแต่ละอย่าง

บางครั้งพบว่าโรคในกลุ่มนี้เกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์(ข้อ 1)  ด้วย โดยพบประวัติครอบครัวของผู้ป่วยอยู่บ่อยๆ

  1. Infection การติดเชื้อ
การติดเชื้อ คงไม่ต้องอธิบายมาก ในทางแพทย์ มันมีเชื้อโรคตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปหาเล็ก เช่น พยาธิ แมลง ยีสต์ เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ปัจจุบันเล็กไปถึง Interferon ฯลฯ

ความรู้วิชชาธรรมกาย ก็มีผู้ต้นคิดวิชาของแต่ละโรคดูแลกันไป

โรคทั้ง 4 หมวดที่กล่าวมา หากใครโชคดี อาจไม่เคยพบปะเจอะเจอเลยก็ได้ หรือหากเจอก็แค่เบาๆ ไม่หนักหนาอะไร ชีวิตก็ไม่แตกดับเพราะโรคเหล่านี้ แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่รอดพ้นจากโรคทั้ง 4 ข้างต้น ย่อมหนีไม่พ้นโรคที่ 5 คือ

  1. Degeneration ความเสื่อมสภาพ
โรคที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสังขาร ปัจจุบันวงการแพทย์เริ่มอธิบายถึงทฤษฎีแห่งความเสื่อมหรือความชราของสังขารมนุษย์มากขึ้น ว่าอาจจะมาจากทฤษฎี Wear and Tear, Oxidation, Hormone โดยเริ่มรู้และสนใจวิธีการชลอวัยกันมากขึ้น ผมไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ

ส่วนวิชชาธรรมกาย โรคในกลุ่มนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราพูดถึงกันมาก คือโรคที่เกิดจากดวงทุกข์สมุทัย นั่นเอง ทุกข์สมุทัยเป็นวิชาที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของกายมนุษย์ทำให้กายมนุษย์ แก่ เจ็บ และตายในที่สุด

สำหรับดวงเกิด ผมได้นำเสนอความคิดเห็นไว้พอสมควรแล้วในบทความ จับผิดครู ตอนนี้อยากเพิ่มเติมว่า ดวงเกิดอาจเป็นดวงกสินของภาคมารที่เข้ามาตั้งในที่ตั้ง(ศูนย์กลางกาย) ของเราเมื่ออายุ 14 ปี ก็ได้ เหมือนเวลาที่เราแก้ไขเรื่องธาตุกับธรรมในหนังสือมรรคผลพิสดาร 2 โดยให้ภาคธาตุเป็นกสิน ภาคธรรมเป็นสมาบัติ เดินสมาบัติในกสินจนกสินนั้นขาวใส ขอให้ผู้อ่านไปทบทวนตำราให้แตกฉานนะครับ

ในทางกลับกัน ภาคมารนำดวงเกิดมาตั้งเป็นกสินของเขาไว้ในที่ตั้งของเรา ดวงกสินนี้เป็นตัวแทนกายมนุษย์ของเรา เวลาจะกระทำการใดใดต่อเรา ก็กระทำที่ดวงกสิน(ดวงเกิด)นี้ ที่ชัดๆ ก็คือเอา แก่ เจ็บ ตาย มาเดินสมาบัติในดวงเกิดที่เขาเอามาตั้งไว้ จนดวงเกิดขุ่นมัว คือดำลง (กลับกับวิชชาเราที่เดินวิชชาให้ดวงกสินขาวใสขึ้น) ชี้วัดว่าวิชชาของเขาได้ผล สัตว์โลก แก่เจ็บตาย ไม่มีใครเว้น เพราะยังแก้วิชชาของเขาไม่ได้

ความเจ็บในขั้นตอนนี้ น่าจะเป็นความเจ็บที่เกี่ยวเนื่องด้วยความแก่ คือเจ็บเพราะความเสื่อมโทรมของสังขาร ข้อเสื่อมปวดข้อ เดินเหิรไม่ถนัดปวดเนื้อตัวไปหมด อวัยวะสำคัญๆ ก็เสื่อมไปเรื่อยๆ เสื่อมหนักเข้าๆ ดวงตายก็เข้ามาเดินสมาบัติทำงานจนหัวต่อกายมนุษย์หลุดจากกายฝัน กายมนุษย์ก็ตายด้วยโรคชรา

ถ้าเป็นไปตามนี้ เราจึงพออธิบายได้ว่า เด็กอายุ 0-14 ปี ไม่ตายด้วยทุกข์สมุทัย เพราะตอนนั้นดวงเกิดยังไม่เข้ามา คือเด็กไม่ตายด้วยชุดวิชชา เกิด แก่ เจ็บ ตาย แม้จะมีการยกเว้นบ้างเช่น โรคที่ทำให้แก่ก่อนวัย แต่พบเห็นน้อย นั่นคงเป็นเพราะทุกข์สมุทัยเข้าไปทำงานก่อนวัยอันควรเฉพาะบางคน ส่วนใหญ่เด็กๆ ที่ตายก่อนอายุ 14 ปี จะตายด้วยโรค 4 โรคข้างต้นที่ผมกล่าวมา ไม่ใช่ Degenerative diseases

วิชชาทุกข์สมุทัยถือเป็นวิชชาชิ้นโบว์แดงของเขา กระทำต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม จนกลายเป็นธรรมดาของสังขารในยุคปัจจุบัน กลายเป็นเนื้อหาหลักของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป

การแยกแยะโรคที่เกิดแก่กายมนุษย์ในบทนี้ อาจมีส่วนช่วยในการคำนวณ เวลาที่เราจะแก้วิชชาของเขาได้ไม่มากก็น้อย ขอจบบทความตอนนี้ไว้แค่นี้ก่อนครับ

Monday, November 14, 2011

เราสร้างบารมีไปทำไม ?


เราสร้างบารมีไปทำไม ?

วันนี้อยากเปิดประเด็นด้วยคำถามง่ายๆ แต่หากจะตอบเอาความกันจริงๆ ก็ยากเหมือนกัน เราเคยเจอแต่คำถามที่ว่า เราเกิดมาทำไม? คำตอบสำหรับนักสร้างบารมีก็คือ เกิดมาเพื่อสร้างบารมี แต่หลังจากนั้นลองถามต่อว่า เราสร้างบารมีไปทำไม?

ยุคปัจจุบัน เราอาจตอบว่า เราสร้างบารมีให้มาก เพื่อหนีให้พ้นจากทุกข์ภัยโรคทั้งปวง เมื่อบารมีเราแก่กล้าจะชนะอุปสรรคปัญหาทั้งปวงได้ พอแก่กล้าหนักเข้าจริงๆ ก็ให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด และเข้านิพพานอันเป็นบรมสุขต่อไป คือหนีความทุกข์ เพื่อไปพบความสุขที่ถาวรกว่า หรือเพื่อชนะมารในระดับต่างๆ นั่นเอง อันเป็นคำตอบหนึ่งในยุคปัจจุบันที่ธาตุธรรมของเราถูกปนเป็นไปก่อนแล้ว เราอยากเป็นอิสระจากการปนเป็นนั้น เราก็เร่งสร้างบารมีเพื่อชนะกิเลส(มาร)

อย่างไรก็ตาม ผมเคยเขียนบทความเรื่อง วิชชาธรรมกายกับประวัติศาสตร์(1) มาก่อนแล้ว เราพบว่ายุคแรกๆ ที่ธรรมภาคขาวบังเกิดขึ้น ภาคขาวก็ต้องสร้างบารมีเพื่อเข้านิพพานเป็น ตอนนั้นธรรมภาคมารยังไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเรา ยังไม่ได้มาปกครองเรา เราก็ยังต้องสร้างบารมี ตอนนั้นเราสร้างบารมีไปทำไม เราไม่น่าจะมีทุกข์ภัยโรคจากมาร มิใช่หรือ? มนุษย์ก็น่าจะเป็นสุขพอที่จะอยู่เฉยๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขวนขวายอะไรอีก

มาถึงตอนนี้ คำตอบของการสร้างบารมี จึงไม่ใช่ การรบกับกิเลส เพียงอย่างเดียวเสียแล้ว แต่หากจะเป็น การยกระดับธาตุธรรม ของเราให้สูงขึ้นนั่นเอง ทำเพื่ออะไร? แสดงว่า หากธาตุธรรมของเรายังไม่สูงพอ คงจะมี ความไม่สมบูรณ์ บางอย่าง ที่ทำให้เรา สุขไม่เต็มที่ ไม่ถาวร ไม่เช่นนั้นมนุษย์ยุคทานศีลภาวนา หรือยุคนิพพานเป็นก็คงไม่ต้องสร้างบารมีเพื่อเข้านิพพาน

ทุกข์ภัยโรค จำเป็นต้องเกิดจากมารเสมอไปหรือไม่? จึงเป็นอีกคำถามหนึ่งที่น่าคิดในยุคที่การปราบมารดำเนินมาถึงจุดสำคัญ อย่างน้ำท่วมใหญ่คราวนี้ มีบางประเด็นบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับธาตุธรรมใดใด ไม่ว่าพระหรือมาร แต่เป็นเพราะโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย ทำให้มีน้ำส่วนเกินมาก มีผลทำให้น้ำท่วมมากกว่าปีก่อนๆ นั่นคือเป็นความไม่สมดุลย์ของธาตุ นั่นเอง แม้ทุกข์ภัยโรคในครั้งนี้ อาจเริ่มต้นจากเหตุดั้งเดิม เช่นความโลภของมนุษย์ทำให้ปลูกบ้านสร้างเรือนในพื้นที่น้ำผ่าน น้ำก็ท่วมเอา เกิดทุกข์ขึ้นอีกโดยไม่มีใครต้องมาสับโขกซ้ำ อันนี้ผมวิเคราะห์ในประเด็นที่เราเชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมชาติล้วน

หากเปรียบบารมีเป็นเสมือนเงินทอง การสั่งสมบารมีให้มากเข้าไว้ จึงเป็นความไม่ประมาท เหมือนเราจำเป็นต้องทำมาหากินสั่งสมเงินทองไว้ก่อน เผื่อใช้สอยทั้งในยามปกติ และในยามฉุกเฉิน


ขอเปิดประเด็นไว้ให้ช่วยกันคิดต่อ ต้องขอโทษสำหรับผู้กำลังติดตามอ่านบล็อกที่ทิ้งช่วงมานานนะครับ

Wednesday, October 5, 2011

พรหมวิหาร 4


มาถึงตอนนี้ เคยบอกไว้ว่าจะเขียนเรื่องพรหมวิหาร 4 เท่าที่มีประสบการณ์ทางวิชชานะครับ ทั้งนี้ ผมคอยระมัดระวังอยู่เสมอไม่ให้เรื่องที่เขียนเกินเลยจากพื้นฐานมากไป เพราะวิชชาธรรมกายมีให้เรียนตั้งแต่ระดับต้นไปจนระดับสูง ที่ผ่านมาถือว่าเราเอาสิ่งที่รู้ๆ กันแล้วในวิชชาธรรมกายมาจัดหมวดหมู่ให้ง่ายขึ้นเท่านั้น ส่วนวิชชาที่กล่าวถึงก็เป็นวิชชาพื้นฐาน ที่ผู้เรียนวิชชาธรรมกายทั่วไปต้องทำได้ เช่นวิชชา 18 กาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินวิชชาให้ตัวเอง เข้าไปเดินให้คนอื่น หรือเดินวิชชาให้จักรพรรดิ์ จริงๆ แล้ววิชชาที่ต่อยอดออกไป ก็มาจากวิชชาพื้นฐานนั่นเอง แต่เราอาจละเลยกันมานานจนเห็นว่าเป็นวิชชายาก ไม่หมั่นปฏิบัติกัน

สำหรับ blog แห่งนี้ ผมระมัดระวังเสมอว่าอะไรควรอะไรยังไม่ควรนำออกเผยแพร่ เพราะผู้เข้ามาอ่านมีหลายระดับ การอวดอุตริเอาวิชชาสำคัญมาเปิดเผย ย่อมไม่บังควร

พรหมวิหาร เป็นวิชชาสำคัญในระดับพรหม แต่ในส่วนของคุณลุงไม่พูดอย่างนั้น ท่านว่าเป็นวิชชาสำคัญที่ทุกคนควรหมั่นเจริญให้มาก  เป็นวิชชาที่ทำให้คนรักกัน(แบบพระนะครับ) โดยยกตัวอย่างคำถามท้ายบทเรียนที่ว่า เห็นคนๆ หนึ่งออกทีวี เรากลับรู้สึกไม่ชอบหน้าคนๆ นั้น เป็นเพราะเหตุใด คำตอบคือ เพราะคนๆ นั้นไม่ได้เจริญพรหมวิหาร 4 ข้ามภพข้ามชาติไว้นั่นเอง ส่วนจะเจริญในระดับไหน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

พรหมวิหารมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คำแปลเป็นอย่างไร เราไปพูดในภาคปฏิบัติเลย

การปฏิบัติในระดับมนุษย์ การมีเมตตากรุณามุทิตาและอุเบกขาต่อกัน เราคงพอเข้าใจ เพราะมนุษย์แสดงออกต่อกันด้วยกายวาจาใจ ย่อมสื่อถึงสิ่งเหล่านี้ให้เห็นได้ไม่ยาก แต่การเอามาทำวิชชามีตั้งแต่ง่าย ไปหายาก ดังนี้

กรณีที่ 1 วิทยากรถูกรังแก


กรณีนี้ผมพูดไปแล้วในเรื่อง จับผิดครู วิทยากรของเราท่านหนึ่งถูกเพื่อนในที่ทำงานที่อยู่ในระดับสูงกว่ารังแกอย่างไม่มีเหตุผล เป็นประจำทุกวัน และเป็นทุกครั้งที่เจอหน้ากัน

คุณลุงได้แนะนำมาทางจดหมาย ผมค้นเจอจดหมายเก่าเห็นว่าน่าสนใจ และเป็นมงคลยิ่งหากจะนำจดหมายลายมือท่านมาลงให้ดูไว้ ณ ที่นี้ โดยผมได้เบลอชื่อบุคคลที่กล่าวถึงในจดหมายไว้แล้ว จดหมายนี้เขียนมาถึงผมเมื่อ 20 ก.พ. 2543 เป็นเวลา 11 ปีกว่า มาแล้ว ดังรูปข้างล่าง



เนื้อความไม่ยาก และสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว แต่ผมอยากเพิ่มเติมคือ คุณลุงบังคับให้เดินวิชา 18 กายทุกวัน เดินวิชาให้หนักมือ มีตัวชี้วัดคือ เดินจนอารมณ์บันเทิง พิสดารกายธรรมเราไปนั่งในท้องเขาโดยลำดับไปทุกกาย คือ 18 กายเขานั่นเอง ทำวิชชาพรหมวิหารโดยท่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราไม่ได้ไปแช่งผู้ที่มารังแกเรา แต่เราขอให้เขาเป็นสุข พ้นทุกข์ มีความจำเริญรุ่งเรือง และอย่ามาก้ำเกินเราด้วยกายวาจาใจเลย เวลาเจอเขาก็ท่องแบบนี้ไปด้วย และที่สำคัญ อย่าไปเกลียดเขา ทำใจเราให้เฉยไว้

ผลก็คือ วิชชานี้ใช้เวลาแค่ 2-3 วัน ความก้าวร้าวต่อเราลดลงทันที และค่อยๆ จางลงจนหมดไป ผู้รุกรานเริ่มเจ็บป่วยจนต้องไปรักษาตัวในโรงเรียนแพทย์ระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ เขากลับมาเป็นมิตรกับเราในระยะที่เริ่มป่วยนั่นเอง เขามาดีกับเราถึงขนาดจองตัวให้ไปทำงานด้วยกันในแผนกใหม่ที่กำลังจะเปิดขึ้นในช่วงนั้น แต่เราไม่ได้ไป แม้กระนั้นก็ยังดีกับเราเสมอมา ผ่านมาทางเราก็มีข้าวของติดไม้ติดมือมาให้อยู่เสมอ จวบจนทุกวันนี้

กรณีที่ 2 การเดินวิชาพรหมวิหาร ในหนังสือคู่มือมรรคผลพิสดาร 2


เรื่องนี้ไม่มีประสบการณ์เล่า แต่เป็นวิธีการในตำราวิชาธรรมกายชั้นสูง คือคู่มือมรรคผลพิสดาร 2 นั่นเอง

ผมขอ ไม่กล่าวถึงวิธีการโดยละเอียด เพราะจะยาวความไป ขอฝากเป็นการบ้านให้ท่านผู้อ่าน ไปอ่านตำรา อย่าอ้างว่าอ่านไม่รู้เรื่อง หรืออ้างว่าท่านยังไม่เป็นวิชชาแล้วจะอ่านได้อย่างไร ผมขอยืนยันว่าท่านต้องอ่านตำรา เพราะตำรามีไว้ให้ผู้ไม่รู้ ได้อ่านจนเป็นผู้รู้ หากท่านรอให้รู้เห็นเองเสียก่อน เมื่อไหร่จะได้รู้เห็นจนคิดว่าอ่านตำราได้ มีตำราแล้วไม่อ่านก็คือแพ้ทางมาร ผมเคยบอกชื่อยาแก้เจ็บคอให้แก่ญาติที่อยู่ไกลทางโทรศัพท์ โดยจดชื่อ แล้วไปหาซื้อยาตามร้านขายยา เพื่อแก้โรคให้ตัวเองและญาติที่นั่น เขาไม่ได้รู้เรื่องยามาก่อน แต่เขาทำตามวิธีการที่เราบอก เขาก็แก้โรคได้ เพราะความรู้มันค่อยๆ เกิดมีขึ้นได้หลายระดับ จากเริ่มรู้เฉยๆ จนกระทั่งเห็น เป็น และชำนาญ

การทำพรหมวิหารในตอนนี้ อยู่ในภาคการทำสมถะ ว่าด้วยเรื่องพรหมวิหาร 4 โดยทำฌาน 4 ให้แก่กายทิพย์ ท่านต้องเข้าใจก่อนว่ากายทิพย์ไม่มีฌานโดยธรรมชาติ เราจึงต้องสร้างฌานให้กายทิพย์ด้วย "วิชชา" จากนั้นเอารู้ญาณของกายทิพย์นั้นรวมคนทั้งแสนโกฏิจักรวาลเข้ามาทั้งหมด ตำราบอกว่าต้องรวมได้ นี่ขนาดใช้กายทิพย์ที่เป็นวิชชาแล้วเท่านั้นนะ เอากายทิพย์ไปนั่งในท้องคนที่เรารวมมาได้นั้น เดินวิชชาพรหมวิหาร 4 โดยค่อยๆ ท่อง เมตตา ขอท่านทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด แล้วแผ่แผ่นฌานที่ 1 ที่เราประสมคุณธรรมเมตตาให้สัมผัสเข้าไปที่ดวงธรรมของคนทั้งปวงนั้น ทำใจน้อมไปในอารมณ์ของเมตตา จากนั้นท่องต่อ กรุณา ขอท่านทั้งหลายจงพ้นทุกข์ภัยโรคทั้งปวงเถิด ทำแบบเดียวกับที่กล่าวมา แต่ใช้แผ่นฌานที่ 2 ทำงาน ต่อไปก็ มุทิตา ขอท่านทั้งหลายจงมีความจำเริญรุ่งเรืองร่ำรวยเถิด และปิดท้ายด้วย อุเบกขา ให้แปลว่า อย่าได้ก้ำเกินกันด้วยกายวาจาใจเลย เดิมแปลว่าให้วางเฉย ฟังดูไม่ค่อยเป็นความหมายที่เราต้องการ ให้เอาอย่างที่แปลนี้ตามคุณลุงนะครับ

นี้คือบทบัญญัติในตำรา ทำให้เรารู้ว่าแม้กายทิพย์ก็เอามาทำวิชาพรหมวิหารได้ ในตำรายังสรุปว่า ให้ลองทำด้วยกายอื่นๆ ของเราทุกกาย แต่เวลาเราเดินวิชาจริง เรามักใช้กายธรรมเพราะเหมือนกับจะแน่นอนกว่า (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวครับ)

กรณีที่ 3 ทำ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ให้เป็นเครื่องสัมผัสเข้าไปในใจเขา


วิธีนี้ สูงเกินไปที่จะกล่าวใน blog แต่เกริ่นหัวข้อไว้ เพื่อให้รู้ว่า วิชชาทุกอย่างในโลก มี อ่อนแก่ หยาบละเอียด ต้นกลางปลาย อดีตปัจจุบันอนาคต เล็กโต ตามภาษาวิชชา

แต่การแก้ปัญหาของเรา ไม่จำเป็นต้องใช้วิชชาสูงสุดที่เรารู้ เพราะหากแก้ไม่สำเร็จ ก็ซวย เหมือนเราเจ็บป่วยทีไรใช้ยาอย่างแรงสูงสุดทุกที พอดีเชื้อดื้อยากันหมด ตอนหลังหายาใช้ไม่ได้ ทำอะไรให้คำนึงถึงหลักเหตุผลให้มาก

แม้การเดินวิชชา ครูบาอาจารย์ยังบอกว่าวิชชาไม่ควรซ้ำกัน ถ้าซ้ำก็แพ้มาร อันนี้ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งกังวลไป ให้ท่านเดินวิชชาพื้นฐาน 18 กายให้ได้ทุกวัน อย่างอื่นค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติมเอา

อย่าทิ้งวิชา 18 กาย ท่านต้องเดินทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ขาดไม่ได้